…“จาเมกา” (Jamaica) ที่บ้านเราเรียกกันว่า “จาไมกา” เป็นประเทศที่เป็นเกาะในภูมิภาคเกรตเตอร์แอนทิลลีส ตั้งอยู่ในทะเลแคริบเบียน เกาะยาว 240 กิโลเมตร กว้าง 85 กิโลเมตร อยู่ทางใต้ของเกาะคิวบา 150 กิโลเมตร ไป และ 180 กิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากเกาะคิวบาและเกาะฮิสปันโยลา
ชื่อประเทศ “จาเมกา” มาจากการเรียกขานของชนพื้นเมืองตาอีโน (Taíno) ที่เรียกเกาะนี้ว่า “ฌาเมคา” (Xaymaca) ซึ่งแปลได้เป็น 2 ความหมายคือ “ดินแดนแห่งใบไม้ผลิ” หรือ “แดนแห่งป่าและน้ำ” จาเมกาเคยตกอยู่ใต้อาณัติของจักรวรรดิสเปนและสหราชอาณาจักร ปัจจุบันปกครองแบบประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระเจ้าชาร์ล ที่ 3 ทรงเป็นประมุขของประเทศ ทรงใช้พระราชอำนาจโดยผ่านทางผู้สำเร็จราชการ
คนไทยรู้จัก “จาเมกา” มากที่สุดน่าจะเป็นยุค “บ็อบ มาร์เลย์” (Bob Marley / 1945-1981) ศิลปินชาวจาเมกาผู้เผยแพร่ดนตรีเร็กเก้ให้ชาวโลกได้รู้จัก จนได้ชื่อว่าเป็น “ราชาเร็กเก้” และรูปถ่ายของเขาต้องมีกัญชาประกอบเสมอ จนเป็นไอดอลของคนรักกัญชาทั่วโลกรวมทั้งในเมืองไทย และเมื่อมีนโยบายเสรีกัญชา รูปของ ”ราชาเกเก้” ก็ถูกนำมาแพร่หลายอ้างอิงอีกครั้ง
ชื่อของ “บ็อบ มาร์เลย์” กลับมาปรากฏอยู่ในสื่อทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อปลายปีที่แล้ว “โจเซฟ โจ เมอร์ซา มาร์เลย์” หลานชายของเขาเสียชีวิตในวัย 31 ปี ในวันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2565 เป็นการจากไปในวัยใกล้เคียงกับปู่ที่เสียชีวิตในวัย 36 ปี
หลังจากนั้นจาเมกาก็เป็นที่รู้จักในหลาย ๆ ด้าน
เอียน เฟลมมิ่ง ผู้เขียนนิยายเจมส์ บอนด์ ซื้อบ้านในจาเมกา มีชื่อเล่นว่า “Golden Eye” เขาเขียนนวนิยาย 14 เล่มในขณะที่อาศัยอยู่ในบ้านนี้ ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารกพักใน The Fleming Villa ได้รองรับได้ 10 คน มีชายหาดส่วนตัวส่วนตัว มีสระว่ายน้ำ
จาเมกาผลิตกาแฟ Blue Mountain ซึ่งเป็นกาแฟอันดับหนึ่งที่มีราคาแพงที่สุดในโลก
ยูเซน โบลต์ นักวิ่งลมกรดเจ้าของเหรียญมากมาย และเจ้าของสถิติโลกการวิ่งระยะสั้น
ผมไปจาเมกาครั้งแรกประมาณ 20 ปีที่แล้ว จุดประสงค์หลักเพื่อดูการผลิต “รัม” (Rum) แต่ก็ขอเขาไปเยี่ยมชม ”พิพิธภัณฑ์บ็อบ มาร์เลย์” ในกรุงคิงส์ตัน เมืองหลวงของจาเมกา ซึ่งนักท่องเที่ยวร้อยทั้งร้อยต้องไปสักครั้ง
“พิพิธภัณฑ์บ็อบ มาร์เลย์” ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านที่บ็อบ มาร์เลย์เคยอาศัยอยู่ ห้องนอนของเขายังถูกจัดวางไว้เหมือนเดิม ภายในมีห้องอัดเสียงที่บ็อบ มาร์เลย์ใช้ในอดีต มีการจัดแสดงเรื่องราวประวัติของบ็อบ มาร์เลย์ ฯลฯ
ใครจะไปเที่ยวจาเมกาขอแนะนำให้ไปช่วงเดือนพฤศจิกายน-กลางเดือนธันวาคม เพราะนักท่องเที่ยวยังไม่เยอะมาก ที่พักและราคาตั๋วเครื่องบินก็ไม่แพงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ซึ่งก็คือในช่วงนี้ เพราะเป็นไฮซีซั่นของจาเมกาและแทบทุกประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียน
ดังที่กล่าวมาในตอนแรกจุดประสงค์การมาจาเมกาของผมคือ “รัม” อย่างอื่นเป็นเรื่องรอง ดังนั้นในที่นี้คงต้องเป็นเรื่องของ “จาเมกา รัม”
“รัม” เป็นเหล้าที่ผลิตมาจากอ้อยหรือกากน้ำตาล ซึ่งพื้นที่หลักในการผลิตอยู่ทางหมู่เกาะอินเดียตะวันตก ประเทศในแถบทะเลคาริบเบียน อาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสในทวีปอเมริกาใต้ เช่น เปอร์โตริโก,คิวบา,บาร์บาโดส,ทรินิแดด,เฮติ,กีอานาของอังกฤษ,กีอานาของฝรั่งเศส และจาเมกา ฯลฯ เหล้ารัมที่คุณภาพดีและมีชื่อเสียง ล้วนขนย้ายไปจากแถวนี้แทบทั้งสิ้น จะเห็นได้จากรัมจากประเทศเหล่านี้ บริษัทการตลาดมักอยู่ในยุโรป เช่น อังกฤษ สก็อตแลนด์ ฯลฯ
จาเกมาเริ่มทำรัมมาตั้งแต่ปี 1665 ยุคที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่มาเริ่มโด่งดังและมีชื่อเสียงสุด ๆ ตั้งศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ปัจจุบันว่ากันว่าในจาเมกามี “รัม บาร์” (Rum Bar) มากที่สุดในโลก เมื่อเทียบกันเป็นตารางไมล์ต่อตารางไมล์
การกลั่นรัมมี 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ
1.วิธีของจาไมกา (Jamaica) ซึ่งจะใช้น้ำเชื่อมหรือกากน้ำตาลของอ้อยเป็นวัตถุดิบหลัก ผสมฟองน้ำตาลที่ได้จากทำน้ำตาล ผสมผสานกับตามกรรมวิธีของเขา จากนั้นนำไปหมักประมาณ 10-12 วัน แล้วนำไปกลั่นในหม้อกลั่นหลาย ๆ ครั้งที่เรียกว่า Pot Stills
2.วิธีของเดเมอรารา (Demerara) จะใช้กากน้ำตาลทรายละลายน้ำ และกรดเกลือ หมักส่าด้วยแอมโมเนียม ซัลเฟตในเวลา 35-45 ชั่วโมง จึงนำไปกลั่นซึ่งมีทั้งแบบหลาย ๆ ครั้ง และการกลั่นแบบต่อเนื่องจนได้ดีกรีสูง ๆ (Contineous Pantent Stills)
สิ่งที่เหมือนกันก็คือเมื่อกลั่นเสร็จแล้วต้องมาลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้เหลือประมาณ 40 – 60 ดีกรี แล้วนำไปบ่มในถังไม้โอ๊ค ทำให้รัมมีสีเหลืองอ่อน ๆ และการจะมีสีเหลืองอ่อนหรือแก่ ขึ้นอยู่กับภาชนะที่บ่ม แต่ไม่มีข้อบังคับหรือหลักแน่นอนตายตัวว่าต้องบ่มหรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องรัมบอกว่า จาเมกา รัม (Jamaican Rum) มีเอกลักษณ์เฉพาะในเรื่องกลิ่นอบอวลรุนแรง เอิร์ธตี้ และเขียว ๆ ธรรมชาติ (Funky,Earthy,Grassy) เรียกว่าได้กลิ่นอายของความดิบ ๆ แบบธรรมชาติค่อนข้างมากกว่าทุกชาติในหมู่แคริบเบียน
ในบ้านเรามีการนำ “จาเมกา รัม” เข้ามาหลายปีแล้ว ปัจจุบันมีหลายแบรนด์ ล่าสุดที่ผมได้ชิมคือ ”แลงส์ บานานา จาเมกัน รัม” (Langs Banana Jamiacan Rum) นำเข้าโดย Ambrose Wine & Spirit
”แลงส์ บานานา จาเมกัน รัม” (Langs Banana Jamiacan Rum) เป็นรัมกลิ่นกล้วยหอม และหอมกรุ่นมาก จาเมกานั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่ปลูกกล้วยหอมได้ลีคุณภาพ ขณะเดียวกันก็สามารถผลิตอ้อยที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในผลิตเหล้ารัม (Rum) ได้ดีมาก จึงนำเสน่ห์ของ 2 อย่างนี้บรรจุลงในขวด
ชื่อของ ”แลงส์ บานานา จาเมกัน รัม” มาจากนามสกุลของเจ้าของคือ กาวิน แอนด์ อเล็กซานเดอร์ แลง (Gavin & Alexander Lang) พ่อค้าสปิริตสองพี่น้อง แห่งเมืองกลาสโกว์ (Glasgow) ประเทศสก็อตแลนด์ ซึ่งนำรัมนี้มาจากเจเมกา แล้วมาทำการตลาดในสก็อตแลนด์ และให้คำนิยามว่า “กำเนิดในจาเมกา มาเติบโตในสก็อตแลนด์” รางวัลล่าสุดคือเหรียญเงินจากงาน Rum Masters Awards 2022
สีเหลืองทองอร่าม กลิ่นหอมอบอวล (Funk) ด้วยกล้วย สับปะรด ซีททรัส แอปริคอต ทอฟฟี่ผลไม้ กล้วยกวน วานิลลา สโมคกี้ โอ๊ค ดอกไม้แห้ง ๆ สไปซี อบเชย คาราเมล บราวน์ชูการ์ จบด้วยกล้วยหอมกรุ่น วานิลา สามารถดื่มแบบเพียวๆ ดื่มออน เดอะ ร็อก และผสมเป็นค็อกเทล
“รัม” ไม่ใช่เหล้ากลั่นธรรมดา แต่หมายถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และระบบเศรษฐกิจ ของจาเมกา !!