“กาลูอา” ศาสตร์แห่งเหล้ากับกาแฟ

กาลูอารุ่มต่าง ๆ เมืองไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา “กาแฟ” เข้ามามีบทบาทกับสังคมไทยในหลาย ๆ ด้าน นอกเหนือจากการดื่มในชีวิตประจำวันอย่างแต่ก่อน เรียกว่ามีหลายมิติมากขึ้น
หนึ่งในจำนวนนั้นคือการผสมผสานกาแฟกับแอลกอฮอล์ ซึ่งมีความพยายามมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำได้เพราะกฎหมายไม่อนุญาต จากการที่เป็นกรรมการคัดเลือก OTOP ประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาแต่แรกเริ่ม มีผู้ทดลองทำและนำมาชิมโดยตลอดและหลายรายทำได้ดีมาก
พูดถึงการผสมผสาน “กาแฟกับแอลกอฮอล์” ประเทศที่ทำได้ดีและโกยเงินเข้าประเทศปีละมหาศาลก็ต้องเป็นเม็กซิโก ชาติที่มีอารยะธรรมเก่าแก่ชาติหนึ่งของโลก ที่มีมรดกตกทอดที่หลากหลาย หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือวัฒนธรรมด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เมื่อพูดถึงเม็กซิโกส่วนใหญ่จะนึกถึง “เตกีลา” (Tequila) เหล้าขาวดีกรีแรงเป็นอันดับแรก น้อยคนนักจะคิดถึง “กาลูอา” (Kahlúa) เหล้าที่ผสมผสาน“กาแฟกับแอลกอฮอล์” ได้อย่างลงตัว และศักดิ์ศรีไม่ได้เป็นรองเตกีลา และในบ้านเราเรียกกันว่า “คาห์ลัว”
ผมเคยไปดูโรงงานทำ “กาลูอา” เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว คนที่นั่นบอกว่าสมัยก่อนพ่อแม่สอนให้เด็ก ๆ ดื่ม“กาลูอา” ตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบแล้ว ใส่น้ำแข็งเย็น ๆ รสชาติหอมหวานเหมือนดื่มนม ขณะที่แอลกอฮอล์ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ถือว่าธรรมดามากสำหรับพวกเขา ถือเป็นเครื่องดื่มในครอบครัวมากว่าเตกีลาซึ่งดีกรีสูงกว่า
เปโดร โดเมก (Pedro Domecq) เป็นผู้ริเริ่มผลิต “กาลูอา” ในปี 1936 นี่เอง ซึ่งชื่อแปลว่า “House of the Acolhua people” เป็นเครื่องดื่มรุ่นใหม่ เมื่อเทียบกับเตกีลาที่เกิดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เดิมคนเม็กซิโกเรียกว่า “กาลูฮาฮา” (Kaluhaha) ดื่มกันสนุกสนานทั้งหญิงชายรวมทั้งวัยรุ่น ขณะที่แอลกอฮอล์จากเดิม 26.5% หลังจากปี 2004 เป็นต้นมาก็ลดลงเหลือ 20.0 %
“กาลูอา” ใช้กาแฟเป็นส่วนผสมสำคัญ จึงเรียกว่า “คอฟฟี ลิคเคอร์” (Coffee Liqueur) หรือลิคเคอร์ กลิ่นกาแฟ (Coffee Flavored Liqueur) โดยกาแฟที่ใช้ต้องเป็นพันธุ์อะราบิกา (Arabica) เนื่องจากคั่วแล้วให้กลิ่นที่ไม่ฉุนเฉียว ขณะเดียวกันก็ให้รสชาติที่นุ่มนวล และยังมีปริมาณคาเฟอีนน้อยกว่าพันธุ์โรบัสตา ประมาณ 1 เท่า คือประมาณ 10 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร หรือประมาณร้อยละ 25 ของกาแฟ จากนั้นเลือกเหล้าข้าวโพดหรือรัม (Rum) ที่คุณภาพดีมาเป็นส่วนผสมหลัก ทำให้ได้กลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของ “กาลูอา”
อย่างไรก็ตาม “กาลูอา” สูตรของชาวบ้านที่ทำดื่มกันในครอบครัว มีส่วนผสมที่ง่าย ๆ ประกอบด้วย กาแฟคั่ว น้ำตาลทราย น้ำ และเหล้าข้าวโพด เป็นต้น ตอนหลังมีการเพิ่มส่วนผสมอีกหลายอย่าง รวมทั้งเหล้าก็มีการใช้วอดก้า และยิน ด้วย
ผู้เชี่ยวชาญที่เม็กซิโกบอกว่า “กาลูอา” มีคุณสมบัติพิเศษทั้งกลิ่น รสชาติ และกรรมวิธีการผลิต และถ้าจะให้ได้รสชาติที่ชวนฝันก็ต้องดื่มกับน้ำแข็ง หรือออน เดอ ร็อก (On the Rock) แต่ก็สามารถผสมกับอย่างอื่นได้ และถ้าจะให้ดื่มอร่อย ต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิที่ค่อนข้างเย็น หรือใส่ตู้เย็น
“กาลูอา” ใช้ผสมค็อกเทลสูตรดัง ๆ กว่า 10 รายการ เช่น B-52,Baby Guinness,Mudslide,White Russian และ Black Russian เป็นต้น นอกจากนั้นยังถูกดัดแปลงให้เป็นอะไรต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น ของหวาน ไอศกรีม เค้กต่าง ๆ
“กาลูอา” ปกติจะมีแอลกอฮอล์ระหว่าง 22 – 26.5 % ตามกฏหมายสุราของเม็กซิโก แต่ในปี 2002 ได้มีการผลิตรุ่นพิเศษและราคาแพงเรียกว่า Kahlúa Especial มีวางขายในตลาดสหรัฐเป็นหลัก ก่อนหน้านั้นจะมีขายเฉพาะร้านปลอดภาษี ผลิตจากกาแฟพันธุ์อราบิกา (Arabica) เหมือนกัน แต่เลือกคุณภาพสูงกว่าหรือพรีเมียม แอลกอฮอล์สูงถึง 35 % และดรายหรือหวานน้อยกว่ารุ่นปกติ
“กาลูอา” ถูกนำเข้ามาในสหรัฐอเมริกาในปี 1962
ได้รับความนิยมมาก จนมีคนบอกว่า “กาลูอา เกิดในเม็กซิโก แต่มาโตในสหรัฐ” ขณะที่บางคนบอกว่าสาเหตุ “กาลูอา” ได้รับความนิยมในหมู่คนอเมริกัน อาจจะเนื่องจากสหรัฐเป็นประเทศใหม่เมื่อเทียบกับเม็กซิโก อารยะธรรมด้านต่าง ๆ รวมทั้งอาหารการกินและเครื่องดื่มไม่มีมาก่อน ดังนั้นเมื่ออะไรเข้าไปจึงสามารถรับได้หมด
นอกจาก “กาลูอา” ยังมีแบรนด์อื่น ๆ อีก และมีขายในบ้านเรา เช่น
“กาโมรา” (Kamora) เป็นของเม็กซิโกเช่นกัน เพียงแต่รสชาติไม่เข้มข้นเท่า “กาลูอา” และราคาถูกกว่า แต่ยอดขายเป็นอันดับ 2 ในสหรัฐ รองจาก “กาลูอา”
“ติอา มาเรีย” (Tia Maria) ผลิตโดยบริษัทเดียวกับ“กาลูอา” แต่ Tia Maria ทำในประเทศจาไมกา ใช้กาแฟบลู เมาน์เทน (Jamaican Blue Mountain) กาแฟชื่อดังของจาไมกา กับเหล้ารัม วานิลลา และน้ำตาลทราย แอลกอฮอล์ประมาณ 26.5 %
“กาลูอา” เป็นศาสตร์แห่งแอลกอฮอล์กับกาแฟ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะผสมผสานกันได้อย่างลงตัว และไม่น่าเชื่อว่าจะทำเงินอย่างมหาศาลในกับประเทศผู้ผลิต ซึ่งแอบหวังว่าคนไทยจะได้แสดงฝีมือบ้าง !!

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...