ฉลาก”ชาโต มูตง 2015″ มุมมองของสายเลือดใหม่

ท่านบาฮรอง กับริโอเพลล์ ผู้ออกแบบปี 1978

ท่านบาฮรองกับบาฮรอเนสส์ ลูกสาว

M. Philippe Sereys de Rothschild, Mme Camille Sereys de Rothschi

Ch. Mouton Rothschild 1945

Ch. Mouton Rothschild 1978

Ch. Mouton Rothschild 1987

Ch. Mouton Rothschild 1994

Ch.Mouton Rothschild 1993

Gerhard Richter

Julien de Beaumarchais de Rothschild

ฉลากชาโต มูตอง ร็อธส์ชิลด์ 2015

ฉลากชาโต มูตอง ร็อธส์ชิลด์

ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ 2015 ที่ยังไม่ได้ปิดฉลากนับตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา “ชาโต มูตง ร็อธชีลด์” (Chateau Mouton Rothschild) 1 ใน 5 ไวน์กรองด์ ครูส์ชั้น 1 ของบอร์กโดซ์ ได้เริ่มเชิญศิลปินสาขาต่าง ๆ มาออกแบบฉลาก โดยท่านบาฮรอง ฟีลีปป์ เดอ ร็อธไชลด์ (Baron Philippe de Rothschild : 1902-1988) เจ้าของเป็นผู้เชิญศิลปินด้วยตนเอง หลังจากท่านเสียชีวิต หน้าที่จึงตกมาอยู่กับลูกสาวคือ “บาฮรอเนสส์ ฟีลีปปีน เดอ ร็อธไชลด์” (Baroness Philippine de Rothschild)
หลังการเสียชีวิตของบาฮรอเนสส์ ฟีลีปปีน เดอ ร็อธไชลด์ หนึ่งในตำนานหญิงเหล็กในวงการไวน์บอร์กโดซ์ ในปี 2014 หน้าที่การสรรหาศิลปินรับเชิญเพื่อออกแบบฉลากชาโต มูตง ร็อธชีลด์ ก็ตกอยู่ในความรับผิดชอบของ “ฌูเลียง เดอ บัวมาไชส์ เดอ ร็อธชิลด์” (Julien de Beaumarchais de Rothschild) ลูกชายคนสุดท้องของท่านบาฮรอเนสส์
โดยศิลปินที่ได้รับเกียรติออกแบบชาโต มูตง ฉลากแรกภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นปัจจุบันก็คือ “แกร์ฮาร์ด ริชเตอร์” (Gerhard Richter) ศิลปินชาวเยอรมัน เป็นฉลากของวินเทจ 2015 ซึ่งเป็นหนึ่งในวินเทจคลาสสิค โดยเขาตั้งชื่อภาพว่า ‘Flux’ ความหมายก็คือ Understand something around the concept of ‘flow’
ฌูเลียง เดอ บัวมาไชส์ เดอ ร็อธชิลด์ บอกว่าเขาได้ชมผลงานแนวย้อนยุคของ แกร์ฮาร์ด ริชเตอร์ ที่ปอมปีดู เซ็นเตอร์ (Pompidou Centre) ในปารีสเมื่อปี 2012 จึงติดต่อทันทีและเขาก็ตอบรับทันทีเช่นกัน
สำหรับผู้บริหารชาโต มูตง ร็อธชิลด์ ปัจจุบันคือ 3 พี่น้องลูกของลูกชายคนสุดท้องของท่านบาฮรอเนสส์นั่นเอง ประกอบด้วย Philippe Sereys de Rothschild พี่ชายคนโตเป็นประธาน ตามด้วย Camille Sereys de Rothschild และ Julien de Beaumarchais de Rothschild
Chateau Mouton Rothschild 2015 ทำจากกาแบร์เนต์ โซวีญยง (Cabernet Sauvignon) 82 %, แมร์โลต์ (Merlot)16 % และกาแบร์เนต์ ฟรัง (Cabernet Franc) 2 % ได้คะแนนสูงจากนักชิมค่ายต่าง ๆ เช่น แจนซิส โรบินสัน (Jancis Robinso) ให้ 19/20 คะแนน / Wine Advocate (Robert Parker) ให้ 97-99/100 คะแนน / Vinous (Antonio Galloni)ให้ 95-97 คะแนน / Jeannie Cho Lee MW ให้ 96 คะแนน และTim Atkin MW ให้ 94 คะแนน เป็นต้น
ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ มีตำนานทั้งรสชาติของน้ำเนื้อและฉลากข้างขวด เป็นเงินเป็นทองไปหมดทุกกระเบียดนิ้ว โดยเฉพาะวินเทจ 1987 ที่ท่านบาฮรองเสียชีวิตนั้น Hans Erni (1909-2015) ศิลปินชาวสวิตฯ เป็นคนวาดหน้าของท่านบนฉลาก ข้าง ๆ มีกิ่งก้านองุ่นและลูกองุ่นเหมือนพวงหรีดไว้อาลัย ด้านล่างมีข้อความที่ลูกสาวคือบาฮรอเนสส์ ฟีลีปปีน เดอ ร็อธไชลด์ เขียนไว้อาลัยผู้เป็นพ่อ เป็นครั้งแรกที่สตรีได้เขียนข้อความบนฉลากมูตอง หลังจากนั้นจึงมีศิลปินมากหน้าหลายตาวนเวียนสร้างสรรจิตนาการบนฉลาก รวมทั้ง พาโบล ปิกัสโซ่ ผู้ยิ่งใหญ่
ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ กำเนิดในศตวรรษที่ 14 เดิมชื่อ ชาโต บราน-มูตอง (Chateau Brane-Mouton) และบาฮรอง นาธาเนียล เดอ ร็อธส์ไชลด์ มหาเศรษฐี 1 ใน 10 ของฝรั่งเศส ได้ซื้อชาโตแห่งนี้ในปี 1853 และเปลี่ยนเป็นชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ ตามตระกูลของตัวเอง
ปี 1855 ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ ได้รับการประกาศให้เป็นกรองด์ ครูส์ชั้น 2 ตาม ”บัญชีเมด็อก 1855” กระทั่งยุคของบาฮรอง ฟีลีป เดอ ร็อธส์ไชลด์ (Baron Philippe de Rothschild) หลานปู่ของบาฮรอง นาธาเนียล ต้องใช้เวลาพิสูจน์ต่อสู้ถึง 118 ปี ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ จึงได้รับการเลื่อนชั้นขึ้นมาชั้น 1 ในปี 1973
ท่านบาฮรอง ฟีลีป เดอ ร็อธส์ไชลด์ เป็นตำนานหน้าหนึ่งของชาโต มูตง ร็อธชิลด์ จากเด็กหนุ่มที่ชอบการแข่งรถ ชอบศิลปะ และโรงละครยุคใหม่ ต้องมารับหน้าที่ใหญ่ในวัยเพียง 20 ปี เรื่องราวที่เป็น “ที่ 1 “ เกิดขึ้นในสมัยท่านบาฮรอง อย่างน้อยก็ 2-3 อย่าง นอกจากได้รับการเลื่อนชั้นในปี 1973 ดังกล่าวแล้ว ท่านยังเป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “Mis en bouteille au chateau” ลงบนฉลากข้างขวด เพื่อยืนยันว่า “ไวน์ขวดนี้ถูกบรรจุในที่เดียวกับแหล่งผลิต” ไม่ใช่ถูกบรรจุในโกดังของพ่อค้าไวน์ อีกอย่างหนึ่งคือการระบุ “จำนวนขวด” ลงในฉลากทั้งขวดปกติ ขนาดครึ่งของขวดปกติ และขนาดแม็กนั่ม ที่ผลิตได้ในแต่ละวินเทจ
ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ อยู่ในหมู่บ้านปูญาค อ.เมด็อก เมืองบอร์กโดซ์ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 50 กม. มีพื้นที่ในการปลูกองุ่น 203 เอเคอร์ ปลูกองุ่น 4 พันธุ์หลักคือกาแบร์เนต์ โซวีนยง (Cabernet Sauvignon) 77%,แมร์โลต์ (Merlot) 11%,กาแบร์เนต์ ฟรัง (Cabernet Franc) 10%,และเปติต์ แวร์กโดต์ (Petit Verdot) 2 %
สิ่งที่ทำให้โลกรู้จักชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ ก็คือ “ฉลากศิลปะ” (Artist Label) ที่ท่านบาฮรอง ฟีลีป เดอ ร็อธส์ไชลด์ เชิญศิลปินมาออกแบบฉลาก ที่เริ่มเอาจริงเอาจังตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา เพราะท่านชอบงานศิลปะ ศิลปินดังกล่าวค่าตัวระดับร้อยล้านพันล้าน ได้ค่าตอบแทนเป็นไวน์วินเทจที่ออกแบบ 5 ลัง และเลือกอีก 5 ลังจากเซลลาร์ไวน์ของชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ แต่ทุกคนก็พอใจ
ฉลากชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ บางวินเทจสร้างความฮือฮา เช่นวินเทจ 1993 ที่ออกแบบฉลากโดยบาลธัส (Balthus : 1908-2001) ศิลปินชาวฝรั่งเศสเชื้อสายโปแลนด์-รัสเซีย ซึ่งมีชื่อเต็ม ๆ ว่า เคาน์ บาลธาซาร์ โคลสซอว์สกี้ เดอ โรซา (Count Balthasar Klossowski de Rola) ผู้มีชื่อเสียงทางด้านวาดภาพนู้ดสาวเอ๊าะ ๆ มีเมียเป็นชาวญี่ปุ่นชื่อเซตซูโกะ (Setsuko) ที่วาดฉลากมูตอง ร็อธส์ชิลด์ วินเทจ 1991
ฉลากวินเทจ 1993 เป็น 1 ใน 2 วินเทจที่ถูกใช้ 2 ฉลาก เนื่องจากวาดเป็นรูปสาววัยเอ๊าะ ๆ เปลือย ถูกหน่วยงานที่ควบคุมแอลกอฮอล์ ยาสูบ และอาวุธปืน (BATF) ของสหรัฐสั่งแบน ทำให้ชาโต มูตง ร็อธชิลด์ 1993 ที่ขายในสหรัฐไม่มีรูปหญิงเปลือย ปล่อยเป็นฉลากว่าง ๆ แต่ข้อความอื่น ๆ มีครบ ก่อนหน้านั้นวินเทจ 1978 ฌอง ปอล ริโอเพลล์ (Jean-Paul Riopelle 1923 – 2002) ศิลปินชาวแคนาดา ออกแบบฉลากมา 2 ภาพ ท่านบารอนชอบทั้ง 2 ภาพ แต่ยากที่นำภาพทั้งคู่มารวมอยู่ในฉลากเดียวกัน ท่านจึงตัดสินใจใช้ 2 ภาพเป็นฉลากสลับกันฉลากละครึ่งปีวินเทจ
ขณะที่ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ 1994 มีความเกี่ยวข้องกับวงการไวน์เมืองไทย เพราะบาฮรอเนสส์ ฟีลีปปีน เดอ ร็อธไชลด์ เดินทางมาเปิดตัวในเมืองไทย ออกแบบฉลากโดย คาเรล แอพเพล (Karel Appel 1921 – 1972 ) ศิลปินชื่อก้องโลกชาวฮอลแลนด์คนแรกที่ได้วาดฉลาก โดยวาดเป็นชนชาวพื้นเมืองกำลังเต้นรำอยู่รอบ ๆ ขวดไวน์
นั่นคือฉลาก “ชาโต มูตอง ร็อธส์ชิลด์ 2015″ และนับแต่นี้เป็นต้นไป ภายใต้การกุมบังเหียนของสายเลือดใหม่ ซึ่งต้องจับตามองกันต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น ?

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...