พูดถึง 5 เสือไวน์เมด็อกแล้ว “ชาโต โอต์ บริออง” (Chateau Haut Brion) เป็นอีกหนึ่งที่หลายคนอยากจะลิ้มลอง ไม่ได้อยู่ในอำเภอเมด็อก (Medoc) แต่บังอาจมาติดบัญชีเมด็อก 1855 (Medoc 1855)
“ชาโต โอต์ บริออง” เป็นไวน์ 1 ใน 5 ของกรองด์ ครู ชั้น 1 ในการจัดชั้นไวน์ตามบัญชี Bordeaux Wine Official Classification of 1855 หรือเมด็อก 1855 (Medoc 1855) อยู่ในเขตควบคุมเปสซาค ลีญอง (Pessac-Leognan FAOC) อำเภอกราฟส์ (Graves) เมืองบอร์กโดซ์ เป็นชาโตเดียวเท่านั้นที่อยู่นอกอำเภอเมด็อก ที่ติดการจัดอันดับนี้
ที่สำคัญ “ชาโต โอต์ บริออง” เป็นหนึ่งเดียวเท่านั้นจากชั้น 1 ของบัญชีดังกล่าว ที่ได้รับการย่อย่องให้เป็น “14 แผ่นดินทอง ในการปลูกองุ่นทำไวน์โดย ”สถาบันภูมิทัศน์และสถาปัตยกรรมไร่องุ่นระหว่างประเทศ (Institut International des Paysages et Architectures Viticoles) ณ กรุงปารีส ได้สำรวจพื้นที่ปลูกองุ่นผลิตไวน์ได้อย่างยอดเยี่ยม และประกาศเมื่อปี 2000
ความเป็นมาคร่าว ๆ ของชาโต โอต์ บริออง ต้องย้อนกลับไปกว่า 500 ปี เป็นการถือกำเนิดในยุคกลางของยุโรป และยุคทองของไวน์ฝรั่งเศส โดยเมซง นอเบลอ เดอ โอต์ บรีออง กระทั่งปี1525 จึงตกเป็นของพลเรือเอกฟิลิปป์ เดอ ชาโบ นายทหารผู้มีประวัติในเรื่องตความสอพลออยู่ระยะหนึ่ง แล้วนายพลได้ขายให้ตระกูลปองตัก ที่ทำให้ชาโตแห่งนี้โด่งดังจากศตวรรษที่ 16-18
หลังจากนั้นชาโต โอต์ บรีออง ก็มีหลายตระกูลผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาครอบครอง เจ้าของ ต่อมาในปีปี 1935 คลาเรนซ์ ดิลลอน Clarence Dillon) มหาเศรษฐีชาวสหรัฐเจ้าของบริษัทไฟแนนซ์หลายแห่งจึงเข้ามาเป็นเจ้าของ กระทั่งปัจจุบันเป็นกลุ่มบริษัท “โดเมน คลาเรนซ์ ดิลลง (Domaine Clarence Dillon) และผู้บริหารคือเจ้าชายโรแบรต์ แห่ง ลักซ์เซมเบิร์ก (Prince Robert of Luxembourg)
นอกจากรสชาติที่ล้ำลึกของน้ำเนื้อไวน์แล้ว จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของชาโต โอต์ บริอองก็คือ ตัวปราสาทที่ปรากฏอยู่ในฉลากไวน์ ตัวปราสาทนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1550 เป็นงานศิลปะยุคโรมันที่งดงามมาก ตัวปราสาทเป็นสีขาวสะอาดตา ตัดกับสีดำสนิทของหลังคา มองดูยิ่งใหญ่ น่าเกรงขาม ในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 ด้วยการอนุเคราะห์จากเจ้าของให้ใช้ประสาทนี้เป็นโรงพยาบาลเพื่อรักษาคนไข้ และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากผลพวงของสงครามอันโหดร้ายในยุคนั้น…
ปี 2018 เจ้าชายโรแบรต์ แห่ง ลักซ์เซมเบิร์ก ในนามของโดเมน คลาเรนซ์ ดิลลอน ได้กลายเป็นสมาชิกรายที่ 12 ของ Primum Familiae Vini (PFV) ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ผลิตไวน์ที่ “ครอบครัวเป็นเจ้าของและผลิตไวน์เอง” มายาวนาน ไม่เคยเปลี่ยนเจ้าของ ซึ่งล้วนแต่เป็นสุดยอดของไวน์ทั้งสิ้น
สำหรับสมาชิก 11 รายแรกประกอบด้วย Antinori / Joseph Drouhin / Egon Muller Scharzhof / Famille Hugel / Familia Torres / Baron Phillipe de Rothschild / Famille Perrin / Tempo Vega Sicilia / Tenuta San Guido / Symington Family Estates และ Pol Roger
เดือนพฤษภาคม 2566 โดเมน คลาเรนซ์ ดิลลอน ได้มอบสมบัติทางวัฒนธรรมชิ้นใหม่ให้กับชาโต โอต์ บริออง ทั้งตำราไวน์และวิทยาการทำอาหารโบราณที่ดีที่สุดจากทั่วโลก โดยได้รับแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์การผลิตไวน์กว่า 2,000 ปีบนพื้นแผ่นดินที่เต็มไปด้วยเรื่องราวอันเป็นตำนานของชาโต โอต์ บริออง โดยมุ่งแสวงหาและรวบรวมสิ่งล้ำค่าที่ได้รับการยกย่องว่าจะกลายเป็นเพชรเม็ดใหม่บนยอดมงกุฎของสถานที่ผลิตไวน์ที่น่าเคารพและเก่าแก่ที่สุดแห่งนี้
เจ้าชายโรแบรต์ แห่งลักเซมเบิร์กกล่าวว่า “การจิบไวน์ทุก ๆ ครั้งตลอดระยะเวลากว่า 2,000 ปี ชาโต โอต์ บริออง รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เห็นเรื่องราวของบรรพบุรุษและการมีอยู่ของไวน์ชั้นดีบนโลกนี้ นับตั้งแต่วันแรกไร่ของเราหลอมรวมโลกแห่งวิทยาการทำอาหารเพื่ออาศัยประโยชน์ซึ่งกันและกัน การสร้างหอสมุดที่เป็นทรัพย์สมบัติอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไว้ที่ไร่องุ่นของเราในฝรั่งเศส ทำให้เราเห็นประวัติศาสตร์อันสูงส่งนี้ได้ด้วยตาของเราเอง และยังสามารถประกอบหลักฐานเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ชาโต โอต์ บริออง อยู่รอดผ่านยุคสมัยเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง และสะท้อนให้เห็นความหลงใหลของบรรพบุรุษเรา ของสะสมเหล่านี้ได้พาทุกท่านมานั่งบนโต๊ะแห่งประวัติศาสตร์ ประหนึ่งว่าเราได้ร่วมงานเลี้ยงที่เต็มไปด้วยความรู้สึก ที่ทอดยาวผ่านกาลเวลาและยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้โลกแห่งไวน์และวิทยาการทำอาหารชั้นเลิศมาถึงทุกวันนี้”
ว่ากันว่าชาโต โอต์ บริออง ซ่อนตัวอยู่บนพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์วิทยาการทำอาหาร โดยย้อนกลับไปเมื่อ 1666 ครอบครัวปงแทค ได้เปิดปงแทคส์ เฮด (Pontac’s Head) ภัตตาคารที่ให้ความสำคัญกับวิทยาการทำอาหาร (Gastronomic Restaurant) แห่งแรก ๆ ของยุโรป ต่อมาในปี 1787 โจเซฟ ฟูเมล (Joseph Fumel) นายทหารและนักการเมืองระดับสูงของฝรั่งเศส ได้ใช้ ชาโต โอต์ บริออง ต้อนรับโทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) รัฐมนตรีกระทรวงฝรั่งเศสของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น
ปี 1803 การซื้อลุยเซียนา (Louisiana Purchase) ได้นำโทมัส เจฟเฟอร์สัน ในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐฯ มาพบกับเจ้าของไร่ในขณะนั้น คือ เจ้าชายเดอ ตาแลฮรอง-เปฮรีกอร์ด (Prince de Talleyrand-Perigord) ต่อมาเจ้าชายก็กลายเป็นเจ้าภาพและนักการทูตที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna) ซึ่งไม่น้อยเป็นผลมาจากฝีมือของอองตวน กาเฮรเม (Antonin Carême) เชฟส่วนตัวของพระองค์ที่ต่อมาได้การยกย่องว่าเป็นเชฟระดับดาราคนแรก ๆ
“หนังสือ Le Maître d’hôtel français และ Le Pâtissier pittoresque ที่มีลายเซ็นของอองตวน กาเฮรเม เป็นแรงบันดาลใจตั้งแต่เริ่มแรกจนกลายเป็นหลักสำคัญของหอสมุดชาโต โอต์ บริออง ทั้ง 2 เล่มเป็นการซื้อของสะสมครั้งแรก ๆ ของผม เป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์โลก วิทยาการทำอาหาร และแน่นอนวิธีการทูตอันโด่งดังของเจ้าของชาโต โอต์ บริอองในขณะนั้นอย่างเจ้าชายชาร์ล มอฮริส์ เดอ ตาแลฮรอง เปฮรีกอร์” เจ้าชายโรแบรต์ แห่งลักเซมเบิร์กกล่าว
ปัจจุบันนี้ ชาโต โอต์ บรีออง อยู่ระหว่างการก่อสร้างและปรับปรุงครั้งใหญ่ โดยมีแอนนาเบล เซลดอร์ฟ (Annabelle Selldorf) เป็นสถาปนิก จะมีการสร้างโรงผลิตไวน์แห่งใหม่ รวมถึงเพิ่มของสะสม เช่น รายการอาหาร จดหมาย เอกสาร ตำราอาหารและไวน์โบราณ ล่าสุดหอสมุดของชาโต โอต์ บรีออง ได้รับประโยชน์มหาศาลจากการซื้อชุดหนังสือสะสมแทครีย์ คอลเลกชัน (Thackrey Collection) ของฌอน แทครีย์ (Sean Thackrey) ผู้ผลิตไวน์ระดับตำนานจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งจะเพิ่มมิติใหม่ ๆ ให้หอสมุดแห่งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
ปัจจุบันหอสมุดแห่งนี้มีตำราเกี่ยวกับการปลูกองุ่น ไวน์ และวิทยาการทำอาหารกว่า 3,000 เล่ม รวมถึงจดหมายเหตุฉบับดั้งเดิมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไร่ชาโต โอต์ บรีออง 8 ฉบับ รายการอาหารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ 312 ฉบับ รายการไวน์ของภัตตาคารชื่อดัง 100 ฉบับ จดหมายที่มีลายเซ็นและเอกสารเกี่ยวกับความรู้ทางเกษตรกรรม วิทยาการทำอาหาร และมารยาทบนโต๊ะอาหาร ซึ่งเขียนด้วยลายมือฉบับจริง 43 ฉบับ และในภาษาญี่ปุ่นอีก 17 ฉบับ โดยของสะสมของชาโต โอต บรีออง จะเปิดให้นักวิชาการเข้าชมผ่านการนัดหมายเริ่มตั้งแต่ปี 2569
วันที่ 12-18 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมาสด ๆ ร้อน ผมได้เดินทางไปชิมไวน์หลาย ๆ ชาโต ในบอร์กโดซ์ พร้อมกับทีมงานและลูกค้าของร้าน Wine in Love หนึ่งในจำนวนนั้นคือชาโต โอต์ บริออง นี่เอง อย่างไรก็ตามเนื่องจากชาโต โอต์ บริออง ปิดทำการซ่อมแซมและก่อสร้างอย่างอื่นอีกหลายอย่างมาตั้งแต่ปี 2022 ใครก็ตามที่ไปเยี่ยมเยียนก็จะได้ชมในส่วนของชาโต ลา มอสสิออง โอต์ บริออง ซึ่งทุกคนก็ประทับใจอย่างยิ่งที่ได้ไปชิมถึงเซลลาร์ เพราะไวน์พวกนี้ไม่ได้เดินเข้าไปจ่ายเงินแล้วได้ชิมเลย ต้องมีการนัดหมายล่วงหน้า !!
หลังจากชมกระบวนการผลิตแล้ว เจ้าหน้าที่ได้นำไวน์ ชาโต โอต์ บริออง วินเทจ 2017 และ ชาโต ลา มิสสิออง โอต์ บริออง วินเทจ 2017 มาให้ชิมเปรียบเทียบ โดยชาโต ลา มิสสิออง โอต์ บริอองนั้นที่ผ่านมาหลายคนเข้าใจว่าเป็นไวน์ฉลากสองของชาโต โอต์ บริอองจริงๆ ไม่ใช่เป็นไวน์ในเครือเดียวกันเท่านั้นและเป็นกรองด์ ครูเหมือนกัน ชาโต โอต์ บริอองไปติด 1 ใน 5 ของบัญชีเมด็อก 1855 ส่วนชาโต ลา มิสสิออง โอต์ บริออง เป็นกรองด์ ครู ของบัญชีกราฟส์ นอกจากนั้นทั้งคู่ยังใช้ทีมผลิตเดียวกันทุกอย่าง ต่างกันเพียงแตร์ฮรัวส์เท่านั้น
ชาโต โอต์ บริออง,เปสซาค ลีญอง กราฟ 2017 (Château Haut-Brion,Pessac-Leognan Graves 2017) : ทำจากแมร์กโลต์ (Merlot) 53% กาแบร์กเนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon) 6.3 % และกาแบร์กเนต์ ฟรอง (Cabernet Franc) 40.7% บ่มโอ๊คฝรั่งเศสใหม่ 87%
…สีแดงเข้ม สดใส หอมกลิ่นผลไม้สุก เช่น พลัม แบล็คเคอร์แรนท์ แบล็คเบอร์รี ฟิก ราสพ์เบอร์รี และบลูเบอร์รี มิเนอรัล ดอกไม้ แบล็คชอกโกแลต กาแฟคั่ว ไส้ดินสอดำ ซีดาร์ ผงโกโก้ สโมคกี้โอ๊ค สไปซีเฮิร์บ อบเชย จันทร์เทศ กานพลู ใบยาสูบ วานิลลา แอซสิดสดชื่น แทนนินหนักแน่น จบยาวด้วยผลไม้สุก มิเนอรัล สไปซีเฮิร์บ วานิลลา น่าจะเริ่มดื่มได้ในอีกประมาณ 7-8 ปีข้างหน้า….19.5/20 คะแนน
ชาโต ลา มิสสิออง โอต์ บริออง เปสซาค ลีญอง กราฟส์ 2017 (Château La Mission Haut-Brion Pessac-Leognan Graves 2017) : ทำจากแมร์กโลต์ 56% กาแบร์กเนต์ โซวีญยอง 39 % กาแบร์กเนต์ ฟรอง 4.4% ทำ 80,000 ขวด สีแดงเข้ม สดใส หอมกลิ่นผลไม้สุก แบล็คเคอร์แรนท์ แบล็คเบอร์รี พลัม ราสพ์เบอร์รี ดอกไม้ มิเนอรัล กาแฟคั่ว ชอกโกแลต ไส้ดินสอดำ สไปซี่เฮิร์บ เปปเปอร์ อบเชย กานพลู วานิลลา แอซสิดสดชื่น แทนนินปานกลาง จบด้วยผลไม้ มิเนอรัล วานิลลา สามารถดื่มได้ในเวลานี้ แต่จะให้อร่อยอีก 2-3 ปี………19//20 คะแนน
*** ขอบคุณบริษัท K.R.Intertrade 2017 จำกัด และร้าน Wine in Love สนับสนุนการไปชิมและชิมในครั้งนี้