ชิม”อาร์มายัก” 4 เสน่ห์รสชาติที่แตกต่าง

ห้องบ่ม Domaine d'Esperance

3 เขตของอารมายัก

Baco

Baron de Sigognac 10 ans

Chateau d’Arton

Colombard

Dartigalongue 30 ans

Domaine d’Espérance 5 ans

Folle Blanche

Patrick de Montal แห่ง Château Arton

Ugni Blanc

กระบวนการกลั่นอาร์มายัก

เครื่องกลั่น Alambic

เครื่องกลั่นอาร์มายัก

ดินชอล์คในเบตอาร์มายัก

ถังบ่มอาร์มายัก

ที่ตั้งอาร์มายักและคอนยัก

แผนผังการกลั่นอาร์มายัก

ราชา-ราชินี อาร์มายัก จะนำเสนอในครั้งต่อไป

ไร่องุ่นใน Armagnac“It is a product of distiller’s art, created by men of character and tradition.”
หนึ่งในประโยคที่อธิบายความหมายของ “อาร์มายัก” ได้เป็นอย่างดี
“อาร์มายัก” (Armagnac) เป็นบรั่นดี (Brandy) หรือโอ เดอ วี (Eau de vie) ประเภทหนึ่งที่ได้จากการกลั่นน้ำองุ่น โดยสุดยอดบรั่นดีมาจาก 2 แหล่งสำคัญในประเทศฝรั่งเศสคือ คอนยัก (Cognac) และอาร์มายัก (Armagnac)
ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ “อาร์มายัก” ในฐานะเป็นเหล้ากลั่นที่อายุยืนยาวที่สุดในโลก ตามประวัติบอกว่ามีการกลั่นตั้งแต่ปี 1411 ซึ่งก่อนคอนยักประมาณ 200 ปี
อาร์มายักกำเนิดในแคว้นกาสกอญหรือกาสโกนี (Gascony) ได้รับ AOC (Appellation d’Origine Controlee) ในปี 1936 ที่สำคัญอาร์มายักถูกควบคุมคุณภาพโดย 2 หน่วยงานของรัฐคือ Institut National de l’Origine et de la Qualité (INAO) ที่ควบคุมคุณภาพไวน์ของฝรั่งเศสด้วย และ The Bureau National Interprofessionel de l’Armagnac (BNIA)
สำหรับแคว้นกาสกอญหรือกาสโกนี แหล่งกำเนิดของอาร์มายักนั้น อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส หรืออยู่ทางใต้ของเมืองบอร์กโดซ์ (Bordeaux) ประมาณ 150 กม. เคยถูกใช้เป็นฉากของวรรณกรรมชิ้นสำคัญของโลกคือสามทหารเสือ ของอเล็กซานเดอร์ ดูมาส มาแล้ว
อาร์มายักมีพื้นที่ปลูกองุ่นประมาณ 160 ตารางกิโลเมตร องุ่นที่ใช้ผลิตอาร์มายักมี 4 พันธุ์หลัก ๆ คือ อูยี บลัง (Ugni Blanc หรือ Saint-Emilion),บาโก (Baco หรือ Baco 22A),ฟอลล์ บลองเช (Folle Blanche) และโคลอมบาร์ด (Colombard) นอกนั้นเป็นองุ่นพื้นเมืองที่หายากอีกประมาณ 7-8 พันธุ์ ขณะที่คอนยักใช้องุ่นอูยี บลัง เป็นหลัก
อาร์มายัก แบ่งเขตการผลิตเป็น 3 เขตคือ
1.บาส อาร์มายัก (Bas Armagnac) ตั้งอยู่ทางตะวันตกของอาร์มายัก มีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในจังหวัดแกร์ (Gers) บางส่วนอยู่ในจังหวัดลอง (Landes) เป็นเขตที่มีชื่อเสียงและผลิตอาร์มายักได้เยี่ยมที่สุด รสชาตินุ่มนวล มีกลิ่นพลัมเป็นเอกลักษณ์สำคัญ ตามด้วยพรุน กลิ่นดิน และกลิ่นแร่ธาตุ ดินส่วนใหญ่เป็นดินทรายผสมดินร่วน อุดมด้วยธาตุโปรแตสเซียมและแร่ธาตุอื่นๆ มากมาย ผลผลิตอาร์มายัก 67%
2.เตนาเรเซ (Tenarèze) เป็นเขตขนาดกลางอยู่ระหว่างเขต Bas-Armagnac และ Haut- Armagnac ดินเป็นประเภทชอล์ค (Chalky Soil) ที่มีส่วนผสมของหินปูน ทำให้มีกลิ่นหอมของดอกไม้นานาพันธุ์ รสชาติค่อนข้างฟูลบอดี้ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเป็นเขตที่แคแล็คเตอร์คล้ายคอนยักที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 2 เขต ผลผลิต 32 %
3.โอต์ อาร์มายัค (Haut Armagnac) ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองอาร์มายัก ดินส่วนใหญ่คือชอล์ค (Chalky Soil) รสชาติไม่ค่อยนุ่มนวล ออกไปทางหยาบ ๆ เป็นเขตใหญ่ แต่ผลผลิตน้อยคือประมาณ 1 %
อาร์มายักนั้นมีทั้งความเหมือนและข้อแตกต่างจากคอนยัก เช่น เหมือนในเรื่องของการใช้พันธุ์องุ่น ขณะที่ความแตกต่างกันมีอยู่หลายอย่าง เช่น “แหล่งผลิต” โดยคอนยักต้องผลิตใน 2 ดีพาร์ตเมนต์คือ Charente และ Charente-Maritime Départements ตอนเหนือของเมืองบอร์กโดซ์ (Bordeaux) ต่อมาคือ “การกลั่น” คอนยักจะกลั่นครั้งเดียว ทำให้รสชาติหนักแน่น และเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาร์มายักจะต้องบ่มนาน คอนยักจะกลั่นทับซ้อนกัน 2-3 ครั้ง (Pot still) ได้แอลกอฮอล์ประมาณ 72 % ขณะที่อาร์มายักกลั่นแบบต่อเนื่อง (Column still) ได้แอลกอฮอล์ประมาณ 53 – 60 %
หลังจากกลั่นแล้วเมื่อนำมาบ่มในถังไม้โอค อาร์มายัค จะใช้ถังไม้โอคที่มาจากป่ามองเลอซัง (Monlezun) ในเขตบาส อาร์มายัค (Bas Armagnac)
มีบางคำที่เกี่ยวข้องกับการบ่มอาร์มายักที่ควรทราบคือ
VS (Very Special) ” XXX ” : ผสมผสานจากอาร์มายักจากเขตต่าง ๆ แล้วบ่มในถังโอคอย่างน้อย 1 ปี
VSOP (Very Superior Old Pale) หรือ Réserve : ต้องบ่มอย่างน้อย 4 ปี
XO, Napoléon, Extra, Vieille Réserve : ต้องบ่มอย่างน้อย 5 ปี
Hors d’âge : ต้องบ่มอย่างน้อย 10 ปี
ในอดีตที่ผ่านมาอาร์มายักเป็นที่โปรดปรานของเหล่าคนดังและมีชื่อเสียงมากมาย เช่น นโปเลียนมหาราช และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งทั้งคู่ได้ชื่อว่าเป็นนักดื่มระดับคลาสสิคของโลก ขณะที่พระเจ้า อองรี ที่ 4 สะสมแต่อาร์มายักอย่างเดียวเท่านั้น.
ในเมืองไทยมีการนำอาร์มายักเข้ามากว่า 20 ปีแล้ว แต่ไม่กี่ยี่ห้อเพราะแทบขายไม่ได้คนไม่รู้จัก และส่วนใหญ่ยึดติดอยู่กับคอนยัก แต่ล่าสุดมีผู้นำเข้าใจกล้านำอาร์มายักเข้ามาหลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อก็หลายรุ่น จะเรียกว่ามีอาร์มายักมากที่สุดในเมืองไทยก็ไม่ผิดนักนั่นคือ บริษัท Exquisite Elixir Co.,Ltd. ล่าสุดผมได้ชิมของเขาหลายยี่ห้อ หลายรุ่น ในจำนวนนั้นมี “ราชาและราชินี อาร์มายัก” ด้วย แต่ในเบื้องต้นขอนำมาเล่าสู่กันฟัง 4-5 รุ่นดังนี้
บาฮรอง เดอ ซีโกยัก 10 ปี บาส์ อาร์มายัค เอโอซี (Baron de Sigognac 10 ans Bas Armagnac AOC) : คราฟต์ อาร์มายักจากตระกูลกูสช์ (Guasch family) ที่อาศัยอยู่ในแกสโกนี (Gascony) มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 และซื้อไร่บอร์เดอเนิฟ (Bordeneuve) มาเมื่อปี 1974 ปลูกองุ่นอูยี บลัง (Ugni Blanc) 75% ที่เหลือเป็นองุ่นบาโก (Baco) กลั่นอาร์มายักมาเกือบ ๆ 100 ปี รุ่นนี้ทำจากองุ่นบาโกและอูยี บลัง ที่กลั่นพร้อมด้วยกากยีสต์ (Lees) เบลนด์จากหลายวินเทจจนได้ความลงตัวแล้วบ่มในถังโอคฝรั่งเศส แอลกอฮอล์ 40% abv
สีเหลืองอัมพันเข้ม ๆ อโรมามีกลิ่นหอมของดอกไม้ เปลือกส้ม อบเชย จันทน์เทศ วานิลลาหวาน ๆ ขนมฟรุตเค้ก ขณะที่แพลลิท (Palate) มีเอิร์ธตี้ มิเนอรัล ดอกไม้ สนิมเหล็ก โอคสไปซี่และหวานปะแล่มๆ ขนมหวาน และเนยกรุ่น ๆ จบยาวด้วยอัลมอนด์ ฮาเซลนัท และขนมคัสตาร์ด เป็นอาร์มายักที่บาลานซ์ระหว่างฟรุตตี้และสไปซี
โดเมน เดสเปฮรานซ์,5 ปี,บาส์ อาร์มายัค เอโอซี (Domaine d’Espérance 5 ans, Bas Armagnac AOC) : ตัวนี้เป็น VSOP เบลนด์จากอาร์มายัก 3-5 วินเทจ ซึ่งกลั่นจากองุ่น 2 พันธุ์คือ บาโก (Baco) และโฟล บลังเช (Folle Blanche) บ่มในถังโอคใหม่และโอคเก่าขนาด 410-430 ลิตร เป็นเวลากว่า 5 ปี ๆ แรกบ่มถังใหม่ หลังจากนั้นบ่มในถังเก่า การเบลนด์ดังกล่าวเพื่อให้ดื่มง่าย โดยมีฟรุตตี้นำหน้า สนับสนุนด้วยโอคหอมกรุ่น แอลกอฮอล์ 40% abv
อโรมามีกลิ่นผลไม้สุกหอมหวาน เช่น ลูกเกด เบอร์รี แบล็คเชอร์รี ตามด้วยสไปซี่โอคกรุ่น ๆ ตามสไตล์ของอาร์มายักรุ่นนี้ คาราเมล ดอกไม้กรุ่น ๆ ขณะที่แพลลิท (Palate) มีสไปซี่ ชอกโกแลต นัตตี้ จบปานกลางด้วยกาแฟคั่ว ใบยาสูบบ่ม ไม้ซีดาร์ เป็นรุ่นที่ดื่มได้หลากหลายทั้งเพียว ๆ หรือเติมน้ำเล็กน้อย และเหมาะสำหรับเป็นส่วนผสมหลักของค็อกเทล ที่มีผลไม้ประเภทส้มเป็นส่วนผสม
ชาโต ดาร์ตง ลา รีเสิร์ฟ โอต์ อาร์มายัก เอโอซี (Chateau d’Arton La Reserve Haut Armagnac AOC) : เป็นหนึ่งในอาร์มายักที่อร่อยในตลาดเมืองไทย ทำจากองุ่นอูยี บลัง (Ugni Blanc) 100% โดยเบลนด์จากอาร์มายักที่มีอายุ 4 -11 ปี บรรจุขวดเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมานี่เอง แอลกอฮอล์ 45% เป็นอาร์มายักสไตล์ Rich and Fruity คือเข้มข้นและผลไม้หอมกรุ่น
สีเหลืองอำพัน อโรมาหอมกลิ่นผลไม้สุก เช่น แพร์ มะเดื่อ และพลัม ตามด้วยทอฟฟี่กาแฟ ดอกไม้ สไปซี่ เปปเปอร์ อบเชย และขิง ขณะที่แพลลิท (Palate) มีดอกไม้สด ๆ ชาโมมายล์ โอค วานิลลา อัลมอนด์ เปลือกส้ม แพร์ มาร์มาเลด น้ำผึ้งกรุ่น ๆ จบยาวด้วยผลไม้ประเภทดราย ฟรุต (Dried Fruits) สไปซี่ แนะนำให้ดื่มเพียว ๆ (Neat) หรือเป็นส่วนผสมของค็อกเทลไซด์คาร์ (Sidecar)
โดเมน อาร์ตง มีพื้นที่ปลูกองุ่นประมาณ 50 เฮกตาร์ ในที่ราบสูงเลคตัวร์ (Lectoure) ใจกลาง Gascony เจ้าของคือปาตริค เดอ มงตัล (Patrick de Momtal) เริ่มครอบครองมาตั้งแต่ปี 1970 นอกจากทำอาร์มายักแล้ว ยังสามารถผลิตไวน์ได้อย่างดีด้วย เคยได้รางวัล “Wine Region of the Year 2017″ ที่จัดโดยนิตยสารไวน์ Wine Enthusiast มาแล้ว ไม่ธรรมดา
ดาร์ติกาลงก์ บาส์ อาร์มายัก 30 ปี (Dartigalongue Bas Armagnac AOC 30 ans) : ตัวสุดยอดของที่ได้ชิมในครั้งนี้ เบลนด์จากอาร์มายักเก่าแก่ 40-50 ปี ที่อายุน้อยสุดคือ 30 ปี ทำจากองุ่น 3 พันธุ์คืออูยี บลัง (Ugni Blanc) ที่ให้ฟรุตตี้ ตามด้วยบาโก (Baco) องุ่นของ AOC Armagnac โดยเฉพาะให้โครงสร้าง และฟอลล์ บลังเช (Folle Blanche) ให้ความนุ่มนวลและหลากหลาย กลั่นด้วยเครื่องกลั่นอาลัมบิก (Alambic) ที่เป็นเอกลักษณ์ของอาร์มายักโดยเฉพาะ
บ่มในถังโอคจากกาสกง (Gascon Oak ) โดยบ่มใน 2 เซลลาร์คือ Dry Cellars เพื่อลดความแข็งกระด้างของอาร์มายัก จากนั้นย้ายไปบ่มใน Humid Cellars เพื่อให้เกิดความกลมกล่อมและนุ่มนวล แอลกอฮอล์ 45% เป็นอาร์มายักสไตล์ที่ทางเจ้าของกำหนดไว้คือ 2 คำ “Freshness and Full Flavoured”
สีเหลืองอำพันขอบบราวน์แกมใสนิด ๆ อโรมามีกลิ่นของผลไม้สุกและผลไม้ตากแห้ง เช่น มะเดื่อ ส้ม เบอร์รี ลูกเกด ตามด้วยเลมอน คาราเมล ผิวส้ม ไม้ซีดาร์ ขนมปังกรอบ ใบไม้แห้ง ๆ สไปซี่ อบเชย จันทน์เทศ ขณะที่แพลลิท (Palate) มีผลไม้สุก เช่น แพร์ พีช และส้ม คาราเมล วานิลลา ขนมเครม บรูเล และสไปซี จบยาวด้วยผลไม้สุก แอปริคอต วานิลลา ชอกโกแลต และสไปซีเฮิร์บชุ่มคอ
นั่นคือส่วนหนึ่งของอาร์มายักที่ได้ชื่อว่าเป็น “ราชาแห่งบรั่นดี” ส่วนจะเป็นอย่างไร ? จริงหรือไม่ ? ท่านต้องลิ้มรสด้วยตนเอง.

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...