“ซูเปอร์ ทัสกัน” ฝีมือเตนูตา เซตเต ปอนติ

“เตนูตา เซตเต ปอนติ” (Tenuta Sette Ponti) เป็นหนึ่งในผู้ผลิตไวน์ “ซูเปอร์ ทัสกัน” หรือ “ซูเปอร์ ทุสกัน” (Super Tuscan) ระดับคุณภาพเจ้าหนึ่งในทัสคานี ตั้งอยู่ใจกลางของเคียนติ (Chianti) ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์แห่งการทำไวน์ของแคว้นทัสคานี (Tuscany) เจ้าของคือตระกูล Moretti หลังจาก Alberto Moretti ซื้อพื้นที่ 50 เฮกตาร์ มาจากเจ้าหญิง Margherita และ Maria Cristina Savoia d’Aosta ในปี 1950
ชื่อของ Tenuta Sette Ponti นำมาจากจำนวนความโค้งของสะพานข้ามแม่น้ำ Arno ที่เชื่อมอาเรซโซ (Arezzo) กับฟลอเรนซ์ (Florence) ประกอบด้วย 7 โค้งสะพาน โดยโค้งแรกมีชื่อว่า The Buriano Bridge ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ที่สำคัญก็คือสะพานนี้เป็นแบล็คกราวด์ด้านหลังภาพโมนา ลิซา ที่โด่งดังของดา วินชี เป็นความลงตัวของแฟชั่น ไวน์และศิลปะอย่างแท้จริง
Arezzo อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของ Florence ประมาณ 80 กิโลเมตร ประกอบด้วย 39 ชุมชน พื้นที่ 260 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 100,650 คน เป็นเมืองที่มีไวน์ SuperTuscan รวมทั้ง Tenuta Sette Ponti แห่งตำบลกาสติโญน ฟิบ็อคคี (Comune di Castiglion Fibocchi) ส่วนไวน์เกรดดีโอซี (DOC) มีเพียง 2 เขต มีไวนะรีประมาณครึ่งร้อยราย
The Tenuta Sette Ponti มีพื้นที่ปลูกองุ่น 330 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ = 6 ไร่ 1 งาน) จาก 4 พื้นที่ ไร่เก่าแก่ที่สุดชื่อ Vigna dell’Impero หมายถึง Vineyard of the Empire ขนาด 3 เฮกตาร์ ปลูกองุ่นมาตั้งแต่ปี 1935 โดย Vittorio Emanuele of Savoy : His Royal Highness the Count of Turin ส่วนใหญ่เป็นซานโจเวเซ กระบวนการทุกอย่างทำด้วยมือ ผลิตไวน์ออกสู่ท้องตลาดครั้งแรกคือรุ่น Crognolo วินเทจ 1998
ผู้บริหารในปัจจุบันคืออันโตนิโอ มอเรตติ (Antonio Moretti) จบมหาวิทยาลัยซิเอนา (Siena University) สาขาเศรษฐศาสตร์และการธนาคาร ทำธุรกิจครั้งแรกด้วยการเปิดร้านเสื้อผ้าเครื่องประดับ ที่ขยายเชนไปทั่วอิตาลี ก่อนจะได้ครอบครอง Arfango แบรนด์เครื่องหนังระดับคุณภาพ และ Bonora รองเท้าแฮนด์เมดชื่อดัง ตามด้วยเป็นหุ้นส่วนใน Patrizio Bertelli ซึ่งอยู่กลุ่ม Prada
Antonio Moretti รับช่วงการทำไวน์ Tenuta Sette Ponti จากพ่อของเขา และทำอย่างจริงจังมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาการทำไวน์ เช่น Gilbert Bouvet หนึ่งในยอดฝีมือในการปลูกองุ่นทำไวน์ของฝรั่งเศส และ Dr.Benedetto d’Anna ดูแลเรื่องการเตรียมพื้นดินสำหรับปลูกองุ่นรุ่นใหม่ ๆ และระบบระบายน้ำให้สมดุลกับธรรมชาติและดิน เป็นต้น
ปี 1999 จึงซื้อไร่แห่งที่ 2 พื้นที่ 115 เอเคอร์ ชื่อ Azienda Agricola Le Fornace ใน Maremma ซึ่งอยู่ชายขอบด้านใต้ของแคว้นทัสกานี ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ DOC ภายใต้ชื่อ Azienda Agricola Poggio al Lupo หรือ “Hill of the Wolf” ปลูกองุ่นซานโจเวเซ (Sangiovese) 40% กาแบร์เนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon) 35% และอลิกันเต (Alicante) 15% ที่เหลือเป็นเปติต์ แวร์กโดต์ (Petit Verdot) ปี 2000 ซื้อไร่ที่ 3 ในเขตโนโต (Noto) ขนาด 250 เอเคอร์บนเกาะซิซิลี และตั้งชื่อว่า Feudo Maccari หลังจากทุกอย่างลงตัว ปัจจุบันเขามอบหน้าที่ให้กับลูก ๆ 3 คนดูและกิจการ
เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัท G4 ผู้นำเข้าไวน์ตัวนี้อย่างเป็นทางการ ร่วมกับโรงแรมแชง กรี-ลา กรุงเทพฯ จัดงานไวน์เทสติ้งแนะนำไวน์ในเครือ Tenuta Sette Ponti หลายรุ่นพร้อมกับไวน์ยี่ห้ออื่น ๆ ที่บริษัทนำเข้า แตที่ถือว่าเป็นไฮไลท์คือรุ่นต่อไปนี้
เตนูตา เซตเต ปอนติ “กรอโญโล” ตอสกานา ไอจีที 2013 (Tenuta Sette Ponti “Crognolo” Toscana IGT 2013) : ทำจาก Sangiovese 90% และ Merlot 10% จากไร่ที่เต็มไปด้วยกาเลสโตร (Galestro) ซึ่งเป็นดินเอกลัษณ์พิเศษของทัสกานี ลักษณะ เป็นดินเหนียวและดินปนทราย มีส่วนผสมของแคลเซียมคาร์บอเนตและ หินปูน (Limestone) บ่ม 14 เดือนในถังโอคฝรั่งเศส (French Allier Barriques) และ บ่มต่อ 5-6 เดือนในขวด
สีแดงทับทิมเข้ม กลิ่นหอมผลไม้สุก เช่น แบล็คเบอร์รี แบล็คเชอร์รี พลัม และบลูเบอร์รีกรุ่น ๆ ตามด้วยสไปซี เฮิร์บ จันทร์เทศ อบเชย วานิลลา ดอกไม้ ควันไฟกรุ่น ๆ แทนนินค่อนข้างหนักแน่นแต่ดื่มแล้วราบรื่น แอซสิดค่อนข้างสูงดื่มแล้วสดชื่น จบยาวด้วยเอิร์ธตี้ ผลไม้และสไปซี เฮิร์บชุ่ม ๆ คอ เป็นไวน์ที่บอดี้หนักแน่นแต่ดื่มง่าย ๆ สบาย ๆ กำลังเริ่มดื่มได้ในปีนี้เป็นต้นไป ถ้าจะให้ดี ได้เหรียญเงินจาก Decanter World Wine Awards 2016
เตนูตา เซตเต ปอนติ “ออร์มา” ตอสกานา ไอจีที 2013 (Tenuta Sette Ponti “Orma” Toscana IGT 2013) : ทำจาก Merlot 40%,Cabernet Sauvignon 20% และ Cabernet Franc 40% หลังจากผ่านกระบวนการหมักแล้วจึงบ่ม 18 เดือนในถังโอคฝรั่งเศส บ่มต่อในขวดอีก 8 เดือน…สีแดงเข้มปึ๊ก ดมครั้งแรกได้กลิ่นยูคาลิปตัสค่อนข้างโดดเด่น ตามด้วยพลัม แบล็คเคอรแรนท์ แบล็คเบอร์รี และแบล็คเชอร์รี น้ำมะเขือเทศสด ซีดาร์ ทาร์ ยาสูบ วินิลลา ชอกโกแลต กราไฟต์ สไปซี แทนนินหนักแน่น แอซสิดปานกลาง จบด้วยผลไม้สุกและสไปซี
เตนูตา เซตเต ปอนติ “ออเรโน” ตอสกานา ไอจีที 2013 (Tenuta Sette Ponti “Oreno” Toscana IGT 2013) : เป็นรุ่นเรือธง (Flagship) ของ Tenuta Sette Ponti ทำจาก Merlot 50%,Cabernet Sauvignon 40% และ Petit Verdot 10% จากไร่ที่แตร์ฮรัวร์เป็น Galestro เช่นเดียวกับรุ่น Crognolo หลังจากผ่านกระบวนการหมักแล้วนำไปบ่ม 18 เดือนในถังโอคฝรั่งเศสใหม่ 100 % และปล่อยให้นอนนิ่ง ๆ อยู่ในขวดอีก 12 เดือน
สีแดงสดใสแกมด้วยประกายสีม่วง กลิ่นผลไม้ที่ดมแล้วเตะจมูกในครั้งแรกคือแบล็คเบอร์รีและสไปซี ตามด้วยพลัม แบล็คเคอร์แรนท์ และราสพ์เบอร์รี มิเนอรัล ชอกโกแลต ครีมมี สไปซี ยี่หร่า โป๊ยกั๊ก โอคหอมหวาน แทนนินหนักแน่น แอซสิดยังค่อนข้างสูง บอดี้หนักแน่น จบยาวด้วยสไปซี และผลไม้ เริ่มดื่มได้ในปีนี้เป็นต้นไป แต่ยังไม่เปิดตัวเท่าใดนัก น่าจะอีกประมาณ 5-6 ปี เป็นอย่างน้อย
นั่นคือข้อมูลส่วนหนึ่งของ “เตนูตา เซตเต ปอนติ” (Tenuta Sette Ponti) เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่อยู่สาขาวิชาชีพด้านไวน์และการบริการ มิใช่เจตนาเชิญชวนให้ดื่ม แต่ถ้าจะดื่มขอให้ดื่มด้วยความรับผิดชอบ !!!

หมายเหตุ : “ซูเปอร์ ทัสกัน” หรือ “ซูเปอร์ ทุสกัน” (Super Tuscans) เป็นที่รู้จักในบ้านเราไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความหมายหลัก ๆ คือไวน์อิตาลีที่ผลิตในเขตเคียนติ คลาสสิโก (Chianti Classico) ทางใต้ของเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) แคว้นทัสกานี (Tuscany) ในช่วงทศวรรษที่ 50 ผลิตในสไตล์ไวน์บอร์กโดซ์ เบลนด์ (Bordeaux Blend) ใช้องุ่นสายพันธุ์คลาสสิคจากฝรั่งเศสที่นำมาปลูกในประเทศอิตาลี เช่น กาแบร์เนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon),แมร์โลต์ (Merlot),กาแบร์เนต์ ฟรัง (Cabernet Franc) และเปติต์ แวร์กโดต์ (Petit Verdot) เป็นต้น
ขณะที่นัยของผู้ผลิตไวน์ Super Tuscans มองว่าไวน์ของพวกเขา หมายถึงจิตวิญญาณของชาวทุสกัน (Tuscan) ที่ต้องการแสวงหาความท้าทายใหม่ ๆ นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่ครั้งโบราณ จึงไม่แปลกใจที่บางคนเรียกพวกเขาว่า “ไวน์ขบถ”
เนื่องจากผู้ผลิตไวน์ Super Tuscan ใช้องุ่นสายพันธุ์คลาสสิคดังกล่าว จึงถือว่าอยู่นอกกฎหมายฉบับที่ 164/1992 ที่ชื่อ “New Disciplinary Code for Denomination of Wines of Origine” ที่บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.1992 (เป็นไวน์ DOC ในวันที่ 5 พ.ย. 1994) พวกเขาจึงไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นไวน์เกรดดีโอซี (DOC) หรือดีโอซีจี (DOCG) เป็นได้เพียงเกรด VdT (Vino da Tavola หรือ Table wine) เท่านั้น
อย่างไรก็ตามนั่นไม่ได้สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับ ผู้ผลิตไวน์ Super Tuscans แม้แต่น้อย แรก ๆ อาจจะมีบ้าง แต่ปัจจุบันเพราะไวน์ของพวกเขาได้รับการยอมรับ ขายดิบขายดีไปทั่วโลก เดินเอามือกุมตังค์กระเป๋าตุงสบายใจเฉิบ แถมยังมีผู้ผลิตใหม่ ๆ พยายามจะทำกันมากขึ้น
Super Tuscan3

เมือง Arezzo

สะพานซึ่งที่มาของชื่อไวน์

Antonio Moretti

IMG_4558

IMG_4561

Oreno 2004

Oreno 2011

Oreno 2013

Orma 2013ปัจจุบันเมืองอื่นก็มีการผลิตบ้าง แต่ยี่ห้อที่โด่งดังและถือเป็นหัวหอกในยุคแรก ๆ ของไวน์ขบถคือ ซาสซิกายา (Sassicaia) ติยาเนลโล (Tignanello) โซลายา (Solaia) ออร์เนลลายา (Ornellaia) และมาสเซโต (Masseto)
“Super Tuscan” เป็นปรากฏการณ์ในวงการไวน์อีกกรณีหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงไม่เฉพาะวงการไวน์อิตาลีเท่านั้น แต่หมายถึงไวน์ระดับโลกด้วย.

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...