ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ ตำนานคนไทยเจ้าของไวน์ในบอร์กโดซ์

ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์

ภาพประวัติศาสตร์

มาร์ตีน รอย ภริยา

ราฟาเอล วงศ์สุรวัฒน์ ลูกชาย

ส่วนหนึ่งของห้องบ่มไวน์

เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตปาปา

ชาโต แซงต์ โล 2009

ชาโต แซงต์ โล ในอดีต

ชาโต แซงต์ โล รุ่นประวัติศาสตร์

ชาโต แซงต์ โลระหว่างวันที่ 12 – 18 กรกฏาคม 2567 ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนไวเนอะรีและชิมไวน์ของเขามากมายหลายชาโตในเมืองบอร์กโดซ์ (Bordeaux) ของฝรั่งเศส ได้คุยกับเจ้าของไวน์ ตลอดจนไวน์เมกเกอร์ และผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคน
หนึ่งในหัวข้อสนทนานั้นคือการที่เศรษฐีและบุคคลที่มีชื่อเสียงของจีน ไปลงทุนและซื้อชาโตไวน์ในบอร์กโดซ์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะก่อนที่โควิด – 19 จะระบาด เศรษฐีจีนชอปชาโตไวน์กันไม่แพ้ซื้อแบรนด์เนมของฝรั่งเศส
มีบางคนถามว่าแล้วคนไทยไม่ไปซื้อชาโตไวน์บ้างหรือ ? ผมบอกไม่มี แต่เมื่อก่อนมีคนไทยเป็นเจ้าของชาโตไวน์ระดับกรองด์ ครู เสียด้วย หลายคนตกใจว่ามีด้วยหรือ ? ก็เลยเล่าเรื่องให้พวกเขาฟัง
วันที่ 22 กรกฏาคม 2005 เมื่อ 19 ปีที่แล้ว ผมได้พบกับ ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงบอร์กโดซ์ เป็นครั้งสุดท้าย ณ บ้านพักใจกลางเมืองบอร์กโดซ์ พร้อมดินเนอร์มื้อพิเศษ หลังจากนั้นผมก็ไม่เจอท่านอีกเลย กระทั่งท่านเสียชีวิตในปี 2011
นอกจากจะเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงบอร์กโดซ์แล้ว นี่คือตำนานคนไทยเจ้าของชาโตไวน์ในฝรั่งเศสตัวจริง
ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ เป็นลูกชายคนโตของครอบครัวนักธุรกิจโรงสีและห้างสรรพสินค้าแถวอีสาน และมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯที่กรุงเทพคริสเตียนและอัสสัมชัญ แต่เพราะเป็นคนหัวแข็งพ่อแม่กลัวว่าจะเรียนไม่จบ จึงส่งไปเรียนในต่างประเทศโดยเขาเลือกฝรั่งเศส เนื่องจากชอบวรรณคดีและศิลปวรรณ กรรมฝรั่งเศส ขณะที่คนไทยยุคนั้นมักจะเลือกสหรัฐหรืออังกฤษ
ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ เริ่มเรียนหนังสือที่เมืองตูร์ (Tour) แคว้นลัวร์ (Loire) ทางเหนือของฝรั่งเศส ก่อนจะพบรักกับภรรยาคือคุณมาร์ตีน รอย (Martine Roy) ณ หอสมุดของสถานศึกษา และใช้ชีวิตด้วยกันมาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต มีทายาทเป็นชาย 1 คนชื่อ ราฟาเอล วงศ์สุรวัฒน์ ขณะที่ ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ มาจบด็อกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์ สถานที่เดียวกับ ดร.ถนัด คอมันตร์ อดีต รมว.ต่างประเทศเคยเรียน
ด็อกเตอร์หนุ่มเริ่มทำงานกับบริษัทส่งออกคอนยัก (Cognac) และอาร์มาญยัก (Armagnac) จากที่ไม่รู้อะไรมากนัก จนกระทั่งกลายเป็นคอนยัก กูรู คือรู้ทุกอย่างตั้งแต่กระบวนการปรุงคอนยักให้อร่อยจนถึงการตลาด นอกจากนั้นยังได้ชื่อเป็นผู้เปิดตลาดอาร์มายักในญี่ปุ่น ขายดีจนกระทั่งมีแบรนด์อาร์มาญยักเป็นของตัวเองชื่อ “ปริ๊นซ์ อาร์มาญยัก”
ปี 1990 ขยับขยายธุรกิจเข้าสู่เส้นทางสายไวน์เต็มตัว ด้วยการทุ่มเงิน 30 ล้านฟรังก์ (ในตอนนั้นประมาณ 125 ล้านบาท) ซื้อ “ชาโต แซงต์ โล” (Chateau Saint Lo) ชาโตไวน์คุณภาพแห่งหนึ่งของ ต.แซงต์ เตมิยอง และเก่าแก่สร้างในช่วงศตวรรษที่ 16 ซ่อมแซมและปรับปรุงให้คงสภาพเดิมให้มากที่สุด ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท Vatana et Fils หรือ “วาตานาและบุตร” คำว่าวาตานาเอาจากตัวหลังของนามสกุลคือวัฒน์
แม้จะเป็นชาโตไวน์ขนาดย่อม แต่เครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีทันสมัยไม่แพ้ชาโตใหญ่ ๆ ตอนที่ซื้อมานั้นเป็นเอโอซี (AOC) ธรรมดา พัฒนาคุณภาพจนได้รับการเลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นแซงต์ เตมิยอง กรองด์ ครู (Saint-Emilion Grand Cru) พร้อมกับความมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพสู่ชั้นสุดยอดคือ แซงต์เตมิยอง กรองด์ ครู คลาสเซ (Saint – Emilion Grand Cru Classe) เนื่องจากตำบลแซงต์เตมิยองมีการปรับเกรดเลื่อนชั้นกันทุก ๆ 10 ปี
“แซงต์ โล” (Saint – Lo) หมายถึงนักบวชของแซงต์ เตมิลิยอง เป็นชื่อเดียวกับนักบวชในแคว้นนอร์มังดี และมีเมืองชื่อ Saint – Lo อยู่ที่นั่นด้วย อยู่ไม่ไกลจาก มองต์ แซงต์ มิเชล (Mont Saint -Michel) นักบวชเหล่านี้อพยพมาอยู่เป็นเวลาพัน ๆ ปีแล้ว
ชาโต แซงต์ โล มีพื้นที่ปลูกองุ่นประมาณ 80 ไร่ ใช้องุ่นแมร์กโลต์ (Merlot) เป็นหลักตามสไตล์ไวน์ฝั่งขวา คือใช้แมร์กโลต์ประมาณ 85 % และกาแบร์กเนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon) 15 % บ่มในถังโอคฝรั่งเศส 18 เดือน แล้วบ่นในขวดอีก 9 เดือน วินเทจแรกที่ออกสู่ท้องตลาดคือ 1992 พร้อมกับส่งมาขายในเมืองไทย
ชาโต แซงต์ โล เคยสร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการขอพระบรมราชานุญาติเชิญตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี กาญจนาภิเษก พิมพ์ลงบนฉลากข้างขวดของวินเทจ 1995 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ผลิตเพียง 3,000 ลัง (36,000 ขวด) เพื่อขายทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยส่งมาขายเพียง 12,000 ขวด กลายเป็นไวน์เก็บสะสมของคอไวน์ ปัจจุบันหลายคนยังมีไวน์รุ่นนี้อยู่ในครอบครอง
ผมพบกับ ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ ครั้งแรกที่โรงแรม โอเรียลเต็ล เพื่อชิมไวน์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี กาญจนาภิเษก ดังกล่าว หลังจากนั้นทุกครั้งที่มาเมืองไทยท่านก็จะโทร.มาชวนผมทุกครั้ง ช่วงนั้นมีสื่อไทยนำเสนอข่าวของท่านมากมาย
ในตอนนั้น Chateau Saint – Lo มีไวน์ฉลาก 2 ชื่อ แลร์มิตาจ เดอ แซงต์ โล (L’ermitage de Saint – Lo) และมีไวน์ฉลากอื่นด้วย เช่น อเล็กซิส เดอ แซงต์ โล (Alexis de Saint – Lo) เป็นไวน์บอร์กโดซ์ เอโอซี โดยคำว่าอเล็กซี หรือ อเล็กซิส มาจากชื่อของนักผจญภัยผู้กล้าหาญของแซงต์ เตมิยอง ผลิตวินเทจแรกคือ 1993 อีกฉลากหนึ่งชื่อโจเซฟ ฟอร์แบง (Josep Forbin) เป็นชื่อของอดีตนายทหารเอกของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งถูกส่งมาจากฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
มาดาม มาร์ติน ภรรยาของ ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์นั้น เป็นผู้ที่ชื่นชอบวัฒนธรรมแบบไทย ๆ มาก เธอจะแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายแบบไทย ๆ และพูดภาษาไทยได้บ้าง ทุกครั้งที่แต่งตัวไปงานต่าง ๆ จะต้องมีสไบเฉียงตามในรูปเสมอ ขณะที่ลูกชายคือ ราฟาเอล วงศ์สุรวัฒน์ จบด็อกเตอร์ด้านประวัติศาสตร์ และชอบศึกษาประวัติศาสตร์ของตะวันออก โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ไทย จบแล้วเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
หลังจากท่านเสียชีวิตไป ชาโต แซงต์ โล ก็ถูกปรับเปลี่ยนเจ้าของ เพราะลูกชายคนเดียวหันเหเส้นทางไปเป็นอาจารย์ อย่างไรก็ตามได้ข่าวว่าปัจจุบันลาออกแล้ว และไปทำไวน์ของตนเองอยู่ในแคว้นลัวร์
“ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์” กับ “ชาโต แซงต์ โล” เป็นตำนานไวน์บอร์กโดซ์กับเจ้าของคนไทยที่โลกเมรัยอมตะได้จารึกไว้บนแผ่นดินบอร์กโดซ์ “เมกกะแห่งการทำไวน์” ของฝรั่งเศส !!

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...