“โรเมโอกับจูเลียต” (Romeo and Juliet) ถือเป็นสีสันสำคัญอย่างยิ่งยวดของเวโรนา (Verona) บางคนบอกว่าถ้าไปแล้วไม่ได้ไปเยี่ยมชมบ้านจูเลียต คงจะคุยไม่ได้เต็มปากนักว่าถึง Verona แล้ว
ขณะที่หลายคนถูกได้รับการบอกเล่าว่า ต้องลูบหน้าอกข้างขวาจูเลียตจึงจะถึง Verona อย่างแท้จริง และจะได้กลับมาที่นี่อีก จึงไม่แปลกใจที่วันนี้นมข้างขวาของจูเลียตสึกกร่อนจนทะลุ
วิลเลียม เชกสเปียร์แต่ง Romeo and Juliet จากเค้าโครงมาเรื่อง The Tragical History of Romeus and Juliet เขียนโดยบันเดลโล (Bandello) กวีชาวอิตาเลียน ก่อนที่อาร์เธอร์ บรูก (Arthur Brooke) กวีชาวอังกฤษนำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ ขณะที่คนอิตาเลียนเรียก Juliet ว่าจูยลีเอตตา (Giulietta) และเรียก Romeo ว่าโรเมโอ (Romeo)
บ้านเลขที่ 27 ถนนไวอะกัปเปลโล (Via Cappello) ที่เรียกว่าบ้านของจูเลียตนั้นจริง ๆ แล้วไม่มีตัวตน เป็นโรงแรมเก่าแก่ที่ถูกอุปโลกน์ให้กลายเป็นบ้านของตระกูล กาปูเลต (Capulet) เพราะจูเลียตและตระกูลนี้ไม่เคยมีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ ขณะที่วันนี้บ้านโรเมโอถูกดัดแปลงเป็นร้านอาหารชื่อ Osteria al Duca เป็นบ้านโครงไม้ผสมอิฐ ก่อสร้างขึ้นราวศตวรรษ 13-14 ประดับประดาด้วยตุ๊กตาแม่มดมากมาย
เวโรนา (Verona) อยู่ในแคว้นเวเนโต (Veneto) ทางอีสานของอิตาลี มีเวนิซ (Venice)หรือเวเนเซีย (Venezia) เป็นเมืองหลวง มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับ 8 ของอิตาลี เป็นสถานที่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยเหตุที่มีความสำคัญทางศิลปะและวัฒนธรรม เป็นเมืองใหญ่และสำคัญเป็นอันดับ 2 ของแคว้นรองจากเวนิซ เป็นเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้ Verona เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี 2000
ในด้านของการผลิตไวน์ “แคว้นเวเนโต” (Veneto) ไม่เป็นรองใคร ไม่ว่าจะเป็นเปียดมอนต์ และทัสกานี ฯลฯ ที่สำคัญก็คือเวเนโตเป็นเขตผลิตไวน์ขนาดใหญ่ 1 ใน 3 ของประเทศ มีชื่อเสียงทั้งไวน์ขาวและไวน์แดง โดยเฉพาะไวน์แดง 3 ประสานที่ยิ่งใหญ่คือ วัลโปลิเชลลา (Valpolicella) อมาโรเน (Amarone) และบาร์โดลิโน (Bardolino) ทั้งหมดนี้ผลิตในเขตที่ติดทะเลเอเดรียติก (Adriatic Sea) ขณะที่ไวน์ขาวรสละเมียด โซอาเว (Soave) ทำจากองุ่นการ์กาเนกา (Garganega) ซึ่งปลูกในเขตที่ติดกับเชิงเขาแอลป์ เป็นต้น
อย่างที่บอก Veneto นั้นไม่ธรรมดาจริง ๆ เพราะมีเขตผลิตไวน์ระดับสูงสุดคือ DOCG หรือเดโนมีนาซีโอเน ดิ ออรีจีเน กอนโตรลาตา อี การันตีตา (Denominazione di Origine Controllata e Garantita) ถึง 14 แห่ง ที่ดัง ๆ เช่น Amarone della Valpolicella / Soave Seperiore / Bardolino Seperiore และ Conegliano Valdobbiadene – Prosecco เป็นต้น นอกจากนั้นยังมี 27 DOC หรือ เดโนมีนาซีโอเน ดิ ออรีฌีเน กอนโตรลาตา (Denominazione di Origine Controllata) ที่บ้านเราคุ้นกันดี เช่น Soave / Prosecco / Bardolino / Valpolicella / Valpolicella Ripasso เป็นต้น มีพื้นที่ปลูกองุ่นประมาณ 90,000 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ = 6 ไร่ 1 งาน) ในจำนวนนี้ 35,400 เฮกตาร์อยู่ในพื้นที่ DOC ผลผลิตรวมปีละ 8,500,000 เฮกโตลิตร ในจำนวนนี้ 55 % เป็นไวน์ขาวในพื้นที่ DOC Veneto
Veneto ผลิตไวน์หลัก ๆ แยกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยฝั่งตะวันออก ใกล้กับทะเลสาบ Venice ระหว่างเนินเขา Treviso,ที่ราบลุ่มแม่น้ำ Piave และชายฝั่งทะเล Adriatic เหมาะกับการปลูกองุ่นเกลรา (Glera) เพื่อทำโปรเซกโก (Prosecco) สปาร์คกลิ้งชื่อดัง นอกนั้นยังมีการปลูกองุ่นMerlot,Carmenere,Verduzzo, Raboso,Piave, Refosco,Tocai,Verdiso และ Marzemino เป็นต้น ส่วนด้านตะวันตก ใกล้กับทะเลสาบ Garda และตัวเมือง Verona โด่งดังในการผลิตไวน์จากองุ่นCorvina,Rondinella,Garganega,Trebbiano of Soave และ Oseleta แน่นอนที่เชิดหน้าชูตาก็คืออมาโรเน ( Amarone)
Veneto ได้รับการขนานนามว่าเป็น “อิตาเลียน บอร์กโดซ์” (Italian Bordeaux) เนื่องจากสามารถผลิตไวน์แดงเบลนด์ (Red blend) ที่เรียกว่าบอร์กโดซ์ เบลนด์ (Bordeaux blend) ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 ไวน์ชื่อดังของเขตคือ Bardolino ไวน์แดงสไตล์เบา ๆ ที่ทำจากองุ่น 3 พันธุ์คอร์วีนา (Corvina),มอลีนารา (Molinara) และรอนดีเนลลา (Rondinella) ซึ่งเป็นองุ่นหลักของแคว้นนี้ ตามด้วยไวน์แดง Valpolicella ที่ต้องใช้ Corvina อย่างน้อย 70 % ที่เหลือเป็น Molinara กับ Rondinella และ Amarone ไวน์หนักแน่นดีกรีแรงที่ทำจากองุ่น 3 พันธุ์ดังกล่าว และอาจจะมีพันธุ์อื่น ๆ อีก 2-3 พันธุ์ เป็นต้น
หนึ่งในไวน์ที่เก่าแก่และสร้างชื่อเสียงให้กับเวโรนา ต้องมีชื่อของ “ปาสกูอา” (Pasqua) อยู่ในสารบบด้วยอย่างแน่นอน ก่อตั้งในปี 1925 โดยพี่น้องตระกูล “Pasqua” ภายใต้ชื่อ Pasqua Vigneti e Cantine ขณะที่การเติบโตเริ่มขยับมาตั้งแต่ทายาทรุ่นที่ 2 เป็นต้นมาจากการนำของ 3 พี่น้องการ์โล (Carlo),จอร์โจ (Giorgio) และอุมแบร์โต (Umberto) เป็นรุ่นที่บุกเบิกตลาดต่างประเทศไปยังยุโรป อเมริกา และอื่น ๆ หลังจากนั้นจึงมีการพัฒนาและวิจัย ทางด้านการปลูกองุ่น พันธุ์องุ่น และกิ่งพันธุ์องุ่น เป็นต้นทุกวันนี้พวกเขาก็ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท
ปัจจุบัน Pasqua บริหารงานโดยทายาทรุ่นที่ 3 นำโดยริคคาร์โด ปาสกูอา (Riccardo Pasqua) ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นผู้เปิดตลาดไวน์ของครอบครัวจนโด่งดังในสหรัฐ ในฐานะอดีตนักเรียนเก่าอเมริกา พร้อมสายการผลิตไวน์หลากหลายรุ่น หลายพันธุ์องุ่น และมีทั้งเกรด DOC,DOCG และ IGT
Riccardo Pasqua ในฐานะของ CEO ป้ายแดง เคยเดินทางมาเมืองไทยเพื่อแนะนำไวน์ของเขา 2 ตัวคือ
ฟามีญเลีย ปาสกูอา โปรเซกโก เทรวีโซ ดีโอซี บรุต เอ็นวี (Famiglia Pasqua Prosecco Treviso DOC Brut NV) เป็นโปรเซกโกสไตล์ดื่มง่าย ๆ ไร้วินเทจ (Non Vintage = NV) แต่รสชาติไม่แพ้พวกที่มีวินเทจ สีเหลืองทองอ่อน ๆ คล้ายฟางแห้ง มีเขียวแซมนิด ๆ หอมกลิ่นผลไม้ กูสเบอร์รี ผักสด หญ้าสด แอซสิดกำลังดีดื่มแล้วสดชื่น เป็นไวน์ที่เหมาะสำหรับดื่มเรียกน้ำย่อยหรือดื่มกับสลัดเบา ๆ
ฟามีญเลีย ปาสกูอา”ปาสสีเมนโต” เวเนโต ไอจีที 2013 (Famiglia Pasqua “Passimento” Veneto IGT 2013) : ทำจากแมร์โลต์ (Merlot) 40%,คอร์วินา (Corvina) 30% และครออาตินา (Croatina) 30% ชื่อของรุ่น “Pasimento” เอามาจากคำว่า “Appassiment” ซึ่งเป็นกรรมวิธีการผลิตไวน์แดงดีกรีแรงแบบดั้งเดิมของชาว Valpolicella ที่ใช้ทำไวน์อมาโรเนนั่นเอง วิธีทำหลัก ๆ ก็คือนำองุ่นไปผึ่งลมก่อนนำมาบีบน้ำองุ่นเพื่อหมักทำไวน์ การผึ่งลมดังกล่าว 1 เดือนจะทำให้น้ำองุ่นหายไปประมาณ 30 %
ฉลากวินเทจนี้ทำพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปีของบริษัท โดยนำรูปมาจากข้อความที่นักท่องเที่ยวเขียนระลึกถึงความรักของ “โรเมโอกับจูเลียต” นักท่องเที่ยวจะเขียนข้อความที่ริมผนังทางเดินเข้าบ้านจูเลียตมากมายก่ายกองประมาณวันละ 3,000 ข้อความ จนเจ้าหน้าที่ต้องลบแทบทุกวัน
สีแดงเข้มสดใสคล้าย ๆ ทับทิม กลิ่นหอมผลไม้สุกแกมฝาดนิด ๆ เช่น แบล็คเบอร์รี แครนเบอร์รี พลัม และแบล็คเชอร์รี สไปซี หนังสัตว์ ควันไฟ แยมผลไม้ ขนมทาร์ท แทนนินสุกหอมหวานแกมขม จบยาวด้วยผลไม้สุกและแทนนินฝาด ๆ ขม ๆ เล็กน้อยตามคุณลักษณะของไวน์ประเภทนี้ สามารถดื่มตอนนี้ก็ได้ อีกสัก 2-3 ปียิ่งอร่อย แนะนำให้เปิดล่วงหน้าอย่างน้อยประมาณ 1 ชั่วโมงและถ้าดีแคนต์ด้วยจะดีมาก……91/100 คะแนน
“อะไรคือความสำเร็จของไวน์ Pasqua ?”
“Tradition,Innovation,Quality,Research and Passion”
Riccardo Pasqua ตอบก่อนที่จะรีบฝ่าดงรถติดไปขึ้นเครื่องเดินทางไปทำหน้าที่ต่อในประเทศอื่น !!