“ลา ตูร์ ดาฌังต์” ถูกโขมยไวน์ 1.63 ล้านเหรียญสหรัฐ

….นาย Claude กำลังทำเป็ด

เป็ดซอสส้ม

ลา ตูร์ ดาฌังต์

ลา ตูร์ ดาฌังต์ ยุคดั้งเดิม

ไวน์ลิสต์

ไวน์โฮรมาเน กงติ ในร้านปลอดภาษีเมืองไทย

หมายเลขเป็ดยุคแรก ๆ

หมายเลขเป็ดยุคหลัง

ห้องยอดนิยม

โฮรมาเน กงติ และไวน์ในเครือ

การทำซอสเป็ด

เครื่องอัดเป็ด

เซลลาร์ไวน์ช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา เกิดข่าวใหญ่ในแวดวงไวน์ และร้านอาหารในกรุงปารีส ประทศฝรั่งเศส เมื่อเจ้าของร้าน “ลา ตูร์ ดาฌังต์” (La Tour d’Argent) ที่เปิดมาเกือบครึ่งศตวรรษ วิ่งขึ้นโรงพัก หลังพบว่าไวน์ชั้นดีหายไปจากเซลลาร์ถึง 83 ขวด ไฮไลท์คือ ”โดเมน เดอ ลา โฮรมาเน กงติ” (Domaine de la Romanée Conti) อภิมหาไวน์แดงแพงที่สุดของโลก
เจ้าของร้านบอกกับตำรวจว่า ไวน์ทั้ง 83 ขวดนั้นรวมเป็นมูลค่ากว่า 1.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น่าจะถูกโขมยไปในช่วงที่ร้านปิดปรับปรุงระหว่างเดือนเมษายน 2022 ถึงกันยายน 2023
ในช่วง 3-4 ปีที่เกิดโควิด-19 ระบาด ร้านอาหารระดับหรูหราในยุโรปและสหรัฐถูกโจรกรรมหลายร้าน ส่วนหนึ่งเพราะร้านพวกนี้มีไวน์ระดับแพง ๆ ของโลกไว้บริการลูกค้าหนึ่งในนั้นคือ ”โดเมน เดอ ลา โฮรมาเน กงติ” เป็นเป้าหมายของโจรเล็กโจรน้อยทั้งหลาย ซึ่งเป็นการขโมยตามใบสั่ง เนื่องจากไวน์พวกนี้ราคาแพง และเป็นที่ต้องการอย่างมาก แต่จำนวนการผลิตน้อยปีละ 5,000 ขวดเท่านั้น
ย้อนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ร้านอาหารฟอร์เมล บี (Formel B) ร้านอาหารระดับมิชแลง 1 ดาวในกรุงโคเปนเฮเกน (Copenhagen) ในเดนมาร์ก ถูกโจรเจาะกำแพงร้านแล้วเข้าไปขโมยไวน์ โดยเจาะจงไวน์เบอร์กันดีราคาแพงประมาณ 50-60 ขวดคิดเป็นมูลค่ากว่า 170,000 – 220,000 ยูโร แน่นอนต้องมีโดเมน เดอ ลา โฮรมาเน กงติ (Domaine de la Romanée Conti) หลายรุ่น รวมทั้ง “โฮรมาเน กงติ 2014″ (Romanée-Conti 2014) ซึ่งในตลาดบอนด์ (Bond) ราคาขวดละ 13,000 -14,000 ยูโร นอกจากนั้นยังมี โดเมน เลอฮรัว (Domaine Leroy) อีกหลายรุ่น ที่ดัง ๆ และราคาแพง
คำว่า “แพง” ของ “โฮรมาเน กงตี” (Romanee Conti) เกิดจากการมีครบเครื่อง ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าครบครันกว่าไวน์ยี่ห้อใด ๆ ในโลกนี้ ทั้งดินฟ้าอากาศเหมาะสม ความสมบูรณ์ของฤดูเก็บเกี่ยว เคล็ดลับการปรุงไวน์ รสชาติดีเด่น เก็บบ่มได้นานปี และระบบการตลาดที่แยบยล โดยเฉพาะการตลาดแบบ “ผูกหางหมา”
การตลาดแบบผู้หางหมาของไวน์แพงที่สุดในโลกตัวนี้ ซึ่งเจ้าของปัจจุบันคือ DRC (Domaine de la Romanée Conti) คือมีสินค้าโดดเด่นเพียงตัวเดียว อยากได้ก็ต้องซื้อสินค้าตัวอื่นในเครือพ่วงไปด้วย นอกจากนั้นยังจำกัดโควตาการซื้อด้วย นั่นหมายความว่า 1 ลัง มีโรมาเน กงตี แค่ 1 ขวดที่เหลือเป็นไวน์เครือ อย่างไรก็ตามความโชคดีของ DRC คือไวน์ในเครือทุกตัวล้วนเอร็ดอร่อยและมีราคาแพงเช่นกัน
ไวน์โฮรมาเน กงติ เป็นที่ต้องการของคนทุกวงการ แม้แต่คนที่ดื่มไวน์ไม่เป็นก็ยังต้องซื้อเก็บไว้เก็งกำไร ซึ่งว่ากันว่าราคาขึ้นทุกเดือน ดอกเบี้ยดีกว่าเอาเงินไปฝากธนาคารใด ๆ
เซอร์ อล็กซ์ เฟอร์กูสัน (Sir Alex Ferguson) อดีต ผจก.ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (Manchester United) ซึ่งเป็นนักสะสมไวน์ตัวยง มีไวน์สะสมกว่าพันขวด เคยนำไวน์ประมาณ 5,000 ขวดมาประมูลขายเพื่อนำเงินเข้าการกุศล 3 รายการติด หนึ่งในจำนวนนั้นคือโรมาเน กงติ วินเทจ 2002 ราคา 24,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปี 2014 โรมาเน กงติ วินเทจ 1997 ถูกประมูลที่ลอนดอนในราคา 94,815 ปอนด์ เป็นต้น
ตามรูปที่มีพลาสติกหุ้มถ่ายมาจากร้านปลอดภาษีในเมืองไทย ขวดใหญ่เป็นโฮรมาเน กงติ วินเทจ 2005 ขนาดแมกนั่ม (1.5 ลิตร) ราคา 4.950,000 บาท ส่วนวินเทจ 1999 เป็นขวดธรรมดา ราคา 1,595,000 บาท ส่วนหนึ่งที่ราคาแพงเพราะทั้ง 2 วินเทจเป็นวินเทจที่ดีเยี่ยม ที่สำคัญเป็นราคาในร้านปลอดภาษี ถ้าข้างนอกไม่ต้องพูดถึง และถ้าเข้าไปขายในโรงแรมยิ่งพุ่งขึ้นไป 2-3 เท่า นอกจากนั้นยังมีขายเฉพาะโรงแรม 5-6 ดาวเท่านั้น และไม่ได้มีขายทุกโรงแรม

“ลา ตูร์ ดาฌังต์” ก่อตั้งในปี 1582 หรือ 442 ปีที่แล้ว มีห้องดินเนอร์อยู่ 6 ชั้น ส่วนไวน์เซลลาร์ อยู่ใต้ดินมี 2 ชั้น ผมเคยไปแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ในปี 2005 ซอมเมอลิเยร์ประจำร้านพาผมลงไปดูไวน์ซึ่งตอนนั้นมีประมาณ 450,000 ขวด ไวน์ลิสต์หนา 400 หน้า เวลาให้ลูกค้าดูต้องใส่รถเข็นมา ปัจจุบันมีประมาณ 300,000 ขวด มูลค่าประมาณ 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ไวน์พวกนี้จะมีการโละสต็อกแล้วนำออกมาประมูลขายหลายครั้ง เช่น ในปี 2012 สถาบัน Christie’s จัดการประมูลไวน์และสปิริต ซึ่งได้มาจาก Le Tour d’Argent ได้เงินถึง 4.2 ล้านยูโร ที่น่าสนใจ เช่น La Tour d’Argent Grande Champagne Cognac 1805 ขวดขนาด 2.5 ลิตร จำนวน 2 ขวด ได้ราคาขวดละ 25,300 ยูโร แต่ที่ฮือฮาที่สุดคือ Clos du Griffier Grande Fine Champagne Cognac 1788 จำนวน 1 ขวดทำราคาได้ถึง 17,825 ยูโร
ลา ตูร์ ดาฌังต์ (La Tour d’Argent) แปลว่า “หอคอยเงิน” (Silver Tower) เป็นภัตตาคารชื่อดังและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของฝรั่งเศสและของโลก ก่อตั้งเมื่อปี 1582 ในรัชสมัยของพระเจ้าอองรีที่ 3 (Henri III) ตั้งอยู่ใจกลางกรุงปารีส จากชั้นบนสุดของภัตตาคาร สามารถมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของวิหารน๊อต เตรอะดาม (Notre Dame) และแม่น้ำแซน (Seine) ปัจจุบันมหาวิหารนอเตรอะ-ดาม กำลังได้รับการบูรณะหลังเกิดไฟไหม้เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2562 และทางการฝรั่งเศสยืนยันว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2567
ลา ตูร์ ดาฌังต์ ก่อตั้งโดยตระกูลแตร์เฮรล (Terrail) ปัจจุบันบริหารโดยอังเดร แตร์เฮรล (André Terrail) ซึ่งรับช่วงมาจากโคลด (Claude) พ่อของเขาในปี 2003 โดยไปครั้งล่าสุดผมยังเจอ Claude ซึ่งเสียชีวิตไปในปี 2006 ด้วยวัย 88 ปี เมนูเด็ดที่ขายมาตั้งแต่เปิดร้านจนถึงทุกวันนี้ “เป็ดอัด” หรือกานาร์ด อา ลา เปรสเซ (Canard à la presse) นอกนั้นก็มี Caneton à la presse และ Caneton Tour d’Argent เป็นต้น
ลา ตูร์ ดาฌังต์ เป็นสถานที่ที่นำส้อมมาใช้เป็นครั้งแรกในงานเลี้ยงพระกระยาหารงานหนึ่ง และเริ่มมีเมนูเป็ดมาให้บริการพร้อมกับนำถ้วยกาแฟมาใช้เป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ได้นำวิธีกำกับหมายเลขเป็ดมาใช้ โดยออกใบรับรองระบุหมายเลขเป็ดให้กับแขกที่มารับประทาน
“ลา ตูร์ ดาฌังต์” เคยต้อนรับและให้บริการอาคันตุกะระดับสุดยอดของโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เชื้อพระวงศ์ ผู้นำของประเทศ และผู้มีชื่อเสียง ฯลฯ
วันที่ 7 เมษายน 2535 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ลา ตูร์ ดาฌังต์ โดยมีหมายเลขกำกับเป็ดที่ 772301
ในการประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ 5 เสด็จ ลา ตูร์ ดาฌังต์ ถึง 2 ครั้ง ๆ ล่าสุดวันที่ 20 มิถุนายน 2450 พระกระยาหารที่ทรงโปรดปรานคือ เป็ดซอสเลือด (Canard au Sang) โดยเป็ดจานที่พระองค์เสวยนั้นเป็นจานที่ 28348 พระองค์ทรงเล่าไว้ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้านว่า..
” ที่ที่ตาเจ้าของครูเป็ดแกอยู่นั้น อยู่ฟากข้างโน้นริมแม่น้ำเซน เป็นโรงเรสเตอรองค์สามัญ ชื่อแปลเป็นภาษาไทยเรียกว่า หอคอยเงิน ตาผู้ที่เปนเจ้าของเรสเตอรองค์นั้นเคยเป็นคนทำครัว ไม่ใช่ทำแต่เป็ดอย่างเดียว กับเข้าต่างๆของแกมีมากที่แกนึกเอง ไม่มีที่ไหน ใครเลียนเอาไปทำก็ทำไม่เหมือน พ่อได้ส่งบาญชีกับเข้า ทั้งมีบทกลอนวรรเสริญ แลบอกจำนวนเป็ดตัวที่กินเป็นนัมเบอร์ที่เท่าไร เป็ดที่กินนี้สองตัว ตัวหลังที่สุดนัมเบอร์ 28348 คิดตั้งแต่แกตั้งมาดู คงมีคนกินปีละ 1000 ตัวเศษ…”
นอกนั้นยังมี Franklin Delano Roosevelt อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ได้รับประทานเป็ดหมายเลข 112,151,Marlene Dietrich หมายเลข 203,728 และ Charlie Chaplin หมายเลข 253,652 เป็นต้น
สมัยก่อนในเมืองไทยมีเพียงโรงแรม แมนดาริน โอเรียนเต็ล เท่านั้นที่เคยนำรสชาติและบรรยากาศของ La Tour d’Argent มาจัดโปรโมชั่นที่ห้องนอร์มังดี คนเต็มทั้งมื้อกลางวันและค่ำ แต่มีการรันนัมเบอร์ของเป็ดใหม่ ไม่ได้ต่อจากที่ร้านในปารีส ครั้งที่ผมไปนั้นอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 18 ของไทย ได้เบอร์ 1
นอกจากนั้นมีอีก 2 แห่งที่มี “เป็ดอัด” ขายในเมนูหลักคือร้าน เลอ บันยัน สุขุมวิท ซอย 8 ซึ่งไฟไหม้ไปหลายปีแล้ว และห้องลา บราสเซอร์รี โรงแรม มณเฑียร สุรวงศ์ ที่หยุดทำไปหลายปีเช่นกัน ได้ข่าวว่าจะรื้อเมนูนี้มาทำใหม่ !!
“ลา ตูร์ ดาฌังต์” เคยได้มิชแลง 2 ดาว ปัจจุบันเหลือ 1 ดาว แต่เจ้าของไม่ได้ให้ความสนใจ เพราะลูกค้ายืนยันด้วยตนเองปากต่อปาก และเอาเงินมาให้เดือนละมหาศาล ที่แน่ ๆ ตอนนี้ต้องรีบขุนเป็ดเพื่อชดเชยค่าไวน์ที่สูญเสียไป 1.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ !!

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...