“Don’t define yourself by one thing you do,but by everything you do.”
At Rémy Martin,we beleive that we all live many lives.Just like the perfect congnac is a blend of different eaux-de-vie ,a fulfilled life is one of multiple paths,criss-crossing like the arma of a tree – the realization of all your talents and creative desires,whatever they may be.
หนึ่งในปรัชญาของ “เรมี มาร์แตง” (Rémy Martin)..
“เรมี มาร์แตง” (Rémy Martin) เป็นหนึ่งในผู้ผลิตคอนยัค (Cognac) ที่มีชื่อเสียงและยิ่งใหญ่ของโลก และเป็นหนึ่งในสมาชิกของ Comité Colbert สมาคมธุรกิจระดับหรูหรา ที่ส่งเสริมภูมิปัญญาของฝรั่งเศสให้ขจรไกลไปทั่วโลก
ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ครั้งที่ 17 ประจำปี 2018 เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ท่านที่ชมการถ่ายทอดสดและตามสื่อต่าง ๆ คงจะเห็นเครื่องหมายของ “เรมี มาร์แตง” (Rémy Martin) ปรากฏตลอดงานในฐานะสปอนเซอร์อย่างเป็นทางการมาถึง 15 ปีติดต่อกัน และครั้งนี้ก็เป็นรุ่นพิเศษคือ Rémy Martin XO Limited Edition
“เรมี มาร์แตง” ก่อตั้งโดยนายเรมี มาร์แตง (Rémy Martin) ในปี 1724 เพื่อทำธุรกิจขายคอนยัค (Cognac) ปี 1773 เขาเสียชีวิต ลูกชายคนโตที่ชื่อ Rémy เหมือนกันจึงเข้ามาดูแลกิจการ กระทั่งปี 1841 ปอล-อีมิลล์ เรมี มาร์แตง (Paul-Emile Rémy Martin) ลูกชายของเรมีเข้ามารับช่วง และได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้ชื่อเสียงของ Rémy Martin เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เริ่มจากการสร้างเครื่องหมายการค้าของผลิตภัณฑ์ เป็นรูปลักษณ์ที่เห็นกันกระทั่งทุกวันนี้คือ “เซนทอร์” (Centaur) สัตว์ในเทพนิยายที่มีหัว เป็นคนตัวเป็นม้า ขณะที่ในภาษาจีนเรียกว่า Rréntóumă ที่แปลตามตัวอักษรว่า “Man-headed horse” ขณะเดียวกันยังเป็นชื่อกลุ่มดาวที่เป็นจักรราศีธนู (Sagittarius) ซึ่งเป็นราศีประจำตัวของ Paul-Emile Rémy Martin ด้วย
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1910 อังเดร เรโนด์ (André Renaud) ทนายฝึกหัด ได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนของบริษัท E. Rémy Martin & Co. และได้เปิดตัวคอนยัครุ่น VSOP Fine Champagne เป็นครั้งแรกในปี 1927 จนโด่งดังไปทั่วโลกกระทั่งทุกวันนี้ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กิจการตกอยู่ในการดูแลของ André Hériard-Dubreuil ลูกเขยของ André Renaud และเมื่อพ่อตาเสียชีวิตปี 1965 เขาก็ก้าวขึ้นมาเป็นประธานบริษัท และปี 1988 Dominique Hériard-Dubreuil ลูกสาวของเขาก็เข้ามาเป็นผู้จัดการทั่วไปและเป็นประธานแทนพ่อในอีก 2 ปีต่อมา สุดท้ายปี 1991 Rémy Martin ก็ถูกผนวกเข้าในเครือ “ เรมี กอนโทร กรุ๊ป” (Rémy Cointreau Group) จนถึงปัจจุบัน
คอนยัคของเรมี มาร์แตง ทุกตัวอยู่ในเขตควบคุมคุณภาพ (Appellation d’Origine Contrôlée = AOC) Cognac Fine Champagne Appellation นั่นหมายถึงว่า โอ-เดอ-วี (Eaux-de-Vie) หรือน้ำบรั่นดีสีใสที่ยังไม่ผ่านการบ่ม ต้องมาจากเขตครูส์ (Crus) 2 เขตคือกรองด์ ชอมปาญ (Grande Champagne) และเปตีต์ ชอมปาญ (Petite Champagne) โดยในคอนยัคจะมี 6 ครูส์ (Grande Champagne,Petite Champagne,Borderies,Fins Bois,Bons Bois และ Bois Ordinaires) ที่แน่ ๆ ต้องผ่านกระบวนการบ่มในถังไม้โอ๊คจากป่า ลีมูแซง (Limousin) โดยบ่มในระยะเวลาที่นาน เพื่อปล่อยให้ คอนยัค (Cognac) สร้างเอกลักษณ์ออกมาได้อย่างเต็มที่
ตั้งแต่ปี 1948 เป็นต้นมาภายใต้การนำของ André Renaud ปรากฏว่าเรมี มาร์แตง ผลิตคอนยัครุ่นต่าง ๆ ออกมาหลากหลายรุ่น บางรุ่นผลิตเป็นพิเศษ เนื่องในโอกาสต่าง ๆ แต่ประเภทที่เป็นหลัก ๆ คือ Fine Champagne Cognac ประมาณ 80% Rémy Martin ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิต Fine Champagne Cognac นั่นหมายความว่า eaux-de-vie จะถูกคัดเลือกมาจาก 2 เขตที่ยอดเยี่ยมในเขต Cognac เท่านั้นคือ Grande Champagne และ Petite Champagne ด้วยผืนดินที่มีความเป็นด่างของ ดินผสมหินปูน (Cholky Soil) ทำให้กลิ่นของ eaux-de-vie มีความโดดเด่นมากขึ้น และสามารถเก็บบ่มอยู่ได้ยาวนานนับร้อย ๆ ปี
ที่สำคัญในบรรดาคอนยัคทั้งหลายแหล่นั้น เพียง 17 % เท่านั้นที่เป็น Fine Champagne Cognac ที่สำคัญนอกเหนือไปยิ่งขึ้นในจำนวนนี้ 80 % เป็นผลผลิตของ Rémy Martin ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 150 ปีในการพิสูจน์
สำหรับเซลลาร์ มาสเตอร์ (Cellar Master) หรือมือปรุง Rémy Martin ซึ่งถือว่าสำคัญมาก คนปัจจุบันคือบาปติสต์ ลอยโซ (Baptiste Loiseau) รับตำแหน่งเมื่อปี 2014 ด้วยวัยเพียง 34 ปีเท่านั้น ตามรอยเท้าของ André Renaud, André Giraud, Georges Clot และ Pierrette Trichet โดย เปียร์เรตต์ ตรีเชต์ (Pierrette Trichet) เซลลาร์ มาสเตอร์ สาวเก่งแห่งแวดวงคอนยัคนั้นผมเจอเธอล่าสุดในงานเทสติ้ง หลุยส์ 13 (Louis XIII) ที่สิงค์โปร์เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตามในจำนวนผลผลิตของ Rémy Martin ทั้งหมดรุ่นที่ถือว่าสุดยอด และได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชาแห่งคอนยัค” (King of Cognacs) ก็คือ “หลุยส์ เดอะ เธอร์ทีน” หรือ “หลุยส์ 13” (Louis XIII) ในเมืองไทยราคาขวดละ 1 แสนกว่าบาท ตอกย้ำคุณภาพและราคาด้วยการติดอันดับ 1 ใน 10 เหล้าที่ราคาแพงที่สุดในโลกคือ “เรมี มาร์แตง แบล็ค เพิร์ล หลุยส์ เดอะ เธอร์ทีน” (Rémy Martin Black Pearl Louis XIII) ราคา 165,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5,445,000 บาท ผลิตเพียง 786 ขวดเท่านั้น
ในเมืองไทยผมได้ชิม “หลุยส์ 13” (Louis XIII) ครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นงานครบรอบ 5 ปีของภัตตาคารจีนชื่อดัง “ปิง” (Ping) โรงแรม ปทุมวัน ปริ๊นเชส ชิมพร้อมกับรุ่นยอดนิยม Rémy Martin VSOP ซึ่งจับคู่กับอาหารด้วย หลังจากนั้นจึงได้ชิมอีกครั้งในงานเปิดตัวบาร์พิเศษ “Rémy Martin Room Bar” ที่ Find The Locker Room ค็อกเทลบาร์ชื่อดังในซอยทองหล่อ โดยมีบริษัท Remy Cointreau Thailand ผู้แทนจะหน่ายอย่างเป็นทางการสนับสนุน และทั้ง 2 งานนายคริส เคว็ก (Chris Kwek) ซึ่งทำหน้าที่ Private Client Director ของหลุยส์ 13 ในย่านเซาท์ อีสต์ เอเชีย มาให้ข้อมูลด้วย
Louis XIII มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Louis XIII de Remy Martin โดยนายเรมี มาร์แตง เริ่มเบลนด์ Louis XIII ในปี 1821 ด้วยการนำโอซ์ เดอ วี (eaux-de vie) หรือ waters of life หลายร้อยระดับอายุมาขลุกขลิกกัน ก่อนจะพบสูตรพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง จากนั้นลูกชายของเขาคือปอล-เออมิลล์ เรมี มาร์แตง จึงมาจดทะเบียนในปี 1874 ภายใต้ชื่อ “Louis XIII Tres Grande Champagne – Age Unknown”
Louis XIII นี้ตั้งชื่อรุ่น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แห่งฝรั่งเศส (Louis XIII de France –1601-1643) ซึ่งปกครองฝรั่งเศสในช่วงที่ครอบครัว Rémy Martin อาศัยอยู่ในแคว้นคอนยัค พระองค์สนิทสนมกับครอบครัวนี้ และทำให้คอนยัคมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
Louis XIII ผลิตจาก eaux-de-vie จากไร่ในเขตกรองด์ ชองปาญ (Grande Champagne) 100% ด้วยการเบลนด์จาก eaux-de-vie ประมาณ 1,200 ตัว ที่นำมาจากเซลลาร์ของ Remy Martin บางตัวเก็บบ่มมากว่า 100 ปี อายุน้อยที่สุดคือ 40 ปี โดยมีเซลลาร์ มาสเตอร์ (Cellar Master) หรือมาสเตอร์ เบลนด์ (Master Blender) ดูแลและตรวจสอบถูกหยาดหยด ก่อนจะนำไปบ่มใน Tiercons ถังโอคจากป่าลีมูแซง (Limousin) ซึ่งถือว่าเป็นโอคคุณภาพยอดเยี่ยมและราคาแพง
Paul-Emile Rémy Martin เป็นต้นคิดในการออกแบบขวดที่บรรจุ Louis XIII ที่เป็นทรงโถแก้วคริสตัล (Decanter Crystal) ทำจากคริสตัลน้ำหนึ่งเรียกว่า Baccarat Crystal Flur de Lis ผลิตโดย Baccarat มาตั้งแต่ปี 1937 ก่อนหน้านั้นผลิตโดย St Louis ขณะที่สตอปเปอร์หรือที่ปิดขวดเป็นคริสตัล fleur-de-lys crystal ทั้งหมดเป็นเครื่องแก้วสไตล์บาโรก (Baroque) ซึ่งเป็นศิลปะสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ขวดนี้ผลิตตามแบบขวดโบราณ ซึ่ง Emile Rémy Martin พบในพื้นที่เดิมที่เป็นสนามรบที่ Jarnac อยู่ทางตะวันออกของคอนยัค ขวดเปล่ามีผู้คนต้องการทั่วโลก ในเมืองไทยมีผู้รับซื้อในราคาประมาณ 4,000 – 5,000 บาท
Louis XIII เป็นที่โปรดปรานของบุคคลชั้นนำทั่วโลก ทั้งมหาเศรษฐี นักการเมือง นักธุรกิจ ผู้นำประเทศ และใช้เสิร์ฟในงานสำคัญ ๆ เช่น George VI แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จเยือนฝรั่งเศส ปี 1938 ในอีก 3 ปีต่อมา Queen Elizabeth II พระราชธิดาของพระองค์เยือนฝรั่งเศส ณ พระราชวังแวร์ซาย และ ปี 1951 Winston Churchill ฉลองชัยชนะได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกฯอังกฤษ เป็นต้น
เรมี มาร์แตง “หลุยส์ 13” (Rémy Martin Louis XIII)….สีเหลืองทองอัมพัน ดมครั้งแรกมีกลิ่นอบอวลมาก เช่น ควันไฟ สไปซีเฮิร์บ อบเชย จันทน์เทศ ดีปลี ขิง ดอกไม้แห้ง พรุน ลิ้นจี่ วานิลลา ชอกโกแลต คาราเมล และน้ำผึ้ง จบยาวนานด้วยกลิ่นดอกไม้ โดยเฉพาะดอกมะลิ สไปซี่ และเฮิร์บชุ่ม ๆ คอ เป็นคอนยัคที่คอมเพล็กซ์ สระสรวย หนักแน่นแต่พลิ้วไหวดุจใยไหม ที่สำคัญถ้าจะให้ได้รสชาติที่เต็มเปี่ยม ควรดื่มด้วยแก้วที่ออกแบบสำหรับ Louis XIII โดยเฉพาะ ทำด้วยคริสตัลคุณภาพยอดเยี่ยมของโลก
ส่วนรุ่นยอดนิยม เรมี มาร์แตง วีเอสโอพี คอนยัค ไฟน์ ชอมปาญ (Rémy Martin VSOP Cognac Fine Champagne ) : นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า Rémy Martin VSOP (VSOP = Very Superior Old Pale) กำเนิดในปี 1927 โดย André Renaud ในฐานะ Cellar Master และบ่มนานกว่าที่กฎหมายฝรั่งเศสกำหนด ได้ชื่อว่าเป็น The world’s first and favorite V.S.O.P Cognac …สีเหลืองทองแดง ดมครั้งแรกได้กลิ่นแอปริคอตสุก วานิลลาหวาน ๆ ดอกไวโอเลต และกลีบกุหลาบ ตามด้วย พีช แอปเปิลสุก ขิง คาราเมล จบยาวด้วยความนุ่มนวล วานิลา สไปซี่เฮิร์บ เป็นคอนยัคที่หนักแน่นคอมเพล็กซ์ และนุ่มนวล สามารถดื่มได้หลากหลายรูปแบบทั้งเป็น Aperitif หรือ Digestif ออน เดอะ ร็อก หรือเป็นส่วนผสมของค็อกเทลได้ดี
ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของ “หลุยส์ 13” เจ้าของฉายา “ราชาแห่งคอนยัค” นอกเหนือจากนั้นคือปาก ลิ้น และรสสัมผัสของท่าน…!!!.. ที่สำคัญ ..ดื่มด้วยความรับผิดชอบ…