“เกลน สโกเทีย” ซิงเกิ้ลมอลต์เขตเล็กที่ยิ่งใหญ่

“ซิงเกิ้ล มอลต์” (Single Malt) สก็อต วิสกี้ (Scotch Whisky) ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกนั้น มีความหมายในเบื้องต้นคือ “….วิสกี้ที่หมักและกลั่นจากมอลต์ของข้าวบาร์เลย์ (malted barley) หรือการเพาะข้าวบาร์เลย์ให้งอกเป็นมอลต์ล้วนๆ…..” แต่ 2 คำ Single กับ Malt มีความหมายมากกว่านั้น
“Single” หมายความว่าทุกหยาดหยดของมอลต์ในขวด มาจากโรงกลั่นเดียว (Single distillery) เท่านั้น แต่ถ้าผสมกันหลายโรงกลั่นจะเรียกว่า Blended malt,Vatted malt หรือ Pure malt
“Malt” หมายความว่าวิสกี้นั้นต้องทำจากมอลต์ (malted) ของธัญพืชล้วน ๆ โดยธัญพืชที่ทำวิสกี้ได้ดีคือข้าวไรย์ (Rye) ข้าวสาลี (Wheat) และข้าวบาร์เลย์ (Barley) แต่ถ้าเป็น Single Malt Scotch Whisky ต้องเป็น Barley เท่านั้น
Single Malt มีการผลิตกันทั่วโลกแต่ความขลังและศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่สกอตแลนด์ ดังนั้นตัวจริงเสียงจริง ข้างขวดต้องมีคำว่า “Single Malt Scotch Whisky” นั่นหมายความว่าต้องทำจาก malted barley ล้วน ๆ (สามารถเติมคาราเมลแต่งสีได้) ต้องกลั่นแบบสองครั้งหรือแบบกลั่นทับ (pot still) อันเป็นวิธีกลั่นที่จะสงวนกลิ่นรสของข้าวมอลต์เอาไว้ได้ดีที่สุด จากนั้นต้องบ่มในถังไม้โอคอย่างน้อย 3 ปี (แต่ส่วนใหญ่บ่มนานกว่านี้) และถังโอคนั้นต้องมีความจุเกิน 700 ลิตร เป็นต้น
อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือกลิ่น รสชาติ และความยาวในตอนจบ (Aroma,Flavour,Finish) ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับแหล่งผลิต Single Malt Whisky มีวิธีการแบ่งคล้าย ๆ กับไวน์ในเรื่องของต้นกำเนิดหรือแหล่งผลิต (Region) โดยแต่ละเขตหรือภูมิภาค (Region) จะมีรสชาติ คุณลักษณะ (Character) และสไตล์ (Style) ต่างกัน ที่สำคัญทั้ง 5 เขตนี้มีกฎหมายคุ้มครองและปกป้องการผลิตวิสกี้อย่างเคร่งครัด โดย 5 เขตดังกล่าวมีดังนี้
“สเปย์ไซด์”(Speyside) เป็นเขตเล็ก ๆ แต่สำคัญแปะอยู่ตอนเหนือของไฮจ์แลนด์และสก็อตแลนด์ มีโรงกลั่นมากที่สุดของประเทศ วิสกี้รสชาตินุ่มเนียน หอมกรุ่น และได้รับความนิยมจากทั่วโลกมากกว่าทุกเขต
“ไอส์ลา” (Isla) เป็นเกาะอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสก็อตแลนด์ วิสกี้จากเขตนี้รสชาติจะหนักแน่น
“ไฮจ์แลนด์” (Highlands) เป็นเขตใหญ่ทางเหนือของสก็อตแลนด์ ผลิตวิสกี้เขตนี้จะนุ่ม และบอดี้กลางๆ เบากว่าวิสกี้จากไอส์ลา แต่หนักแน่นกว่าโลว์แลนด์ เป็นเขตที่มีโรงกลั่นมากมาย
“โลว์แลนด์”(Lowlands) เป็นเขตใหญ่รองจากไฮจ์แลนด์และทางใต้ของไฮจ์แลนด์และสก็อตแลนด์ เป็นเขตที่วิสกี้รสชาติค่อนข้างเบาและนุ่ม กลิ่นไม่รุนแรง ดื่มง่าย ๆ
“แคมป์เบลทาวน์” (Campbeltown) เป็นเขตเล็กที่สุด มีโรงกลั่นอยู่เพียง 3 โรง เป็นแหลมที่ยื่นลงไปในทะเล อยู่ตรงกลางระหว่างไอส์ลากับโลว์แลนด์ วิสกี้จากเขตนี้จะมีเอกลักษณ์ด้วยกลิ่นอายของทะเล
โรงกลั่น “เกลน สโกเทีย” (Glen Scotia distillery) ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “เดอะ สโกเทีย” (The Scotia) หรือ “โอลด์ สโกเทีย” (Old Scotia) เป็นโรงกลั่นซิงเกิ้ล มอลต์ สก็อต วิสกี้ (Single malt Scotch whisky) ที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของสก็อตแลนด์ จากการที่ก่อตั้งในปี 1832 ที่แคมป์เบลทาวน์ ที่สำคัญก็คือเป็น 1 ใน 3 โรงกลั่นที่ยังดำเนินกิจการอยู่ในแคมป์เบลทาวน์ ซึ่งในอดีตถือว่าเป็นแหล่งผลิตวิสกี้ที่โด่งดังมากไม่แพ้อีก 4 เขต
แคมป์เบลทาวน์ (Campbeltown) ตั้งอยู่บนคาบสมุท Kintyre Peninsula ทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสก็อตแลนด์ เป็นเขตผลิตวิสกี้ขนาดกระจิ๊ดริด หรือ “Wee Toon” เคยได้ชื่อว่าเป็น Whisky Capital of the World ในยุคสมัย Victorian โดยเฉพาะในช่วงปี 1800 มีโรงกลั่นวิสกี้อยู่ถึง 21 โรง โดยช่วงนั้นมีโรงกลั่น 170 โรงในสหราชอาณาจักร ในจำนวนนี้ อยู่ในสก็อตแลนด์ถึง 129 โรง ปัจจุบันแคมป์เบลทาวน์มีโรงกลั่นอยู่เพียง 3 โรงคือ Glen Scotia, Springbank และ Glengyle
โรงกลั่น “เกลน สโกเทีย” ก่อตั้งโดย Stewart & Galbraith and Company ในปี 1832 ดังกล่าว และดำเนินกิจการมาเกือบ 60 ปี ก่อนที่จะถูกขายให้กับ West Highland Malt Distillers (WHMD) ในปี 1919 อีก 5 ปีต่อมา WHMD ประสบปัญหาด้านการเงิน จึงถูก Duncan MacCallum อดีตผู้อำนวยการของโรงกลั่นแห่งนี้ซื้อกิจการไป ในปี 1928 Duncan MacCallum มีปัญหาด้านการเงิน ทำให้โรงกลั่นมีปัญหาไปด้วย
หลังจากนั้นโรงกลั่นก็เปลี่ยนเจ้าของอีกหลายคน รวมทั้งเจอปัญหาทั้งการห้ามขายเหล้าในย่านแอตแลนติกและสงครามโลก โรงกลั่นจึงซบเซาไป จนกระทั่ง ปี 1996 Loch Lomond Distillers เข้ามาต่ออายุของโรงกลั่น และในปี 2014 ก็อยู่ภายใต้การบริหารของ Loch Lomond Group จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเข้ามาพัฒนาในด้านต่าง ๆ จนทันสมัยและยิ่งใหญ่ ภายใต้การดูและของ Iain Mc Alister ผู้จัดการโรงกลั่น แต่ก็ยังได้ชื่อว่าเป็น 1 ในโรงกลั่นที่เล็กที่สุดในสก็อตแลนด์ ผลผลิตปัจจุบันปีละประมาณ 750,00 ลิตรเท่านั้น
ปัจจุบันเกลน สโกเทีย ผลิตซิงเกิ้ง มอลต์ หลัก ๆ ประกอบด้วย 1.Double Cask – 46% ABV / 2.15 Year Old – 46% ABV / 3.Victoriana – 51.5% ABV / 4. 18 Year Old – 46% ABV และ 5.25 Year Old – 48.8% ABV นอกนั้นเป็นปลีกย่อย เช่น 10 year-old, 12 year-old, 16 year-old, 18 year old และ 21 year old รวมทั้งการผลิตรุ่นพิเศษในโอกาสต่าง ๆ เช่นเมื่อ Campbeltown Malt Whisky Festival ปี 2015 มีการผลิตรุ่น Single Cask Distillery Edition จำนวน 197 ขวด เป็นซิงเกิ้ล คาสค์ (single cask) มีขายในร้านที่โรงกลั่นในแคมป์เบลทาวน์เท่านั้น
อย่างที่กล่าวในตอนแรกเกลน สโกเทียเป็นโรงกลั่นเล็ก ๆ มี Wash still เพียงใบเดียวความจุ 16,000 ลิตร และ Spirit still อีก 1 ใบความจุ 12,000 ลิตร ขณะที่ Pot stills เป็นทรงหัวหอม ใช้น้ำในการกลั่นวิสกี้จาก Crosshill Loch ส่วนข้าวบาร์เลย์สำหรับการทำ Maltings มาจาก Greencore Maltings ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสก็อตแลนด์ ที่ให้กลิ่นพีทเบา ๆ แต่ให้กลิ่นควันไฟที่ค่อนข้างมาก โดยซิลเกิ้ล มอลต์ จะถูกบ่มในถังอเมริกันโอค แล้วนำไปบ่มในแวร์เฮาส์ที่บรรจุถังโอคได้ประมาณ 7,500 ถัง ในเมืองไทยนำเข้าเมืองไทยโดยบริษัท บางกอก เบียร์ แอนด์ เบฟเวอเรจ จำกัด (BB&B) ซึ่งมีหลายรุ่น แต่ที่ผมได้ชิมประกอบด้วย 3 รุ่นคือ
เกลน สโกเทีย ดับเบิ้ล คาสค์ (Glen Scotia Double Cask) : เป็นหนึ่งในรุ่นที่เรียกว่าคลาสสิคแต่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของแคมป์เบลทาวน์ และได้รางวัลเยอะแยะ บ่มในถังโอค 2 ชนิดคือครั้งแรกบ่มในถังที่ผ่านการบ่มเบอร์เบิน ตามด้วยถังที่ผ่านการบ่มในถังโอคที่เคยผ่านการบ่มเปรโด ซีเมเนซ แชร์รี (Pedro Ximenez Sherry Casks) ซึ่งเป็นฟอร์ติไฟด์ไวน์ชื่อดังของสเปน เป็นซิงเกิ้ล มอลต์ที่สมดุลและลงตัวระหว่าง “Rich,Spicy,Fruits” แอลกอฮอล์ 46% และบรรจุขวดโดยไม่มีการกรองเย็น…สีอำพัน กลิ่นหอมของคาราเมล น้ำตาลผลไม้ บราวน์ชูการ์ ทอฟฟี่กาแฟ ผลไม้ที่โดดเด่นคือ พีช แอปเปิ้ล พรุนสุก ๆ สไปซี่เฮิร์บแห้ง ๆ พร้อมกลิ่นอายของทะเล สาหร่ายทะเล จบด้วยวานิลลา และ สไปซี
เกลน สโกเทีย 15 ปี (Glen Scotia 15 Year Old) : เป็นรุ่นที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2015 ตรงกับรุ่น 15 Year Old พอดี บ่มในถังอเมริกันโอคที่คัดเลือกด้วยมือเป็นพิเศษ เป็นซิงเกิ้ล มอลต์สไตล์ผลไม้นำ (Fruit Forward) ผสานกับกลิ่นอายของชายฝั่งทะเล (Coastal) บรรจุขวดโดยไม่ผ่านการกรอง แอลกอฮอล์ 46%…สีเหลืองอำพันออกไปเหลืองคล้าย ๆ น้ำผึ้ง หอมกลิ่นผลไม้ เช่น ซีทรัส แอปริคอต พลัม เปลือกส้ม แอปเปิ้ล แบล็คเชอร์รี และลูกเกด ควันไฟ วานิลลา สไปซีขิง อบเชย เปปเปอร์ โอคกรุ่น ๆ น้ำผึ้ง เกลือทะเล สาหร่ายทะเล ที่แปลกคือมีกลิ่นตะไคร้กรุ่น ๆ และถ้าเติมน้ำลงไปเล็กน้อยจะมีกลิ่นคาราเมล จบด้วยผลไม้ พีทกรุ่น ๆ และสไปซี
เกลน สโกเทีย วิคตอเรียนา (Glen Scotia Victoriana) : เป็นรุ่นที่บ่มในถังอเมริกัน ไวท์ โอคที่จอห์น ปีเตอร์เซน (John Petersen) มาสเตอร์ เบลนเดอร์เลือกมาจากเซลลาร์ของโรงกลั่น บรรจุขวดจากถังโอคมาสู่ขวดโดยตรงไม่ผ่านการกรอง เปิดตัวในปี 2015 แอลกอฮอล์ 51.5% ชื่อรุ่นมาจากเมื่อครั้งในยุค Victorian นั้นเมืองแคมป์เบลทาวน์ถือว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งการผลิตวิสกี้ของโลก” …สีเหลืองทองอ่อน ๆ หอมกลิ่นโอค บราวน์ชูการ์ คาราเมล เชอร์รี แบล็คเบอร์รี แบล็คเคอร์แรนท์ มะเดื่อ เปลือกส้ม ลูกเกด ชอกโกแลต วานิลลา โอค ควันไฟ หนังสัตว์ สาหร่ายทะเล ไอโอดีน เม็ดกาแฟคั่ว อัลมอนด์ สไปซีเฮิร์บ อบเชย จบยาวด้วยผลไม้หวาน ๆ ไอโอดีน สไปซี โอค และมินต์ซ่า ๆ
ขนส่งวิสกี้จากท่าเรืองแคมป์เบลทาวน์

คนงานในโรงกลั่นเมื่อปี 1850

ถังบ่มในแวร์เฮ้าส์

บันทึกเก่าของทีมงาน

แวร์เฮ้าส์

หม้อกลั่นทรงหัวหอม

แหล่งผลิตวิสกี้ของสก็อตแลนด์

Glen Scotia 15 Year Old

view from the street

Glen Scotia Double Cask

Glen Scotia inside the mash

Glen Scotia logo

Glen Scotia mash

Glen Scotia Victoriana

John Petersen

process

row_three_imgนั่นคือ “เกลน สโกเทีย” (Glen Scotia) ซิงเกิ้ล มอลต์ จากเขตเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ทั้งรสชาติและตำนาน ….ที่สำคัญก็คือ “ควรดื่มด้วยความรับผิดชอบ”

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...