เกาะร็อบเบน คุกขัง…เนลสัน แมนเดลา

อาหารสไตล์ญี่ปุ่น กระเป๋าของนักโทษ ไกด์ที่เป็นอดีตนักโทษ ข้อมูลนักโทษ ครัวของเรือนจำ เครื่องใช้ของแมนเดลา ทางเข้า Nelson Mandela Gateway ทางเข้าเรือนจำ ทางเดินหน้าห้องขัง ที่ทำการไปรษณีย์ ที่นอนของแมนเดลา เทเบิ้ล เมาเท่นและสนามฟุตบอลโลก นักโทษกลุ่มสุดท้ายถูกปล่อยตัวในปี 1991 นักโทษหมายเลข 46664 PD*2890189 บ้านที่ขังเดี่ยว Robert Sobukwe ป่าช้า ภาพการทำงานของนักโทษ มัสยิด บนเกาะ เมนูผสมผสานพื้นเมืองและยุโรป เมนูพื้นเมือง เรือนจำกลางของเกาะ เรือเฟอร์รีพาขึ้นเกาะ โรงเรียนบนเกาะ ไวน์คุณภาพของแอฟริกาใต้ เสาดำที่แมนเดลาซ่อนข้อเขียนไว้ หนึ่งในร้านอาหารย่าน Nelson Mandela Gateway ห้องขังเนลสัน แมนเดลา ห้องขังเมนเดลา (ขวาสุด)” …The brave man is not he who does not feel afraid, but he who conquers that fear…..”

“…คนกล้าไม่ใช่ผู้ที่ไม่รู้สึกกลัว หากแต่เป็นผู้ที่สามารถเอาชนะความกลัวได้..”

ประโยคทองของเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) นักโทษหมายเลข “46664″ บนเกาะร็อบเบน (Robben Island)

เกาะร็อบเบน (Robben Island) เป็นเกาะในอ่าวเทเบิล ห่างจากชายฝั่งเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ประมาณ 9.6 กิโลเมตร ชื่อเกาะเป็นคำในภาษาดัตช์หมายถึง เกาะแมวน้ำ (Seal Island) เพราะมีแมวน้ำอาศัยอยู่เยอะ ลักษณะเป็นเกาะรูปไข่ ค่อนข้างเป็นที่ราบ พื้นที่ 518 เฮกตาร์ (ประมาณ 5.1 ตารางกิโลเมตร)

เกาะร็อบเบนคงเป็นแค่ที่อยู่อาศัยของแมวน้ำ นกเพนกวินและนกนางนวลธรรมดา ๆ  ไม่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ถ้าไม่เคยเป็นที่เป็นสถานที่คุมขัง นายเนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ รวมทั้งนายคกาเลมา โมทลันเธ (Kgalema Motlanthe) อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ และนักโทษการเมืองที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในยุคแห่งการแบ่งแยกสีผิว ปัจจุบันกลายเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์ และได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี 2542

การเดินทางไปเกาะร็อบเบนต้องซื้อตั๋วเรือที่อาคาร “เนลสัน แมนเดลา เกทเวย์” (Nelson Mandela Gateway) อยู่ที่ V&A Waterfront แหล่งช็อปปิ้งริมน้ำชื่อดังของเมืองเคปทาวน์ ตอนที่ผมไปนั้นร้านรวงเพิ่งจะเริ่มเปิด ค่าตั๋วเรือ 200 แรนด์(Rand) ประมาณ 1,000 บาท รวมค่าขึ้นเกาะและค่าไกด์เรียบร้อย เมื่อขึ้นเรือแล้วมองกลับมาที่ฝั่งจะมองเห็นภูเขา Table Mountain อันเป็นสัญลักษณ์ของเมือง รวมทั้งสนามฟุตบอลที่เคยจัดฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด

ปลายปี 2544 เนลสัน แมนเดลา ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐบุรุษอาวุโสแห่งแอฟริกาใต้ทำพิธีเปิด Nelson Mandela Gateway ซึ่งเป็นประตูสู่การท่องเที่ยวคุกเก่าร็อบเบน โดยนักท่องเที่ยวสามารถลงเรือเฟอร์รี่ไปเพื่อทัวร์เกาะร็อบเบนใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง เริ่มจากการลงเรือเฟอร์รีใช้เวลา 45 นาที ถึงเรือนจำจากนั้นก็เดินทัวร์เรือนจำและนั่งรถบัสชมรอบเกาะ โดยไกด์หลายคนเป็นอดีตนักโทษที่นี่

Maximum Security Prison เรือนจำกลางของเกาะ ซึ่งคุมขังนักโทษทางการเมืองที่มีระดับอันตรายสูงสุด แยกเป็นห้องขังเดี่ยวและห้องขังรวม มีผ้าปูนอนของนักโทษ จากสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ ทำให้มีนักโทษเสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นโรคนิวโมเนีย พวกปวดบวม หรือปอดอักเสบ

ไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวอยากเห็นมากที่สุดคือ ห้องกักขังเนลสัน แมนเดลา ซึ่งเป็นผู้นำของ Youth League ของพรรค  ANC เดิมเขาต่อสู้แบบสันติวิธี แต่ภายหลังพบว่าไม่เกิดประโยชน์ เพราะรัฐบาลผิวขาวไม่สนใจ จึงปรับยุทธวิธีเป็นการก่อวินาศกรรมสถานที่สำคัญ และถูกจับกุมในปี 1962 อีก 2 ปีต่อมาจึงถูกตัดสินจำคุก ถูกจองจำที่นี่เป็นเวลา 18 ปี จากโทษจำคุกทั้งหมด 27 ปี

“เมื่อพวกเราถูกนำตัวมาที่นี่ ความเป็นตัวตนและชื่อของเราจะหายไปทันที เพราะผู้คุมจะติดเบอร์ให้กับเรา และแบ่งพวกเราเป็นกลุ่มๆ ตามเชื้อชาติ คือ ผิวดำ ผิวสีและพวกอินเดียนแดง แต่พวกเราไม่ยอมให้ถูกแบ่งแยกหรอก  ไกด์ทัวร์ที่เป็นอดีตนักโทษเล่าถึงความทุกข์ระหว่างถูกคุมขังอยู่ที่นี่ โดยมีนักท่องเที่ยวประมาณ  30 คนนั่งบนม้านั่งแคบ ภายในห้องสีเทาหม่นที่มีหน้าต่างลูกกรงเหล็ก ซึ่งก็คือห้องคุมขังเก่านั่นเอง

เนลสัน แมนเดลา ถูกส่งตัวมาถึงคุกร็อบเบน ในวันที่ 13 มิถุนายน 1964 (พ.ศ. 2507) เป็นนักโทษรายที่ 466 ดังนั้นห้องขังของเขาจึงมีหมายเลข 466/64 ตัวเลข 2 ตัวหลังคือปีที่เขาเข้าในในคุก ถ้าใครเดินเข้าไปในร้านขายของที่ระลึกบริเวณท่าเรือทางขึ้นเกาะ จะเห็นเสื้อเชิ้ต เสื้อยึด ที่ระลึกพิมพ์ตัวเลข 466/64 หลากหลายสไตล์ วางขายเยอะแยะ ราคาคิดเป็นเงินไทยหลักพันบาท

เนลสัน แมนเดลา ถูกจำกัดทั้งคนมาเยี่ยมและจดหมายที่ส่งเข้ามา ส่วนจดหมายที่ส่งออกไปจะถูกเซ็นเซอร์จนอ่านแทบไม่รู้เรื่อง ต่อมาเขาเปลี่ยนตัวเองจากนักโทษหัวรุนแรง เป็นนักโทษการเมืองที่มองทุกอย่างตามความเป็นจริง พร้อมสอนเพื่อนนักโทษถึงประวัติศาสตร์ การเขียนอ่านกฎหมาย และย้ำเสมอว่า…แอฟริกาใต้ในยุคแบ่งแยกสีผิวนั้นต้องการกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ (reconcilation) ของคนผิวขาวกับคนผิวสีอย่างยิ่งยวด ประเทศจึงจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้….

ปี 1982 แมนเดลาถูกย้ายไปขังที่อื่น ช่วงปลายของการถูกคุมขัง เขาเริ่มเจรจากับรัฐบาลผิวขาวอย่างลับๆ โดย FW de Clerk ประธานาธิบดีผิวขาวคนสุดท้าย ผู้นิยมสันติวิธีเช่นกัน ได้สั่งรื้อฟื้นคดีการเหยียดสีผิว และยกเลิกคำสั่งห้ามพรรค ANC ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1990 จึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัวแมนเดลาเป็นอิสระ ก่อนได้เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ ในการเลือกตั้งปี 1994 (เป็นถึงปี 1999) เคยได้รับรางวัลต่างๆจากทั่วโลกมากมาย รวมทั้งรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 1993

สภาพห้องขังเนลสัน แมนเดลากว้างเพียง 1.8×2.1 เมตร เครื่องใช้ไม้สอยที่เห็นอยู่ในปัจจุบันมีผ้าห่ม ผ้าปูนอน จานและแก้วน้ำอลูมิเนียม เก้าอี้ตัวเล็ก ๆ และถัง 1 ใบสำหรับขับถ่ายทั้งหนักและเบา  ห้องนี้เขาไม่เปิดให้คนเข้าไปข้างใน แต่มองผ่านจากประตูทะลุไปยังหน้าต่างด้านหลังจะเห็นลานกว้าง ๆ ที่นักโทษเคยทำงาน และเสาไม้สีดำซึ่งเป็นจุดที่แมนเดลาเอาต้นฉบับหนังสือ Long Walk to Freedom ที่เขาแอบเขียนมาซ่อนไว้ ภายหลังผู้คุมค้นพบและต้นฉบับถูกทำลาย โชคดีที่สำเนาอีกชุดหนึ่งเล็ดลอดออกไปได้ โดยผ่านเพื่อน ๆ ที่มาเยี่ยม และถูกส่งต่อไปยังลอนดอน พิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ จนเกิดผลสะเทือนต่อรัฐบาลผิวขาวเป็นอย่างมาก

กิจวัตรประจำวันของแมนเดลา คือต้องออกไปใช้แรงงานอย่างหนักในเหมือง และใน 1 ปีจะได้รับอนุญาตให้พบปะพูดคุยกับผู้มาเยี่ยมเยือนได้ 1 ครั้ง ๆ 30 นาที และทุกๆ 6 เดือนเขาสามารถเขียนจดหมายติดต่อกับบุคคลภายนอกได้ ซึ่งตอนแรกอนุญาตเฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้น ต่อมาได้รับอนุญาตเพิ่มให้เขียนถึงคนอื่น ๆ ได้ แต่ต้องผ่านการเซ็นเซอร์ทุกครั้ง

ส่วนห้องขังนักโทษคนอื่น ๆ ขนาดก็เท่ากัน บางห้องสามารถเปิดเข้าไปดูสิ่งของที่นักโทษเคยใช้ ซึ่งถูกโชว์ไว้ในตู้กระจก เช่น กระเป๋า รองเท้า กระดาษตารางหมากรุก มีดโกนหนวด เครื่องดนตรี ผ้าห่ม ผ้าปูนอน โต๊ะตัวเล็ก ๆ เป็นต้น

        หลังจากดูส่วนต่าง ๆ ในคุกแล้วไกด์ก็พาขึ้นรถบัสเพื่อทัวร์รอบเกาะ ด้านหนึ่งเป็นป่าช้าสำหรับฝังนักโทษที่เสียชีวิต เหมืองเก่าที่นักโทษต้องมาทำงานทุกวัน มีโรงเรียนโรงพยาบาล โบสถ์ สุเหร่า ที่ทำการไปรษณีย์ ร้านขายอาหารเบา ๆ และเครื่องดื่ม ซึ่งสามารถมองมาเห็นเทเบิ้ล เมาเท่น บ้านพักเก่า ๆ ของบุคคลสำคัญ เป็นต้น บ้านเล็ก ๆ หลังหนึ่งเคยขังนักโทษคนสำคัญรุ่นพี่ของแมนเดลาคือ โรเบิร์ต โซบุกเว (Robert Sobukwe) ผู้ก่อตั้งพรรค PAC (Pan African Congress) และผู้นำการคัดค้านกฎหมายเกี่ยวกับนโยบายแบ่งแยกผิว จนถูกจับและตัดสินจำคุก ถูกส่งมาบนเกาะนี้ในปี 1963 ภายใต้ “มาตรการโซบุกเว” นั่นคือการถูกแยกขังเดี่ยวจากนักโทษคนอื่น ห้ามติดต่อกับใครๆ ทั้งสิ้น ต่อมารัฐบาลผิวขาวได้อนุญาตให้ลูกและเมียมาอยู่ภายในรั้วเดียวกับเขาเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ทุกครึ่งปี

หลังจากกลับขึ้นฝั่ง Nelson Mandela Gateway อย่างที่บอกในตอนแรกคือเป็นแหล่งช็อปปิ้งริมน้ำชื่อดังของเมืองเคปทาวน์ มีห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร ขณะที่ริมน้ำร้านอาหารหลายสิบร้าน ส่วนใหญ่เป็นซีฟู้ด บางมุมก็มีดนตรีพื้นเมืองเล่นอย่างสนุกสนาน ใครอยากชมทิวทัศน์รอบ ๆ อ่าวหรือ Table Moutain ก็มีเฮลิคอปเตอร์ให้เช่าหลายบริษัท ด้านหนึ่งเป็นสถานที่ขายสินค้าพื้นเมืองนานาชนิด แต่ดูราคาแล้วท่าทางจะเป็น…นักโทษของบัตรเครดิต !!!

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...