“เซอร์จีย์ สตาค็อฟสกี้” จากแร็กเกตมาไกปืนสู่แก้วไวน์

ไร่ Beykush

ไร่ Prince Trubetskoi ที่ถูกจรวด

หนึ่งไวน์ขาวรุ่นนิยม

ห้องชิมไวน์รับผู้ไปเยือน

ไหนึ่งในวน์แดงรุ่นคอลเลคชั่น

ออร์เรนจ์ ไวน์

จากแร็กเกตมาจับปืน

จากแร็กเกตมาสู่แก้วไวน์

ฉลากไวน์ที่มีรูปเขาเสิร์ฟ Ace

ฉลากไวน์เอซ

เซอร์จีย์ สตาค็อฟสกี้ ในมาดนักธุระกิจ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2014 ก่อนจะประทุเดือดเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบไปหลายวงการ แม้แต่วงการกีฬาและวงการไวน์ และคงจะมีเพียง “เซอร์จีย์ สตาค็อฟสกี้” (Sergiy Stakhovsky) หนึ่งเท่านั้นเกี่ยวข้องทั้ง 2 วงการ เรียกว่าจากการควงแร็กเกตโลดแล่นบนคอร์ทเทนนิส ต้องมาจับปืนในสนามรบ ป้องกันประเทศและรักษาธุรกิจไวน์ของตัวเอง
“เซอร์จีย์ สตาค็อฟสกี้” เป็นอดีตนักเทนนิสอาชีพชาวยูเครน เริ่มเล่นเทนนิสอาชีพในปี 2003 และเล่นในระดับ Challenger เป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่ปี 2005 ถึง 2008 อันดับสูงสุดในอาชีพของเขาคืออันดับที่ 31 ของโลกในประเภทเดี่ยวและอันดับที่ 33 ในประเภทคู่ และคว้าแชมป์อาชีพครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2008
เซอร์จีย์ สตาค็อฟสกี้ ขณะนั้นเป็นมือ 116 ของโลก สร้างผลงานหนึ่งที่โลกตะลึงคือการชนะโรเจอร์ เฟรดเดอร์เรอร์ (Roger Federer) มือ 3 ของโลก ในรอบ 2 ของเทนนิสแกรนด์ สแลม วิมเบิลดัน (Wimbledon) ปี 2013 ด้วยสกอร์ 6–7 (5),7–6 (5), 7–5,7–6 (5) เป็นการชนะมือทอป 10 ของโลกเป็นครั้งแรก แต่รอบต่อมาเขาก็ตกรอบ ออสเตรเลีย โอเพ่น (Australian Open) ปี 2022 หลังจากแพ้ เจ.เจ.วูล์ฟ (J. J. Wolf) เขาจึงประกาศเลิกเล่นหลังจากกรำศึกลูกสักหลาดมาถึง 19 ปี จากนั้นเขากลับบ้านเกิดกระทั่งเข้าร่วมกองทัพบกยูเครนสังกัดกองกำลังพิเศษ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เขาได้ร่วมรบในสงครามบักห์มุต (Battle of Bakhmut)
เซอร์จีย์ สตาค็อฟสกี้ แต่งงานกับอนฟิกา บัลกาโควา (Anfisa Bulgakova) โค้ชความงามสาวชาวรัสเซีย มีลูก 3 คน แต่มาอาศัยอยู่ในกรุงบูดาเปสต์ เมืองหลวงของประเทศฮังการี ตั้งแต่ปี 2014
เซอร์จีย์ สตาค็อฟสกี้ เริ่มรู้จักไวน์ครั้งแรกในช่วงที่ไปเขาเล่นเทนนิสให้กับทีมวิลลา พริมโฮรส (Villa Primrose) สโมสรเทนนิสในเมืองบอร์กโดซ์ ซึ่งมีสปอนเซอร์เป็นชาโตไวน์ดัง ๆ อย่างชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ (Château Mouton Rothschild) ชาโต โอต์ บริอง (Château Haut-Brion) และชาโต ดีเค่ม (Châteaud’Yquem) เป็นต้น ตลอดเวลา 12 ปีที่เขาเล่นให้กับสโมสรแห่งนี้ ทำให้เขาได้ไปสัมผัสหลาย ๆ อย่างถึงในชาโตดังกล่าว และพบว่าหินปูน (Limestone) ที่เป็นส่วนประกอบในดินของบอร์กโดซ์นั้นที่บ้านเขาก็มี
เซอร์จีย์ สตาค็อฟสกี้ เริ่มทำไวน์อย่างจริงจังในปลายปี 2015 ด้วยการเช่าพื้นที่ขนาด 22.5 เฮกตาร์ จากไร่เก่าแก่ใกล้ภูเขากุกลา (Kuklya) ในทรานส์คาร์เปเธียน (Transcarpathia) ซึ่งดินมีส่วนผสมของดินเหนียว หินและลาวาจากภูเขาไฟ ปลูกองุ่นระหว่างปี 2022 -2006 มีแมร์กโลต์ (Merlot) ซาเปราวี (Saperavi) และพิงค์ ทรามิเนอร์ (Pink Traminer) เก็บเกี่ยววินเทจแรก 2018 หลังจากนั้นจึงปลูกองุ่นพันธุ์อื่น ๆ ตามมา และผลิตไวน์อีกหลายรุ่นทั้งแดง ขาว และออร์เรนจ์ ไวน์
ไวน์ของเซอร์จีย์ สตาค็อฟสกี้ มีชื่อว่า “Ace & W by Stakhovsky” คำว่า “Ace” หมายถึงการ “เสิร์ฟเอซ” เป็นลูกเสิร์ฟครั้งเดียวที่คู่ต่อสู้ไม่สามารถรับได้ ส่วน “W” มาจากคำว่า Win หมายถึงชัยชนะ ฉลากไวน์บางรุ่นจะมีรูปของเขากำลังเสิร์ฟ Ace
ไวน์แดงที่สร้างชื่อคือรุ่นคอลเลคชั่น “Ace by Stakhovsky” Merlot,Saperavi,Zweigelt และ Cabernet Sauvignon บ่ม 10 เดือนในถังโอ๊คฝรั่งเศส ส่วนไวน์ขาว “W by Stakhovsky” ประกอบด้วย Traminer,Riesling,Chardonnay และออ์เรนจ์ ไวน์ “W by Stakhovsky” Orange wine ขณะที่ไวน์รุ่นลิมิเต็ดบ่ม 24 เดือน เป็นต้น
ปัจจุบันไวน์ “Ace & W by Stakhovsky”ถูกส่งไปขายในหลายประเทศในยุโรป เช่น สาธารรัฐเชก สโลวะเกีย ฮังการี ออสเตรีย รวมทั้งญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบอร์กโดซ์ ไวน์ Traminer W และ Saperavi ACE ถูกซื้อไปจัดแสดงใน La Cité du Vin พิพิธภัณฑ์ไวน์ชื่อดังของฝรั่งเศสและของโลก
ขณะที่ในไวเนอะรีมีนักท่องไปเที่ยวไปเยี่ยมชมและชิมก่อนหน้าสงครามประมาณปีละพันกว่าคน เยี่ยมชมกระบวนการผลิตไวน์ ชิมไวน์รุ่นพิเศษให้ ผลิตภัณฑ์พื้นเมือง ชีสโฮมเมด ฯลฯ
“ผมหวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับมาโดยเร็ว”เซอร์จีย์ สตาค็อฟสกี้
นอกจากนั้งยังมีอีกหลายไวเนอะรีที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม
สวิททานา ทีบัค (Svitlana Tsybak) CEO ของไวน์เบย์กุช (Beykush Winery) และหัวหน้าของ Ukrainian Craft Winemaker Association บอกว่าอันตรายอย่างมากที่จะทิ้งไวเนอะรีไปในช่วง 2-3 เดือนแรกของสงคราม และเมื่อต้องกลับมาทำงานไนไร่องุ่นอีกครั้งก็ต้องทำแบบนิวนอร์มอล (new normal) ทุกวันนี้ไร่องุ่นยังเต็มไปด้วยปลอกกระสุน โชคดีตรงที่ไร่องุ่นของเราไม่ถูกถล่มโดยจรวด
Beykush Winery ตั้งอยู่ริมทะเลดำ (Black Sea) ตามชายฝั่งของภูมิภาคMykolaiv ใกล้กับ Odessa ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกโจมตีเป็นวันแรกของสงคราม พื้นที่ยังถูกยูเครนควบคุมไว้ได้ แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดกับพื้นที่ยึดครองของรัสเซีย จึงยังคงได้รับความทุกข์ทรมานจากการระดมยิง
Beykush Winery ก่อตั้งโดย Eugene Shneyderis ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีชาวยูเครนกว่าทศวรรษที่แล้ว ปลูกองุ่นนานาชาติ เช่น ชาร์โดเนย์(Chardonnay) และปีโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) จากฝรั่งเศส เตมปรานีลโย (Tempranillo) แลอัลบาริโญ (Albariño) จากสเปน ซาเปราวี (Saperavi) และรัตซิเตลิ (Rkatsiteli) จากจอร์เจีย และเทลติ คูรุค (Telti-Kuruk) องุ่นพื้นเมืองของยูเครนเอง
ขณะที่ ปริ๊นซ์ รูเบทสกอย ไวเนอะรี (Prince Trubetskoi Winery) ไวเนอะรีเก่าแก่อายุกว่า 128 ปี ในเขต Kherson เป็นหนึ่งในไร่องุ่นที่โชคร้าย เพราะถูกระเบิดของรัสเซียถล่มเสียหายอย่างหนัก ทุกวันนี้ในไร่ยังเต็มไปด้วยทุ่นระเบิด ทุกวันนี้ราวกับถูกทอดทิ้
ไวน์เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมกิน-ดื่มในยูเครน แม้มีประวัติการผลิตไวน์มาแต่โบราณ แต่มีบางช่วงซบเซาไป จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา การทำไวน์เริ่มเฟื่องฟู เริ่มขยายพื้นที่ทำไวน์ไปทางภาคเหนือของประเทศ รอบเมืองเคียฟ และเชอร์นิฮีฟ (Chernihiv) โดยมีผู้นำศาสนาหรือพระเป็นแกนนำ
ภายใต้การปกครองของจักรพรรดินี แคทเธอรีนมหาราช (Empress Catherine the Great / 1729–1796) ในปี ค.ศ.1783 ไครเมีย กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย ท่านเคาน์มิคาอิล วอรอนต์ซอฟ (Count Mikhail Vorontsov) เป็นผู้ริเริ่มปลูกองุ่นครั้งแรกในปี 1820 และก่อตั้งไวเนอะรีขนาดใหญ่ใกล้กับยัลตา (Yalta)
ปี 1828 มีการก่อตั้งสถาบันวิจัยการปลูกองุ่นมาการัช (Magarach) ปัจจุบันมีไวน์กว่า 20,000 ตัวอย่าง จากไวน์กว่า 3,200 จำพวก จากนั้นปี 1822 ผู้ปลูกองุ่นชาวสวิสจากรัฐโวด (Vaud) ได้ก่อตั้งไวเนอะรีชื่อ ชาโบ (Shabo ฝรั่งเศสเรียกว่า Chabag) ในเขต Odessa โดยได้รับพระบรมราชานุญาติจาก ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 (Tsar Alexander I) ในงาน World’s Columbian Exposition 1893 ในชิคาโก ไวน์จาก Chabag ได้ถูกนำไปจัดแสดงให้ผู้คนได้ลิ้มรส ได้รับการตอบรับอย่างดี และได้รับเหรียญรางวัลกลับมk
หลังสงครามไครเมีย (1854 -1856) จบลง เจ้าชายเลฟ กอร์ลิตซีน (Lev Golitsyn) ได้ใช้ทรัพย์สินส่วนพระองค์ทำ สปาร์คกลิ้งไวน์ ด้วยการผลิต แชมเปญรัสเซีย ชื่อ Champagner เป็นครั้งแรกที่ Novyi Svet ใกล้ยัลตา
ต่อมาภายใต้การปกครองของซาร์องค์สุดท้าย นิโคลัสที่ 2 (1868–1918) ได้ก่อตั้ง มาสซานดรา (Massandra) ซึ่งปัจจุบันเป็นไวเนอะรีของรัฐ และเมื่อพูดถึงไวน์ยูเครนผู้คนจะนึกถึงมาสซานดราเป็นอันดับแรก และเคยเป็นข่าวใหญ่เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2015 อัยการยูเครนสั่งฟ้อง ยานินา พาฟเลนโก (Yanina Pavlenko) ผู้อำนวยการไวเนอะรี ข้อหานำไวน์เก่าแก่อายุ 240 ปี มาเปิดให้ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งอิตาลี (พ้นตำแหน่งปี 2011) ได้ชิม ระหว่างทั้งคู่ไปเยี่ยมชมไวเนอะรีดังกล่าว
ในยุคที่อยู่ใต้ปีกของสหภาพโซเวียตนั้น ยูเครน มีพื้นที่ปลูกองุ่นทำไวน์ 2,500 ตารางกิโลเมตร เป็นซัพพลายเออร์ไวน์ที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพโซเวียต จนกระทั่งปี 1986 มิคาอิล กอร์บาชอฟ นายกกรัฐมนตรีโซเวียต เริ่มรณรงค์ต่อต้านการบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไปในสหภาพโซเวียต ทำให้ไร่องุ่นถูกทำลายทิ้งไปประมาณ 800 ตารางกิโลเมตร
ปี 2000 ท้องฟ้าสดใสขึ้น นับแต่ปีนั้นเป็นต้นมา การผลิตและการส่งออกไวน์ของยูเครนก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไวน์ยูเครน ส่งออกไปยังหลายประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือ
ไวน์ที่สร้างชื่อให้กับยูเครนคือ ไวน์หวาน (Dessert Wines) และฟอร์ติไฟด์ ไวน์ (Fortified Wine) โดยใช้ชื่อว่า Madera Massandra ไวน์พวกนี้สามารถทำราคาในการประมูลได้อย่างมหาศาล รองลงไปคือ สปาร์คกลิ้งไวน์ (Sparkling Wine) ที่เรียกว่า Sovetskoye Shampanskoye หรือโซเวียต แชมเปญ (Soviet Champagne) ทำด้วยกรรมวิธีเดียวกับแชมเปญของฝรั่งเศส เป็นต้น
สดใสได้ 20 กว่าปีฟ้ากลับมาหม่นอีกครั้ง สงครามรัสเซีย- ยูเครน ปี 2022 กลายเป็นวิบากกรรมครั้งใหม่ของอุตสาหกรรมไวน์ยูเครน ราวกับถูกสาปก็ไมปาน !!
****************

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...