“เรย์กา” “Green Vodka”ตัวแรกของโลก

หินลาวาที่ใส่ลงไปในค็อกเทล Geysir Haukadalur Reyka Vodka Reyka กับลาวา The Thai Cooler ค็อกเทลที่ใช้ Reyka เป็นหลัก ค็อกเทล Cosmopolitan ที่ทำจาก Reyka ฉลากด้านหลัง Reyka มุมหนึ่งของเมือง Borgarnes ลาวาอายุกว่า 4,000 ปี สภาพอากาศที่ Reyka หม้อกลั่นจำลองของ Reyka หม้อกลั่นที่มองเห็นทิวทัศน์ด้านนอก หอกลั่น Reyka หินลาวาที่ใช้กรอง Reykaวอดก้า (Vodka) เป็นเหล้าที่สามารถผสมผสานกับเครื่องดื่มต่าง ๆ ได้ทุกชนิด เนื่องจากเป็นแอลกอฮอล์เกือบบริสุทธิ์ ซึ่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์นั้นจะช่วยเน้นรสชาติของสิ่งที่ผสมลงไปให้หอมหวนชวนดมและดื่มยิ่งขึ้น ค็อกเทลชื่อดัง ๆ หลายยี่ห้อล้วนมีวอดก้าเป็นส่วนผสมหลัก

คำว่า Vodka มาจากคำว่า “โวดา” (Voda) ในภาษาสลาวิกดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันคือประเทศรัสเซีย แปลว่า “น้ำ” โดยนัยก็คือ Water of life ขณะที่บางแห่งบอกว่าหมายถึง “น้ำน้อยเท่ากับว่าแอลกอฮอล์เยอะ” เพราะดีกรีที่สูงเกินกว่า 40 % ของวอดก้านั่นเอง

แหล่งกำเนิดของวอดก้าไม่แน่ชัด บางตำนานเล่าว่าวอดก้าถือกำเนิดในโปแลนด์เมื่อศตวรรษที่ 9 แล้วแพร่หลายไปในประเทศแถบยุโรปตะวันออก และรุ่งโรจน์มีชื่อเสียงที่รัสเซียในศตวรรษที่ 14 เมื่อทูตสหราชอาณาจักรเดินทางสู่ไปมอสโก มีการต้อนรับด้วยวอดก้า จากนั้นวอดก้าก็ได้ยกในฐานะเป็นเครื่องดื่มประจำชาติชาติรัสเซีย

บางตำนานบอกว่าวอดก้าถูกพัฒนาในยุโรปตอนเหนือ ขณะที่รัสเซียและโปแลนด์ ต่างคุยว่าตัวเองเป็นเจ้าตำรับ ต่อมามีสวีเดนอีกชาติหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มหัวแถว ปัจจุบันมีการผลิตทั่วโลกเช่น ยูเครน สวีเดน สหรัฐ อังกฤษ นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส ออสเตรีย เยอรมัน เอสโทเนีย เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ รวมทั้งไทย เป็นต้น โดยสหรัฐเป็นชาติที่กลั่นวอดก้าได้มากที่สุด

กรรมวิธีการผลิตวอดก้า มีขั้นตอนคล้ายการผลิตวิสกี้ ส่วนที่แตกต่างคือ วอดก้าไม่มีการบ่มในถังไม้โอค (Maturing) และในการผลิตวอดก้าจะมีขั้นตอนพิเศษกว่าเหล้าชนิดอื่นๆ คือมีการกรองผ่านถ่านไม้ชนิดหนึ่ง เรียกว่า Activated Charcoal (หรือ Activated carbon,Activated coal หรือ Carbo activates) ขั้นตอนคือ
วอดก้าไม่ได้มีกฎบังคับว่าจะต้องผลิตจากวัตถุดิบอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจึงเห็นวอดก้าที่ผลิตจากหลายประเทศและหลากหลายธัญพืช เช่น ข้าวไรย์ ข้าวสาลี ข้าวโพด องุ่น มันฝรั่ง กากน้ำตาล เมื่อเอาวัตถุดิบเหล่านั้นมาเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์แล้วจึงนำไปกลั่น และไม่ได้จำกัดว่าจะต้องกลั่นกี่ครั้ง วอดก้าที่ผ่านกระบวนการกลั่นหลายครั้ง จะมีแอลกอฮอล์สูงกว่าและความบริสุทธิ์มากกว่า ยิ่งกลั่นมากก็จะยิ่งได้วอดก้าที่ “ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส” มากขึ้น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของวอดก้า แต่วอดก้าบางตัวที่ผ่านกระบวนการกลั่นน้อยครั้ง อาจจะยังคงมีรสชาติ และกลิ่นหลงเหลืออยู่ก็ได้

สุดท้ายจะกลั่นกี่ครั้งก็ตาม สิ่งที่ได้ตอนนี้ยังดื่มไม่ได้ เพราะแอลกอฮอล์สูงมาก ต้องตัดด้วย “น้ำ” ให้อยู่ในระดับที่ต้องการ ดังนั้นน้ำจึงถือเป็นหัวใจของส่วนผสมของวอดก้า จะเห็นได้ว่าวอดก้าคุณภาพพรีเมียมหรือแพง ๆ จะให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำและชูเป็นจุดขาย

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ เรย์กา (Reyka) ฟังดูอาจจะธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาเพราะเป็นวอดก้าจากประเทศไอซ์แลนด์ (Iceland) ซึ่งในบ้านเราไม่เคยมีมาก่อน อย่าจำสับสนกับประเทศไอร์แลนด์ (Ireland) ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับอังกฤษ และมีเมืองหลวงชื่อดับลิน (Dublin) เป็นคนละประเทศกันนะครับ เวลาออกเสียงเร็ว ๆ ใกล้เคียงกันมาก ผู้ประกาศข่าวทางโทรทัศน์บางช่องของไทยยังอ่านผิดบ่อย ๆ

Iceland เป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสองของยุโรปและอยู่ในแอตแลนติกเหนือ ระหว่างเกาะกรีนแลนด์ นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักรมีเมืองหลวงชื่อเรคยาวิก (Reykjavik) เป็นประเทศนอร์ดิกในยุโรปเหนือ หมายถึงภูมิภาคในยุโรปเหนือ ซึ่งประกอบด้วย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน

คำว่า “ไอซ์แลนด์” ที่ใช้ในภาษาไทยนั้นทับศัพท์จากภาษาอังกฤษว่า “Iceland” ส่วนชื่อในภาษาไอซ์แลนด์คือ “Ísland” (อีสลันต์) คำว่า ís แปลว่าน้ำแข็ง และ land แปลว่าแผ่นดินหรือประเทศ

จุดขายของไอซ์แลนด์คือ “น้ำพุร้อน” (Geysir) ซึ่งประเทศนี้มีน้ำพุร้อนให้ชมมากมาย และ Geysir นี่เองเป็นที่มาของคำว่า “กีเซอร์” (Geyser) ที่ใช้กันทั่วโลก โดยน้ำพุร้อนที่มีชื่อเสียงและว่ากันว่าถ้าไปไอซ์แลนด์แล้ว ไม่ได้ไปน้ำพุร้อนนี้ถือว่ายังไม่ถึงไอซ์แลนด์อย่างแท้จริงก็คือ Geysir ใน Haukadalur ทางใต้ของประเทศ น้ำพุร้อนของที่นี่จะพวยพุ่งขึ้นมาจากพื้นดินสู่อากาศสูงกว่า 180 ฟุต สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ และ Geyser เหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญของการกลั่นวอดก้า และวอดก้าที่มีชื่อเสียงของไอซ์แลนด์คือ Reyka ดังกล่าว

Reyka เป็นวอดก้าระดับพรีเมียมในเครือวิลเลียม แกรนต์ แอนด์ ซันส์ (William Grant & Sons) ซึ่งมีเหล้าดีๆในเครือหลายตัวโดยเฉพาะซิงเกิ้ล มอลต์ อย่าง  The Glenfiddich และ The Balvenie รวมทั้งจินชื่อดัง Hendrick ภายใต้การควบคุมของคริสต์มัน โอลาฟส์สัน (Kristman Olafsson) Master Distiller พร้อมทีมงานสร้างสรรค์ให้ Reyka เป็น “Uniquely Icelandic” Vodka

Reyka เริ่มผลิตในปี 2005 ใช้วัตถุดิบหลักคือข้าวสาลี (Wheat) และบาร์เลย์ (Barley) ณ โรงกลั่นเมืองบอร์กาเนส (Borgarnes) ริมฝั่งทะเลทางตะวันตกของประเทศ และห่างจากเมืองหลวงเรคยาวิก ไปทางเหนือประมาณ 60 กิโลเมตร

คำว่า “Reyka” มาจาก “Ray-kuh” ในภาษาไอซ์แลนดิค (Icelandic) ภาษาประจำชาติของประเทศไอซ์แลนด์ หมายถึง “ไอน้ำ” (Steam or Smoke) ความพิเศษของ Reyka คือเป็นวอดก้าที่ผลิตแบบแฮนด์เมด (Handmade) จากน้ำใต้ดินจากแหล่งน้ำที่มีชื่อว่า Grabok Spring ที่อยู่ชั้นใต้ดินในมหาสมุทรที่มีส่วนประกอบของลาวาของภูเขาไฟ อายุกว่า 4,000 ปี ซึ่งถือว่าเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ผัดผ่อง ทำให้ได้ชื่อว่าเป็น “Green Vodka” ตัวแรกของโลก

นอกจากนั้น Reyka Vodka ยังนับเป็นวอดก้าตัวแรกที่ทั้งกลั่นและบรรจุขวดในประเทศไอซ์แลนด์ ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย รวมทั้ง  Vodka Trophy 2011 จัดโดย International Wine and Spirit Competition และ 1 ใน 10 วอดก้ายอดเยี่ยมของนิตยสาร Drink Spirits

ทีมงานที่ผลิต Reyka บอกว่าการตั้งโรงกลั่นวอดก้าแห่งแรกในไอซ์แลนด์นับเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ความพิเศษของประเทศนี้มีลักษณะเฉพาะตัว ทำให้ทุกอย่างลงตัว โดยเฉพาะแหล่งวัตถุดิบจากธรรมชาติ ผสมผสานกับประสบการณ์กว่า 146 ในการทำวอดก้า ด้วยการคัดเลือกน้ำแร่จากแหล่งน้ำที่เกิดจากลาวาภูเขาไฟอายุกว่า 4,000 ปี ลาวาพวกนี้เป็นเครื่องกรองน้ำธรรมชาติ ทำให้น้ำบริสุทธิ์

ที่สำคัญ Reyka Vodka กลั่นด้วยหอกลั่นทองแดง Carter-Head Still ซึ่งในโลกนี้มีเพียง 6 เครื่องเท่านั้น เครื่องกลั่นนี้ทำให้วอดก้ามีความนุ่มนวล และแสดงเอกลักษณ์ของวัตถุดิบได้อย่างชัดเจน ด้วยปริมาณแอลกอฮอล์ 40 % กำลังการผลิตปีละประมาณ 400,000 ขวด

Reyka ดมครั้งแรกจะได้กลิ่นเขียว ๆ ค่อนข้างชัดเจน คล้ายหญ้าสด ๆ ตามด้วยกลิ่นฟางแห้งสด ๆ และกลีบกุหลาบ มิเนอรัล สาหร่าย ลาเวนเดอร์ สไปซี ซีดาร์ จบด้วยผลไม้ประเภทซิททรัส และเมล็ดข้าวที่เด็ดออกมาจากรวงใหม่ ๆ

สำหรับการดื่ม เนื่องจาก Reyka เป็นวอดก้าที่คลีน (Clean) จึงเหมาะที่จะใช้เป็นส่วนผสมหลักของค็อกเทลต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีส่วนผสมอื่นเป็นพวกผลไม้หรือเฮิร์บที่แห้งและหวานหวาน ๆ แต่ถ้าดื่มแบบออน เดอะ รอค แนะนำให้ใส่ Angostura Bitters สักนิด เป็นต้น

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...