“โซจู” สายเลือดสีขาวที่เข้มข้นของคนเกาหลี

Andong Soju Museum

Jinro Chamisul

Kang Dong Won หนึ่งในดาราดัง

ชาย-หญิงล้วนแต่โซจู

โซจู วัฒนธรรมแห่งเกาหลี

โซจูโกริ หม้อต้มกลั่นโซจูแบบโบราณ

ดาราสาวที่โฆษณาโซจู

ในพิพิธภัณฑ์โซจูที่ Andong

พิพิธภัณฑ์โซจูที่เมืองอันดง

วัฒนธรรมกินดื่มของชาวเกาหลี

วัตถุดิบในการทำโซจู

หนึ่งในกระบวนทำโซจู

หนึ่งในเครื่องดื่มที่มมีส่วนผสมของโซจู

หม้อกลั่นแบบชาวบ้าน

ไหหมักสาเก

อาหารเกาหลีต้องกับโซจูกลางเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา มีเรื่องฮือฮาเมื่อ นางสาวลลิษา มโนบาล หรือ “ลิซ่า แบล็กพิงค์” เปิดตัวเป็นพรีเซ็นเตอร์และแอมบาสซาเดอร์หญิงคนแรกในเอเชียให้กับชีวาส รีกัล สก็อต วิสกี้ชื่อดังระดับโลก
สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดูจะเป็นหน่วยงานที่เต้นเรื่องนี้มากที่สุด..!!
ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 มาตรา 32 ของ พ.ร.บ. มีเนื้อความว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักชวนใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม”
อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวระบุไว้ว่า “บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกําเนิดนอกราชอาณาจักร”
เป็นสาเหตุที่คนทั่วไปเห็นโฆษณานี้ ทั้งชีวาสและลิซ่า เพราะชีวาสผลิตและ Broadcast ตัวโฆษณาในต่างประเทศคือเกาหลีใต้ และลิซ่าก็ถ่ายทำโฆษณาในต่างประเทศเกาหลีใต้ ดังนั้นการจะแจ้งความเอาผิดตามกฎหมายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น่าจะเป็นไปได้ยาก
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่โฆษณาแอลกอฮอล์กันเป็นปกติ นอกเหนือจาก สหรัฐ,สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น โดยเฉพาะเกาหลีใต้นั้น มีการนำเซเล็บมาโฆษณาเหล้า เบียร์ และโซจู กันเป็นปกติ เช่น โซจู ยี่ห้อ จินโร รุ่น ชามิซุล (Jinro Chamisul) จ้างศิลปินดังอย่าง IU และนักแสดงดัง ซง เฮ เคียว จากเรื่อง Full House เป็นพรีเซ็นเตอร์ โดยในโฆษณาทุกคนต่างยกแก้วดื่มโซจู กันอย่างสนุกสนาน โดยไม่มีการเบลอขวดหรือแก้วโซจูเหมือนในบ้านเรา
“โซจู” (Soju/소주) เป็นสุรากลั่นของเกาหลีและญี่ปุ่น โดยเฉพาะเกาหลีนั้นโซจูถือเป็นหนึ่งใน “วัฒนธรรมและวิถีชีวิต” ของคนเกาหลี เป็น “เครื่องดื่มประจำชาติ” มีการโปรโมทในรูปแบบต่าง ๆ ที่เห็นกันบ่อยๆ คือ ซีรีย์เกาหลี ถ้ามีฉากในร้านอาหาร จะต้องมีขวดเครื่องดื่มสีเขียวขนาดเล็กอยู่ด้วย เป็นการโปรโมทที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก
เป็นเรื่องที่เมืองไทยเสียโอกาสและพลาดไปอย่างมาก โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยมีเอกลักษณ์ที่คนไทยสามารถทำได้ไม่แพ้ชาติใดในโลก เพียงที่ผ่านมาถูกปิดกั้นด้วยคำกล่าวอ้างด้านศีลธรรม
พิสูจน์ได้จากข้อมูลของนิตยสาร IWSR Drinks Market Analysis ในเรื่อง “100 อันดับเหล้าที่ขายดีทั่วโลก” (Top 100 Spirits Brands Worldwide ) หลังสิ้นสุดปี 2017 เป็นต้นมา ปรากฏว่าสุรากลั่นที่ขายดีที่สุดในโลกคือโซจู ยี่ห้อ “จินโร” (Jinro) ในบ้านเราก็มีขาย รองลงมาคือสุราของ “รวงข้าว” ของไทยนี่เอง
ชื่อโซจูเขียนด้วยอักษรจีนว่า 燒酒 ความหมายตามตัวอักษรคือ “ของเหลวที่ได้จากการเผาไหม้” เดิมเรียกว่า “อารักจู” (아락주) ซึ่งมาจากชื่อ “อารัก” (Arak / Aragh) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งของดินแดนตะวันออกกลาง ชาวเกาหลีเรียนรู้วิธีการกลั่นอารักจูจากชาวมองโกลในยุคที่ถูกมองโกลรุกรานมาครอบครองในศตวรรษที่ 13 และชาวมองโกลก็เรียนรู้การกลั่นเหล้าจากชาวเปอร์เซียอีกทอดหนึ่ง
ในอดีตการกลั่นอารักจูจะมีเฉพาะที่เมืองเคซอง (ปัจจุบันอยู่ในเกาหลีเหนือ) ก่อนจะแพร่หลายไปยังเมืองต่าง ๆ แต่จะมีเพียงพระราชาและชนชั้นสูงที่ได้ลิ้มรส ต่อมาชาวบ้านได้เรียนวิธีรู้การกลั่นเหล้า โซจูจึงกลายเป็นเครื่องดื่มของคนทุกชนชั้นอย่างในปัจจุบัน
สมัยก่อน “โซจู” (Soju) เป็นเหล้าพื้นบ้าน ชาวบ้านสามารถทำดื่มเองในบ้านได้อย่างอิสระ แต่ละครอบครัว แต่ละหมู่บ้าน แต่ละถิ่นก็จะมีสูตรของตัวเอง
จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อเกาหลีตกอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่นช่วงปี 1910-1945 มีการจัดเก็บภาษีสุรา มีการกำหนดขั้นต่ำในการผลิต การต้มเหล้าดื่มเองเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ชาวบ้านก็เลยไม่มีใครกล้าทำ
โซจู นั้นสามารถผลิตจากธัญพืชหลายชนิด เช่น มันเทศ,ข้าวสาลี,ข้าวบาร์เลย์,น้ำตาล,มอลลาส และเกาลัด เป็นต้น โดยวัตถุดิบต่างกันก็จะจะให้รสชาติที่แตกต่างกันด้วย
ต้นสายปลายเหตุมาจากหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีประสบปัญหาการขาดแคลนข้าว ปี 1965 รัฐบาลจึงออกกฎหมายห้ามนำข้าวมากลั่นเป็นเหล้า
จากข้อห้ามดังกล่าวทำให้เดิมที่ใช้ข้าว จึงต้องหันมาใช้วัตถุดิบอย่างอื่นในการทำโซจู โดยการใช้แอลกอฮอล์สูงจากมันเทศ มันสำปะหลัง นำมาเจือจางกับน้ำแล้วเพิ่มความหวานเข้าไป ประกอบกับหัวเชื้อแอลกอฮอล์เป็นสินค้าควบคุม จึงต้องมีการเจือจางกับน้ำมากขึ้นเพื่อให้ผลผลิตเยอะ ๆ และราคาถูก เป็นเหตุผลที่เปอร์เซนต์แอลกอฮอล์ต่ำลง
การกลั่นโชจู มี 2 วิธี คือวิธีดั้งเดิมเรียกว่า “โอตซุ รุย” (Otsu-Rui) แปลว่า “ของแท้” ที่ใช้กันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 เป็นการกลั่นทับเดียว (Pot Still) และต้องผลิตจากวัตถุดิบชนิดเดียว จะได้โชจูที่แสดงแคแลกเตอร์ของวัตถุดิบชัดเจน แอลกอฮอล์ประมาณ 30-40% การกลั่นแบบ Pot Still นั้นนิยมใช้ซิงเกิ้ล มอลต์ วิสกี้ (Single Malt Whisky) ของสกอตแลนด์ และคอนยัก (Cognag) ของฝรั่งเศส
อีกวิธีหนึ่งเรียกว่า “โคอุ รุย” (Kou-Rui) เป็นการกลั่นหลายทับ หรือการกลั่นแบบต่อเนื่อง (Column Still) จะได้เหล้าที่มีแอลกอฮอล์สูง ๆ อาจจะถึง 96 % และทำให้แคแลกเตอร์ของวัตถุดิบหายไป ใช้วัตถุดิบหลายชนิดปนกัน เริ่มใช้กันประมาณปี 1911 เป็นต้นมา การกลั่นแบบนี้ที่ใช้กันคือวอดก้า (Vodka) และจิน (Gin) เป็นต้น
ก่อนปี 1965 โซจูที่วางขายทั่วไปมีแอลกอฮอล์ประมาณ 35% ปัจจุบันอยู่ที่ 17-20% ขณะที่ขวดเดิมบรรจุชวดสีเขียวจนกลายเป็นภาพลักษณ์ ปัจจุบันมีทั้งสีเขียว สีชา สีขาว สีดำ และกระป๋อง เป็นต้น รวมทั้งรสชาติที่หลากหลาย ขณะที่การดื่มดั้งเดิมเทใส่แก้วเป๊กแล้วกระดกรวดเดียวหมดแก้ว ปัจจุบันดื่มจากขวดหรือกระป๋องได้ทันที ..!!!
แม้ทุกวันนี้จะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นานาชนิดจากนานาชาติอยู่ในตลาดเกาหลี แต่ยากที่จะเจือจาง “โซจู” ในสายเลือดของชาวเกาหลี !!

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...