“โรมาเน กงติ” (Romanée Conti) ยังครองความเป็นหนึ่งของสุดยอดไวน์แดงราคาแพงของโลก ล่าสุดวินเทจ 1945 ทำสถิติเป็นไวน์แดงแพงที่สุดของโลกขึ้นมาใหม่ ในการประมูลที่สถาบันประมูลโซธ์บีส์ (Sotheby’s) กรุงนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยขวดแรกทำราคาได้ 558,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขวดที่ 2 ทำราคาได้ 496,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ก่อนหน้านั้นสถิติเดิมของการประมูลที่นี่เป็นของชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ 1945 (Château Mouton Rothschild 1945) ขนาด 6 ลิตร (Jeroboam) ที่ถูกประมูลไปเมื่อเดือน ก.พ. 2007
เซอร์ อล็กซ์ เฟอร์กูสัน (Sir Alex Ferguson) อดีต ผจก.ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (Manchester United) ซึ่งเป็นนักสะสมไวน์ตัวยง มีไวน์สะสมกว่าพันขวด เคยนำไวน์ประมาณ 5,000 ขวดมาประมูลขายเพื่อนำเงินเข้าการกุศล 3 รายการติด หนึ่งในจำนวนนั้นคือโรมาเน กงติ วินเทจ 2002 ราคา 24,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปี 2014 โรมาเน กงติ วินเทจ 1997 ของเขาถูกประมูลที่ลอนดอนในราคา 94,815 ปอนด์ เป็นต้น
สำหรับ Romanée Conti วินเทจ 1945 ผลิตเพียง 600 ขวดเท่านั้น และ 2 ขวดที่นำมาประมูลนี้ เป็นไวน์สะสมส่วนตัวของโฮรแบรต์ ดรูน (Robert Drouhin) อดีตประธานบอร์ดบริหารของของเมซง โฌเซฟ ดรูน (Maison Joseph Drouhin) พ่อค้าไวน์ชื่อดังแห่งแคว้นเบอร์กันดี ในช่วงปี 1957-2003
Romanée Conti ผลิตโดยบริษัท โดเมน เดอ ลา โรมาเน กงติ หรือดีอาร์ซี (Domaine de la Romanee-Conti = DRC) ซึ่งมีไวน์ที่สุดแห่งที่สุดในโลกอยู่ 2 ตัวๆ คือ Romanee-Conti และลา ตาช (La Tache) เจ้าของบริษัทไวน์สะท้านภพตัวนี้ที่คุณควรทำความรู้จักคือ นายอูแบรต์ เดอ วิลแลง (Aubert de Villaine) และมาดาม Lalou Bize-Leroy (ผู้เป็นเจ้าของ Domain Leroy) มีไร่องุ่นแค่ 74 เอเคอร์โดยมีไร่ของ Romanee-Conti เพียง 4.32 เอเคอร์ และไร่ La Tache อีก 14.4 เอเคอร์ที่เหลือเป็นตัวอื่นอีกไม่กี่ตัว เกินกว่านั้นเป็นองุ่นที่ซื้อจากชาวไร่อื่นๆ
นอกจากจะมีคุณภาพน้ำเนื้อดีเยี่ยมอยู่ในตัว อันเกิดจากธรรมชาติให้มาแล้ว โดเมน เดอ ลา โรมาเน กงติ ยังใช้ระบบการตลาดเข้ามาผสมผสานด้วยในรูปแบบที่เรียกว่า “ผูกหางหมา” คือมีสินค้าโดดเด่นเพียงตัวเดียว อยากได้ก็ต้องซื้อสินค้าตัวอื่นในเครือพ่วงไปด้วย แน่นอนพระเอกคือ Romanee Conti ไวน์ 1 ลัง 12 ขวดจะได้ Romanee Conti ขวดเดียว รองลงมาเป็น La Tache 2 ขวด ที่เหลือเฉลี่ยกันไปในเครือรวม 7 ตัวคือ Richebourgs,Romanee St.Vivants,Grands Echezeaux และ Echezeaux เป็นต้น นอกจากนั้นยังจำกัดโควตาการซื้อด้วย ซึ่งเมืองไทยไม่มีโควต้า
อย่างไรก็ตาม มูลค่าราคาแพงของโรมาเน กงติ ก็ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ หรือแตร์ฮรัวร์ (Terroir) ของไร่ตัวเองด้วย ทั้งที่มีพื้นที่ปลูกองุ่นเพียง 4 เอเคอร์ (1 เอเคอร์ = 2.5 ไร่) น้อยจนแทบไม่มีใครอยากจะเชื่อ ขณะเดียวกันการดูแลต้นองุ่นปีโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) ของเขามีความละเอียดอ่อนมาก ตั้งแต่เรื่องดินที่ต้องใช้ม้าเทียมแอกค่อยๆ ไถพรวนดิน เพื่อให้ดินไม่แน่นและระบายอากาศได้ดี ฯลฯ
โดเมน เดอ ลา โรมาเน กงติ มักจะเป็นผู้เก็บเกี่ยวองุ่นล่าช้ากว่าใครในแคว้นเบอร์กันดี ต้นองุ่นทุกต้นจะถูกแต่งกิ่งเหลือเพียงกิ่งเดียว แม้โควตาการผลิตจะถูก หน่วยงานที่ควบคุมการผลิตไวน์ของฝรั่งเศส (INAO) อนุญาตให้ผลิตได้ถึง 45 เฮกโตลิตร/เฮกตาร์ แต่พวกเขาผลิตจริงๆ เพียง 20 เฮกโตลิตร/เฮกตาร์ เพื่อให้น้ำองุ่นที่คุณภาพสูง รวมทั้งบ่มในถังโอคใหม่ 100% เป็นเวลากว่า 18 เดือนจึงจะบรรจุขวดขาย ยอดผลิตของยอดไวน์แต่ละยี่ห้อมีน้อยมาก เช่น Romaee-Conti บรรจุได้ตกปีละ 6,500 ขวด ส่วน La Tache บรรจุได้ตกปีละ 13,000-26,000 ขวด Richebourg ซึ่งมีไร่องุ่น 8.61 เอเคอร์ บรรจุได้ปีละ 13,000-14,500 ขวด ส่วนไวน์ขาว Montrachet มีไร่องุ่น 1.65 เอเคอร์ บรรจุได้ปีละ 2,700 ขวด
แต่ตัวที่กำหนดราคาคือ วินเทจ (Vintage) หรือปีที่เก็บเกี่ยว และสูตรลับการปรุงแต่ง ให้ไวน์มีรสชาติที่ยอดเยี่ยม พลังล้ำเลิศเหนือใคร แม้บางปีพระเจ้าจะไม่เอื้ออำนวยในเรื่องแดดลมและฝน แต่ทุกคนก็ยังพากันแปลกใจว่าโรมาเน กงติมีเวทมนตร์วิเศษอันใด จึงสามารถเนรมิตให้ไวน์มีรสชาติที่เหนือฟ้าใต้บาดาล ราคานอกจากจะไม่ตกแล้ว ยังขึ้นทุกปี
นอกจากนั้น โรมาเน กงติ ยังได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน “14 แผ่นดินทองในการปลูกองุ่นทำไวน์” ที่สถาบันภูมิทัศน์และสถาปัตยกรรมไร่องุ่นระหว่างประเทศ (Institut International des Paysages et Architectures Viticoles) ในกรุงปารีส ได้สำรวจพื้นที่ปลูกองุ่นผลิตไวน์ได้อย่างยอดเยี่ยม คำว่า “แผ่นดินทอง” นี้ทางสมาคมให้คำจำกัดความว่า เป็นแผ่นดินที่รวมปัจจัยทุกอย่างที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับพันธุ์องุ่นที่ถูกเลือกไปปลูก จนต้นองุ่นสามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่ และกลายมาเป็นไวน์ชั้นเยี่ยม ที่เรียกว่า แตร์รัวร์ หรือ แตร์ฮัวร์ (Terrior) นั่นเอง
แตร์รัวร์ หมายถึงเขตพิเศษเฉพาะของแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน เป็นสิ่งที่ฝรั่งเศสใช้อวดอ้างถึงความเหนือชั้นกว่าไวน์ชาติใด ๆ ในโลกนี้ จริง ๆ แล้ว Terrior ไม่ได้มีเฉพาะในไวน์เท่านั้น แต่ยังใช้กับกาแฟ และชาด้วย เพราะพืชทั้งสองอย่างนี้คุณภาพจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศเช่นเดียวกับองุ่น ดังนั้นรสชาติของชา กาแฟ และไวน์จะสะท้อนเอกลักษณ์ของถิ่นที่ปลูกนั้นออกมาด้วย
Terrior ต้องประกอบด้วยหลัก ๆ คือ อากาศ ชนิดของดิน และภูมิประเทศ ซึ่งหมายถึงธรรมชาติของภูเขา หุบเขา และน้ำ ที่สำคัญคือ ไมโครไคลแมท (Microclimate) หรือรูปแบบของฝน ลม ความชื้น การเปลี่ยนแปลงของอุณหะภูมิ เป็นต้น ซึ่งสำคัญต่อการปลูกองุ่น เช่น มีไร่องุ่น 2 แห่งติดกัน การดูแลไร่องุ่นเหมือนกัน และขั้นตอนการผลิตเหมือนกันทุกประการ แต่เมื่อเก็บเกี่ยวองุ่นไปทำไวน์ซึ่งทำพร้อม ๆ กัน ปรากฏว่าผลผลิตของไร่หนึ่งเข้มข้น ความล้ำลึก ซับซ้อน โครงสร้างเยี่ยม ขณะที่อีกไร่หนึ่งรสชาติเข้มข้นปานกลาง ขาดความล้ำลึก ฯลฯ เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาให้ มนุษย์ไม่สามารถไปแก้ไขได้
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ยากจะมีใครเสมอเหมือน โรมาเน กงติ (Romanee Conti) อันเป็นที่มาของ….ไวน์แดงราคาแพงที่สุดในโลก..!!!