“โอพัส วัน-อัลมาวีวา” ไวน์ผสานวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่

Almaviva winery

Opus One 2000

Opus One 2003

Opus One 2015

กาแบร์เนต์ โซวีญยง ของ Opus One

คอนชา อี โตโร

บาฮรองเนส ฟิลิปปีนส์ วันเซ็นสัญญากับคอนชา อี โตโร

มอนดาวี - บาฮรองเนส - ท่านบาฮรอง

โรเบิร์ต มอนดาวี

โรเบิร์ต มอนดาวีกับบาฮรอง ฟิลลิป

ส่วนหนึ่งของถังบ่ม Almaviva

ส่วนหนึ่งของถังบ่ม Opus One

ห้องบ่มไวน์

อาณาจักร Opus One

Almaviva 2001

Almaviva 2001

Almaviva 2005

Almaviva 2006

Almaviva 2016ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ข่าวใหญ่ที่สุดในวงการไวน์คือการจับมือกันของ 2 เจ้าพ่อไวน์ตัวจริงเสียงแท้ บาฮรอง ฟิลิปป์ เดอ ร็อธส์ไชลด์ (Baron Philippe de Rothschild) เจ้าของอาณาจักร ชาโต มูตอง ร็อธส์ชิลด์ (Chateau Mouton Rothschild) แห่งฝรั่งเศส กับโรเบิร์ต มอนดาวี (Robert Mondavi) เจ้าพ่อไวน์แคลิฟอร์เนีย เพื่อก่อกำเนิดไวน์ชื่อ “โอพัส วัน” (Opus One)
ประวัติศาสตร์ของ Opus One ไม่ได้เริ่มขึ้นในไร่องุ่น แต่เริ่มบนเกาะฮาวาย ซึ่งโรเบิร์ต มอนดาวี กับบาฮรอง ฟิลลิป บังเอิญได้พบกันเป็นครั้งแรกในปี 1970 ชนแก้วกันเสร็จท่านบาฮรองก็ส่งหมัดแยป ยื่นข้อเสนอให้โรเบิร์ต มอนดาวี มาร่วมลงทุน จริง ๆ แล้วว่ากันว่าเป็นการมองเกมอันเฉียบขาดของท่านบาฮรอง ในฐานะตระกูลนายธนาคารยักษ์ใหญ่ ที่มองเห็นเส้นทางเศรษฐกิจของอเมริกา ไม่รวมกับภริยาใหม่ของท่านที่ชื่อพอลีน แฟร์แฟกซ์ พอตเตอร์ (Pauline Fairfax Potter) ก็เป็นสาวอเมริกัน
ปี 1978 ท่านบาฮรองเชิญ โรเบิร์ต มอนดาวี ให้ไปเยือนอาณาจักรมูตอง ร็อธชิลด์ ในเมืองบอร์กโดซ์ ใช้เวลา 25 นาทีทุกอย่างก็ลงเอยด้วยการถือหุ้น 50-50 ท่านบาฮรองออกทุนและความรู้ในการผลิตไวน์ ส่วนมอนดาวีหาที่ดิน สำนักงานและคนงาน ปี 1979 ลูเซียน ซิองโน (Lucien Sionneau) ไวน์เมกเกอร์คนแรกของชาโต มูตอง ร็อธส์ชิลด์ ถูกส่งไปที่ไร่โรเบิร์ต มอนดาวี แห่งนาปา แวลลีย์ (Napa Valley) เพื่อดูแลการผลิตไวน์วินเทจเเรก
ปี 1980 การร่วมมือของสองเจ้าพ่อเมรัยอมตะ ถูกประกาศออกมาเป็นทางการ สร้างความฮือฮาสะท้านสะเทือนวงการไวน์โลก โดยโรเบิร์ต มอนดาวี ขายไร่องุ่นโต คารอน (To Karon) เนื้อที่ 35 เอเคอร์ (ประมาณ 87.5 ไร่) ในเขตควบคุมโอควิลล์ (Oakville AVA) ให้บริษัทร่วมทุน (ปี 1983 ซื้อไร่เพิ่มที่ Oakville อีก 125 ไร่) ซึ่งขณะนั้นไวน์ยังไม่ได้ตั้งชื่อและยังไม่ได้ออกแบบฉลาก
ครั้งแรกท่านบาฮรองเสนอชื่อ Gemini ….มอนดาวีรีบตีกลับทันทีพร้อมบันทึกแนบท้าย “คงไม่ได้อย่างแน่นอน ท่านอยู่แต่ที่ฝรั่งเศส คงไม่รู้ว่า Gemini เป็นบาร์เกย์ชื่อดังในซาน ฟรานซิสโก”
ท่านบาฮรองเสนออีกครั้งว่า Opus (ภาษาละตินแปลว่า พลังแห่งการทำงาน)….มอนดาวีก็ค้านอีกเล็กน้อยว่า ….ความหมายก็ดีอยู่ แต่มันก็แปลว่าการแสดงดนตรีด้วย ดูไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร…นะขอรับท่าน
ท่านบาฮรองต้องกลับไปทำการบ้านอีกครั้ง …คราวนี้เติมคำว่า One ลงไปด้วยเป็น Opus One ….โรเบิร์ต มอนดาวีปิ๊งทันที
ดังนั้นฉลากของ Opus One จึงเป็นภาพเขียนรูปหน้าของทั้งคู่ สังเกตง่าย ๆ ท่านบาฮรอนหันหน้าไปทางขวามีผมชี้เด่ ส่วนโรเบิร์ต มอนดาวีหันหน้าไปทางซ้าย พร้อมชื่อและลายเซ็นต์ของทั้งคู่
อย่างไรก็ตามเนื่องจากท่านบาฮรองอายุมากแล้ว การเดินทางไม่สะดวกจึงมอบหมายให้ บาฮรองเนส ฟีลิปปีนส์ เดอ ร็อธส์ไชลด์ (Baroness Philippine de Rothschild) ลูกสาวเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์
ปี 1984 Opus One ลอตแรกถูกเปิดบริสุทธิ์สู่ท้องตลาด พร้อมกัน 2 วินเทจคือ 1979 และ 1980 ในราคาขวดละประมาณ 50 เหรียญสหรัฐ ซึ่งในตอนนั้นถือว่าราคาแพงมาก แต่ก็ไม่มีใครปริปากบ่นสักคำ อย่างน้อยกับการมีส่วนได้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของวงการไวน์โลก
ปี 1984 ที่เปิดตัวดังกล่าวซื้อไร่อีกแห่งชื่อบัลเลสเตอร์ (Ballestre) เนื้อที่ 122.5 ไร่ ในโอ๊ควิลล์เช่นกันซึ่งถือว่าเป็นแผ่นดินทองของการปลูกองุ่น ทำให้ Opus One มีไร่องุ่น 3 แห่งเนื้อที่รวมกันราว 335 ไร่ ปลูกองุ่น 5 พันธุ์หลักจากบอร์กโดซ์คือ กาแบร์เนต์ โซวีญยง 84% แมร์โลต์ 6% กาแบร์เนต์ ฟรัง 5% มาลเบค 3% และเปติต์ แวร์กโดซ์ 2% ขณะที่ส่วนผสมของไวน์แต่ละวินเทจจะแตกต่างกัน แต่พันธุ์หลักคือกาแบร์เนต์ โซวีญยง ผลผลิตจากวินเทจแรก 1979 แค่ 12,000 ลัง ปัจจุบันกว่า 30,000 ลัง
กระบวนการผลิตไวน์โดยคร่าว ๆ องุ่นจะถูกเก็บด้วยมือล้วน ๆ แล้วนำไปหมักในถังสแตนเลส 21 – 37 วัน ก่อนจะถ่ายไปบ่มในถังไม้โอ๊คขนาดเล็กจากฝรั่งเศส 18 เดือน สุดท้ายบรรจุขวดและบ่มในขวด อีกประมาณ 18 เดือน ก่อนนำไปออกจำหน่ายให้กับคอไวน์ได้ชิมกัน …กระบวนการเหล่านี้ล้วนมีเหตุและผลอันก่อให้เกิดรสชาติของไวน์
ช่วงแรก Opus One ทำตลาดในอเมริกาเท่านั้น กระทั่งปี 1988 จึงส่งออกไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก เป็นวินเทจ 1985 โดยส่งไปยัง สวิตเซอร์แลนด์อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส เป็นต้น โดยเฉพาะในฝรั่งเศสแรก ๆ ก็ถูกต่อต้านบ้าง ตามสไตล์พวกฝรั่งเศส
นับเป็นเรื่องเสียดายที่ท่านบาฮรองไม่ทันได้ดูความยิ่งใหญ่ของ Opus One เพราะเสียชีวิตในวันที่ 20 มกราคม 1988 ด้วยวัย 86 ทิ้งมรดกให้บาฮรองเนส ฟิลิปปีนส์ ลูกสาว สานต่อความสำเร็จ ซึ่งต่อมาเธอก็เสียชีวิตในปี 2014 ขณะที่โรเบิร์ต มอนดาวี ได้ชื่นชมความสำเร็จก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 16 พฤษภาคม 2008
เท่านั้นยังไม่พอ “บาฮรอง ฟิลิปป์ เดอ ร็อธส์ไชลด์” (Baron Philippe de Rothschild) ผู้มีไอเดียบรรเจิดและกระหายความสำเร็จจากเมรัยอมตะ ยังข้ามทะเล ปีนภูเขา ไปจับมือกับดอน อัลฟองโซ ลาร์เรน (Don Alfonso Larrian) ซึ่งตอนนั้นเป็นประธานของ “คอนชา อี โตโร” (Concha y Toro) เพื่อผลิตไวน์คุณภาพเทียบเท่าไวน์กรองด์ ครู คลาสเซ ของบอร์กโดซ์ (Bordeaux Grand Cru Classé)
ชาโต มูตอง นั้นทุกคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่สำหรับ “คอนชา อี โตโร” ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่านี่คือยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 ไวน์ชิลี เป็นบริษัทไวน์รายแรกที่เข้าตลาดหุ้นที่นิวยอร์ก ผลิตไวน์หลากหลายรุ่น ที่ดัง ๆ เช่นรุ่นท็อป ดอน เมลชอร์ (Don Melchor) และรุ่น “ปราสาทผีสิง” (Casillero del Diablo) ที่เคยเป็นสปอนเซอร์ของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในอังกฤษ เป็นต้น
เมื่อทุกอย่างลงตัว “อัลมาวีวา” (Almaviva) จึงเกิดขึ้นในปี 1996 ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์บอกว่าเป็นความสำเร็จของการผสมผสาน 2 วัฒนธรรม ชิลีมี ดิน สภาพอากาศและไร่องุ่น ขณะที่ฝรั่งเศสนำเทคนิคในการปลูกองุ่นแบบดั้งเดิมและความเชี่ยวชาญเข้ามาเสริมเติมแต่งจนทุกอย่างลงตัว
Almaviva เป็นทั้งชื่อไวน์ โดยนำชื่อมาจาก Count Almaviva วรรณกรรมชื่อดังของฝรั่งเศส และชื่อไร่องุ่นซึ่งอยู่ที่ปูเอนเต อัลโต (Puente Alto) ในไมโป แวลลีย์ (Maipo Valley) ถูกผลิตวินเทจแรกคือ 1998 โดยทำจากองุ่น กาแบร์เนต์ โซวีญยง (Cabernet Sauvignon) และการ์เมแนร์หรือการ์เมเนเร (Carménère) เป็นหลัก บางวินเทจอาจจะมีกาแบร์เนต์ ฟรัง (Cabernet Franc) และแมร์โลต์ (Merlot) ผสมด้วย
ในชิลียังไม่มีการแบ่งเกรดไวน์อย่างเป็นทางการ แต่ “อัลมาวีวา” ถูกจัดอยู่ในระดับชั้น “พริเมอร์ ออร์เดน” (Primer Orden) เป็นภาษาสเปน มีความหมายเทียบเท่ากับ “กรองด์ ครู คลาสเซ” ( Grand Cru Classe) ของฝรั่งเศส หรือเฟิร์ส โกรว์ธ (First Growth) ในภาษาอังกฤษ เป็นไวน์ถูกควบคุมคุณภาพอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกองุ่น และองุ่นต้องมาจากไร่เดียว (Single Bodega ) และเทคนิคการผลิตไวน์ที่ต้องเป็นของตัวเอง สมัยออกมาแรก ๆ ในเมืองไทยแทบจะหาคนที่เคยลิ้มลองน้อยมาก เพราะราคาค่อนข้างสูง ไวน์ชิลีราคา 3 – 4 พันบาทคนไทยไม่ซื้อ ต่อมาแม้จะมีผู้นำเข้าแต่ก็ยังขายลำบาก ประโยชน์จึงไปตกอยู่ที่พ่อค้าไวน์ไม่มีแสตมป์
นับตั้งแต่ผลิตวินเทจแรกในปี 1998 อัลมาวีวา เป็นไวน์ที่คะแนนในระดับสูงเกิน 90 ทั้งสิ้น ตลาดใหญ่อยู่ที่ยุโรปและอเมริกา ในเอเชียสมัยแรก ๆ มีเพียงญี่ปุ่นเท่านั้นที่ขายได้ ปัจจุบันจีนเป็นตลาดใหญ่ เมืองไทยอย่างที่กล่าวในตอนแรก ที่ขายได้ส่วนใหญ่เป็นไวน์หัวโล้น
ล่าสุดผมได้ชิมไวน์อัลมาวีวา 2 วินเทจที่มีอายุห่างกันถึง 15 ปีคือ 2001 และ 2016 ดังนี้
อัลมาวีวา 2001 (Almaviva 2001) : นับเป็นวินเทจที่ 6 นับตั้งแต่ผลิตมา ตัวนี้นิตยสาร Wine Spectator ให้ 95 คะแนน สูงกว่าทุกวินเทจที่มีการผลิตมา และเมื่อนิตยสารดังกล่าวจัดอันดับไวน์ ยอดเยี่ยม 100 ตัว อัลมาวีวาได้อันดับที่ 16 ขณะที่นิตยสาร Wine Advocate ให้ 93 คะแนน โดยส่วนตัวผมให้ 94 คะแนน สีแดงเข้ม หอมผลไม้เปลือกดำสุก ๆ เช่น แบล็คเคอร์แรนท์ แบล็คเบอร์รี และ พลัม มีกลิ่นไอดิน เอิร์ธตี้ สไปซี่เฮิร์บ จันทน์เทศ ชอกโกแลต ซีดาร์ ควันไฟ กล่องซิการ์ แทนนินยังแน่นแต่สุกหอมหวาน จบยาวผลไม้สุกฉ่ำ เฮิร์บชุ่ม ๆ คอ
อัลมาวีวา 2016 (Almaviva 2016) : วินเทจนี้ทำจากกาแบร์เนต์ โซวีญยง (Cabernet Sauvignon) 66 % กาเมเนเร (Carmenère 24% การ์แบร์เนต์ ฟรัง (Cabernet Franc) 8% และเปตีต์ แวร์กโดต์ (Petit Verdot) 2% บ่ม 16 เดือนในถังโอคฝรั่งเศส บรรจุขวดในเดือนธันวาคม 2017 จำนวนผลิต 180,000 ขวด สีแดงเข้มจนเกือบดำพร้อมขอบม่วงนิด ๆ ตามสไตล์ไวน์ใหม่ แน่นอนยังดิบมาก หอมกลิ่นผลไม้เปลือกดำ เช่น แบล็คเบอร์รี แบล็คเคอร์แรนท์ ชอกโกแลต กาแฟ ซีดาร์ ใบยาสูบ สไปซีเฮิร์บ เปปเปอร์ ฟูลบอดี้ แทนนินหนักแน่น แอซสิดสูง จบยาวด้วยผลไม้และสไปซี น่าจะรออีก 5-6 ปีจึงจะเริ่มดื่มได้ และถ้าจะให้อร่อยเต็มที่อาจจะต้องรอถึง 10 ปี
“Making a great wine is easy; it’s just the first 100 years that are difficult.”
บาฮรอง ฟิลิปป์ เดอ ร็อธส์ไชลด์ กล่าวไว้เช่นนั้น.

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...