“ไวน์อิสราเอล” ความยอดเยี่ยมใต้มนต์ดำ

\เขตทำไวน์ของอิสราเอล

คาร์เมน ไวเนอะรี

นิคมผลิตไวน์ยุคไบแซนไทน์ที่ถูกค้นพบ

บารอน เอ็ดมอนด์ เดอ ร็อธส์ไชลด์

บารอน เอ็ดมอนด์ เดอ ร็อธส์ไชลด์ ในธนบัตร

โรงงานทำไวน์ที่ทันสมัย

ไร่องุ่น

ไร่องุ่นที่ผสมผสานกับทะเลทราย

ไวน์โคเชอร์

ไวน์ที่ได้รับรางวัลที่ปารีส

ไวน์บาร์กัน

ไวน์อเล็กซานเดอร์

สปาร์คกลิ้ง ไวน์

ห้องบ่มไวน์เก่าแก่

อุปกรณ์ที่ถูกค้นพบ

2 ไวน์ที่มีชื่อเสียงจากสถานการณ์ การสู้รบครั้งใหม่ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะจบลงตอนไหนและอย่างไร ? จู่ ๆ ช่วงนี้ก็มีผู้สอบถามไวน์อิสราเอลบ่อยขึ้น !!
จริง ๆ แล้วที่ผ่านมาผมเขียนถึงไวน์อิสราเอลค่อนข้างบ่อย แต่เอาละเมื่อมีการสอบถามเข้าก็จะนำมาเสนออีกครั้ง ประกอบกับมีเรื่องราวที่อัพเดท ใหม่กว่าจากที่เคยนำเสนอไปแล้ว
เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะนักโบราณคดีชาวอิสราเอลขุดค้นพบนิคมผลิตไวน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคอาณาจักรไบแซนไทน์ (Byzantine) ที่เมืองยาฟนี (Yavne) ทางใต้ของกรุงเทลอาวีฟ เมืองหลวง โดยบริเวณดังกล่าวเคยเป็นถิ่นที่อาศัยของชาวยิวในยุคนั้นซึ่งนครเยรูซาเล็มถูกทำลายเมื่อประมาณค.ศ.70
นิคมผลิตไวน์แห่งนี้มีขนาดใหญ่กว่า 1 ตารางกิโลเมตร โดยใช้เวลาขุดค้นนานถึง 2 ปี และเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งขุดค้นโบราณตั้งแต่ยุคอาณาจักรเปอร์เซียเรืองอำนาจ หรือเมื่อประมาณ 2,300 ปีมาแล้ว
ซากนิคมผลิตไวน์ที่พบนั้นมีความเก่าแก่กว่า 1,500 ปี ประกอบไปด้วยตั้งแต่โรงเก็บไวน์เพื่อบ่มและนำออกไปจำหน่าย โรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้เป็นภาชนะเก็บไวน์ โดยนักขุดค้นพบเศษเครื่องปั้นจำนวนมาก คาดว่านิคมดังกล่าวสามารถผลิตไวน์องุ่นได้กว่า 2 ล้านลิตรต่อปี
ไวน์ที่ผลิตจากนิคมแห่งนี้เป็นที่รู้กจักกันว่า ไวน์กาซา และไวน์แอชคีลอน เนื่องมาจากท่าเรือที่ส่งออกไวน์ดังกล่าวในยุคนั้น ถือเป็นเครื่องดื่มหรูที่มีราคาสูงและไวน์องุ่นเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากในยุคโบราณ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากน้ำดื่มปนเปื้อน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไวน์อเล็กซานเดอร์ ของอิสราเอลซึ่งตั้งขึ้นในปี 2539 มีไวน์รุ่นแกรนด์ รีเซิร์ฟ (Grand Reserve) วางจำหน่ายตามภัตตาคาร โจเอล โรบูชงในกรุงโตเกียว ในราคาขวดละประมาณ 6,300 บาท ซึ่งทางบริษัทเชื่อว่า เป็นผู้ผลิตไวน์อิสราเอลรายเดียวที่มีวางจำหน่ายในภัตตาคารระดับ 3 ดาวมิชแลง สตาร์
อิสราเอล (Israel) เป็นประเทศในตะวันออกกลางและเอเชียตะวันตกเฉียงใต้บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและชายฝั่งเหนือของทะเลแดง มีพื้นที่ราว 27,800 ตร.กม.จากเหนือถึงใต้มีความยาว 470 กม.สามารถเดินทางด้วยรถยนต์จากเหนือสุดถึงใต้สุดใช้เวลา 9 ชม. จากตะวันตกไปตะวันออก มีความกว้างสุด 135 กม.ใช้เวลา 90 นาที มีประชากรราว 9.4 ล้านคน
อิสราเอล มีสภาพภูมิอากาศ เป็นแบบเมดิเตอร์เรเนียน ลักษณะภูมิประเทศ ค่อนข้างหลากลาย โดยมีทั้งที่ราบชายฝั่งทะเล (ภาคตะวันตก) หุบเขาเทือกเขา (ภาคตะวันออก) และทะเลทราย (ภาคใต้) ทะเลสาบ Deadsea บริเวณภาคใต้ถือว่าเป็นจุดที่อยู่ต่ำสุดของโลก นั่นเป็นเหตุหนึ่งที่เอื้ออำนวยต่อการปลูกองุ่นทำไวน์
อย่างไรก็ตามเมื่ออิสราเอลได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นประเทศเมื่อพ.ศ. 2491 นั้น มีโรงผลิตไวน์ในประเทศเพียง 14 แห่ง ปัจจุบันมีโรงผลิตไวน์น้อยใหญ่กว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ผลิตไวน์รวมกันได้มากกว่า 40 ล้านขวดต่อปี สร้างรายได้ปีละราว 9,100 ล้านบาท ผู้นำเข้ารายใหญ่ได้แก่ สหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส
“อิสราเอล” เป็นแผ่นดินหนึ่งที่พระเจ้าประทานมาให้สำหรับทำไวน์ เพราะสามารถผลิตไวน์คุณภาพดีไม่แพ้ยักษ์ใหญ่แห่งโลกใหม่อย่าง ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ชิลี นิวซีแลนด์ และเซาท์ แอฟริกา บางยี่ห้อ บางรุ่นสามารถพิชิตไวน์โลกเก่าได้
อิสราเอล ผลิตไวน์มาตั้งแต่ยุคไบบลิคัล (Biblical) ซึ่งตอนนั้นอิสราเอลถูกเรียกว่าคานาน (Canaan) และฌูเดีย (Judea) มีหลักฐานว่าผลิตไวน์ก่อนชาติในยุโรปประมาณ 200 ปี สมัย Biblical นั้นไวน์มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยในช่วงต้นคริสตกาล ดินแดนแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการค้าไวน์ที่กระจายไปสู่ฝรั่งเศส อิตาลี และเลบานอน
ศูนย์กลางการผลิตไวน์ของอิสราเอลยุคโบราณอยู่ที่เมืองกิบอน (Gibeon) ประมาณปี 1959-1960 นักโบราณคดีได้ค้นพบเซลลาร์ใต้ดินสำหรับเก็บไวน์ ซึ่งอุณหภูมิประมาณ 20 องศาเซลเซียส พร้อมกับพิสูจน์พบว่า ไวน์ถูกผลิตและเก็บอยู่ในเมืองกิบอนตั้งแต่ 600– 700 C.E.
หลังจากโรมันรุกราน Judea ในช่วง 70 C.E. ไร่องุ่นถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก และเมื่อมุสลิมเข้ามาครอบครองในช่วง 636 C.E. ไวน์ก็กระสานซ่านเซ็นแทบจะสูญหายไปจากดินแดนแห่งนี้ ประกอบกับความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งดึงอิสราเอลเข้าไปเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้อรรถรสน่าตื่นตะลึงเกี่ยวกับไวน์ของอิสราเอลถูกกลบด้วยเสียงอื้ออึงของสงคราม
ที่ผ่านมาอิสราเอลมีชื่อเสียงในการผลิตโคเชอร์ (Kosher) หรือไวน์หวานสำหรับประกอบพิธีกรรม โดยมีลูกค้าเป็นกลุ่มชาวยิวที่กระจายอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลก เป็นสินค้าส่งออกหลัก ปัจจุบันโคเชอร์ก็ยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไวน์ของอิสราเอล
บารอน เอ็ดมอนด์ เดอ ร็อธส์ไชลด์ (Baron Edmond de Rothschild) ต้นตระกูลผู้ผลิตไวน์ชั้นสุดยอด ชาโต ลาฟิต ร็อธส์ชิลด์ (Chateau Lafite Rothschild) และเจ้าของชาโต คลาร์ก เคยพูดไว้ตั้งแต่ปี 1882 ซึ่งเป็นปีที่ท่านเดินทางไปเยือนประเทศอิสราเอลว่าได้พบแผ่นดินทองสำหรับปลูกองุ่นทำไวน์ อยู่ใกล้กับภูเขา คาร์เมล ทางตอนใต้ของเมืองหลวง เทล อาวีฟ จึงตัดสินใจลงทุนก่อตั้ง วินยาร์ดที่ชื่อว่า ริชอน เลอ ซิออน แอนด์ ซิชรอน ยาคอฟ (Rishon Le Zion& Zichon Yaakov) ขึ้นมา
ถือเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของการผลิตไวน์ของอิสราเอล หลังจากนั้นเขาสนับสนุนให้ชาวยิวอพยพปลูกองุ่นทำไวน์ ท่ามกลางดินที่แน่นไปด้วยหิน ทราย และอากาศที่ร้อนระอุ ประกอบกับช่วงนั้นฟีลล็อกซีราทำลายองุ่นในยุโรปจนราบเป็นหน้ากลอง ท่านบาฮรองทำคุณประโยชน์ให้กับวงการไวน์ และรบบเศรษฐกิจของอิสราเอลมากมาย จนรัฐบาลนำรูปของท่านไปพิมพ์ลงในธนบัตร
พันธุ์องุ่นในอิสราเอลล้วนเป็นสายพันธุ์แคลซสิคจากยุโรปทั้งสิ้น โดยกาแบร์กเนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon) นิยมปลูกมากที่สุด และทำไวน์ได้คุณภาพดี ตามด้วยแมร์กโลต์ (Merlot),โซวีญยอง บลอง (Sauvignon Blanc) และชาร์โดเนย์ (Chardonnay) นอกนั้นก็มีปิโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) กาแบร์กเนต์ ฟรอง (Cabernet Franc) โยฮันนิสเบิร์ก รีสลิ่ง (Johannisberg Riesling) เกวืร์ซทรามิเนอร์ (Gewürztraminer) และมุสแคต คาเนลลี (Muscat Canelli)
พันธุ์ใหม่ ๆ ก็มีซีราห์/ชิราซ (Syrah/Shiraz),เปอตีต์ แวร์กโดต์ (Petit Verdot),วีญอเย (Viognier),ซินฟานเดล (Zinfindel),เปตีต์ แวร์กโดต์ (Petite Sirah) และมุสแคต ออฟ อเล็กซานเดรีย ( Muscat of Alexandria) ใช้ทำไวน์หวาน ส่วนเอ็มเมอรัล รีสลิง (Emerald Riesling) เกิดจากการผสมสายพันธุ์ระหว่างโจฮันนิสเบิร์ก รีสลิง (Johannisberg Riesling) กับมุสกาเดลล์ (Muscadelle อิสราเอลสามารถทำได้กว่าแคลิฟอร์เนีย แหล่งกำเนิดเดิมขององุ่นพันธุ์นี้
แหล่งปลูกองุ่นดั้งเดิมของอิสราเอลอยู่ในเขตชารอน แอนด์ ชิมชอน (Sharon & Shimshon) แต่ไวน์คุณภาพดีเยี่ยมมาจากอัปเปอร์ กาลิลี (Upper Galilee),ที่ราบสูงโกลัน (Golan Heights),ฌูดีน ฮิลล์ แอนด์ รามัต อารัด (Judean Hills & Ramat Arad) เนื่องจากบริเวณนี้ดินเป็นดินแดง เทอร์รา รอสซา (Terra Rossa) หินปูน,ดินเหนียวปนทราย และดินภูเขาไฟ มีพื้นที่ปลูกองุ่นรวม 4,000 เฮกตาร์ ทำให้อิสราเอลเป็นหนึ่งประเทศขนาดเล็กที่ผลิตไวน์ได้ยอดเยี่ยม
ในช่วงศตวรรษที่ 20 Carmel เป็นไวน์อิสราเอลรายแรกที่ไปคว้าเหรียญทองจากงาน Paris World’s Fair ที่ประเทศฝรั่งเศส รุ่นที่ได้คือ Carmel No.1 วินเทจ 1900 เป็นสัญญาณว่าไวน์อิสราเอลกลับสู่ความยิ่งใหญ่สว่างสไว หลังถูกความมืดบดบังไปกว่า 2,000 ปี
ปี 1970 Carmel เริ่มผลิตไวน์จากองุ่นพันธุ์แคลซสิคเป็นครั้งแรกของอิสราเอล จากองุ่นกาแบร์กเนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon) และโซวีญยอง บลอง (Sauvignon Blanc) ขณะที่อิสราเอล ไฟน์ ไวน์ที่ผลิตอย่างจริงจังพิถีพิถันตัวแรกคือ Carmel Special Reserve 1976 (วางตลาดปี 1980)
อิสราเอลแม้จะเป็นดินแดนที่พระเจ้าประทานให้ทำไวน์ได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ดูเหมือนกว่ามนต์คำสาปที่ให้พวกเขายังต้องอยู่ภายใต้เงื้อมเงาของสงครามและความขัดแย้งจะยังไม่หมดไป….
ไวน์อิสราเอลถูกนำเข้ามาเมืองไทยอย่างเป็นทางการน่าจะกว่า 30 ปีที่แล้ว บริษัทที่นำเข้าเก่าแก่คือ U&V Intertrade นำเข้ายี่ห้อ “บาร์กัน” (Barkan) หนึ่งในผู้ผลิตไวน์เก่าแก่และไวน์คุณภาพของอิสราเอล โดยผู้นำเข้ามากว่า 20 ปีท่ านที่สนใจลองสอบถามที่ 02 962 0788

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...