Gato Negro 9 Lives

องุ่นที่พร้อมเก็บ

Gato Negro 9 Lives Reserve Cabernet Sauvignon

Gato Negro 9 Lives Reserve Sauvignon Blanc - Copy

Gato Negro 9 Lives Reserve Sauvignon Blanc

Gato Negro

Viña San Pedro

ฉลากที่คนไทยคุ้นเคย

ถ้ำเก็บไวน์ใต้ดิน

ไร่องุ่นสุดลูกหูลูกตา
แมวดำ 9 ชีวิตแห่งชิลี
“….Silver Medal for GatoNegro 9 Lives Reserve Cabernet Sauvignon 2015 in the “Wines of the Year” competition in Finland…”
เป็นข่าวดีและภูมิใจของ “ซาน เปรโด” (San Pedro) ที่ไวน์รุ่น กาโต เนโกร ไนน์ ไลฟซ์ รีเสิร์ฟ กาแบร์เนต์ โซวีญยอง ชิลี 2015 (San Pedro Gato Negro 9 Lives Reserve Cabernet Sauvignon Chile 2015) คว้ารางวัลที่ 2 ได้เหรียญเงินในประเภท “Red Wine Bag in Box” ในงานแข่งขันไวน์ “Wines of the Year” 2017 ครั้งที่ 20 ที่ประเทศฟินแลนด์ สด ๆ ร้อน ๆ เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
การผลิตไวน์เริ่มต้นในชิลีเมื่อประมาณปี 1550 ที่อีทาทา (Itata) ก่อนเคลื่อนสู่ภาคเหนือของประเทศ และเริ่มตื่นตัวอีกครั้งในกลางศตวรรษที่ 19 เมื่อมีการนำพันธุ์องุ่นนานาชนิดจากฝรั่งเศสเข้ามาปลูก ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้คือ นายซิลเวสเตร โอคากาเวีย เอคาซาเรตา (Silvestre Ochagavia Echazarretta) ชาวสเปนเชื้อสายบาสก์ที่อพยพไปอยู่ชิลีครั้งที่ยังเป็นอาณานิคม เดินทางไปดูงานเกษตรที่ฝรั่งเศส ขากลับเขาเชิญผู้เชี่ยวชาญการปลูกองุ่นกลับมาด้วย พร้อมกิ่งพันธุ์องุ่นหลายชนิด
ชิลีเป็นหนึ่งในชาติผลิตไวน์ที่มีองค์ประกอบ “สามเหลี่ยมแห่งความสมบูรณ์ลงตัวของการผลิตไวน์” ซึ่งมีอยู่ในชาติที่ผลิตไวน์ดีของโลก เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี ออสเตรเลีย และแคลิฟอร์เนีย องค์ประกอบ 3 ประการดังกล่าวคือสภาพภูมิอากาศ (Climate) ชั้นดิน (Soil) และพันธุ์องุ่น (Grape Varieties) ทุกอย่างลงตัวมาก
องุ่นสำหรับทำไวน์ในชิลีได้รับการยอมรับว่าเป็นองุ่นที่มีความสมบูรณ์ทั้งสีสัน รสชาติ กลิ่นหอม และคุณลักษณะอื่น ๆ เช่น กาแบร์เนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon) ได้สร้างชื่อเสียงให้กับชิลีเป็นอย่างมาก รวมทั้งการ์เมแนร์ (Carmenere) องุ่นเก่าแก่และในฐานะองุ่นประจำชาติชิลี ขณะที่ซีราห์ (Syrah) และปิโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) ก็เป็นองุ่นสำคัญที่กำลังมาแรงของอุตสาหกรรมไวน์ชิลี ส่วนองุ่นทำไวน์ขาวก็มีชาร์โดห์เนย์ (Chardonnay) โซวีญยอง บลัง (Sauvignon Blanc) วิญอเยร์ (Viognier) เซมิลยอง (Semillon) ปิโนต์ กรีส์ (Pinot Gris) และเกวืร์ซทรามิเนอร์ (Gewurztraminer) เป็นต้น
ชิลีเป็นชาติเดียวในทวีปอเมริกาใต้ที่รอดพ้นจากการกัดกินไร่องุ่นของแมลงฟีลลัคเซอระ (Phylloxera) ซึ่งทำลายล้างไร่องุ่นทั่วยุโรปราวกลางศตวรรษที่ 19 และชิลีก็ใช้จุดนี้ผสมผสานกับฝีมือ เทคโนโลยีทันสมัย และไวน์เมกเกอร์ที่ผ่านการศึกษาจากสถาบันชั้นสูงในศาสตร์แห่งไวน์ทั้งในชิลี อเมริกาและยุโรป ผลิตไวน์จนกระทั่งก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบคุณภาพกับราคาขวดต่อขวด ชิลีทำได้เหนือกว่าชาติใดในโลก
หนึ่งในผู้ผลิตไวน์เก่าแก่ของชิลีต้องมีชื่อของ “วีญา ซาน เปรโด” (Viña San Pedro) หรือ “ซาน เปรโด ไวนะรี” (San Pedro Winery) ซึ่งถือกำเนิดในประเทศชิลีเมื่อปี 1865 หรือเมื่อ 152 ปีที่แล้ว กระทั่งปัจจุบันก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในไวนะรีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของประเทศชิลี จัดอยู่ในทำเนียบผู้ส่งออกไวน์ที่ใหญ่และเก่าแก่ของชิลีด้วย รางวัลใหญ่ล่าสุดที่ได้รับคือ New World Winery of the Year
จริง ๆ แล้วไวน์ในเครือซาน เปรโด มีขายในเมืองไทยหลายรุ่น แต่ที่คุ้น ๆ กันดีคือรุ่น “กาโต เนโกร” (Gato Negro) ที่มีสัญลักษณ์ “แมวดำ” คำว่า Gato คือแมว ส่วน Negro คือดำ เป็นไวน์รุ่นที่ดื่มง่าย ๆ สบาย ๆ ดื่มได้ทุกโอกาส และดื่มกับอาหารได้หลากหลาย คุณภาพสุดคุ้มกับราคา
พื้นที่หลัก ๆ ในการปลูกองุ่น รวมทั้งไวน์เซลลาร์ และถ้ำเก็บไวน์อายุเป็นร้อยปี ของซาน เปรโด อยู่ในเมืองโมลีนา (Molina) ในกูริโก แวลลีย์ (Curicó Valley) ห่างจากกรุงซันติอาโก (Santiago) เมืองหลวงของชิลี ไปทางใต้ประมาณ 200 กิโลเมตร ณ ที่แห่งนี้อาณาจักรไร่องุ่นของซาน เปรโด ครอบคลุมพื้นที่ 1,200 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ = 6 ไร่ 1 งาน) เป็นหนึ่งในไร่องุ่นที่กว้างใหญ่ไพศาลในละติน อเมริกา (Latin America) นอกจากนั้นยังมีไร่อยู่ในพื้นที่อื่น ๆ เช่น เอลคี (Elqui),กาซาบลังกา(Casablanca),ซาน อันโตนีโอ (San Antonio),เลย์ดา (Leyda),ไมโป(Maipo),กาชาปอล (Cachapoal),มูเล (Maule) และบีโอ-บีโอ (Bío-Bío) ส่งไวน์ไปขายในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยนำเข้าโดยบริษัท แอมโบรส ไวน์ จำกัด
ปัจจุบัน Viña San Pedro อยู่ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มบริษัท VSPT Wine Group ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ปลูกองุ่นทำไวน์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของชิลี และเป็นบริษัทส่งออกไวน์เป็นอันดับ 2 ของชิลี ไวน์ที่ผลิตโดย VSPT Wine Group อยู่ใน 2 ประเทศคือชิลี ซึ่งนอกจาก San Pedro แล้วก็ยังมีตาราปากา (Tarapacá),ซานตา เอเลนา (Santa Helena),มิชันส์ เดอ เรนโก (Misiones de Rengo),เลย์ดา (Leyda),วีญามาร์ (Viñamar) และกาซา รีบาส (Casa Rivas) ส่วนอีก 2 ไร่อยู่ในอาร์เจนตินาคือลา เซเลีย (La Celia) และตามารี (Tamarí)
ดังที่กล่าวในตอนแรกไวน์ซาน เปรโด เข้ามาเมืองไทยมานานแล้วหลายรุ่น ที่รุ่นที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และน่าจะเป็นครั้งแรกในบ้านเราที่โรงแรม The Compass Skyview hotel, Bangkok เป็นไวน์ขาวและแดงอย่างละตัว และทั้งคู่เป็นรุ่นรีเสิร์ฟ (Reserve) ใช้ชื่อรุ่นว่า “กาโต เนโกร ไนน์ ไลฟซ์” (Gato Negro 9 Lives) ฉลากใหม่คลาสสิค และยังคงมีแมวดำอยู่ด้วย แต่ฉลากนี้แมวดำอยู่ในเลข 9
ซาน เปรโด “กาโต เนโกร” ไนน์ ไลฟซ์ รีเสิร์ฟ โซวีญยอง บลัง ชิลี 2016 (San Pedro Gato Negro 9 Lives Reserve Sauvginon Blanc Chile 2016) : โซวีญยอง บลัง ของชิลีจากเดิมที่กลิ่นและรสชาติออกเขียว ๆ ทำให้คนไทยไม่ค่อยชอบ ปัจจุบันพัฒนาดีขึ้นมาก และไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด ..สีเลืองอ่อน ๆ ออกไปทางฟางแห้ง แกมเขียวนิด ๆ เป็นไวน์สไตล์รีเฟรชชิ่ง (Refreshing) คือดื่มแล้วสดชื่น กระปรี้กระเปร่า หอมกลิ่นผลไม้ เช่น ซีททรัส เกรฟฟรุต สับปะรด และฝรั่งสุกกรุ่น ๆ ไม่จัดจ้านเหมือนโซวีญยอง บลังทางฝั่งนิวซีแลนด์ พร้อมด้วยดอกไม้ เฮิร์บสด หญ้าเขียว ๆ แอซสิดค่อนข้างสูงแต่สมดุลกับผลไม้ ทำให้ดื่มแล้วสดชื่น จบด้วยผลไม้และมะขามป้อมชุ่ม ๆ คอ
ซาน เปรโด “กาโต เนโกร” ไนน์ ไลฟซ์ รีเสิร์ฟ กาแบร์เนต์ โซวีญยอง ชิลี 2016 (San Pedro Gato Negro 9 Lives Reserve Cabernet Sauvignon Chile 2016) : กาแบร์เนต์ โซวีญยอง จากเขตเซนทรัล แวลลีย์ สีแดงทับทิมสดใส ขอบม่วงเล็กน้อย หอมกลิ่นผลไม้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลไม้เปลือกแดง เช่น เรดเชอร์รี สตรอว์เบอร์รี เรดเบอร์รี และราสพ์เบอร์รี พร้อมด้วยกรีนเปปเปอร์ ใบชา เฮิร์บ วานิลลานิด ๆ แทนนินปานกลางและเนียน ๆ ประกอบกับแอซสิดปานกลาง และมิเดียมบอดี้ ทำให้ไวน์ดื่มง่าย ๆ สบาย ๆ
ความเชื่อของคนไทยแต่เก่าก่อน เชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ที่มี 9 ชีวิต มีนัยว่าแมวนั้นไม่ตายง่าย ๆ ฉะนั้น “กาโต เนโกร ไนน์ ไลฟซ์” (Gato Negro 9 Lives) ก็คือ “แมวดำเก้าชีวิต” แห่งชิลี…!!!

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...