”ไวน์การบินไทย ไม่อร่อย..!!”
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินประโยคนี้
คนที่พูดประโยคนี้มีหลากหลายอารมณ์และความรู้สึก อาจจะเป็นคำถาม ? อาจจะเป็นเสียงบ่น ? อาจจะเป็นเสียงปรารภ ? อาจจะเป็นการด่าเพื่อความสะใจ ? รวมทั้งอาจจะเป็นคนดื่มไวน์เป็น ?
แต่ส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญของ “ไวน์การบินไทย ไม่อร่อย” ก็คือการ “ตั้งความหวังไว้สูง” เหมือนกับหลาย ๆ เรื่องที่เมื่อบินการบินไทยแล้วต้องได้อย่างโน้นอย่างนี้ เรียกว่าแทบจะเรียกร้องตั้งแต่เริ่มจองตั๋ว ซึ่ง…ในความเป็นจริงเป็นไม่ได้ !!
ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาผมได้รับเชิญเป็นคณะกรรมการคัดเลือกไวน์สำหรับเสิร์ฟบนเครื่องการบินไทยอย่างต่อเนื่อง และก็ “ตั้งความหวังไว้สูง” เช่นกันว่าไวน์การบินไทยต้องดีอย่างที่คนในแวดวงไวน์ฝากความหวังเอาไว้ แต่บทสรุปก็เหมือนผู้โดยสารคือ…ในความเป็นจริงเป็นไม่ได้ !!
จุดมุ่งหมายหลักของคณะกรรมการอย่างพวกเราที่เป็นคนไทยล้วน ๆ 4-6 คนมีเพียงอย่างเดียวและตรงกันคือ…ต้องการให้ไวน์ที่เสิร์ฟบนเครื่องการบินไทยมีคุณภาพ…แต่ทุกอย่างก็มาลงตรง “ตั้งความหวังไว้สูง” และ “ในความเป็นจริงเป็นไม่ได้”
ความไม่อร่อยอย่างหนึ่งก็คือส่วนใหญ่ไวน์ที่ส่งเข้ามาคัดเลือกเป็นวินเทจใหม่ ทั้งที่การบินไทยก็กำหนดช่วงของวินเทจไว้แล้ว แต่ครั้งล่าสุดที่ชิมเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ไวน์แดงส่วนใหญ่เป็นวินเทจ 2013-2015 ไวน์ขาวส่วนใหญ่วินเทจ 2015 – 2016 ไวน์พวกนี้โดยเฉพาะไวน์แดงยังไม่พร้อมดื่ม แต่ผู้ส่งก็ต้องส่งมาเพราะวินเทจเก่ากว่านั้นไม่มีในท้องตลาดแล้ว หรือมีก็ไม่พอตามที่การบินไทยกำหนด
ที่ผ่านมากรรมการก็แก้ปัญหาด้วยการคัดเลือกไวน์ตัวที่พร้อมดื่มที่สุด ณ ปีนี้ เพราะสัญญาที่จะส่งไวน์ให้การบินไทยเป็นแบบปีต่อไป แม้บางครั้งจะเจอไวน์ที่คุณภาพดีกว่าแต่ยังดิบมาก ก็จำต้องเลือกตัวรองลงไปเพราะพร้อมดื่มกว่า และนี่ก็เป็นคำตอบของหลายคนที่ชอบถามว่า ทำไมไม่เลือกไวน์ตัวโน้น ตัวนี้ ที่ชื่อชั้นดีกว่า ?
หนึ่งในปัญหาใหญ่ก็คือ “ราคา” ที่ทางการบินไทยกำหนดไว้ใน TOR ต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับชื่อชั้นของไวน์ที่ต้องการ ราคาดังกล่าวไวน์ “กรองด์ กรู คลาสเซ” (Grand Cru Classe) ระดับสูง ๆ ไม่มีเจ้าของคนไหนขายให้ เพราะส่วนใหญ่ขายล่วงหน้าให้กับพ่อค้าคนกลางเรียบร้อยแล้ว และส่วนหนึ่งที่ส่งมาคัดเลือกก็คือพ่อค้าคนกลางนี่เอง จึงไม่แปลกใจว่าทำไมจึงไม่มีไวน์ที่คนไทยคุ้นหน้าคุ้นตา แต่ใช่ว่าไวน์พวกนี้ไม่ดี หลายยี่ห้อคุณภาพเกินราคา และพร้อมดื่มกว่ากรองด์ กรู คลาสเซ
ปีที่แล้วมีเสียงจากทางผู้บริหารว่าทำไมไวน์พวกนี้ไม่มีเรตติ้งหรือคะแนนการชิมจากบรรดาเกจิที่มีชื่อเสียงระดับโลก ผมก็บอกไปว่าไวน์บางตัวพวกเกจิยังไม่ได้ชิมด้วยซ้ำไป เพราะหลายยี่ห้อเพิ่งบรรจุขวดเสร็จ แล้วต้องรีบส่งมาให้ทันก่อนที่จะปิดรับ กรรมการต่างหากที่ได้ชิมก่อน
ผมชิมไวน์กับระดับเกจิไวน์มาแล้วทั่วโลก อยากจะบอกว่าคนไทยมีความสามารถไม่ได้ด้อยไปกว่าฝรั่ง ที่สำคัญก็คือยุคปัจจุบันฝรั่งพวกนี้หลายคนมีผลประโยชน์แอบแฝง ผู้ผลิตหรือพ่อค้าไวน์ที่อยากได้คะแนนสูง ๆ ก็วิ่งเข้าหาพวกนี้ เหยื่อรายใหญ่จึงเป็นพวก…ดื่มไวน์จากตัวเลข
อย่างไรก็ตามสิ่งที่การบินไทยขาดไปก็คือ ความหลากหลายของไวน์ลิสต์ เนื่องจากเสิร์ฟเฉพาะไวน์ฝรั่งเศสชาติเดียวเท่านั้น จริง ๆ สมัยก่อนมีชาติอื่นด้วย แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากผู้โดยสาร ซึ่งส่วนใหญ่คือคนไทยที่ยังฝังหัวอยู่กับไวน์ฝรั่งเศส ดื่มเป็นบ้าง ไม่เป็นบ้าง และไม่เป็นเลย รวมทั้งผู้บริหารบางคนทั้งที่ยังทำงานอยู่และไม่ได้บริหาร เรียกร้องและกดดัน จนฝ่ายที่มีหน้าที่ดูแลต้องทำตาม
ไวน์ฝรั่งเศสดังกล่าว เป็นไวน์ระดับกรองด์ ครูส์ (Grand Crus) หรือน้อง ๆ กรองด์ ครูส์ เสิร์ฟในชั้น First Class และ Business Class ซึ่งสายการบินอื่นอีกเป็นสิบ ๆ สายไม่ได้ใช้ไวน์เกรดพวกนี้ หลาย ๆ สายการบินเสิร์ฟไวน์โลกใหม่ อย่าง ชิลี ออสเตรเลีย แคลิฟอร์เนีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ แต่ผมไม่ค่อยเห็นใครบ่นเรื่องไวน์ของสายการบินอื่น แต่กับการบินไทยบ่นกันจัง จริง ๆ จะบอกให้ว่าการบินไทยซื้อไวน์คุณภาพเกินราคา
ยกตัวอย่างไวน์ลิสต์สักแห่งในชั้นธุรกิจของสายการบิน ANA ที่ผมบินเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หนึ่งในกรรมการคัดเลือกไวน์ก็เป็นเพื่อนผม ไวน์แดง-ขาวของเขาใช้ไวน์ชิลีและนิว ซีแลนด์ ซึ่งขายในซูเปอร์มาร์เก็ตบ้านเราขวดละ 700 -800 บาท ขณะที่การบินไทยเสิร์ฟปุยญี ฟูเม และไวน์ขาวเบอร์กันดีระดับเปรอะมิเยร์ ครู เป็นต้น
อีกอย่างหนึ่งที่ควรปรับปรุงในไวน์ลิสต์ที่มีชื่อว่า “เซลลาร์ อิน เดอะ สกาย” (Cellar in the Sky) คือ “ชื่อผู้ผลิตไวน์” ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญของการทำไวน์ลิสต์ เพราะไวน์ฝรั่งเศสโดยเฉพาะเบิร์กันดี ชื่อผู้ผลิตไวน์ถือเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ เช่น ในลิสต์ของไวน์แดงตัวแรก Cote de Beaune-Villages 2014 Burgundy,France โดย Cote de Beaune-Villages เป็นเขตควบคุมการผลิต ที่มีผู้ผลิตหลายราย ผลิตไวน์คุณภาพแตกต่างกันออกไป ต้องระบุไว้ด้วย เป็นต้น
อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งของปฎิบัติการเพื่อความพึงพอใจสูงสุดของผู้โดยสาร เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในการคัดเลือกไวน์ในปี 2561 นี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยหลังจากคัดเลือกในภาคพื้นดินแล้ว การบินไทยจัดให้มีการชิมทดสอบบนเครื่องบินจริง ๆ เสมือนกรรมการเป็นผู้โดยสายด้วย เพื่อพิสูจน์ว่าบนเครื่องที่มีความหนาแน่นของอากาศน้อยกว่าบนพื้นดิน รสและกลิ่นของไวน์จะเป็นอย่างไร เพื่อจะได้หาวิธีการแก้ไข และเป็นแนวทางของกรรมการด้วยว่าควรจะคัดเลือกไวน์อย่างไร ในสถานการณ์ที่เร่งรีบในการเสิร์ฟไวน์ แทบไม่มีการเปิดให้ไวน์หายใจ (Breathing) ซึ่งหลังจากได้ชิมแล้วปรากฏว่าต่างกันจริง
สิ่งที่น่าสนใจคือในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้รับการบอกเล่าจากหลายฝ่ายว่ามีเสียงตอบรับจากผู้โดยสารว่าไวน์การบินไทยดีขึ้น ขณะที่ฝ่ายที่ดูแลการคัดเลือกบอกว่า ไวน์การบินไทยหมดสต็อก บางล็อตไม่พอ จากที่ผ่านมาเคยเหลือบานเบอะ ต้องนำมาจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ
ในฐานะกรรมการและผู้โดยสารของสายการบินอื่นด้วย กล้ายืนยันว่าไวน์ของการบินไทยชื่อชั้นดีกว่าสายการบินอื่นอีกเป็นสิบสาย แม้กระทั่งสายการบินของประเทศดัง ๆ ในยุโรปที่ผลิตไวน์ระดับแนวหน้าของโลก
ขณะเดียวกันผู้โดยสารก็ควร….”เลิกดื่มไวน์ด้วยสายตา หู และตัวเลข”