“เตนูตา เซตเต ปอนติ” เมื่ออิตาลีพบญี่ปุ่น

Antonio Moretti

Crognolo 2015

Feudo Maccari 2014

Grisoglia Passito 2012

Oreno 2013

Stefano Maggini

Tenuta Sette Ponti

Vigna di Pallino 2014

แกะที่เสิร์ฟกับ Crognolo

ซูชิและซาชิมิ

ที่มาของชื่อ Tenuta Sette Ponti

ปลาแบล็ค คอด

มุมหนึ่งของร้านซูมา กรุงเทพฯ

ไร่ Feudo Maccari ที่ซิซิลี

ส่วนหนึ่งของถังบ่มไวน์ “ไวน์อิตาลี ต้องกินกับอาหารอิตาลี”
คนอิตาเลียนมีความเชื่ออย่างนั้นมาโดยตลอด และจะไม่ยอมทำอะไรที่นอกเหนือไปจากนี้ ดั้งนั้นเมื่อมีการจับคู่ไวน์อิตาลี จะไม่มีอาหารชาติอื่น
อย่างไรก็ตามโลกยุคนี้เปลี่ยนไปเรื่องของไวน์และอาหารอะไรก็เกิดขึ้นได้
เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัท G4 ผู้นำเข้าไวน์อิตาลีรายใหญ่ในเมืองไทย จัดงานไวน์ดินเนอร์ ด้วยการนำไวน์ “เตนูตา เซตเต ปอนติ” (Tenuta Sette Ponti) ไวน์อิตาลีชื่อดังหลายรุ่นมาจับคู่กับอาหารญี่ปุ่นชื่อดังเช่นกันนั่นคือร้านซูมา กรุงเทพฯ (Zuma Bangkok) ซึ่งเป็นอาหารญี่ปุ่นร่วมสมัย ปรากฏว่าเข้ากันได้อย่างยอดเยี่ยม ราวกับหนุ่มอิตาเลียนหล่อเหลาเกี่ยวก้อยสาวงามเซ็กซี่ญี่ปุ่น โดยไวน์ดังกล่าวมีดังนี้
ฟีอูโด มักการี แตร์เร ซิซิลีอาเน ไอจีพี กริลโล 2014 (Feudo Maccari Terre Siciliane IGP Grillo 2014) : ไวน์ขาวจากเกาะซิซิลี โดยนายสเตฟาโน มักกีนี (Stefano Maggini) ผจก.ฝ่ายส่งออกของ Tenuta Sette Ponti ที่เดินทางมาร่วมงานด้วยบอกผมว่า Feudo Maccari เป็นไร่ที่ถูกซื้อมาตั้งแต่ปี 2000 อยู่ในเขตโนโต (Noto) ทำจากองุ่นกริลโล องุ่นเขียวที่ปรกติใช้ทำมาร์ซาลา (Marsala) ฟอร์ติไฟด์ไวน์ชื่อดังของเกาะซิซิลี สีเหลืองทองค่อนข้างเข้ม หอมกลิ่นแอปเปิ้ล สับปะรด แอปริคอต ดอกไม้ กลิ่นอายของเถ้าถ่านดินภูเขาไฟ ที่สำคัญมีไอโอดีนและเค็มนิด ๆ และความเค็มตรงนี้เองที่ช่วยตัดความซาบซ่านของวาซาบิที่เขาเสิร์ฟมาพร้อมกับชูชิและซาชิมิได้ลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ
เตนูตา เซตเต ปอนติ วีญา ดี ปัลลิโน เคียนติ รีแซร์วา ดีโอซีจี 2014 (Tenuta Sette Ponti Vigna di Pallino Chianti Riserva DOCG 2014) : ทำจากซานโจเวเซ (Sangiovese) 100% จากไร่ Vigna di Pallino บ่มในถังโอค 1 ปีและในขวดอีก 6 เดือน สีแดงสดใส หอมกลิ่นผลไม้และสไปซี เช่น เรดเบอร์รี ราสพ์เบอร์รี แบล็คเชอร์รี พริกหยวก เฮิร์บแห้ง ๆ มีเดียมบอดี้ แทนนินปานกลางและเริ่มนุ่ม จบยาวด้วยผลไม้และเฮิร์บชุ่ม ๆ คอ ตัวนี้ก็เซอร์ไพรซ์ เพราะเขาเสิร์ฟกับปลาแบล็ค คอด เข้ากันได้ยอดเยี่ยม
เตนูตา เซตเต ปอนติ “กรอโญโล” ตอสกานา ไอจีที 2015 (Tenuta Sette Ponti “Crognolo” Toscana IGT 2015) : อีกรุ่นหนึ่งอร่อยของเจ้านี้ ทำจากซานโจเวเซ (Sangiovese) 90% และแมร์โลต์ (Merlot) 10% จากไร่ที่เต็มไปด้วยกาเลสโตร (Galestro) ซึ่งเป็นดินเอกลักษณ์พิเศษของทัสกานี ลักษณะโดยรวมเป็นดินเหนียวและดินปนทราย มีส่วนผสมของแคลเซียมคาร์บอเนตและ หินปูน (Limestone) บ่ม 14 เดือนในถังโอคฝรั่งเศส (French Allier Barriques) และ บ่มต่อ 5-6 เดือนในขวด
สีแดงทับทิมเข้มสดใส กลิ่นหอมผลไม้ที่โดดเด่นคือ แบล็คเชอร์รี และแบล็คเบอร์รี มีราสพ์เบอร์รีกรุ่น ๆ พลัมนิดหน่อย เชสนัท ชอกโกแลต เปลือกหอย สไปซี เฮิร์บ จันทร์เทศ อบเชย ยาสูบ หนังสัตว์ ควันไฟกรุ่น ๆ แทนนินค่อนข้างหนักแน่นแต่ดื่มแล้วราบรื่น แอซสิดค่อนข้างสูงตามสไตล์ของซานโจเวเซ แต่ก็ทำให้ดื่มแล้วสดชื่น จบยาวด้วยเอิร์ธตี้ ผลไม้และสไปซี เฮิร์บชุ่ม ๆ คอ เป็นไวน์ที่ฟูล บอดี้แต่ดื่มง่าย ๆ สบาย ๆ ยังไม่เปิดตัวเท่าใดนัก แต่ก็พอจะเริ่มดื่มได้ในปีนี้เป็นต้นไป ถ้าจะให้ดีรออีกสัก 3-4 ปีจะอร่อยกว่านี้ ตัวนี้เสิร์ฟกับแกะ
เตนูตา เซตเต ปอนติ “โอเรโน” ตอสกานา ไอจีที 2013 (Tenuta Sette Ponti “Oreno” Toscana IGT 2013) : ไวน์ซูเปอร์ ทุสกัน (Super Tuscan) อีกตัวหนึ่งที่ไม่องุ่นอิตาลีเป็นส่วนผสมเลย เพราะทำจากองุ่นสายพันธุ์คลาสสิคของบอร์กโดซ์ล้วน ๆ และเป็นไวน์พระเอกของ Tenuta Sette Ponti ทำจากแมร์โลต์ (Merlot) 50%,กาแบร์เนต์ โซวีญยง (Cabernet Sauvignon) 40% และเปตีต์ แวร์กโดต์ (Petit Verdot) 10% จากไร่ที่แตร์ฮรัวร์เป็นกาเลสโตร (Galestro) หลังจากผ่านกระบวนการหมักแล้วนำไปบ่ม 18 เดือนในถังโอคฝรั่งเศสใหม่ 100 % และปล่อยให้นอนนิ่ง ๆ อยู่ในขวดอีก 12 เดือน
สีแดงสดใส ดมครั้งแรกได้กลิ่น แบล็คเบอร์รีและสไปซี ตามด้วยพลัม แบล็คเคอร์แรนท์ และราสพ์เบอร์รี มิเนอรัล ชอกโกแลต ครีมมี สไปซี ยี่หร่า โอคหนักแน่นแต่เริ่มหอมหวาน แทนนินหนักแน่น แอซสิดยังค่อนข้างสูง บอดี้หนักแน่น จบยาวด้วยสไปซี และผลไม้ ยังไม่เปิดตัวเท่าใดนัก น่าจะอีกประมาณ 5-6 ปี เป็นอย่างน้อย แต่ปีนี้ก็เริ่มดื่มได้ ตัวนี้จับคู่กับริบ อาย สเต็ก
เตนูตา เซตเต ปอนติ ปอนติ กรีโซกายา ปาสซิโต ทอสกานา ไอจีที 2012 (Tenuta Sette Ponti Grisoglia Passito Toscan IGT 2012) : Passito เป็นไวน์ขาวหวานสุดคลาสสิคของแคว้นทากานี ทำด้วยกรรมวิธีที่เรียกว่าอัปปาสซิเมนโต (Appassimento) คือวางองุ่นบนภาชนะที่ทำจากฟางแล้วปล่อยให้ลมพัดผ่านจนองุ่นเหี่ยวน้ำละเหยไปจนเหลือแต่น้ำตาล แล้วนำไปบีบน้ำทำไวน์ สมัยก่อนจึงเรียกว่าสตรอว์ ไวน์หรือเรซินไวน์ (Straw wine / Raisin wine) ปัจจุบันมีการใช้วัสดุอื่นแทนฟาง โดยตัวนี้ทำจากองุ่นมาลเวเซีย (Malvasia) และเตรบบิอาโน (Trebbiano) สีเหลืองทองแกมบราวน์นิด ๆ หอมกลิ่นผลไม้สุกฉ่ำ ๆ เช่น ลูกเกด แอปริคอต เบอร์รี และราสพ์เบอร์รี น้ำผึ้งกรุ่น ๆ มิเนอรัล สไปซี่นิด ๆ แอซสิดกำลังดีดื่มแล้วไม่เลี่ยน
“เตนูตา เซตเต ปอนติ” (Tenuta Sette Ponti) เป็นหนึ่งในผู้ผลิตไวน์ “ซูเปอร์ ทัสกัน” หรือ “ซูเปอร์ ทุสกัน” (Super Tuscan) ระดับคุณภาพเจ้าหนึ่งในทัสคานี ตั้งอยู่ใจกลางของเคียนติ (Chianti) ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์แห่งการทำไวน์ของแคว้นทัสคานี (Tuscany) เจ้าของคือตระกูลมอเรตติ (Moretti) หลังจาก อัลแบร์โต มอเรตติ (Alberto Moretti) ซื้อพื้นที่ 50 เฮกแตร์ มาจากเจ้าหญิง Margherita และ Maria Cristina Savoia d’Aosta ในปี 1950
ส่วนชื่อของ Tenuta Sette Ponti นำมาจากจำนวนความโค้งของสะพานข้ามแม่น้ำอาร์โน (Arno) ที่เชื่อมอาเรซโซ (Arezzo) กับฟลอเรนซ์ (Florence) ประกอบด้วย 7 โค้งสะพาน โดยโค้งแรกมีชื่อว่า The Buriano Bridge ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ที่สำคัญก็คือสะพานนี้เป็นแบล็คกราวด์ด้านหลังภาพโมนา ลิซา ที่โด่งดังของดา วินชี เป็นความลงตัวของแฟชั่น ไวน์และศิลปะ
Tenuta Sette Ponti มีพื้นที่ปลูกองุ่น 330 เฮกแตร์ (1 เฮกตาร์ = 6 ไร่ 1 งาน) จาก 4 พื้นที่ ไร่เก่าแก่ที่สุดชื่อ Vigna dell’Impero หมายถึง Vineyard of the Empire ขนาด 3 เฮกแตร์ ปลูกองุ่นมาตั้งแต่ปี 1935 โดย Vittorio Emanuele of Savoy : His Royal Highness the Count of Turin ส่วนใหญ่เป็นซานโจเวเซ กระบวนการทุกอย่างทำด้วยมือ ผลิตไวน์ออกสู่ท้องตลาดครั้งแรกคือรุ่น Crognolo วินเทจ 1998
ผู้บริหารในปัจจุบันคืออันโตนิโอ มอเรตติ (Antonio Moretti) จบมหาวิทยาลัยซิเอนา (Siena University) สาขาเศรษฐศาสตร์และการธนาคาร ทำธุรกิจครั้งแรกด้วยการเปิดร้านเสื้อผ้าเครื่องประดับ ที่ขยายเชนไปทั่วอิตาลี ก่อนจะได้ครอบครอง Arfango แบรนด์เครื่องหนังระดับคุณภาพ และ Bonora รองเท้าแฮนด์เมดชื่อดัง ตามด้วยเป็นหุ้นส่วนใน Patrizio Bertelli ซึ่งอยู่กลุ่ม Prada
Antonio Moretti รับช่วงการทำไวน์ Tenuta Sette Ponti จากพ่อของเขา และทำอย่างจริงจังมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาการทำไวน์ เช่น Gilbert Bouvet หนึ่งในยอดฝีมือในการปลูกองุ่นทำไวน์ของฝรั่งเศส และ Dr.Benedetto d’Anna ดูแลเรื่องการเตรียมพื้นดินสำหรับปลูกองุ่นรุ่นใหม่ ๆ และระบบระบายน้ำให้สมดุลกับธรรมชาติและดิน เป็นต้น
ปี 1999 จึงซื้อไร่แห่งที่ 2 พื้นที่ 115 เอเคอร์ ชื่อ Azienda Agricola Le Fornace ใน Maremma ซึ่งอยู่ชายขอบด้านใต้ของแคว้นทัสกานี ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ DOC ภายใต้ชื่อ Azienda Agricola Poggio al Lupo หรือ “Hill of the Wolf” ปลูกองุ่นซานโจเวเซ (Sangiovese) 40% กาแบร์เนต์ โซวีญยง (Cabernet Sauvignon) 35% นอกนั้นก็มีอลิกันเต (Alicante) และเปติต์ แวร์กโดต์ (Petit Verdot) ปี 2000 ซื้อไร่ที่ 3 ในเขตโนโต (Noto) ขนาด 250 เอเคอร์บนเกาะซิซิลี และตั้งชื่อว่าฟีอูโด มักการี (Feudo Maccari) ที่มีการเสิร์ฟในวันนี้นั่นเอง
“เตนูตา เซตเต ปอนติ” (Tenuta Sette Ponti) เป็นหนึ่งในไวน์ที่มีเสน่ห์ ชวนให้ค้นหา

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...