“ชาโต มูตง ร็อธชิลด์ (Château Mouton Rothschild) เป็นน้องใหม่ในจำนวน 5 เสือของการจัดชั้นบอร์กโดซ์ 1855 (Bordeaux 1855 classification) เพราะก้าวขึ้นมาในปี 1973 หรือ 118 ปีนับแต่การจัดเกรด แต่เชื่อหรือไม่ว่าชาโต มูตง ร็อธชิลด์ เป็นชาโตเดียวเท่านั้นที่ครอบครัวผู้ก่อตั้งยังเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวจนถึงปัจจุบัน นับแต่การจัดชั้นดังกล่าวเป็นต้นมา นั่นคือตระกูล “ร็อธไชลด์” (Rothschild) ที่อีก 4 เสือ ถ้าไม่เปลี่ยนมือก็มีคนอื่นเข้ามาหุ้นด้วย…”
นั่นคือหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ “ชาโต มูตง ร็อธชิลด์” ยิ่งใหญ่
ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ อยู่ในหมู่บ้านปูญาค อ.เมด็อก เมืองบอร์กโดซ์ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 50 กม. มีพื้นที่ในการปลูกองุ่น 203 เอเคอร์ ปลูกองุ่น 4 พันธุ์หลักคือกาแบร์เนต์ โซวีญยง (Cabernet Sauvignon) 77%,แมร์โลต์ (Merlot) 11%,กาแบร์เนต์ ฟรัง (Cabernet Franc) 10%,และเปติต์ แวร์กโดต์ (Petit Verdot) 2 %
ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ กำเนิดในศตวรรษที่ 14 เดิมชื่อ ชาโต บราน-มูตง (Chateau Brane-Mouton) และบาฮรอง นาธาเนียล เดอ ร็อธส์ไชลด์ (Baron Nathaniel de Rothschid) มหาเศรษฐี 1 ใน 10 ของฝรั่งเศส ได้ซื้อชาโตแห่งนี้ในปี 1853 และเปลี่ยนเป็นชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ ตามตระกูล “ร็อธส์ไชลด์” (Rothschid) ของตัวเอง
ปี 1855 ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ ได้รับการประกาศให้เป็นกรองด์ ครูส์ชั้น 2 ตาม ”บัญชีเมด็อก 1855” (Bordeaux Classification of the Medoc 1855) กระทั่งยุคของบาฮรอง ฟีลีป เดอ ร็อธส์ไชลด์ (Baron Philippe de Rothschild) หลานปู่ของบาฮรอง นาธาเนียล ต้องใช้เวลาพิสูจน์ต่อสู้ถึง 118 ปี ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ จึงได้รับการเลื่อนชั้นขึ้นมาชั้น 1 ในปี 1973
บาฮรอง ฟีลีป เดอ ร็อธส์ไชลด์ เป็นตำนานหน้าหนึ่งของชาโต มูตง ร็อธชิลด์ จากเด็กหนุ่มที่ชอบการแข่งรถ ชอบศิลปะ และโรงละครยุคใหม่ ต้องมารับหน้าที่ใหญ่ในวัยเพียง 20 ปี เรื่องราวที่เป็น “ที่ 1 “ เกิดขึ้นในสมัยท่านบาฮรอง อย่างน้อยก็ 2-3 อย่าง นอกจากได้รับการเลื่อนชั้นในปี 1973 ดังกล่าวแล้ว ท่านยังเป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “Mis en bouteille au chateau” ลงบนฉลากข้างขวด แปลว่า “บรรจุขวดที่ชาโต” เพื่อยืนยันว่า “ไวน์ขวดนี้ถูกบรรจุในที่เดียวกับแหล่งผลิต” ไม่ใช่ถูกบรรจุในโกดังของพ่อค้าไวน์ อีกอย่างหนึ่งคือการระบุ “จำนวนขวด” ลงในฉลากทั้งขวดปกติ ขนาดครึ่งของขวดปกติ และขนาดแม็กนั่ม ที่ผลิตได้ในแต่ละวินเทจ
สิ่งที่ทำให้โลกรู้จักชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ ก็คือ “ฉลากศิลปะ” (Artist Label) ที่ท่านบาฮรอง เชิญศิลปินมาออกแบบฉลาก ที่เริ่มเอาจริงเอาจังตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา เพราะท่านชอบงานศิลปะ ศิลปินดังกล่าวค่าตัวระดับร้อยล้านพันล้าน ได้ค่าตอบแทนเป็นไวน์วินเทจที่ออกแบบ 5 ลัง และเลือกอีก 5 ลังจากเซลลาร์ไวน์ของชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ แต่ทุกคนก็พอใจ
หลังจากท่านเสียชีวิต หน้าที่จึงตกมาอยู่กับลูกสาวคือ “บาฮรอเนสส์ ฟีลีปปีน เดอ ร็อธไชลด์” (Baroness Philippine de Rothschild) หนึ่งในตำนานหญิงเหล็กในวงการไวน์บอร์กโดซ์ และทำให้ไวน์ของครอบครัวมีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้พ่อ
หลังการเสียชีวิตของบาฮรอเนสส์ ในปี 2014 หน้าที่การสรรหาศิลปินรับเชิญเพื่อออกแบบฉลากชาโต มูตง ร็อธชีลด์ ก็ตกอยู่ในความรับผิดชอบของ “ฌูเลียง เดอ บัวมาไชส์ เดอ ร็อธชิลด์” (Julien de Beaumarchais de Rothschild) ลูกชายคนสุดท้องของท่านบาฮรอเนสส์ และศิลปินที่ได้รับเกียรติออกแบบชาโต มูตง ฉลากแรกภายใต้การบริหารของเขาคือ “แกร์ฮาร์ด ริชเตอร์” (Gerhard Richter) ชาวเยอรมัน เป็นฉลากของวินเทจ 2015 ซึ่งเป็นหนึ่งในวินเทจคลาสสิค โดยเขาตั้งชื่อภาพว่า ‘Flux’ ความหมายก็คือ Understand something around the concept of ‘flow’ และล่าสุดคือวินเทจ 2016 ออกแบบโดย “วิลเลียม เคนทริดจ์” (William Kentridge) ชาวเซาท์ แอฟริกา ฉลากถูกเผยโฉมเมื่อต้นปีนี้ แต่ไวน์ยังบ่มอยู่ในถังโอค
สำหรับผู้บริหารชาโต มูตง ร็อธชิลด์ ปัจจุบันคือ 3 พี่น้องลูกของลูกชายคนสุดท้องของท่านบาฮรอเนสส์ ประกอบด้วย Philippe Sereys de Rothschild พี่ชายคนโตเป็นประธาน ตามด้วย Camille Sereys de Rothschild และ Julien de Beaumarchais de Rothschild
Premier ne puis, second ne daigne, Mouton suis.
“First,I cannot be. Second, I do not deign to be. Mouton I am.”
ข้อความที่บาฮรอง ฟีลีป เดอ ร็อธส์ไชลด์ ให้เขียนไว้ในฉลากข้างขวดชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์…จะมีสิ่งใดมาเปลี่ยมูตงได้ ??