ใครที่เคยได้รับเชิญจากชาวฝรั่งเศสไปดินเนอร์มื้อสำคัญหรือมื้อที่เป็นทางการ จะเห็นว่าคนฝรั่งเศสให้ความสำคัญสำหรับมื้ออาหาร ตั้งแต่เรียกน้ำย่อยไปจนกระทั่งคอร์สสุดท้าย
โดยเฉพาะการเรียกน้ำย่อยแบบฝรั่งเศส (French Apéritif) มีความสำคัญไม่แพ้รายการอื่น เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่จะได้ต้อนรับแขก เป็นการแสดงให้เห็นว่าเจ้าของบ้านยินดีที่ได้พบแขกอีก ขณะเดียวกันก็เป็นการรอแขกที่ยังเดินทางมาไม่ถึง จะมีการเสิร์ฟเครื่องดื่มและอาหารเบา ๆ เรียกน้ำย่อย พร้อมกับใช้โอกาสนี้แนะนำแขกที่ยังไม่รู้จักกัน อาหารเรียกน้ำย่อยเรียกว่า แอปเปอร์ไทเซอร์ ( Appetizer) ส่วนเครื่องดื่มเรียกว่า “อาเปริตีฟ” (Apéritif)
Apéritif เป็นคำฝรั่งเศส มาจากคำลาติน “Aperire” แปลว่า “เปิด” (To Open) หมายถึงการเปิดหรือเริ่มมื้ออาหาร ก่อนจะถึงอาหารมื้อใหญ่ อาจจะเสิร์ฟกับอาหารเบา ๆ เช่น มะกอก ชีส ขนมปังกรอบ ฯลฯ ขณะที่คำแสลงในภาษาฝรั่งเศสของ Apéritif คือ “อาเปโฮร”(Apéro) หมายถึงอาหารที่กินในตอนบ่ายแก่ หรือก่อนมื้อค่ำ
Apéritif ปรากฏครั้งแรกในปี 1796 ที่เมืองตูรินหรือโตริโน (Turin / Torino) เมืองหลวงของแคว้นเพียดมอนต์ (Piedmont) แหล่งผลิตไวน์ชั้นเยี่ยมของประเทศอิตาลีเมื่อ อันโตนิโอ เบเนเดตโต คาร์ปาโน (Antonio Benedetto Carpano) ค้นพบแวร์มุธ (Vermouth) โดยใช้ไวน์ขาว เติมด้วยสมุนไพร และเครื่องเทศที่สไปซี่ กว่า 30 ชนิด ก่อนจะถูกผลิตออกมาขายในอีกทศวรรษต่อมาภายใต้ชื่อมาร์ตินี (Martini) ชินซาโน (Cinzano) รอสซี (Martini & Rossi) คัมปารี (Campari) และกันชิอา (Gancia) ฯลฯ แต่ Apéritif มาได้รับความนิยมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เริ่มจากในยุโรป และในช่วงทศวรรษ 1900 ก็ได้รับความนิยมในสหรัฐด้วย
ขณะที่บางตำราบอกว่า Apéritifs ก่อกำเนิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 5 หลังจากที่ Diadochos แห่ง Photiki นักบวชในศาสนาคริสต์ กล่าวว่า “People who wish to discipline the sexual organs should avoid drinking those artificial concoctions which are called ‘aperitifs’—presumably because they open a way to the stomach for the vast meal which is to follow.”
Apéritif ถูกแนะนำในฝรั่งเศสในช่วงปี 1846 หลังจากที่โจเซฟ ดูบงเนต์ (Joseph Dubonnet) เภสัชกรชาวฝรั่งเศส สร้างสรรค์เครื่องดื่มที่มีไวน์เป็นเบสแล้วใส่สมุนไพร เครื่องเทศต่าง ๆ โดยมีส่วนผสมของควินิน (Guinine) ที่ใช้สำหรับต่อต้านโรคมาเลเรียเป็นหลัก จากนั้นนำไปกลั่น ก่อนจะมีการเพิ่มเติมเฮิร์บและเครื่องเทศอีกบางอย่างลงไป เพื่อลดความขมจัดจ้านของควินิน และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน มีเรื่องเล่าว่าทหารกองกำลังผสมของฝรั่งเศสที่ไปรบในแอฟริกาตอนเหนือเคยใช้ดูบงเนต์ทากันยุงด้วย ขณะที่ผู้หญิงดื่มแล้วช่วยในการบำรุงเลือดลม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบำรุงเลือดในช่วงที่มีประจำเดือน
กล่าวเฉพาะในฝรั่งเศสมีเครื่องดื่มประเภท Apéritif มากมายขึ้นอยู่กับภูมิภาค (Region) เช่นปาสตีส์ (Pastis) ที่มีชะเอมเทศ ( Anise) เป็นส่วนผสมหลักนิยมทางตอนใต้ของประเทศ ขณะที่กาลวาดอส์ (Calvados) ที่ทำจากแอปเปิ้ลนิยมในแคว้นนอร์มังดี (Normandy) ทางเหนือของประเทศ ส่วนในแคว้นอัลซาส (Alsace) ทางอีสานของฝรั่งเศสนิยมดื่มสปาร์คกลิ้งที่ชื่อเกรมองต์ ดัลซาส (Crémant d’Alsace) นอกนั้นยังมีหลายอย่าง เช่น ชอมปาญ (Champagne),คอนยัก (Cognac),อาร์มาญยัก (Armagnac),เคียร์ (Kir),ไวน์ขาว,ไวน์แดง ฯลฯ
อย่างไรก็ตามมีอีกหนึ่ง Apéritif ฝรั่งเศสซึ่งน่าจะเป็นของใหม่ในเมืองไทย เพราะเพิ่งมีการนำเข้าและเปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว ขณะที่ถิ่นฐานแหล่งกำเนิดในฝรั่งเศสก็น่าสนใจเพราะไม่ได้อยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่แต่เป็นเกาะ นั่นคือ “แพมเพลล์” (Pampelle) จากเกาะคอร์ซิการ์ (Corsica) ซึ่งแม้จะเป็นของฝรั่งเศสแต่ก็มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอะไรหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวเนื่องกับอิตาลี จนมีผู้กล่าวว่า “คอร์ซิกา เกาะที่เป็นฝรั่งเศสโดยสัญชาติ เป็นอิตาลีโดยมรดกสืบทอด และเป็นอิสระโดยสำนึก”
“แพมเพลล์” (Pampelle) เป็นวัฒนธรรมการดื่มที่แพร่หลายมากที่สุดในประเทศฝรั่งเศส และอิตาลี โดยมีพื้นฐานวัตถุดิบหลักคือไวน์ขาว สมุนไพร และเครื่องเทศ เป็นเครื่องดื่มเก่าแก่จัดอยู่ในประเภทฟอร์ติไฟด์ ไวน์ (Fortified Wine) แต่แพมเพลล์เพิ่มความพิเศษและถือเป็นเอกลักษณ์ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์คือ มีส่วนผสมของเกรปฟรุ๊ต (Grapfruit) แถมยังเป็นเกรปฟรุ๊ต ออร์แกนิกส์ ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี และมีสีแดงทับทิม เป็นสปิริตที่มีสีสันสดใส ผสมกับรสขมที่ลงตัว ดื่มแล้วไม่รู้เบื่อ
เกรฟฟรุ๊ตนี้จะถูกกลั่นอย่างพิถีพิถันที่ในโรงกลั่นตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชาฮรองต์ (Charente) ในเมืองคอนยัก (Cognac) แหล่งกลั่นบรั่นดีชื่อดังทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส นอกจากเกรฟฟรุ๊ตที่เป็นวัตถุดิบสำคัญยิ่งแล้ว ยังมีผลไม้และพฤกษศาสตร์จากทั่วโลก เช่น ส้มยูซุ (Yuzu) จากญี่ปุ่น ส้มเซดรัต (Cedrat) หรือส้มโอมือจากฝรั่งเศส ส้ม Bigarade จากเฮติคล้าย ๆ ส้มซ่าของไทยมีรสขมนิด ๆ ตามด้วยควินิน ดอกเจนเทียน บิตเตอร์ (Gentian Bitters) และที่ขาดไม่ได้คือโอ เดอ วี (Eau de vie) เหล้ากลั่นจากองุ่น เป็นต้น เมื่อทุกอย่างลงตัวจึงบรรจุขวด พร้อมประทับตราของ Damselfly ถือเป็นผลิตภัณฑ์พื้นเมืองที่ได้รับการอนุรักษ์
คอร์ซิกา (Corsica) ที่คนฝรั่งเศสเรียกว่า กอร์ส (Corse) เป็น 1 ในแคว้น 18 แคว้นของประเทศฝรั่งเศส เป็นเกาะที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (รองจากเกาะซิซิลี ซาร์ดิเนีย และไซปรัส) ตั้งอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทางทิศตะวันตกของประเทศอิตาลี ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส และทิศเหนือของซาร์ดิเนีย มีทะเลลีกูเรียน (Ligurian) กั้นกลางระหว่างแผ่นดินใหญ่
ผมไปคอร์ซิกา 3 ครั้งครั้งล่าสุดบินจากเมืองนิช (Nice) ไปลงที่สนามบินบาสเตีย (Bastia) ทางเหนือของเกาะใช้เวลาประมาณ 1 ชม.นิด ๆ ไม่ได้ลงที่สนามบินเมืองอาแฌกซิโอ (Ajaccio) ที่เป็นเมืองหลักของเกาะ เมืองหลวงเก่าชื่อกอร์เต (Corte) อยู่กลาง ๆ เกาะค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย
สนามบินบาสเตียนั้นโด่งดังมากเมื่อประมาณ 2 – 3 ปีที่แล้วมีการยิงหัวหน้าแก๊งมาเฟียตายที่นี่ บนเกาะนี้ยังมีการเมืองค่อนข้างแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามในการเป็นอิสระจากฝรั่งเศส คนบนเกาะคอร์ซิกานั้นพูด 3 ภาษาคือฝรั่งเศส อิตาลี และภาษาคอร์ซิกาดั้งเดิม ซึ่งฟังยากมาก ส่วนใหญ่คนพื้นเมืองจะพูดภาษาคอร์ซิกา
ส่วนครั้งแรกผมไปด้วยเรือ SNCM จากเมืองมาร์กเซย์ (Marseilles) ทางใต้ของฝรั่งเศสซึ่งห่างจากคอร์ซิกาประมาณ 390 กม. ใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมงเพราะเจอคลื่นลมค่อนข้างแรง นอกจากฝรั่งเศสแล้วยังสามารถข้ามไปจากอิตาลีก็ได้มีท่าเรือเยอะ ใช้เวลาน้อยกว่าเพราะคอร์ซิกาอยู่ใกล้อิตาลีมากกว่าฝรั่งเศส
คอร์ซิกาเคยเป็นที่อาศัยในช่วง 9 ปีแรกของชีวิต นโปเลอง โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) หรือนโปเลียน โบนาปาร์ต จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งเกิดที่เมือง Ajaccio ปัจจุบันบ้านหลังนั้นมีชื่อว่าเมซง โบนาปาร์ต (Maison Bonaparte) มีการจัดแสดงชีวประวัติของนโปเลองไว้อย่างมากมาย ขณะที่อนุสาวรีย์ของนโปเลองที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางเมือง ขณะที่โบสถ์ Cathédrale d’Ajaccio นโปเลองได้ทำพิธีล้างบาปในปี 1771 ข้างในสวยมาก
ผมได้ลิ้มรส Pampelle ครั้งแรกในชีวิตก็ที่เมืองหลวง Ajaccio นี่เอง ณ ริมชายหาดที่งดงาม ณ เวลานั้นรสชาติเหมือนดื่มน้ำส้มโอ ขม ๆ หอม ๆ กินกับแฮมหมูป่าของเขาอร่อยดี แฮมหมูป่ากับชีสนมแกะของเกาะนี้อร่อยมาก ไวน์ของคอร์ซิกาก็อร่อยดี กินง่าย ๆ สบาย ๆ สไตล์ชาวเกาะ ผลไม้ก็มีหลากหลายชนิด โดยเฉพาะ “เกรปฟรุต” สีชมพู ที่ใช้ทำ “แพมเพลล์” (Pampelle)
ในวันที่เปิดตัวในเมืองไทยบริษัท Italasia Trading (Thailand) Co.,Ltd. ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในเมืองไทย มีการแนะนำค็อกเทลสูตรพิเศษ ซึ่งเวลาที่ซื้อเขาจะมีรูปและสูตรค็อกเทล 4 สูตรแขวนไว้ที่คอขวดด้วย ให้ท่านไปทำดื่มกัน โดยค็อกเทลที่แนะนำในวันเปิดตัวประกอบด้วย
1. Pampelle Grapefruit Spritz เครื่องดื่มที่ช่วยเติมความสดชื่น ส่วนผสมคือ 2
parts Pampelle / 3 parts Prosecco / 1 part Parrier Sparkling Water
เสิร์ฟด้วยแก้วไวน์ ตกแต่งด้วยเกรปฟรุ๊ต ออร์แกนิกส์สีแดงทับทิมสไลด์
2.Pampelle & Tonic ค็อกเทลรสหวานอมเปรี้ยว ให้ความสดชื่น ส่วนผสมคือ 1 part Pampelle ท๊อปด้วยโทนิคจาก Fentimans พร้อมตกแต่งด้วยเกรปฟรุ๊ต ออร์แกนิกส์สีแดงทับทิมสไลด์
3.Pampelle Grapefruit Negroni เพิ่มมิติความนุ่มลึกของ Negroni ด้วยรสสัมผัส ของเกรปฟรุ๊ต รสชาติหวานเจือขม เข้มข้นแต่ก็ยังมีความนุ่มนวลลงตัว ส่วนผสมคือ 1 part Pampelle / 1 part Gin / 1 part Vermouth Blanc (sweet) เสิร์ฟด้วยแก้วทัมเบลอร์ หรือ Rocks Glass ตกแต่งด้วยเปลือกเกรปฟรุ๊ตออร์แกนิกส์สีแดงทับทิม
“Pampelle” เป็นเครื่องดื่มสีสัน ทรงเสน่ห์ และวัฒนธรรมการดื่มแห่งเกาะคอร์ซิกา ประเทศฝรั่งเศส ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับอากาศและบรรยากาศเมืองไทย..!!