“เดอะ เกลนลิเวต” หนึ่งในตำนานซิงเกิ้ล มอลต์

หม้อกลั่น

Alan Winchester Master Distiller

George Smith

The Glenlivet 12 Years Old

The Glenlivet 15 Years Old

The Glenlivet 18 Years Old

The Glenlivet 21 Years Old

The Glenlivet XXV

The Malt Whisky Trail

การขนส่งเกลนลีเวตในยุคแรก ๆ

ด้านหน้าโรงกลั่น

โต๊ะทำงานของ George Smith

โรงกลั่น The Glenlivet

โรงกลั่นยุคแรก ๆ

โรงกลั่นและหุบเขาที่งดงาม

*temp*เมืองไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาตลาด “ซิงเกิ้ล มอลต์” (Single Malt) ได้รับความนิยมอย่างมาก และกำลังจะพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีโควิด-19 มาเตะตัดขาเสียก่อน ที่สำคัญจากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นของสก็อตแลนด์ ก็มีซิงเกิ้ล มอลต์จากหลาย ๆ ประเทศ พาเหรดสู่ตลาดเมืองไทย เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย ไต้หวัน เป็นต้น
“ซิงเกิ้ล มอลต์” (Single Malt) ความหมายในเบื้องต้นคือ “….วิสกี้ที่หมักและกลั่นจากมอลต์ของข้าวบาร์เลย์ (malted barley) หรือการเพาะข้าวบาร์เลย์ให้งอกเป็นมอลต์ล้วนๆ…..” ทุกหยาดหยดของ Single Malt ต้องมาจากโรงกลั่นเดียว (Single Distillery) เท่านั้น แต่ถ้าผสมกันหลายโรงกลั่นจะเรียกว่า Blended Malt,Vatted Malt หรือ Pure Malt
“ซิงเกิ้ล มอลต์” (Single Malt) มีการผลิตกันทั่วโลกแต่เมกกะนั้นอยู่ที่สก็อตแลนด์ ดังนั้นในฉลากข้างขวดต้องมีคำว่า “Single Malt Scotch Whisky” นั่นหมายความว่าต้องทำจาก Malted Barley ล้วน ๆ (สามารถเติมคาราเมลแต่งสีได้) ต้องกลั่นแบบสองครั้งหรือแบบกลั่นทับ (Pot Still) อันเป็นวิธีกลั่นที่จะสงวนกลิ่นรสของข้าวมอลต์เอาไว้ได้ดีที่สุด จากนั้นต้องบ่มในถังไม้โอคอย่างน้อย 3 ปี (แต่ส่วนใหญ่บ่มนานกว่านี้) และถังโอคนั้นต้องมีความจุเกิน 700 ลิตร สุดท้ายบรรจุขวดในประเทศสกอตแลนด์ เป็นต้น ที่สำคัญก็คือกลิ่น รสชาติ และความยาวในตอนจบ (Aroma,Flavour,Finish) ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับแหล่งผลิต
Single Malt Whisky มีวิธีการแบ่งคล้าย ๆ กับไวน์ในเรื่องของต้นกำเนิดหรือแหล่งผลิต (Region) โดยสก็อตแลนด์จะมี 5 เขตคือ สเปย์ไซด์ (Speyside) ไอส์ลา (Isla) ไฮแลนด์ (Highlands) โลว์แลนด์ (Lowlands) และ แคมป์เบลทาวน์ (Campbeltown) แต่ละเขตจะมีรสชาติ คุณลักษณะ (Character) และสไตล์ (Style) ต่างกัน ที่สำคัญทั้ง 5 เขตนี้มีกฎหมายคุ้มครองและปกป้องการผลิตวิสกี้อย่างเคร่งครัด
สำหรับซิงเกิ้ล มอลต์ ที่ชิมครั้งนี้อยู่ในเขต สเปย์ไซด์ (Speyside) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหัวใจของแหล่งผลิตวิสกี้ และแบรนด์ที่จะชิมนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในตำนาน “Single Malt Scotch Whisky” นั่นคือ “เดอะ เกลนลิเวต” (The Glenlivet) ซึ่งชื่อแปลมาจากภาษาเกลิค (Gaelic) ว่า…”Valley of the smooth-follow one” ส่วนคำว่า “เกลน” (Glen) แปลว่าหุบเขา (Valley)
โรงกลั่นเกลนลิเวต (The Glenlivet Distillery) ก่อตั้งในปี 1824 โดยจอร์จ สมิธ (George Smith) ณ บัลลินดัลลอช (Ballindalloch) หมู่บ้านเล็ก ๆ ริมแม่น้ำลีวิต (Leevit) ในภาษาเกลิค (Gaelic) ซึ่งปัจจุบันออกเสียงว่าลิวิต (Livit) เป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ ประมาณ 9 ไมล์ โรงกลั่นก็ได้ชื่อจากแม่น้ำสายนี้ ก่อนจะตื้นเขินและกลายเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำสเปย์ (Spey) ในเขตมอเรย์ (Moray) ในเขตสเปย์ไซด์ (Speyside) ซึ่งถือเป็นแผ่นดินทองของการผลิตซิงเกิ้ล มอลต์ สก็อต วิสกี้ (Single Malt Scotch Whisky) เป็นโรงกลั่นตามกฏหมายที่เก่าแก่ในเขตนี้ ปัจจุบันเป็นหัวแถวของผู้ผลิต Single Malt Whisky ในเขตสเปย์ไซด์
เดิมโรงกลั่นชื่อ Glenlivet Distillery ต่อมาจอห์น กอร์ดอน สมิธ (John Gordon Smith) ลูกชายคนเล็กของจอร์จ สมิธ ที่รับมรดกมาจากพ่อ ได้เติมคำว่า The ในปี 1884 เป็น The Glenlivet Distillery อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท แปร์โนด์ ริการ์ด (Pernod Ricard) หนึ่งในยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สัญชาติฝรั่งเศส ที่ได้มาในปี 2005 เป็นหนึ่งในซิงเกิ้ล มอลต์ที่ขายดีที่สุดในตลาดสหรัฐอเมริกา ยอดขายอันดับ 4 ในสหราชอาณาจักร และเป็นเบอร์สองของตลาดซิงเกิ้ล มอลต์ในโลก โดยยอดขายเฉพาะซิงเกิ้ล มอลต์ ประมาณ 6 ล้านขวดต่อปี นอกจากนั้นยังเป็นหนึ่งใน The Malt Whisky Trail ด้วย
สำหรับมือกลั่นหรือมาสเตอร์ ดิสทิลเลอร์ (Master Distiller) คนปัจจุบันคืออลัน วินเชสเตอร์ (Alan Winchester) เริ่มทำงานนี้มาตั้งแต่ 1979 ด้วยประสบการณ์กว่า 40 ปีทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน “The world’s topmost Scotch whisky distilleries”
ผลผลิตของเดอะ เกลนลิเวต ในปัจจุบันมีรุ่นหลัก ๆ (Core Range) ประมาณ 8 รุ่น ส่วนรุ่นพิเศษ Limited Releases – Cellar Collection ประมาณ 6 รุ่น พร้อมทั้งรุ่นพิเศษในโอกาสอื่น ๆ อีก 5-6 รุ่น เป็นต้น ขณะที่รางวัลไม่ต้องพูดถึง มากมายมหาศาล สำหรับรุ่นที่ผมได้ชิมล่าสุดมีดังนี้
เดอะ เกลนลิเวต 12 ปี (The Glenlivet 12 Years Old) : รุ่นนี้บ่มในถังเมริกัน โอค และโอคยุโรป เป็นวิสกี้สไตล์กลมกล่อมหอมกรุ่น เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้ซิงเกิ้ล มอลต์ สีเหลืองทองสดใส หอมกลิ่นผลไม้ โดยเฉพาะสับปะรดค่อนข้างโดดเด่น ตามด้วยเชอร์รี แอปริคอต เมลอน น้ำผึ้ง คาราเมล วานิลลา มิเนอรัล ควันไฟกรุ่น ๆ จบด้วยครีมมี อัลมอนด์ และสไปซี
เดอะ เกลนลิเวต 15 ปี เฟรนช์ โอค รีเสิร์ฟ (The Glenlivet 15 Years Old French Oak Reserve) : เป็นรุ่นที่หมักและบ่มในถังโอคฝรั่งเศส ทำให้วิสกี้มีรสชาติที่หนักแน่น โดยเดอะ เกลนลิเวตเป็นหนึ่งโรงกลั่นแรก ๆ ที่ใช้โอคฝรั่งเศส เป็นซิงเกิ้ล มอลต์ สไตล์หนักแน่นแต่นุ่ม สีเหลืองทองเข้ม ดมครั้งแรกได้กลิ่นเนย ครีมมี ตามด้วยฟรุตตี้ ถั่ว อัลมอนด์ สไปซีเฮิร์บ เช่น อบเชย กานพลู ยี่หร่า วานิลลา คาราเมล น้ำผึ้ง ควันไฟ ยางไม้ ดอกไม้ จบยาวด้วยอัลมอนด์ และสไปซี
เดอะ เกลนลิเวต 18 ปี (The Glenlivet 18 Years Old) : ตัวนี้เป็นวิสกี้ สไตล์ Balanced & Elegant และเป็นคลาสสิค สไปย์ไซด์ (Classic Speyside) บ่มผสมผสานกันในโอคอเมริกันและยุโรป…สีทองเข้มออกทางอำพัน หอมกลิ่นผลไม้ เช่น พลัม เชอร์รี เบอร์รี ฟิก และกรีนแอปเปิ้ล ตามด้วยทอฟฟี่ผลไม้ ดอกส้ม ดอกแอปเปิ้ล ควันไฟ โอคหอมกรุ่น ขนมอบคล้าย ๆ คุกกี้ แทนนินฝาด ๆ เล็กน้อยน่าจะมากจากถังโอค น้ำผึ้ง วานิลา ชอกโกแลต อัลมอนด์ สไปซี ยี่หร่า มินต์ จบยาวนานด้วยสไปซี เชอร์รี และเรซิน
เดอะ เกลนลิเวต 21 ปี (The Glenlivet 21 Years Old) : เป็นซิงเกิ้ล มอลต์ สไตล์ Mature & Debonair สีเหลืองอำพัน กลิ่นหอมอบอวลมาก ดมครั้งแรกกลิ่นที่เตะจมูกคือผลไม้เชื่อมแห้ง ๆ เช่น เชอร์รี เบอร์รี ราสพ์เบอร์รี ฟิก พรุน และเรซิน ตามมาด้วยไม้สน ไม้แก่นจันทร์ ดอกไม้ ดอกส้ม ฮาเซนัท ควันไฟ ชอกโกแลต น้ำผึ้ง ยาสูบ สไปซี่โอค อบเชย ขิง จบยาวนานด้วยผลไม้ และฮาเซนัท
เดอะ เกลนลิเวต 25 ปี (The Glenlivet XXV) : รุ่นนี้ใช้เลขโรมัน XXV แทนที่ตัวเลข 25 เป็นซิงเกิ้ล มอลต์สไตล์ Intense & Opulent บ่มในถังโอคที่ผ่านการบ่มแชร์รี (Sherry) ที่เป็นฟอต์ติไฟด์ ไวน์ (Fortified Wine) ชื่อดังของสเปน…สีเหลืองอำพัน ดมครั้งแรกมีกลิ่นชอกโกแลต พร้อมด้วยกลิ่นดอกไม้ ส่วนฟรุตมี แอปเปิ้ล เชอร์รี แบล็คเบอร์รี และพรุน ทอฟฟี่กาแฟ ชอกโกแลต วอลนัท สไปซี่ เฮิร์บแห้ง ๆ อบเชย จันทน์เทศ มินต์ รสชาตินุ่มนวลพลิ้ว จบยาวนานด้วยผลไม้ หอมหวาน และสไปซีเฮิร์บ เป็นรุ่นที่มีโอกาสต้องชิมสักครั้งในชีวิต
ทั้งหมดนั้นเป็นข้อมูลเพื่อการศึกษาเรียนรู้ มิได้มีเจตนาชักชวน เชื้อเชิญ และชี้ชวน แต่ประการใด ที่สำคัญถ้าจะดื่มต้อง “ดื่มด้วยความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม…”

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...