“ชาโต ปิชอง บาฮรอง” หยาดหยดแห่งประวัติศาสตร์

Jean-Michel Cazes

Jean-René Matignon ไวน์เมกเกอร์

Les Griffons de Pichon Baron

Les Tourelle de Longueville

ขนาดต่าง ๆ

ความงดงามและคลาสสิคของไร่องุ่น

ความดงามและทันสมัยนห่องบ่ม

ตราสัญลักษณ์ตระกูลที่หัวเสา

ตัวชาโตในยุคแรก ๆ

ตัวชาโตและบริเวณด้านนอก

ถังสแตนเลสใช้หมัก

เทสติ้ง รูม

รั้วบ้าน

ไร่องุ่นยุคดั้งเดิม

วินเทจ 1959

วินเทจ 2014

ส่วนหนึ่งของถ่งบ่ม

ส่วนหนึ่งของถังโอคบ่มไวน์

Baron Joseph de Pichon Longueville

Chateau Pichon Baron 2017

Chateau Pichon Baron 2018

Chateau Pichon1

Chateau Pichon11

Christian Seely “ชาโต ปิชอง – ลองกือวิลล์ บาฮรอง” (Chateau Pichon – Longueville Baron) มีชื่อเต็ม ๆ ว่า “ชาโต ลองกือวิลล์ อู บาฮรอง เดอ ปีชอง ลองกือวิลล์” (Château Longueville au Baron de Pichon-Longueville) เรียกสั้น ๆ ว่า “ชาโต ปีชอง บาฮรอง” เป็น 1 ใน 15 ไวน์ชั้น 2 (Deuxièmes Crus) ตามบัญชี Bordeaux Wine Official Classification of 1855 และได้รับการยกย่องให้เป็นหัวแถวของชั้น 2
“ชาโต ปีชอง บาฮรอง” (Chateau Pichon Baron) อยู่บนนสายเล็ก ๆ จากแซงต์ ฌูเลียง (Saint Julien) ไปยังปูญาค (Pauillac) ฝั่งตรงกันข้ามเป็นชาโตผู้น้องคือ ชาโต ปิชอง ลองกือวิลล์ กอมเตส เดอ ลาลองด์ (Chateau Pichon Comtesse de Lalande) หรือ “ชาโต ปิชอง ลาลองด์” Chateau Pichon Lalande) เยื้อง ๆ ไปอีกนิดก็จะเป็น ชาโต ลาตูร์ (Chateau Latour) 1 ใน 5 เสือบอร์กโดซ์ ตามบัญชี Bordeaux Wine Official Classification of 1855
“ชาโต ปิชอง บาฮรอง” แม้จะอยู่ในชั้น 2 แต่มีความเป็นมาน่าสนใจตัวหนึ่งไม่แพ้ไวน์ชั้น 1 และไวน์อื่น ๆ อีกหลายตัว และเป็นไวน์ที่คอไวน์เมืองไทยตัวจริงเสียงจริงชื่นชอบ เพราะเป็นไวน์เกรดสูงที่ดื่มง่าย ๆ และไม่ต้องรอนาน
ตำนานของชาโต ปิชอง บาฮรอง เริ่มต้นตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 16 ซึ่งในครั้งนั้นชื่อของ “ปิแอร์ เดส์ มาซือส์ เดอ โฮรซอง” (Pierre des Masures de Rausan) โด่งดังมากในฐานะ “แลนด์ลอร์ด” ครอบครองที่ดินในแถบ ตำบลปูญาค (Pauillac) และใกล้เคียงจำนวนมาก มีลูกสาวที่รู้กันในชื่อ “เตเฮรส เดอ โฮรซอง” (Therese de Rauzan) ส่วนจะสวยหรือไม่นั้นไม่มีใครรู้ นอกจากรู้ว่าเธอเกิดมีกิ๊กกับ ฌาร์ค เดอ ปิชอง (Jacques de Pichon) กระทั่งได้แต่งงานกันในปี 1694
ปิแอร์ เดส์ มาซือส์ โปรดปรานลูกเขยคนนี้มาก เนื่องจากเป็นคนที่มีชื่อเสียง มีระดับ มีกึ๋น ไม่ใช่คนกิ๊กก๊อก หรืออาจจะเป็นเพราะปลื้มที่ลูกสาวตาถึงเลือกเจ้าบ่าวได้ถูกใจพ่อ จึงมอบที่ดินในแซงต์ ลามแบรต์ (Saint-Lambert) ให้เป็นสินสมรส เป็นที่ดินซึ่งเพิ่งปลูกองุ่นไม่นาน ตอนนั้นหลายคนมองว่าอาจจะไม่ค่อยมีราคาค่างวดอะไรนัก แต่ด้วยสายตาและประสบการณ์ของปิแอร์ เดส์ มาซือส์ รู้ว่าพื้นที่นี้มีค่ายิ่งกว่าทองคำ
หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ได้ลูกชายไว้สืบสกุลชื่อ ฌอง ปิแอร์ เดอ ปิชอง (Jean Pierre de Pichon) ขณะที่ฌาร์ค เดอ ปิชองเสียชีวิตในปี 1731 โดยที่ยังไม่ทันเห็นหน้าเหลนที่ชื่อโยเซฟ (Joseph) ลูกของฌองที่เกิดในปี 1760 ซึ่งต่อมาแต่งงานกับ นาร์บอน เดอ เปเลต์ ดังกลาด (Nabonne de Palet d’Anglade) และมีลูกชายหญิง 5 คน ๆ โตและคนรองเป็นชาย นอกนั้นเป็นหญิง
“ราอูล” (Raoul) ลูกชายคนโตมีบทบาทมากที่สุดในการดูแลไร่องุ่น (คนนี้เองที่ต่อมาเป็นบาฮรองแห่งปิชอง บาฮรอง) เขาแต่งงานกับเฟลิซิต (Felicite) น้องสาวของท่านเคานต์ อองรี เดอ ลาลองด์ (Comte Henri de Lalande) ที่มาเป็นน้องเขยของเขาเอง พูดง่าย ๆ ก็คือแต่งงานกับน้องสาวของน้องเขย
ประมาณปี 1850 นายโจเซฟเสียชีวิต และเป็นช่วงที่สำคัญอย่างหนึ่งของประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสนั่นคือ มีการใช้กฎหมายของนโปเลียน มีบทหนึ่งระบุว่า “มรดกของผู้เป็นบิดา ต้องมีการจัดสรรแบ่งปันให้กับบุตรธิดาทุกคน ๆ ละเท่ากัน” นี่เองทำให้ทรัพย์สมบัติรวมทั้งไร่องุ่นถูกแบ่งให้กับ 5 พี่น้อง
อย่างไรก็ตามเนื่องจากลูอิสลูกชายคนรองเสียชีวิตไปก่อนตั้งแต่ปี 1835 ทำให้ราอูลพี่คนโตได้รับส่วนนี้ไปด้วย ในส่วนของลูกสาวทั้งสามคนนำโดยมารี แต่การผลิตไวน์ยังใช้สถานที่เดิมและราอูลยังดูแลไม่มีการเปลี่ยนแปลง ภายใต้ชื่อ ชาโต ปิชอง ลาลองด์ (Chateau Pichon Lalande)
วันหนึ่งเมื่อต้องมีการแบ่งอย่างเป็นทางการ มารีนำน้องสาวอีก 2 คนดำเนินกิจการชาโตตัวเดิมคือ “ชาโต ปิชอง ลองกือวิลล์ กอมเตส เดอ ลาลองด์” (Chateau Pichon Longueville Comtesse de Lalande) ส่วนลูกชายตั้งชาโตใหม่ชื่อ “ชาโต ลองกือวิลล์ โอ บาฮรอง เดอ ปิชอง ลองกือวิลล์” (Château Longueville au Baron de Pichon-Longueville)
มีเรื่องแปลกแต่จริงเกิดขึ้นเพราะราอูลไม่มีลูก แต่ได้รับเด็กเป็นลูกบุญธรรมไว้คนหนึ่งมีชื่อว่าราอูลเช่นเดียวกัน ต่อมาได้กลายเป็นบาฮรอง ราอูล เดอ ปิชอง ลองกือวิลล์ (Baron Raoul de Pichon Longueville) และได้ขายปิชอง บาฮรอง ให้กับตระกูลบูเตลลิเยร์ (Boutellier) เมื่อปี 1933 เป็นอันสิ้นสุดการสืบทอดกิจการปิชอง บาฮรอง ของตระกูลดั้งเดิม
ตระกูล”บูเตลลิเยร์” ครอบครองชาโต ปิชอง บาฮรองได้ประมาณ 50 ปี โดย 30 ปีแรกนายฌอง บูเตลลิเยร์ ทำให้ปิชอง บาฮรอง เป็นโด่งดังสุดขีดชนิดที่ว่า สามารถแซงหน้าปิชอง ลาลองด์เลยทีเดียว ก่อนที่จะมาตกต่ำสุดขีดในยุคของแบร์ตรองด์ลูกชายคนโต ท่ามกลางข่าวลือว่าถูกปิชอง บาลองด์ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามถนนสาย D2 แทรกแซง
ปี 1987 ข่าวใหญ่ในวงการไวน์ฝรั่งเศสสร้างความฮือฮา เมื่อแอ๊กซา มีดี (Axa-MiDi) บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่เบอร์สองของฝรั่งเศสในขณะนั้น เข้าซื้อกิจการชาโต ปิชอง บาฮรอง บริหารภายใต้ชื่อแอ๊กซา มิลเลซีมส์ (Axa-Millésimes) โดยโคลด เบแบร์ (Claude Bebear) ประธานของแอ๊กซา ได้ให้เพื่อนสมัยเรียนหนังสือชื่อ ฌอง มิเชล กาซส์ (Jean-Michel Cazes) แห่งชาโต ลีนซ์ บาจส์ (Chateau Lynch Bages) ซึ่งอยู่ชั้น 5 บัญชีเมด็อก 1855 มาช่วยฟื้นฟูความยิ่งใหญ่
ฌอง มิเชล กาซส์ ปฏิวัติชาโต ปิชอง บาฮรอง แทบจะเรียกได้ว่าเกือบ ทั้งหมด เป็นการพลิกโฉมแบบก้าวหน้าไม่ใช่แบบขิงแก่ ยักแย่ยักยัน เริ่มตั้งแต่ไร่องุ่น การซื้อเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตด้านต่าง ๆ สร้างห้องเก็บไวน์ดินหรือเช (Chais) ใหม่ให้ได้ทั้งคุณภาพและสวยงาม ขณะเดียวกันก็เน้นการประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปด้วย โดยมีการประกวดออกแบบโรงไวน์ ผู้ชนะคือ ปาตริค ดิลยอง (Patrick Dillon) กับฌอง เดอ กาสตีนส์ (Jean de Gastines) เป็นโรงไวน์ที่สวยงามและทันสมัยมาก โดยเฉพาะห้องหมักไวน์ที่มีถังหมักเรียงรายเป็นวงกลม หลังคาด้านบนทรงแหลม พร้อมถังเบลนด์ไวน์ขนาดยักษ์ เป็นต้น
“ชาโต ปิชอง ลองกือวิลล์ บาฮรอง” ยุคใหม่ไฉไลภายใต้การลงมือขลุกขลิกของฌอง มิเชล กาสซ์ มีพื้นที่ปลูกองุ่น 73 เฮกตาร์ ไร่องุ่นอยู่ตรงกันข้ามกับชาโตลาตูร์ (Chateau Latour) 1 ใน 5 เสือบอร์กโดซ์ ถัดจากชาโต ลีโอวีลล์ ลาสกาส (Chateau Leoville Lascases) สุดยอดไวน์ในชั้น 2 เหมือนกัน จึงไม่แปลกใจว่าทำไมคุณภาพของชาโต ปิชอง บาฮรอง จึงโดดเด่น
สำหรับปลูกองุ่นที่ปลูกประกอบด้วย กาแบร์เนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon ) 65 % แมร์โลต์ (Merlot) 30 % กาแบร์เนต์ ฟรอง (Cabernet Franc) 3 % และเปตีต์ แวร์กโดซ์ (Petit Verdot) 2 % ผลิตไวน์ในอัตราส่วนที่แตกต่างกันในแต่ละวินเทจ แล้วบ่มในถังโอคฝรั่งเศสประมาณ 15-18 เดือน ผลผลิตไวน์ปีละ 25,000 ลัง ขณะที่ฌอง มิเชล กาซส์วางมือไปเมื่อปี 2000 เป็นการวางมือในอ่างทองคำอย่างแท้จริง เพราะวินเทจ 2000 เป็นวินเทจที่ยอดเยี่ยมของไวน์บอร์กโดซ์นับตั้งแต่วินเทจ 1961 เป็นต้นมา ส่วนไวน์เมกเกอร์คนปัจจุบันคือ ฌอง เฮรเน มิติญยอง (Jean-René Matignon)
ชาโต ปิชอง ลองกือวิลล์ บาฮรองมีไวน์ตัวรองอยู่ 2 ตัว ๆ แรกชื่อ เลส์ กริฟฟองส์ เดอ ปิชอง บาฮรอง (Les Griffons de Pichon Baron) เริ่มผลิตในปี 2012 แต่เหนือชั้นกว่าตัวแรกเพราะทำจากองุ่นอายุมากจากไร่เดียวกับที่ทำไวน์ตัวหลัก และเน้นแมร์โลต์มากเป็นพิเศษ ส่วนผสม Cabernet Sauvignon 60% และ Merlot 40% บ่ม 18 เดือน ในถังโอคฝรั่งเศสใหม่ 60 % ผลิตเพียง 3,000 ลัง อีกตัวหนึ่งคือ
เลส์ ตูเรลส์ เดอ ลองกือวีล (Les Tourelle de Longueville) ทำจากองุ่นอายุน้อย เริ่มผลิตในปี 1986 กำลังผลิตปีละประมาณ 12,000 ลัง
ปัจจุบัน ชาโต ปิชอง ลองกือวิลล์ บาฮรอง อยู่ภายใต้การบริหารของกลุ่มประกันภัยแอ๊กซา มีเลซีมส์ (AXA Millesimes) มีนายคริสเตียน ซีลีย์ (Christian Seely) เป็นประธาน รับผิดชอบไร่องุ่นในเครือปิชอง บาฮรอง 8 แห่ง เช่น ชาโต กองเตอนาก บราวน์ (Chateau Cantenac Brown) ไวน์ชั้น 3 ของบัญชีเมด็อก 1855 ซึ่งซื้อมาในปี 1987 และ คินตา โด โนวัล (Quinta do Noval) ผลิตพอร์ตในโปรตุเกส และอื่น ๆ อีกหลายแห่ง รวมทั้งแอ๊กซา ประกันภัยที่ ธนาคารกรุงไทยของไทยเป็นตัวแทนอยู๋ด้วย
ล่าสุดผมได้ชิม “ชาโต ปิชอง บาฮรอง” 3 วินเทจคือ 2016,2017 และ 2018 ลองมาดูกันว่าแต่ละวินเทจมีความแตกต่างกันอย่างไร ?
ชาโต ปิชอง ลองกือวิลล์ บาฮรอง,ปูญาค 2016 (Chateau Pichon – Longueville Baron ,Pauillac 2016) : เป็นอีกหนึ่งวินเทจที่ยิ่งใหญ่ของปิชอง บาฮรอง ทำจากกาแบร์เนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon) 80% และแมร์โลต์ (Merlot) 20% บ่ม 18 เดือนในโอคฝรั่งเศสใหม่ 80%
สีแดงเข้ม หอมกลิ่นผลไม้สุก เช่น แบล็คเบอร์รี แบล็คเคอร์แรนท์ มัลเบอร์รี แบล็คเชอร์รี พลัม และฟิก ดอกไวโอเลต เอสเปรสโซ ซีดาร์ มิเนอรัล โอคหอมกรุ่น ไส้ดินสอดำ สไปซี เฮิร์บ จันทน์เทศ อบเชย ใบยาสูบ มินต์ ฟูลบอดี้ แอซสิดสดชื่น แทนหนักแน่นแต่เนียน ยังไม่เปิดตัวเต็มที่นัก น่าจะอีกสักประมาณ 4-5 ปี……..20/20 คะแนน
ชาโต ปิชอง ลองกือวิลล์ บาฮรอง,ปูญาค 2017 (Chateau Pichon – Longueville Baron ,Pauillac 2017) : วินเทจนี้ทำจากกาแบร์เนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon) 79% และแมร์โลต์ (Merlot) 21% บ่ม 20 เดือนในโอคฝรั่งเศสใหม่ 80%
สีแดงเข้มสดใส หอมกลิ่นผลไม้สุก เช่น แบล็คเบอร์รี แบล็คเคอร์แรนท์ พลัม ราสพ์เบอร์รี ดอกไวโอเลต ชอกโกแลต กาแฟคั่ว มิเนอรัล สโมคกี้โอค ซีดาร์ ถ่านไม้ ไส้ดินสอดำ สไปซี เฮิร์บ ชะเอมเทศ แบล็คเปปเปอร์ ไม้จันทร์ แอซสิดสดชื่น แทนนินหนักแน่นเนียน ฟูลบอดี้ สามารถดื่มได้ในตอนนี้ แต่จะให้ดีรออีกสัก 2-3 ปีจะอร่อยกว่านี้……..19.5/20 คะแนน
ชาโต ปิชอง ลองกือวิลล์ บาฮรอง,ปูญาค 2018 (Chateau Pichon – Longueville Baron ,Pauillac 2018) : วินเทจนี้ทำจากกาแบร์เนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon) 78% และแมร์โลต์ (Merlot) 22% บ่ม 18 เดือนในโอคฝรั่งเศสใหม่ 80%
สีแดงเข้มปึ๊กยังมีประกายม่วงนิด ๆ หอมผลไม้ เช่น แบล็คเคอร์แรนท์ แบล็คเบอร์รี พลัม บลูเบอร์รี และแบล็คเชอร์รี ดอกลาเวนเดอร์ โอคยังค่อนข้างฉุน มินต์ ซีดาร์ หนังสัตว์ใหม่ ๆ กล่องซิการ์ ชอกโกแลตเค้ก มิเนอรัล เห็ด สไปซีเฮิร์บ อบเชย ชะเอมเทศ ใบยาสูบ แอซสิดสดชื่น แทนนินยังหนักแน่น จบยาวด้วยผลไม้ สไปซี มิเนอรัล น่าจะเริ่มดื่มได้ในอีก 7-8 ปีข้างหน้า …..20/20 คะแนน
การได้ลิ้มรสของไวน์ฝรั่งเศสที่มีความเป็นมาอันยาวนานแบบนี้ เป็นมากกว่าได้ดื่มไวน์ธรรมดา เพราะทุกหยาดหยดเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ !!!

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...