“เหมาไถ” สุราสานสัมพันธ์ จิตวิญญาณแห่งชาวจีน

กำเนิดจากข้าวฟ่างแดง

กุ้ยโจว

แก้วเหมาไถ

ค็อกเทลที่ทำจากเหมาไถ

เจ้าหน้าที่จีนทำลายเหมาไถปลอม

โจว เอิน ไหล ชนแก้วเหมาไถกับริชาร์ด นิกสัน

นึ่ง  9 ครึ่ง

หนึ่งในกระบวนการเตรียมวัตถุดิบ

หนึ่งในกระบวนการที่พิถีพิถัน

ห้องบ่ม

เหมาไถจกอดีต

เหมาไถและแก้ว

ฮวงจุ้ยของเหมาไถ“คนจีนกินเหล้าเก่ง กินทั้งเป็นเหล้า กินทั้งเป็นยา กินทั้งเป็นอาหาร”
กินเพราะเป็นเหล้า คือการดื่มเพื่อเมามาย อันเป็นภาพสะท้อนของวิถีชีวิต สามัญชนคนธรรมดา
กินเพราะเป็นยา เพราะยาจีนส่วนใหญ่มักจะใช้เหล้าเป็นส่วนผสม หรือเรียกว่าเป็นกระษัย
กินเพราะเป็นอาหาร เพราะอาหารจีนส่วนหนึ่งจะมีเหล้าจีนเป็นส่วนผสม
โดยลึก ๆ แล้ว ”เหล้า” สำหรับคนจีนแฝงไว้ด้วยความหมายการของการคบหาสมาคม และสืบสานมิตรภาพ อย่างน้อยในภาษาจีนกลางคำว่า “เหล้า” ก็ไปพ้องเสียงกับว่า “จิ่ว” แปลว่า “ยั่งยืนยาวนาน”
คนจีนดื่มเหล้าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เหล้าขาว” หรือ”ไป๋จิ่ว” (Baijiu) กันมาหลายพัน ๆ ปีแล้ว เหล้าขาวดังกล่าวหมายถึงเหล้ากลั่น 30 ดีกรีขึ้นไป ปัจจุบันเหล้าขาวชั้นดีที่ติดตลาดตามหัวเมือง ใหญ่ๆ มีประมาณ 3-4 ยี่ห้อ ที่โด่งดังที่สุด เห็นจะเป็น “เหมาไถ” (Moutai) จนหลายคนพอเห็นเหล้าสีขาว ๆ ก็บอกว่า “เหมาไถ” ทั้งหมด นั่นเพราะชื่อเสียงและความโด่งดังของ “เหมาไถ” ซึ่งว่ากันว่าในจีนนั้นเหมาไถเลียนแบบ มีมากกว่าเหมาไถจริงเสียอีก ขนาดนักท่องเที่ยวจีน มาเที่ยวเมืองไทยยังต้องซื้อเหมาไถในดีวตี้ฟรีกลับไป เพราะเป็นของแท้แน่นอน ขณะที่ซื้อในจีนไม่รู้แท้หรือไม่แท้ ส่วนจะเป็นอย่างไรจะเล่าให้ฟังในช่วงต่อไป
ประวัติศาสตร์ของ “เหล้าจีน” มีการบันทึกไว้หลากหลายตำนาน มีหลักฐานยืนยันว่าเหล้าเกิดขึ้นในจีนสมัยพระเจ้าอู๋เต๊ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์แฮ่หรือเมื่อประมาณ 5,000 ปีที่แล้ว จากฝีมือของขุนนางชื่ออี้ตี๋หรืองี่เต๊ก โดยหลักฐานขุดค้นพบเป็นไหหมักเหล้าในมณฑลชานตง ข้อมูลแบบลายลักษณ์อักษรในการผลิตเหล้าก็มีอายุกว่า 4,000 ปี ส่วนไหเหล้าแบบสมบูรณ์ (ยังมีเหล้าอยู่ข้างใน) มีการค้นพบในมณฑลเหอเป่ย เมื่อทศวรรษที่ 1970 และมีอายุเกือบ 2,300 ปี
ขณะที่ “เหมาไถ” กำเนิดเมื่อประมาณ 2,000 ปีที่ผ่านมา ณ หมู่บ้านเหมาไถ หมู่บ้านเล็กๆ ในมลฑลกุ้ยโจว (Kweichow) ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นชื่อ “กุ้ยโจว เหมาไถ” (Kweichow Moutai) โรงผลิตเหมาไถตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีภูมิประเทศพิเศษ ปัจจัยพร้อมทุกด้านทั้ง ดิน น้ำ ทิศทางลม อุณหภูมิหรือความชื้นที่เหมาะกับ การเจริญเติบโตของจุลินทรีย์สำหรับการกลั่นเหล้า มีภูเขาเขียว รายล้อมทั้ง 4 ด้าน อากาศเย็นสบายสดชื่น ไม่มีมลภาวะ ถ้าเป็นไวน์ก็ต้องเรียกว่า “แตร์ฮรัวร์” (Terroir) ลงตัวอย่างดีเยี่ยม
โรงงานผลิตเหมาไถนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง แต่สามารถดึงน้ำจากแม่น้ำฉื่อสุ่ย (Chishui) ที่ไหลผ่านตัวเมืองใกล้ ๆ โรงงานมาใช้ในการผลิตได้ โดยแม่น้ำที่ไหลผ่านมณฑลกุ้ยโจวมีหลายสาย แต่ที่ใช้ในการผลิตเหล้าชั้นดีต้องเป็น “แม่น้ำสระมังกร” เท่านั้น
ที่สำคัญเหมาไถผลิตเพียงปีละครั้งเท่านั้น โดยใช้วิธีการหมักบนอาหารแข็ง (Solid State Fermentation) ต่างจากยีสต์ที่ใช้ในการผลิตเหล้าชนิดอื่น โดยใช้วัตถุตั้งต้นหรือกล้าเชื้อ (Starter) เรียกว่า “ฉวี่” (Qu) ทำมาจากข้าวสาลี แล้วนำมาผสมกับข้าวฟ่างแดงหรือข้าวเกาเหลียง (Sorghum) เติมแต่งด้วยข้าวสาลี (Wheat) ที่เพาะปลูกแบบออร์แกนิก หมักไว้ระยะเวลาหนึ่งตามสูตรเฉพาะคือ “นึ่ง 9 ครั้ง หมัก 8 ครั้ง กลั่น 7 ครั้ง” ก่อนจะนำมาบรรจุไว้ในภาชนะดินเผา (Terra Cotta) และนำไปบ่มต่ออีกอย่างน้อ 3-5 ปี เพื่อให้เกิดความนุ่มนวล บางรุ่นบ่มนานถึง 50 ปี
อย่างไรก็ตามก่อนเหมาไถจะโด่งดังอย่างในทุกวันนี้ ต้องต่อสู้กับหลาย ๆ อย่าง เช่นเดียวเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกหลายอย่างที่เป็นตำนานของประเทศนั้น ๆ แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะและใจสู้ของคนจีน จึงมีวันนี้..
มีเรื่องเล่าว่าหนึ่งในกลยุทธ์ที่ทำให้เหมาไถโด่งดังไปทั่วโลก เกิดขึ้นในปี 1915 งานมหกรรมสินค้านานาชาติที่นครลอส แอนเจลีส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ผู้แทนจีนได้นำเหล้าเหมาไถไปร่วมแสดง แต่เนื่องจากไหดิน (Terra Cotta) แบบดั้งเดิม เรียกว่าแพกเกจจิ้งไม่สวยงามจึงไม่ค่อยมีคนสนใจ ก่อนปิดงานผู้แทนจีนคนหนึ่งจึงแกล้งทำไหเหล้าใบหนึ่งแตก ทำให้กลิ่นของเหมาไถหอมฟุ้งกระจายไปทั่ว ดึงดูดผู้คนให้มาแย่งกันชิม ปรากฏว่าเหมาไถได้รับเหรียญทองจากงานดังกล่าว
โจว เอิน ไหล อดีตนายกฯ จีนชื่นชอบเหมาไถตลอดชีวิต และนิยมนำเหมาไถไปต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองในงานเลี้ยงระดับชาติเสมอ เช่น เดือนกุมภาพันธ์1972 ริชาร์ด นิกสัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐไปเยือนจีน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีสหรัฐไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ โจว เอิน ไหล เลือกเหมาไถที่เก็บไว้กว่า 30 ปี มารับรอง พร้อมคุยว่าระหว่างการเดินทัพหมื่นลี้สมัยสงครามต่อต้านญี่ปุ่น กองทัพแดงใช้เหมาไถเป็นยารักษาโรคได้สารพัด ทั้งแก้ปวดเมื่อย ถอนพิษและแก้หวัด นิกสันสนใจอย่างยิ่ง และหลงเสน่ห์เหมาไถตั้งแต่บัดนั้น และประธานาธิบดีสหรัฐคนล่าสุดที่ได้รับการต้อนรับด้วยเหมาไถที่เมืองจีนคือ บารัค โอบามาในปี 2013
แต่คนที่ชอบและทำให้เหมาไถโด่งดังสุดขีดคือ “เหมาเจ๋อตง” เขาบอกว่าเหล้าชนิดนี้มีกลิ่นหอม แฝงด้วยดีกรีที่รุนแรง สามารถช่วยประทังความหนาวเย็นของอากาศได้เป็นเลิศ ทำให้เหล้าเหมาไถแพร่หลายออกไปทุกแห่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนไปเรืองอำนาจ ต่อมากลายเป็นสุราระดับผู้นำ ที่สั่งมารับรองบุคคลสำคัญอยู่ตลอดเวลา
วันที่ 9 มีนาคม 2547 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเยือนบริษัทกลุ่มเหล้าเหมาไถ นับเป็นพระราชวงศ์ระดับสูงสุดที่ทรงเสด็จเยือนบริษัทกลุ่มเหล้าเหมาไถ ทางบริษัทได้ถวายเหล้าเหมาไถอายุ 50 ปีขวดหนึ่ง แด่พระองค์พร้อมถวายพระพรเนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพครบรอบ 50 พรรษาด้วย
ในเมืองไทยบริษัทที่นำเหมาไถเข้ามาอย่างเป็นทางการคือ บริษัท สยาม ดรากอน (เอเชีย-แปซิฟิก) จำกัด นำเข้ามาในตอนแรกประกอบด้วย 3 รุ่นคือ“หยิงปิน” (Yingbin) บ่ม 2 ปี “ปรินซ์” (Prince) บ่ม 3 ปี และ “เฟยเทียน” หรือ “นางฟ้า” (Flying Fairy) บ่ม 5 ปี ตัวนี้ราคาพรีเมียมที่สุด เป็นต้น ปัจจุบันจะมีรุ่นใดบ้างหรือมีรุ่นใหม่หรือไม่ สอบถามที่บริษัทจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนที่สุด ที่แน่ ๆ เป็นเหมาไถจริงแท้แน่นอน ถ้าซื้อจากที่อื่นไม่รับประกัน !!
อีกอย่างหนึ่งที่ถือว่าสำคัญคือ “แก้ว” ที่ใช้ดื่ม ควรเป็นแก้วที่ใช้ดื่มเหมาไถโดยเฉพาะ เวลาซื้อเขาจะให้มาด้วย เป็นแก้วเล็ก ๆ จึงจะได้กลิ่นและรสชาติที่แท้จริง ผมลองใช้แก้วไวน์ขาว แก้วใส่น้ำธรรมดา ถ้วยชาดินเผา ถ้วยชาเคลือบ แก้วเป๊กที่ใช้ดื่มเหล้าขาวของเรา เป็นต้น สู้แก้วของเขาไม่ได้ เพราะแก้วที่เขาให้มานั้นถูกคำนวณมาแล้วปริมาณพอเหมาะในการกระดกครั้งเดียวพอดี เวลาดื่มเหมาไถจากแก้วนี้อย่าไปจิบหรือดื่มครึ่งเดียว ให้กระดกหมดแก้วเลย
สำหรับเหมาไถที่บริษัท เอซ พี ซัพพลาย มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัททำการตลาดด้านไวน์และสปิริตในเครือเดียวกับ สยาม ดรากอนฯ นำมาให้ผมได้ชิมในครั้งนี้ แอลกอฮอล์ 53 % Vol.สีใสเป็นตาตั๊กแตน หอมกลิ่นข้าวและฟางข้าวใหม่ ๆ คล้ายตอนที่เพิ่งเอาเมล็ดข้าวออก มีเสน่ห์มาก กลิ่นดอกไม้ และเอิร์ธตี้ แต่ที่หอมละมุนคือกลิ่นลูกท้อสุก ตอนจบมีดอกไม้และลูกท้อสุกติดปากและลิ้นยาวนาน
ครั้งหนึ่งผมเคยไปที่ปักกิ่ง เพื่อนชาวจีนซึ่งเป็นผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ในจีนมีไวเนอะรี (Winery) อยู่ในเครือด้วย ตอนเย็นกินข้าวที่บ้านเขา เครื่องดื่มมีทั้งไวน์ เบียร์ และเหมาไถ พร้อมเตาปิ้งย่าง เขาบอกว่าการดื่มเหมาไถแบบชาวกุ้ยโจวขนานแท้ ต้องจับคู่กับเต้าหู้ย่างแบบกุ้ยหยาง (เมืองเอกของกุ้ยโจว) ซึ่งย่างจากเตาร้อนๆ หั่นเป็นก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้าพอดีคำ ใช้ตะเกียบคีบ จิ้มน้ำจิ้มที่ทำจากพริกป่นผสมงาขาว กินดื่มกันท่ามกลางอากาศหนาวเย็นอร่อยสุด ๆ
“เหมาไถ” ถือว่าเป็นสุราไป๋จิ่ว (Baijiu) ตัวแรกที่ผลิตขายในรูปแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิตในปีละกว่า 4,000 ตัน ด้วยการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้ “กุ้ยโจว เหมาไถ” เป็นแบรนด์สินค้าแอลกอฮอล์ที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ที่สำคัญยอดขายเกือบทั้งหมดคือ 97% มาจากประเทศจีน มีการขายนอกประเทศต้นกำเนิดน้อยมาก
เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา ราคาหุ้นบริษัท “กุ้ยโจวเหมาไถ” ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้พุ่งขึ้นถึง 70% จนมูลค่าบริษัทแซง 4 ธนาคารยักษ์ของจีนทั้งหมด มูลค่าบริษัทวิ่งขึ้นไปถึง 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แซงหน้า ”เอบีอินเบฟ” ผู้ผลิตเบียร์ “บัดไวเซอร์” ที่มีมูลค่าตลาด 1.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐไปแบบไม่เห็นฝุ่น
ที่ผ่านมาเหมาไถก็มีการทำตลาดหลักนอกประเทศในแอฟริกาและอเมริกามาแล้ว และเคยเซ็นสัญญากับทีมสโมสร “อินเตอร์ มิลาน” ทีมฟุตบอลยักษ์ใหญ่ในในกัลโช ซีรีส์ อา ของอิตาลี เพื่อช่วยโปรโมตสินค้าด้วย แต่เป็นสัญญาทำตลาดเฉพาะจีน ทวีปอเมริกาเหนือ เอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ไม่รวมยุโรป ขณะที่ช่องทางโซเชียลมีเดียก็เริ่มสร้างสรรค์เมนูให้เข้ากับสากลมากขึ้น เช่น แนะนำสูตรค็อกเทล Sunset Cocktail ที่ใช้เหมาไถเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น
“เหมาไถ” วันนี้ถูกยกให้เป็นทั้ง “เหล้าประจำชาติ” เป็น “เหล้าแห่งความสัมพันธ์ทางการทูต” และเป็น “ของขวัญและของสะสม” อันล้ำค่า เหนือสิ่งอื่นใด เป็นดั่ง “จิตวิญญาณ” ของชาวจีนทั้งมวล !!!
ท่านที่สนใจ “เหมาไถ” สอบถามที่ บริษัท เอซ พี ซัพพลาย มาร์เก็ตติ้ง จำกัด โทร 02 682 5981-4 หรือ 081 619 1823

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...