ในช่วงทศวรรษ 1720 ทั้งการผลิต และการขายจิน (Gin) ในอังกฤษเจริญรุ่งเรืองมาก บ้านเรือนกว่าครึ่งของกรุงลอนดอนถูกใช้เพื่อการผลิตและขาย Gin ศตวรรษที่ 18 การผลิต Gin ในอังกฤษเริ่มใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มีการกลั่นด้วยหม้อทองแดง (Pot stills) เหมือนการกลั่นวิสกี้ และบรั่นดี เป็นครั้งแรก ก่อนจะค้นพบการกลั่นแบบต่อเนื่อง (Column Still หรือ Continuous still, Patent still และ Coffey still) ในปี 1832 ที่สำคัญเป็นการจุดประกายให้การผลิต Gin ในสไตล์ “ลอนดอน ดราย” (London dry) ถูกพัฒนาขึ้นมาในปลายศตวรรษที่ 19 จนเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน
ประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นอังกฤษบางประเทศ ผลิต Gin แบบขมนิด ๆ โดยเติมควินิน (Quinine) ซึ่งเป็นส่วนผสมของยาป้องกันมาเลเรียลงไปด้วย ซึ่งควินินนี้เป็นหนึ่งในส่วนผสมของน้ำ “โทนิก” (Tonic Water) เคยใช้ในอินเดียและแอฟริกา ถ้าไปอินเดียอาจจะได้ยินคนอินเดียเรียกว่าอินเดียน โทนิก (Indian tonic water) ที่เหนืออื่นใดนี่เป็นเหตุผลที่ทำไม Gin กับ Tonic จึงเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย
ปัจจุบันในอังกฤษมีการตั้งสมาคมจินและวอดก้า (Gin and Vodka Association of Great Britain หรือ GVA) ขึ้นมาเพื่อโปรโมท Gin ของอังกฤษ ซึ่งทุกวันนี้ชาวเมืองผู้ดีดื่มยินปีละกว่า 20 ล้านลิตร จากที่เคยเป็นเครื่องดื่มราคาถูกของชนชั้นกรรมากรเมื่อ 40 ปีก่อน
“Gin” เป็นสุรากลั่นที่นำแอลกอฮอล์ที่บริสุทธิ์ที่สุด มาหมักกับเครื่องเทศ สมุนไพรและผลจูนิเปอร์ เบอร์รี (Juniper berries หรือ Juniperus communis) แล้วนำไปกลั่นซ้ำเป็นครั้งที่ 2 – 3 จึงนับเป็นสุราที่มีสารพิษตกค้างน้อยที่สุด
กำเนิดของ Gin เดิมเป็นเหล้ายาสมุนไพร มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าถูกค้นพบในฮอลแลนด์ในปี 1650 โดย ดร.ฟรานซิสกัส เดอ ลา บัว (Dr.Franciscus de La Boë ) หรือหมอซิลเวียส (Dr.Sylvius) แห่ง The University of Leyden ที่พยายามหายารักษาความบกพร่องของไต ด้วยการผสมผสานแอลกอฮอล์จากธัญพืช เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรน์ และข้าวโพด กับ Juniper berries ดังกล่าว
นักดื่มดัตช์และเบลเยี่ยมรู้จักกันในนาม Jenever หรือ Genever ตามภาษาดัตช์ซึ่งหมายถึงจูนิเปอร์ (Juniper) และกลายเป็นที่รู้จักกันเมื่อทหารอังกฤษต่อสู้กับทหารสเปนที่เข้าไปยึดครองฮอลแลนด์ แล้วนำกลับมาอังกฤษโดยเรียกว่า Dutch Courage กระทั่งกลายเป็นเครื่องดื่มโปรดของผู้คน ในฝรั่งเศส Gin ถูกเรียกว่า Genie’ve
ประเภทของยิน สามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
ลอนดอน ดราย ยิน (London Dry Gin) : เป็นยินสไตล์อังกฤษโดยเฉพาะ มีการเติมพืชพันธุ์ต่าง ๆ ในขณะที่กลั่นครั้งที่ 2-3 นิยมในอังกฤษและชาติที่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ รวมทั้งสหรัฐและสเปน ใช้ผสม Martini เป็นหลัก
พรีเมาธ์ ยิน (Plymouth Gin) : เป็นยินที่ฟูลบอดี้ เมื่อเทียบกับลอนดอน ดราย ยิน สีใส กลิ่นผลไม้อ่อน ๆ แต่โดยรวมหอมมาก ปัจจุบันผลิตโดยโรงกลั่นแห่งหนึ่งในเมืองพลีเมาธ์ ซึ่งถือลิขสิทธิ์คำว่า “Plymouth Gin” ด้วย
โอลด์ ทอม ยิน (Old Tom Gin) : เคยเป็นยินที่ได้รับความนิยมมากในศตวรรษที่ 18 ได้ชื่อมาจากเครื่องขายเครื่องดื่มในผับเป็นแมวดำที่เรียกว่า Old Tom มีรสหวาน เนื่องจากส่วนใหญ่ใช้กากน้ำตาล (Molasses)เป็นวัตถุดิบ ใช้ผสมค็อกเทล ทอม คอลลินส์ (Tom Collins) โดยเฉพาะ
เจนีเวอร์ หรือ ฮอลแลนด์ (Genever or Hollands) : เป็น Gin สไตล์ดัตช์โดยเฉพาะ กลั่นจากธัญพืชคล้ายวิสกี้ แบ่งเป็น Oude (Old) Genever เป็นแบบดั้งเดิมหวานนิด ๆ และหอม และ Jonge (young) Genever ดรายและบอดี้เบา Genever บางยี่ห้อบ่ม 1-3 ปีในถังโอค และแอลกอฮอล์ต่ำกว่า Gin ของอังกฤษคือประมาณ 36-40 % ขายดีในฮอลแลนด์ เบลเยี่ยม และเยอรมัน
เครื่องเทศและสมุนไพร่ที่นิยมใส่ลงไปใน Gin พร้อมสรรพคุณ มีดังนี้ : เปลือกส้ม (Orang Peel) ให้กลิ่นหอมและรสซ่า / อานีส (Anise) ให้กลิ่นหอมยั่วยวนใจ / ยี่หร่า (Caraway) เป็นยากระตุ้นพลังขับเลือดขับลม / หวายเทศ (Caramus) เป็นยาอายุวัฒนะ / ออร์ริส (Orris) ต้นลานที่มีรากหอม และเป็นยาแก้โรคสารพัดชนิด / โกฎน้ำเต้า (Rhubarv) เป็นยารักษาโรคสารพัดโรคอีกชนิดหนึ่ง / เมล็ดอัลมอนด์ (Almond) ให้กลิ่นหอมและสรรพคุณทางยา / คาลัมบา (Calamba) ต้นไม้รากขมที่ใช้เป็นยารักษาโรค และ จูนีเปอร์ (Junuper) ต้นไม้ที่มีผลเขียวรสเผ็ดและหอมหวานเป็นสิ่งที่ Gin ขาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด ถ้าขาดไม่สามารถเรียก “Gin” ได้
จากการผสมผลจูนีเปอร์และเครื่องเทศสมุนไพรนานาชนิด ทำให้ Gin มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่เหนือกว่าเหล้ากลั่นชนิดอื่น คือเป็นเหล้าที่ปราศจาก “ฟูเซลออย” (Fusel Oil) ซึ่งเป็นน้ำมันที่ปนละลายอยู่ในน้ำเหล้าและมีโทษต่อร่างกาย เป็นปัจจัยที่ทำให้คอเหล้าเมาค้าง ปวดหัว คลื่นไส้ และอาเจียน
เมื่อพูดถึง London Dry Gin คนรัก Gin ตัวจริงเสียงแท้จะต้องนึกถึง แทนกาเรย์ (Tanqueray) หนึ่งใน Gin ยอดนิยมของโลก (The world’s Favourite Gins) จากการที่ใช้วัตถุดิบระดับพรีเมียม โดยเฉพาะธัญพืชที่เป็นวัตถุดิบหลัก และเป็น 1 ใน 16 สินค้า “Strategic Brands” ของบริษัท ดิอาจีโอ (Diageo PLC) ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับโลก
Tanqueray เป็น London dry gin จากกระบวนการกลั่นดังกล่าวข้างต้นนั่นคือกลั่นส่วนที่เป็นข้าว 2 ครั้งจากนั้นเติมธัญพืชอื่น ๆ ในช่วงการกลั่นครั้งที่สอง สูตรเด็ดเคล็ดลับพวกนี้ถูกปิดเป็นความลับ ส่วนใหญ่จะรู้เพียง 4 อย่างคือ juniper,coriander,angelica root และ liquorice แต่ส่วนที่เหลือขึ้นอยู่กับสูตรของผู้ผลิตแต่ละราย
โรงกลั่นดั้งเดิมของ Tanqueray อยู่ที่เมือง Bloomsbury ใจกลาง London ก่อตั้งในปี 1830 โดย Charles Tanqueray พร้อมกับตั้งร้านขายปลีกชื่อ Edward & Charles Tanqueray & Co ที่ถนน Vine Street กรุงลอนดอนในปี 1838 เมื่อ Charles เสียชีวิตในปี 1868 Charles Waugh Tanqueray ลูกชายรับหน้าที่แทน ถูกพิษภัยของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำลายโรงกลั่นจนเกือบหมด ก่อนย้ายไปอยู่สก็อตแลนด์ อย่างปัจจุบัน และผลิต Gin หลายรุ่นเช่น
Tanqueray No.Ten (47.3%) เป็นยินเกรด super-premium ซึ่งกลั่น 4 ครั้ง ถูกแนะนำสู่ท้องตลาดเมื่อปี 2000 เป้าหมายคือมาร์ตินี (Martini) เป็นหลัก จุดเด่นอยู่ที่ความลงตัวของ juniper,fresh oranges,limes และ grapefruits
Tanqueray Sterling Vodka วางตลาดในปี 1989 เน้นตลาดสหรัฐเป็นหลัก มีทั้งแบบธรรมดาและกลิ่นซีททรัส (Citrus)
Tanqueray Rangpur Gin เปิดตัวใน Maryland,Delaware และWashington, D.C.ในฤดูร้อนปี 2006 กลิ่นไลม์ (Lime flavour) จัดจ้าน ซึ่งเป็นผลจากการเติม Rangpur limes (ไลม์ที่ผสมสายพันธุ์จากส้มแมนดารินกับเลมอน),ขิง (ginger) และใบเบย์ (bay leaves) ในการกลั่นครั้งสุดท้าย กลั่นที่82.6 proof (41.3% abv) ปัจจุบันมีขายทั่วสหรัฐ
Tanqueray Malacca Gin เปิดตลาดครั้งแรกในปี 1997 ในสไตล์หวานนิด ๆ กลิ่นเกรฟฟรุต (Grapefruit) แรง ปี 2001 เลิกผลิต ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2012 (12/12/12) Diageo ก็ประกาศขาย Tanqueray Malacca Gin รุ่น limited edition ผลิตเพียง 16,000 ลัง ในตลาดสหรัฐ สหราชอาณาจักร และยุโรปตะวันตก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2013 เป็นต้น
Tanqueray โดยเฉพาะ London Dry นั้นได้รับรางวัลจากงานต่าง ๆ ในระดับนานาชาติมากมาย และถูกมองว่าเป็นมากกว่า Gin เพราะเป็นที่ชื่นชอบของคนดังในแวดวงต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปิน ดารา นักร้อง โดยเฉพาะ Frank Sinatra ชื่นชอบมาก
Bruce Springsteen พูดถึง Tanqueray ในเพลง “Johnny 99″ ของเขา…”He came home too drunk from mixin’ Tanqueray and wine…“.
ขณะที่เพลง “Girl Gone Wild” ของ Madonna กล่าวถึง Tanqueray ว่า…”The room is spinnin’ It must be the tanqueray I’m about to go astray my inhibition’s gone away“