“คอนนอลลีย์” คลาสสิคไอริช วิสกี้

3

c2

c3

c4

c5

c6

c7

c8

c9

Connolly“I can resist anything….except temptation”
ผมเห็นข้อความนี้อยู่ข้างกล่องวิสกี้แบรนด์หนึ่ง ตอนแรกคิดว่าจะอ่านผ่าน ๆ ไป แต่นึกเอะใจว่าเคยเห็นอยู่ที่ไหนสักแห่ง…
และขนลุกเมื่อเห็นชื่อเจ้าของประโยคดังกล่าว “Oscar Wilde” (ออสการ์ ไวลด์) หนึ่งในยอดกวีและนักเขียนของไอริช
ครั้งแรกเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ผมไปดับลิน (Dublin) เมืองหลวงของไอร์แลนด์ (Ireland) หรือสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Republic of Ireland) ภารกิจหลักคือชิมไอริช วิสกี้ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ตกหลุมรัก หลังจากนั้นก็ได้ไปอีก 2 ครั้ง เป็นประเทศที่ไปแล้วไม่รู้เบื่อ
ตอนนั้นนอกจากดับลินแล้วก็ยังลงไปเมืองคอร์ก (Cork) ทางใต้ของประเทศ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในวันสุดท้ายมีเวลาครึ่งวัน ผมไม่ไปชอปปิ้งกับคนอื่น ๆ แต่ขออยู่ใน “พิพิธภัณฑ์นักเขียน แห่งดับลิน” (Dublin Writers Museum) อยากจะศึกษาเรียนรู้ผลงานของกวีและนักเขียนชาวไอริช จากการที่ศึกษามาก่อนหน้านั้น รู้สึกอัศจรรย์ใจในความเป็นอัจฉริยะของพวกเขา
ชั้นใต้ดินของอาคาร Dublin Writers Museum มีร้านอาหารอร่อยชื่อ Chapter One ถ้าแปลเป็นไทยก็คือ “บทที่ 1” ตั้งชื่อรับกับหนังสือหนังหาด้านบน ตอนที่ผมไปนั้นได้ 1 ดาวมิชแลง ปัจจุบันเห็นว่าได้ 2 ดาวแล้ว แต่ได้รับรางวัลอื่น ๆ เพียบ
จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) วิลเลียมส์ บัตเลอร์ เยตส์ (William Butler Yeats) จอห์นมิลลิงตัน ซีนจ์ (John Millington Synge) ฌอน โอคาซีย์(Sean O’Casey) เจมส์ จอยซ์ (James Joyce) เซวิล เดย์ ลูอิส (Cecil Day Lewis) ซามูเอล เบคเกตต์ (Samuel Beckett) และออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde)..เหล่านี้คือ “ปรมาจารย์ด้านวรรณกรรม” ทั้งสิ้น ผลงานของบางคนเคยมีการนำมาแปลเป็นภาษาไทยด้วย
ในตอนนั้นผมสนใจงานของ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์,เจมส์ จอยซ์ และออสการ์ ไวลด์ รีบ ๆ อ่าน และรู้ ณ บัดนั้นว่าเวลาแค่ครึ่งวันช่างน้อยนิดเสียเหลือเกินกับการเข้าถึงแม้แค่กระผีกผลงานของทั้ง 3 คน ขากลับได้ซื้อหนังสือของเขามาอย่างละเล่ม สำหรับของออสการ์ ไวลด์ ได้งานเด็ดของเขากลับมาคือ “The Picture of Dorian Gray” ตอนหลังผมมอบให้ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งไป
“The Picture of Dorian Gray” คือนวนิยายเรื่องแรกและเรื่องเดียวในชีวิตของออสการ์ ไวลด์ เป็นนวนิยายสุดอื้อฉาวแห่งยุค เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วหลายครั้ง ที่ผมเคยดูชื่อเรื่อง Dorian Gray ปี 2009 เป็นหนังสะท้อนภาพวงสังคมชั้นสูงในลอนดอนช่วงเวลานั้น อย่างถึงกึ๋น นำแสดงโดย เบน บาร์นส (Ben Barnes) กำกับโดย โอลิเวอร์ ปาร์เกอร์ (Oliver Parker)
“I can resist anything….except temptation”
มีการแปลเป็นไทยหลายอย่าง แต่ความหมายนัยเดียวกันคือ
“ผมขัดขืนทุกอย่างได้ ยกเว้นสิ่งล่อใจ”
“ผมสามารถต้านทานอะไรก็ได้ทั้งนั้น ยกเว้นสิ่งล่อใจ”
การนำข้อความนี้มาอยู่ข้างกล่อง ย่อมจะมีความหมายอย่างแน่นอนด้วยความเป็นคนช่างคิด ช่างเขียน ฯลฯ ของชาวไอริช
ถ้าให้เดา “temptation”….”สิ่งล่อใจ” ที่ว่าก็คือ ข้างในขวดนั่นเอง เรียกว่า ขัดขืนทุกอย่างทุกอย่าง แต่อดไม่ได้ที่จะลิ้มรส ”ไอริช วิสกี้” ข้างใน !!
“คอนนอลลีย์” (Connolly) คือชื่อของไอริช วิสกี้ ซึ่งเห็นชื่อก็ต้องย้อนไปถึง Thomas Connolly ไอริช ผับชื่อดังที่ผมเคยไปในการไปไอร์แลนด์ครั้งที่ 2 ตอนนั้นจากดับลินผมขึ้นไปเบลฟาสต์ เมืองหลวงของไอร์แลนด์เหนือ เพราะอยากจะไปผับที่จูเลีย โรเบิร์ตบอกว่าเยี่ยมมาก ๆ คนพาไปก็ใจดีบอกว่าจะพาแวะเที่ยวเมืองสลีโก (Sligo) ซึ่งมีร้าน Thomas Connolly ไอริช ผับที่เก่าแก่ที่สุดของไอร์แลนด์ เปิดมาตั้งแต่ปี 1780 เสียอย่างเดียวคืออยู่ห่างจากดับลินประมาณ 218 กิโลเมตร บรรยากาศได้กลิ่นอายของไอริช เฮอร์ริเทจ แท้ ๆ และคลาสสิคดี มีโอกาสจะไปอีก
วันนี้ไม่คิดว่าจะได้สัมผัสกับ “คอนนอลลีย์” (Connolly) อีกครั้งในเองไทย แต่เป็นไอริช วิสกี้ ซึ่งเพิ่งนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปลายๆ ปี 2021 โดยบริษัท Thairish Distributors ทีมงานคนหนุ่มสาวไฟแรง ผสานผู้มีประสบการณ์ด้านธุรกิจไทย-ไอริช นับเป็นทางเลือกให้กับคนรักวิสกี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยากจะศึกษาเรียนรู้ไอริช วิสกี้ให้มากกว่าเดิม
คำว่า Connolly เป็นภาษาเกลิค (Gaelic) ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติและเป็นภาษาราชการอันดับแรกของไอร์แลนด์ มีความหมายเดียวกับคำว่า O’Conghaile ซึ่งแปลว่า “as fierce as a wolf” หรือ..”ดุร้ายราวกับหมาป่า” ประมาณนั้น ด้านล่างของฉลากข้างขวดจะมีข้อความ “O’Conghaile as fierce as a wolf” พร้อมหัวหมาป่า
คำว่า Connolly นั้นเกี่ยวข้องกับหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล้า เบียร์ และผับในดับลิน ดดยเฉพาะผับมีเยอะมาก จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็น..วัฒนธรรม คอนนอลลีย์…!!
สำหรับ Connolly ที่ผมได้ชิมครั้งนี้ เป็นเบลนเดด ไอริว วิสกี้ (Blended Irish Whiskey) ซึ่งต้องใช้ประสบการณ์สูงที่จะให้วิสกี้ออกมาได้รสชาติที่กลมกล่อมลงตัว และกลั่นถึง 3 ครั้ง (Triple Distilled) ที่โรงกลั่น The Great Northern Distillery (GND) ซึ่งเป็นโรงกลั่นที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในไอร์แลนด์ การกลั่น 3 ครั้งนี้ทำให้รสชาติของวิสกี้มีความนุ่มนวล กลั่นและบ่มในประเทศไอร์แลนด์ (Distilled & Matured in Ireland) โดยบ่มในถังเบอร์เบิน (Bourbon) ตามด้วยแชร์รี (Sherry Wood) ขณะที่ขวดดูแปลกตาจากที่เคยเห็นกันทั่วไป ถูกออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์กว่า 30 ปี ที่ผสมผสานความดั้งเดิมและความเป็นธรรมชาติของ Connolly
เป็นไอริช วิสกี้ที่สีทองอร่าม แอลกอฮอล์ 40% หอมกลิ่นผลไม้ ซีททรัส เปลือกส้มจีน ดอกไม้แห้ง ๆ เปลือกข้าว มิเนอรัล ไอโอดีนและสาหร่ายกรุ่น ๆ สโมคกี้โอคเบา ๆ กำลังดี น้ำผึ้งนิด ๆ สไปซี่เฮิร์บแห้ง ๆ จบค่อนข้างยาวด้วยผลไม้ มิเนอรัล และสไปซี่ เหมาะกับการดื่มแบบเพียว (Straight up) หรือ ออน เดอะ ร็อก (On The Rock) หรือใช้เป็นส่วนผสมของค็อกเทลบางอย่าง ไม่แนะนำให้ผสมโซดา แต่ถ้าจะผสมโซดาขอแนะนำให้เป็นน้ำแร่แบบสปาร์คกลิ้งแช่เย็น ๆ ส่วนน้ำอัดลมต่าง ๆ ไม่ควรอย่างยิ่ง !!
พูดถึง “ไอริช วิสกี้” (Irish whiskey) ในตลาดเมืองไทยมีที่คุ้น ๆ ตากันอยู่เพียง 1 -2 แบรนด์เท่านั้น ทั้งที่เป็นวิสกี้ที่รสชาติไม่ได้ด้อยไปกว่าสก็อต วิสกี้แม้แต่น้อย แต่ที่ผ่านมาคนไทยอาจจะคุ้นเคยคุ้นคอและคุ้นลิ้นกับสก็อต วิสกี้ (Scottish Whisky) มากกว่า
ความแตกต่างระหว่าง “ไอริช วิสกี้” กับ “สก็อต วิสกี้” ที่เห็นได้ชัดอย่างแรกคือตัวสะกดของคำว่า Whiskey โดยของไอร์แลนด์ Whiskey จะมีตัว “e” ด้วย ส่วนของสก็อตแลนด์ Whisky ไม่มีตัว “e” นอกจากนั้นยังกลั่นถึง 3 ครั้ง ขณะที่สก็อตวิสกี้ส่วนใหญ่กลั่น 2 ครั้ง เป็นต้น
สมัยก่อนถ้าอยากชิมไอริช วิสกี้ หลาย ๆ แบรนด์ต้องไปไอริช ผับชื่อ “เดลานีย์” (Delaney’s) ที่อาคารศิวดล ซอยคอนแวนต์ เป็นต้นแบบของไอริช ผับในเมืองไทย (สมัยนั้นมีแต่บริทิช ผับ) มีอาหารไอริชแท้ ๆ หลายอย่าง ซึ่งหากินยากในบ้านเรา ที่ผมชอบคือ ”แกะตุ๋น” สั่งมากินกับไอริช วิสกี้ หรือเบียร์ดำกินเนสส์ อร่อยมาก
เดลานีย์เปิดบริการในปี 2538 เปิดอยู่ประมาณ 5-6 ปีก็เลิกหลังฟองสบู่แตกในปี 2540 และมีนายทุนไปทำแทนและเปลี่ยนชื่อเป็นชีนานิแกนส์ (Shenanigans) ไอริช เอ็กซ์แชงจ์ (Irish Exchange) เป็นอีกครั้งเป็นมอลลี มาโลนส์ (Molly Malone’s) ปัจจุบันพื้นที่ตรงนั้นกำลังจะเป็นตึกที่ทันสมัย
ชาวไอริชเริ่มผลิตวิสกี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 โดยพระชาวไอริชนำศาสตร์และศิลป์มาจากประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนในช่วง 1,000 ก่อนคริสตศักราช ก่อนจะพัฒนามาเรื่อยจนถึงปัจจุบัน วัตถุดิบที่ใช้คือธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวไรย์ เป็นต้น ขณะที่ปัจจุบันการควบคุมคุณภาพมีข้อกำหนดหลายอย่าง เรียกว่าถ้าไม่ได้คุณภาพไม่ปล่อยออกมาอย่างแน่นอน
“I can resist anything….except Connolly”
ขออนุญาต “Oscar Wilde” นะครับ !!!

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...