นับจากวินาทีที่ “เจ้าฟ้าชายชาลส์” ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษ ในแวดวงการค้าไวน์ทั่วโลกก็เกิดความจ้าละหวั่นในการควาญหาไวน์อยู่ตัวหนึ่ง กลายเป็นไวน์ที่มีความต้องการสูงในท้องตลาด บางคนไหวตัวเร็วก็ได้มาครอบครอง ขณะที่หลาย ๆ คนพลาดไป
ไม่เฉพาะในประเทศอังกฤษเท่านั้น แต่รวมถึงตลาดทั่วโลก ตลาดเอเชีย โดยเฉพาะสิงค์โปร์ซึ่งใกล้เมืองไทยที่สุด และคนไทยไปซื้อกันมาก ถูกนักเก็งกำไรกว้านซื้อไปจนหมดเกลี้ยง และบางแห่งก็มีการนำออกมาประมูลกันแล้ว !!
สำหรับในเมืองไทยราคาของไวน์ขวดนี้เดิมอยู่ที่ประมาณ 23,000 – 25,000 บาท ราคาทะยานไปกว่า 30,000 บาท แต่แทบจะไม่มีใครสมหวัง เพราะหาซื้อไม่ได้แม้จะกำเงินสด ๆ อยู่ในมือก็ตาม !!!
ไวน์ดังกล่าวคือ “ชาโต มูตง ร็อธชิลด์ 2004” (Chateau Mouton Rothschild 2004) 1 ใน “5 เสือ”กรองด์ ครู แห่งบอร์กโดซ์ ประเทศฝรั่งเศส
“ชาโต มูตง ร็อธชิลด์ 2004” เกี่ยวข้องกับราชวงศ์อังกฤษอย่างไร ?
หลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชชนนี เสด็จสวรรคต ในวันที่ 8 กันยายน 2022 “เจ้าฟ้าชายชาลส์” ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษ ทรงพระนามเต็มว่า “ชาลส์ ฟิลิป อาร์เธอร์ จอร์จ” หรือ “สมเด็จพระเจ้าชาลส์ ที่ 3”
ฉลาก “ชาโต มูตง ร็อธชิลด์ 2004” เป็นฝีพระหัตถ์ของ “พระเจ้าชาลส์ ที่ 3” เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศ เจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฎราชกุมารอังกฤษ ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ
เป็นภาพเขียนสีน้ำรูปต้นสน (Pine) ริมชายฝั่งโก๊ต ดาซูร์ (Cote d’Azur) หรือ เฟรนช์ริวีเอรา (French Riviera) เป็นชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทางมุมตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศสรวมถึงโมนาโก ที่พระองค์เสด็จไปพักผ่อน
ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งอยู่ที่พร้อมลายพระหัตถ์ใต้รูปข้อความว่า “To celebrate the 100th Anniversary of the Entente Cordiale – Charles, 2004″
คำว่า Entente-Cordiale ในภาษาฝรั่งเศส หมายถึง “ความตกลงฉันทไมตรี” หรือ “ความเข้าใจฉันทไมตรี” ใช้ในภาษาอังกฤษครั้งแรกในปี 1844 เพื่อแสดงถึงความตระหนักในผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสหราชอาณาจักรกับฝรั่งเศส
ในปัจจุบัน Entente-Cordiale มักจะหมายถึง ความตกลงฉันทไมตรีครั้งที่ 2 นั่นคือ ความตกลงลายลักษณ์อักษรและลับส่วนหนึ่งที่ลงนามในกรุงลอนดอนระหว่างชาติทั้ง 2 ชาติเมื่อวันที่ 8 เมษายน 1904
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าฉลากวินเทจ 2004 นี้เป็นฉลองครบรอบ 100 ปี ของการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ตัวของอังกฤษและฝรั่งเศส
ปัจจุบันฉลากจริงถูกเก็บไว้ที่สถาบันประมูลโซธ์บี (Sotheby) ในกรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เคียงข้างฉลากที่ออกแบบโดยอดีตศิลปินชื่อดังที่เคยออกแบบฉลากชาโต มูตง ร็อธชิลด์คือชากัลล์ (Chagall / วินเทจ 1970) ปิกาสโซ (Picasso / วินเทจ 1973) และแอนดีย์ วอร์ฮอล (Andy Warhol / วินเทจ 1975 )
อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของความสัมพันธ์ระหว่าง “ชาโต มูตง ร็อธชิลด์” กับ “ราชวงศ์อังกฤษ” แถมยังเป็นความสัมพันธ์ที่ก่อกำเนิดตั้งแต่ครั้งแม่มายังรุ่นลูก
“ชาโต มูตง ร็อธชิลด์” วินเทจ 1977 เป็นปีที่สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร พระราชชนนี “พระเจ้าชาลส์ ที่ 3” เสด็จมาเยือนที่ชาโต มูตง ร็อธชิลด์ อย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 1977 เป็นเวลา 3 วัน
บาฮรง ฟีลีป เดอ ร็อธส์ไชลด์ (Baron Philippe de Rothschild) เจ้าของในเวลานั้น จึงขอพระบรมราชานุญาตินำสัญลักษณ์ของพระองค์ประดับไว้ที่ฉลากของไวน์ปี 1977 เพื่อเป็นการแสดงถึงการน้อมคารวะในวโรกาสที่ราชินีเสด็จมาเยือน พร้อมข้อความ Her Majesty Queen Elizabeth the Queen Mother
“บาฮรง ฟิลิป เดอ ร็อธส์ไชลด์” ผู้นี้เองที่เป็นต้นคิดทำให้โลกรู้จักชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ ในฐานะ “ฉลากศิลปะ” (Artist Label) ด้วยการเชิญศิลปินชื่อดังจากทั่วโลกมาออกแบบฉลาก เริ่มตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา เพราะท่านชอบงานศิลปะ ศิลปินดังกล่าวค่าตัวระดับร้อยล้านพันล้าน ได้ค่าตอบแทนเป็นไวน์วินเทจที่ออกแบบ 5 ลัง และเลือกอีก 5 ลังจากเซลลาร์ไวน์ของชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ แต่ทุกคนก็พอใจ
หลังจากท่านเสียชีวิต หน้าที่จึงตกมาอยู่กับลูกสาวคือ “บาฮรอเนสส์ ฟีลีปปีน เดอ ร็อธไชลด์” (Baroness Philippine de Rothschild) หนึ่งในตำนานหญิงเหล็กในวงการไวน์บอร์กโดซ์ และทำให้ไวน์ของครอบครัวมีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้พ่อ
หลังการเสียชีวิตของบาฮรอเนสส์ ในปี 2014 หน้าที่การสรรหาศิลปินก็ตกอยู่ในความรับผิดชอบของ “ฌูเลียง เดอ บัวมาไชส์ เดอ ร็อธชิลด์” (Julien de Beaumarchais de Rothschild) ลูกชายคนสุดท้องของท่านบาฮรอเนสส์ และศิลปินที่ได้รับเกียรติออกแบบชาโต มูตง ฉลากแรกภายใต้การบริหารของเขาคือ “แกร์ฮาร์ด ริชเตอร์” (Gerhard Richter) ชาวเยอรมนี เป็นฉลากของวินเทจ 2015 ซึ่งเป็นหนึ่งในวินเทจ คลาสสิค ชื่อภาพ ‘Flux’ ความหมายก็คือ Understand something around the concept of ‘flow’
“ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์” อยู่ในหมู่บ้านปูญาค อ.เมด็อก เมืองบอร์กโดซ์ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 50 กม. มีพื้นที่ในการปลูกองุ่น 203 เอเคอร์ ปลูกองุ่น 4 พันธุ์หลักคือกาแบร์เนต์ โซวีญยง (Cabernet Sauvignon) 77%,แมร์โลต์ (Merlot) 11%,กาแบร์เนต์ ฟรัง (Cabernet Franc) 10%,และเปติต์ แวร์กโดต์ (Petit Verdot) 2 %
ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ กำเนิดในศตวรรษที่ 14 เดิมชื่อ ชาโต บราน-มูตง (Chateau Brane-Mouton) และบาฮรง นาธาเนียล เดอ ร็อธส์ไชลด์ (Baron Nathaniel de Rothschid) มหาเศรษฐี 1 ใน 10 ของฝรั่งเศส ได้ซื้อชาโตแห่งนี้ในปี 1853 และเปลี่ยนเป็นชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ ตามตระกูล “ร็อธส์ไชลด์” (Rothschid) ของตัวเอง
ปี 1855 ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ ได้รับการประกาศให้เป็นกรองด์ ครูส์ชั้น 2 ตาม ”บัญชีเมด็อก 1855” (Bordeaux Classification of the Medoc 1855) กระทั่งยุคของบาฮรง ฟิลิป เดอ ร็อธส์ไชลด์ (Baron Philippe de Rothschild) หลานปู่ของบาฮรง นาธาเนียล ต้องใช้เวลาพิสูจน์ต่อสู้ถึง 118 ปี ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ จึงได้รับการเลื่อนชั้นขึ้นมาชั้น 1 ในปี 1973
บาฮรอง ฟีลีป เดอ ร็อธส์ไชลด์ เป็นตำนานหน้าหนึ่งของชาโต มูตง ร็อธชิลด์ จากเด็กหนุ่มที่ชอบการแข่งรถ ชอบศิลปะ และโรงละครยุคใหม่ ต้องมารับหน้าที่ใหญ่ในวัยเพียง 20 ปี เรื่องราวที่เป็น “ที่ 1 “ เกิดขึ้นในสมัยท่านบาฮรอง อย่างน้อยก็ 2-3 อย่าง นอกจากได้รับการเลื่อนชั้นในปี 1973 ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “Mis en bouteille au chateau” ลงบนฉลากข้างขวด แปลว่า “บรรจุขวดที่ชาโต” เพื่อยืนยันว่า “ไวน์ขวดนี้ถูกบรรจุในที่เดียวกับแหล่งผลิต” ไม่ใช่ถูกบรรจุในโกดังของพ่อค้าไวน์ อีกอย่างหนึ่งคือการระบุ “จำนวนขวด” ลงในฉลากทั้งขวดปกติ ขนาดครึ่งของขวดปกติ และขนาดแม็กนั่ม ที่ผลิตได้ในแต่ละวินเทจ เป็นต้น
หลังจากนี้คงต้องลุ้นกันว่า ใครจะได้ลิ้มรส “ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ 2004” ฝีพระหัตถ์ “พระเจ้าชาลส์ ที่ 3” ซึ่งวันนี้จัดเป็นไวน์ทรงคุณค่าที่หายากแห่งยุค !!