Applejack บรั่นดีของอเมริกัน

4 Applejack 50 ดีกรี Applejack Old Fashioned Dolly Parton ถังบ่ม Applejack ผลผลิตของ Laird ภาพโฆษณา Applejack โรงกลั่น Laird ยุคแรกกับปัจจุบัน วัตถุดิบสำคัญในการผลิต Applejack หอกลั่น Applejack..He lived by the apple orchard in this little orchard shack

His real name was jackson taylor but I called him applejack
Now old applejack was loved by everyone he ever knew
Applejack picked apples but he picked the banjo too……

พลันที่ท่อนแรกของเพลง “Applejack” ของ ดอลลี พาร์ตัน (Dolly Parton) ถูกขับขานขึ้น “แอปเปิ้ลแจ๊ค” (Applejack) ก็ถูกแจกจ่ายกันไปโดยถ้วนหน้า พร้อมเสียงอื้ออึงของแต่ละคน

Applejack เป็นชื่อเพลงที่ Dolly Parton ร้องครั้งแรกในปี 1977 อยู่ในอัลบั้ม New Harvest – First Gathering เพลงนี้มีความยาว 3.23 นาที ขณะเดียวกัน Applejack ก็เป็นชื่อของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชื่อดังของคนอเมริกัน เมืองไทยอาจจะหาดื่มยาก ต้องไปตามบาร์สไตล์อเมริกันหรืออเมริกันเป็นเจ้าของ

Applejack คือบรั่นดีที่ได้จากการกลั่นน้ำแอปเปิ้ลเข้มข้น หรือไซเดอร์ (Cider)ในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า American usage ต้องบ่มในถังไม้อย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป คำว่า Applejack แผลงมาจาก Jacking หมายถึงการกลั่นน้ำองุ่นแช่เย็น นิยมดื่มในรัฐที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อน ที่เรียกว่า “นิว อิงแลนด์” (New England)

ที่ต้องมี New England มาเกี่ยวข้องด้วย เพราะพื้นที่นี้เองที่เป็นต้นกำเนิดของ Applejack โดย New England เป็นแผ่นดินที่เรียกรวม 6 มลรัฐทางภาคอีสานของสหรัฐอเมริกาและมีพื้นที่บางส่วนติดต่อกับแคนาดา ประกอบด้วยรัฐเมน (Maine),คอนเนกติกัต (Connecticut),แมสซาชูเซต (Massachusetts),นิว แฮมเชียร์ (New Hampshire),เวอร์มอนด์ (Vermont) และโรด ไอร์แลนด์ (Rhode Island) ผู้คนที่อาศัยอยู่ในทั้ง 6 รัฐนี้ เป็นชาวอังกฤษที่อพยพมาอยู่ในแผ่นดินสหรัฐอเมริกา จึงเรียกถิ่นที่อยู่ของพวกเขาว่า “New England”

ชาวอังกฤษที่อพยพมาอยู่ในยุคแรก ๆ ประมาณศตวรรษที่ 16 มีการปลูกข้าวบาร์เลย์ และต้นฮอพ เพื่อผลิตเบียร์ไว้ดื่มกัน แต่ปรากฏว่าทั้งบาร์เลย์และฮอพไม่สามารถให้ผลผลิตได้ดีเหมือนในยุโรป ทำให้ผลิตเบียร์ออกมาแล้วไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร

ต่อมาจึงมีความพยายามหาพืชชนิดอื่นมาปลูกแทนฮอพและบาร์เลย์ ในที่สุดก็ได้ผลสรุปเป็นไม้ผล และแอปเปิ้ลก็เป็นตัวเลือกหนึ่ง มีการสั่งเมล็ดและกิ่งพันธุ์มาจากยุโรปหลายพันธุ์ และแอปเปิ้ลก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะเจริญเติบโตและให้ผลผลิตอย่างดีเยี่ยม

แอปเปิ้ลถูกเกษตรกรนำมาผลิตเป็นน้ำไซเดอร์ (Cider) ซึ่งเป็นสุราแช่ดีกรีต่ำ เพื่อดื่มเองและขายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยคำว่า Cider สันนิษฐานว่าถูกแผลงมาจากคำว่า Shekar ในภาษาฮิบรูแปลว่า “เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ” โดยทั่วไป Cider จะมีปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณ 1.2 – 8.5 % หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นตำรับอังกฤษดั้งเดิมจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ 3.5-12 %

การที่ Cider มีแอลกอฮอล์ต่ำ ทำให้เกิดการแปรเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำส้มได้ง่าย หรืออาจจะถึงขั้นเน่าเสีย ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่ต่างผลิตน้ำCider ออกมาอย่างมากมายจนล้นตลาด การนำน้ำ Cider มากลั่นเป็นเหล้ากลั่นจึงเกิดขึ้น ต่อมาจึงมีการเรียกชื่อว่า “Applejack”

Applejack ใช้เวลานานพอสมควรในการเข้าไปให้ถึงหัวจิตหัวใจของชาวอเมริกัน เนื่องจากช่วงนั้นวิสกี้จากเพนซิลวาเนีย ที่เป็นฝีมือของชาวสก็อตแลนด์ และชาวไอริช ที่อพยพมาอยู่ในเพนซิลวาเนียครองตลาดอยู่ เนื่องจากรสชาติแปลกใหม่กว่าเหล้าพื้นเมือง

กระทั่งสงครามกอบกู้เอกราช เรียกร้องให้อังกฤษปลดปล่อยอเมริกาให้เป็นอิสระ ข้าวของแพง รวมทั้งเหล้าต่าง ๆ แต่ชาวอเมริกันก็ยังต้องการจะดื่ม โดยถ้าไม่ดื่มเหล้าพื้นเมืองกลั่นเองแบบ สรถ.(สุราเถื่อน) ก็มักจะเป็นรัมจากหมู่เกาะเวสต์ อินดีส พวกนี้ดีกรีแรงเมื่อนำมาดื่มมักจะผสมกับน้ำผลไม้ต่าง ๆ เพื่อเป็นการทุ่นค่าใช้จ่ายและประหยัด มีการประดับแก้วด้วยหางไก่ เพราะยุคสงครามหาเครื่องประดับอย่างดอกไม้ ผลไม้ พืชผัก ยากจึงใช้หางไก่ที่เป็นอาหารในสงครามนั่นเองมาประดับแก้ว ว่ากันว่านี่เป็นตำนานของเครื่องดื่มผสม “ค็อกเทล” (Cocktail)

กรรมวิธีผลิต Applejack มี 2 วิธีคือ การกลั่นเหมือนกับฟรุตบรั่นดีอื่น ๆ แล้วนำไปบ่มในถังไม้ อย่างน้อยต้อง 2 ปี มีบางรายที่บ่มมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสูตรของใคร หรือความยิ่งใหญ่ของผู้ผลิตแต่ละราย บริษัทใหญ่เงินหนาอาจจะบ่มเป็นสิบปีก็ได้ แต่ถ้าเป็นรายเล็ก ๆ แค่ 2 ปีตามกฎหมายก็ต้องขายแล้ว ส่วนวิธีที่ 2 คือการแช่เย็น ผิดแผกแตกต่างจากการผลิตเหล้าอย่างอื่น โดยเมื่อได้น้ำ Cider แล้ว จะนำเข้าไปในห้องที่อุณหภูมิเย็นเฉียบ ส่วนที่เป็นน้ำจะแข็งตัว ขณะที่ส่วนที่เป็นแอลกอฮอล์จะไม่แข็ง ซึ่งส่วนนี้เองที่จะถูกนำมาบ่มและปรุงแต่งให้ได้ดีกรีประมาณ 40- 50 เพราะก่อนหน้านั้นดีกรียังสูงประมาณ 70 -80 ดีกรี ก่อนจะส่งไปยังนักดื่มทั้งหลาย

ปัจจุบันมีผู้ผลิต Applejack มากมาย หลายยี่ห้อ หลากหลายคุณภาพ และหลายราคา และมีการใช้ชื่อแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย นอกจากแอปเปิ้ลแจ๊ค แล้วยังมี แอปเปิ้ล บรั่นดี (Apple Brandy),ไซเดอร์วิสกี้ (Sider Whisky),ไซเดอร์ แอปเปิ้ล (Sider Apple),ไซเดอร์ บรั่นดี (Sider Brandy) เป็นต้น

นอกจากนั้นคำว่า Applejack ยังมีความหมายอื่น ๆ อีก เช่น หมายถึงหมวกชนิดหนึ่งในช่วงศตวรรษที่ 20 หมายถึงอาหารเช้าของอเมริกันก็เรียกว่า Apple Jacks แน่นอนรวมทั้งแฟนเพลงคันทรีตัวจริงเสียงจริงอย่าง ดอลลี พาร์ตัน (Dolly Parton) ดังที่กล่าวในตอนต้น เธอเป็นนักร้องคู่ขวัญของ เคนนี โรเจอร์ (Kenny Roger) ราชาเพลงคันทรี เป็นต้น

ในเมืองเนบาสกา (Nebraska City) สัปดาห์ที่สามของเดือนกันยายนของทุกปีจะมีการจัด “เทศกาลแอปเปิ้ลแจ๊ค” (Applejack Festival) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวแอปเปิ้ล มีขบวนพาเหรดใหญ่โต ขบวนรถโบราณ เครื่องบินโชว์ ขบวนนักเต้นรำ ประกวดมิส แอปเปิ้ลแจ๊ค มีขนมหวานที่ทำจากแอปเปิลหลายชนิด เป็นต้น

Applejack ยี่ห้อดังของสหรัฐคือ Laird  หรือ Laird & Company ซึ่งก่อตั้งในปี 1780 และเป็นบริษัทอเมริกันรายแรกที่ได้รับอนุญาตให้ทำการค้า Applejack ผลิตโดยการใช้แอปเปิ้ล บรั่นดีผสมผสานกับเหล้าจากธัญพื Robert Laird เจ้าของบริษัท Laird & Company สนับสนุนประธานาธิบดีสหรัฐหลายยุคหลายสมัย เช่น ช่วงสงครามเรียกร้องอิสรภาพ จอร์จ วอชิงตัน เคยเขียนจดหมายถึง Robert Laird เพื่อขอสูตรทำ Applejack เพื่อให้ทหารดื่ม เพราะช่วงสงครามทุกอย่างแพงหมด รวมทั้งเหล้า เมื่อมีทหารมาก ๆ ก็ต้องกลั่นกันเองจึงจะเพียงพอกับความต้องการ

ขณะที่ลีนดอน บี.จอห์นสัน  Lyndon B. Johnson มอบ Applejack ยี่ห้อ Laird 1 ลังให้กับอเล็กไซ โคซายกิ้น (Alexei Kozygin) ประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต เมื่อครั้งที่พบกับ ในนิวเจอร์ซีเดือนมิถุนายน 1967 เป็นต้น

ขณะที่ค็อกเทลชื่อดัง ๆ อีกกว่า 20 ชนิดที่ใช้ Applejack เป็นส่วนผสมหลัก เช่น A.J.,Ambrosia,Applecar,Apple Pie,Barton Special,Jack Road,Mumbo Jumbo เป็นต้น

สุดท้ายอย่าลืมร้องเพลง Applejack ให้จบ…..

Chorus:
Play a song for me applejack, applejack
Play a song for me and Ill sing
Play a song for me applejack, applejack
Play a song, let your banjo ring
Now Id go down to applejacks almost everyday
Wed sit and wed drink applejack that old applejack had made
Then hed take his banjo down then hed ask me if Id sing
And he would play the banjo and Id play my tambourine
(Repeat chorus)
Thats when I was just a kid and now that I am grown
All I have are memories, old applejack is gone
Oh but he left me his banjo and it always takes me back
And everytime I play it I still hear applejack
(Repeat chorus 3 times)

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...