ALCOPOPS เครื่องดื่มหวานที่แสนขมขื่น

2979_master

Chūhai

Coca-Cola Alcopop

Freezer

Jack Daniel's & Cola

Jack Daniel's Alcopop

Jim Beam Cola

Margaritas

Smirnoff Ice

Southern Comfort And Cola

Spy

Tequila cocktail

Tequila Rita โคคา โคลา บริษัทผู้ผลิตน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ของโลก มีแผนทำเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบริษัท 125 ปี โดยเล็งผลิตภัณฑ์แบบ “อัลโคป๊อป” (Alcopop) หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รสน้ำหวานหรือผลไม้ขายในญี่ปุ่น เพื่อแตกไลน์สินค้าและรุกตลาดผู้บริโภค กลุ่มใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้หญิง เพราะเครื่องดื่มประเภทนี้มีแอลกอฮอล์ระหว่าง 3-8% ถือเป็นเครื่องดื่มทางเลือกแทนเบียร์เพราะมีรสหวานดื่มง่าย
วงการเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เมื่อประมาณ 14-15 ปีที่ผ่านมา วิสกี้ระดับสูงแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ทิ้งช่องว่างให้กับตลาดกลางและล่าง ครั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ตลาดบนกระอักเลือด ทำให้วิสกี้ระดับล่างและกลางทั้งของไทยและ(ที่พยายามบอกว่า) ของนอกราคาระหว่าง 190 – 250 บาท (ณ เวลานั้น) รับทรัพย์เป๋าตุงกันเป็นแถว
หนึ่งในการอุด “ช่องว่าง” ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเมืองไทยขณะนี้คือ “ค็อกเทลผสมเสร็จ” หรือ “ค็อกเทลไร้บาร์เทนเดอร์” (Cocktails without Bartenders) ขณะที่นักดื่มในหลายชาตินิยมเรียกกันว่า “อัลโคพอพส์” (Alcopops) เป็นเครื่องดื่มที่ผสมจากน้ำผลไม้และสมุนไพรต่าง ๆ กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทว้อดก้า รัม วิสกี้ เบอร์บอน ฯลฯ ดีกรี 5 – 10 % ออกมาเพื่อคนรุ่นใหม่อายุ 18 – 25 ปี บรรจุภัณฑ์เป็นขวดสวยสดงดงามเพื่อดึงดูดใจนักดื่ม
สปาย ไวน์คูลเลอร์ (Spy Wine Cooler) และคูลเลอร์ คลับ (Cooler Club) เป็นเจ้าแรก ๆ ที่เปิดตลาด ส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นไวน์ จริง ๆ แล้วอยู่ในประเภทค็อกเทล โดยนำน้ำองุ่นที่เป็นผลพวงจากการผลิตไวน์มาผสมกับแอลกอฮอล์ ปัจจุบันสปายยังอยู่ในตลาดพร้อมกับพัฒนารูปแบบและส่วนผสมอยู่เรื่อย ๆ มีทั้งกระป๋องและขวด แถมยังขายดีเสียด้วย ส่วนคูลเลอร์ คลับ หายไปจากตลาดแล้ว
หลังจากนั้นจึงมีเบอร์บอน(Bourbon) หรืออเมริกันวิสกี้ผสมโค้กออกมา 2 – 3 ยี่ห้อ ที่เห็น อยู่บ้างในซูเปอร์มาร์เก็ตคือ “จิม บีม” (Jim Beam) บรรจุในกระป๋องทรงสูง แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบเบอร์เบิน ที่สำคัญพฤติกรรมการดื่มของคนไทยต้องเปิดขวดเท่านั้น
“บาร์คาร์ดี้” ซึ่งเป็น “รัม” (Rum) ในรูปแบบของ Bacardi Breezer ดูจะลุยตลาดมากที่สุด มีผสมทั้งน้ำผลไม้ต่าง ๆ ประมาณ 4 -5 รุ่น เหล้ารัมนั้นทำจากอ้อยดื่มกับโคลาจึงจะอร่อย แต่มีการคิดค้นสูตรใหม่นำมาผสมกับน้ำผลไม้ดังกล่าว ขายดีพอสมควร เพราะมีวางขายแทบทุกแห่งตั้งแต่ซูเปอร์มาร์เก็ตจนถึงตู้แช่ข้างทาง ขณะที่นักดื่มส่วนใหญ่บอกว่าขวดละ 65 บาทในขณะนั้น เป็นราคาที่ซื้อเบียร์ได้ตั้ง 3 กระป๋องแถมได้ถั่วเป็นกับแกล้มอีก 1 ถุง
รัมจะมีคู่แข่งสำคัญคือ “ว้อดก้า” (Vodka) สังเกตว่าคนไทยรุ่นใหม่ ๆ หันมาดื่มว้อดก้ากันมากขึ้น มีว้อดก้ายี่ห้อใหม่ ๆ เข้ามาขายในบ้านเรามากขึ้นจากเดิมที่มีเพียง 2-3 ยี่ห้ออย่างสเมียร์นอฟ,สโตริชกายา,แอบโซลุท ฯลฯ แถมราคาไม่แพงขวดละ 300 บาทต้น ๆ หรือเกินกว่านั้นเล็กน้อย แต่ดีกรี 40 % สามารถเมาได้ทั่วทั้งวง เรียกว่าเมาเกินราคากันเลยทีเดียว
ค็อกเทลไร้บาร์เทนเดอร์ ซึ่งใช้ว้อดก้าเป็นส่วนผสมที่ได้รับความนิยมเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันก็ยังพอมีอยู่บ้างในตลาดเฉพาะกลุ่มคือ “ว้อดก้า ครุ้ยเซอร์” (Vodka Cruiser) จากนิว ซีแลนด์ ใช้ว้อดก้ายี่ห้อคริสตอฟ (Cristov) ผสมกับน้ำผลไม้ต่าง ๆ มีให้เลือกประมาณ 12 ชนิด ราคาประมาณ 65 บาท โดยมียี่ห้อ KGB จากนิว ซีแลนด์เช่นกันขายในราคาประมาณ 90 บาท
ว้อดก้าใช้ในจุดประสงค์ใหญ่ 2 อย่างคือดื่มแก้หนาวสำหรับคนในเมืองหนาวอย่างรัสเซีย โปแลนด์ และยุโรปตอนเหนือ และใช้ผสมกับเครื่องดื่มเป็นค็อกเทลแทบทุกประเภท เพราะว้อดก้าจะให้กลิ่นที่หอมหวนมาก
“เตกีล่า” (Tequila) เป็นอีกอย่างที่ได้รับความนิยมในตลาดบ้านเรา หลังฟองสบู่แตก ด้วยเหตุผลเหมือนว้อดก้าคือ “ราคาย่อมเยาแต่เมาได้นาน” สุภาพสตรีหลายคนคงคุ้นเคยกับค็อกเทลชื่อเตกีล่า ซันไรส์ ขณะที่ฝ่ายชายต้องเตกีล่า 1 เป๊กแล้วเลียเกลือที่ป้ายบนฝ่ามือเหนือหัวแม่มือตามด้วยมะนาวบีบ ช่วงนั้นมีการนำเตกีล่าผสมนํ้าผลไม้และเครื่องดื่มอื่น ๆ จากเยอรมันเข้ามาขายชื่อ “เมซ” (Mez) มี 2 รสชาติ tropic และ critrus ดื่มง่ายเพราะแอลกอฮอล์เพียง 4 % ราคา 70 กว่าบาท
ดร.เธอร์ตี้ (Dr.Thirsty) เป็นอีกยี่ห้อหนึ่งซึ่งเข้ามาเมืองไทยในช่วง 5 -6 ปีที่แล้ว แต่ที่อังกฤษและยุโรปดังมากเป็นเครื่องดื่มนํ้าผลไม้ผสมแอลกอฮอล์ (Spirit Mix) ขวดมีลวดลายสวยงามตรงใจคนรุ่นใหม่ มีให้เลือกหลายแบบ เช่น Z ขวดลายม้าลายใช้ว้อดก้าผสมกับนํ้าส้มและผลกัวราน่า (Guarana) ซึ่งหลายชนเผ่าใช้เป็นเครื่องดื่มบำรุงหัวใจ ขณะที่ BALI ขวดสีเขียวใช้รากโสม ซึ่งบำรุงร่างกายผสมกับนํ้าผึ้งและแอลกอฮอล์ ทำให้ร่างกายสดชื่น, FIJI ขวดสีม่วงใช้รากต้นกาวา กาวา จากเกาะฟิจิ ผสมแอลกอฮอล์ เป็นเครื่องดื่มเพื่อการเฉลิมฉลอง, BEETLE JUICE ใช้ผลกัวราน่าผสมว้อดก้าและแอลกอฮอล์ ดื่มเพื่อสดชื่นคลายเหนื่อย และ ORANGE PUNCH ขวดสีฟ้าสดใส ใช้สกรูไดเวอร์เติมก๊าซ Co2ให้สดใสซาบซ่า เป็นต้น
“อัลโคพอพส์” (Alcopops) แม้ตลาดใหญ่จะอยู่ที่หนุ่มสาวและคนรุ่นใหม่ แต่สำหรับคนไทยไม่โดนใจเลยไม่ว่ารุ่นใหม่ รุ่นเก่า เก๋าขนาดไหน มีเพียงสปาย (Spy) เท่านั้นที่รักษาตลาดไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ที่สำคัญเชื่อหรือไม่ว่าตลาดใหญ่ที่สุดของสปายอยู่ที่ภาคอีสาน ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ อย่างภูเก็ต สมุย พัทยา หัวหิน หรือแม้กระทั่งในเมืองกรุง
****************
An Alcopop (หรือ Cooler, Spirit Cooler ในภาษาอังกฤษเซาท์แอฟริกัน ขณะที่อเมริกันสแลงเรียกว่า Malternative) เป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำ ประมาณ 3-7% รวมทั้งเครื่องประเภทมอลต์ (Malt beverages) ที่เติมน้ำผลไม้และตกแต่งกลิ่น,เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของไวน์ น้ำผลไม้ ที่เรียกว่า ไวน์คูลเลอร์ (Wine Coolers) และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์กลั่น ของเหลวที่มีรสหวาน เช่น น้ำผลไม้หรืออื่น ๆ เป็นต้น
Alcopop เกิดจากคำ 2 พยางค์คือ Alcohol กับ Pop ที่เป็นความหมายหนึ่งของ “Soft drink” คือเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ โดย Alcopop นิยมใช้ในสหราชอาณาจักร นอกจากนั้นยังมีคำอื่น ๆ เช่น FAB (flavored alcoholic beverage), FMB (flavored malt beverage), PPS (pre-packaged spirit or premium packaged spirits), and RTD (ready-to-drink – Australia and New Zealand) เป็นต้น
ในอดีตที่ผ่านมา Wine coolers เริ่มได้รับความนิยมในท้องตลาดในช่วงปี 1980 เมื่อ Bartles and Jaymes ทำการโฆษณาแบรนด์ของเขาในสื่อต่าง ๆ จากนั้นแบรนด์ต่าง ๆ ก็เริ่มโฆษณาบ้าง เช่น บาคาร์ดี (Barcadi) เปิดตัวบรีซเซอร์ (Breezer) ปี 1993 Two Dogs,DNA Alcoholic Spring Water, Hooper’s Hooch และ Zima ที่ทำตลาดในคอนเซปต์ “Malternative beverage” ขณะที่สเมอร์นอฟฟ์ (Smirnoff) เริ่มทำ (Malt beverage) กลิ่นซีทรัส (Citrus-flavored) ในช่วงปลายปี 1990
ในช่วงหลัง 2000 เป็นต้นมา หลาย ๆ ประเทศขึ้นภาษีเครื่องดื่มประเภท alcopop ทำให้หลาย ๆ แบรนด์หายไปจากตลาด บางแบรนด์ต้องปรับเปลี่ยนสูตร อย่างไรก็ตาม Alcopop ก็ยังหอมหวนมีผู้ผลิตหน้าใหม่ที่พร้อมจะก้าวเข้ามาในตลาดนี้ ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมปี 2018 โคคา โคลา (Coca-Cola) ยักษ์ใหญ่น้ำอัดลมของโลก ประกาศทำเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบริษัท 125 ปี โดยแล็งขายญี่ปุ่น เป็นการแตกไลน์สินค้าและรุกตลาดผู้บริโภค กลุ่มใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้หญิง เพราะเครื่องดื่มประเภทนี้มีแอลกอฮอล์ระหว่าง 3-8% ถือเป็นเครื่องดื่มทางเลือกแทนเบียร์เพราะมีรสหวานดื่มง่าย ภายใต้ชื่อ Chūhai
สำหรับแบรนด์ชื่อดังที่ยังอยู่ในโลกของอัลโคป๊อป เช่น VK Vodkakick, Smirnoff Ice, Mike’s Hard Lemonade, Bacardi Breezer, Palm Bay, Skyy Blue, Jack Daniel’s Hard Cola และ WKD Original Vodka เป็นต้น

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...