“The Gold of Armagnac” กับไวน์โก๊ต เดอ กาสกอญ

Domaine d’Espérance

Espérance Cuvée d'Or

Espérance Cuvée Rosée 2019

Espérance Cuvée Rouge 2018

Laberdolive Terre-Bouc 12 ans d’age

Pierre Laberdolive ดูแลการกลั่น

Pierre Laberdolive

Sommeliers-Laberdolive-_4-1210x642

แผนที่เขตผลิตไวน์ South West France

มุมหนึ่งในโรงกลั่น  Laberdolive

ไร่องุ่นใน Cotes de Gascogne

องุ่น Gros Manseng

องุ่น Tannat“ภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส“ (South West France) หรือ “ฟรองช์ ซู๊ด เวสต์” (French Sud-Ouest) ในภาษาฝรั่งเศส เป็นเขตผลิตไวน์ที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่ถูกขนานนามว่า “France’s Hidden Corner” เนื่องจากไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันเท่าใดนักเมื่อเทียบกับเขตอื่น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นคุณภาพของไวน์ไม่ถูกปากต้องลิ้นของผู้คน
อย่างไรก็ตาม “South West France” เป็นเขตผลิตไวน์ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของฝรั่งเศสมีพื้นที่ปลูกองุ่นถึง 120,000 เอเคอร์ มีอาณาเขตทางใต้ติดกับเทือกเขาพีเรนีส (Pyrénées Mountains) และประเทศสเปน ทางเหนือติดกับ บอร์กโดซ์ (Bordeaux) และตะวันตกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก (Atlantic Ocean) เป็นเขตใหญ่แต่มีมีพลเมืองเบาบางประมาณ 10 คนต่อตารางไมล์
“South West France” แบ่งเป็น 4 เขตย่อย (Sub-regions) แต่ละเขตมีเอกลักษณ์ของตนเองทั้งอากาศ,องุ่น และแคแลคเตอร์ของไวน์ ประกอบด้วยเขตแบเฌอแฮรค และแม่น้ำดอร์ดอญ (Bergerac & Dordogne River) แกฮรอนน์ และตาร์น (Garonne & Tarn) ลุ่มน้ำโลต์ (Lot River) และปีเฮรเนส์ (Pyrénées)
ที่จะกล่าวถึง ณ ที่นี้คือโก๊ต เดอ กาสกอเญอะ (Côtes de Gascogne) ในดีพาร์ตเมนต์แฌรส์ (Gers) ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของ Pyrénées ที่มีฐานะเป็น IGP (Indication Geographique Protégé) ผลิตไวน์สติลไวน์ (Still Wine) ทั้งไวน์ขาว ไวน์แดง และโรเซ ส่งออกถึง 75% ของการผลิตได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันยังครอบคลุมอาร์มายัก (Armagnac) สุดยอดบรั่นดีของโลกด้วย ซึ่งในครั้งนี้เราจะชิมกันทั้งไวน์ขาว ไวน์แดง โรเซ และอาร์มายัก
สำหรับไวน์ที่จะชิมเป็นของ “โดเมน เดสเปฮรองซ์” (Domaine d’Espérance) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาร์มายักระดับคุณภาพเจ้าหนึ่งของโลก และมีขายในเมืองไทยหลายรุ่น อยู่ในเขตบาส์ ซามายัก (Bas Armagnac ) 1 ใน 4 เขตผลิตอาร์มายัก ถ้าไปจากบอร์กโดซ์ขับรถประมาณ 1 ชั่วโมง เจ้าของคือฌอง หลุยส์ (Jean-Louis) และแคลร์ เดอ มงเตสคิว (Claire de Montesquiou) ซึ่งซื้อโดเมนแห่งนี้มาในปี 1990 แล้วพัฒนาจนมีชื่อเสียง
Claire de Montesquiou มีเพื่อนและรู้จักคนในวงการชั้นสูงของฝรั่งเศสมากมาย หนึ่งในจำนวนนั้นคือฌอง ชาร์ล เด กาสเตลบาแฌค (Jean-Charles de Castelbajac) เพื่อนของเธอที่เป็นนักออกแบบแฟชั่นชื่อดัง เป็นคนออกแบบฉลากไวน์ทั้งหมดนี้ จริง ๆ มีด้วยกัน 4 รุ่น แต่ผู้นำเข้ามาเพียง 3 รุ่น อีก 1 เป็นไวน์หวานไม่ได้นำเข้ามา ดังนี้
เอสเปฮรองซ์ “คูเว ดอร์” ไอจีพี โก๊ต เดอ กาสกอญ 2019 (Espérance “Cuvée d’Or” IGP Cote de Gascogne 2019) : ไวน์ขาวที่ทำจากองุ่น 2 พันธุ์คือโซวีญยอง บลอง (Sauvignon Blanc) 60 % และโกรส์ มอนเซง (Gros Manseng) 40% อัตราส่วนนี้แต่ละปีอาจจะไม่เท่ากัน แต่โซวีญยอง บลองมักจะมากกว่า ขณะที่ Gros Manseng เป็นองุ่นเขียวเก่าแก่รู้จักกันมาตั้งแต่ปี 1562 ปลูกมากที่สุดในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส บ้านเราแทบไม่ค่อยรู้จักกัน คำว่า Gros แปลว่า Large เนื่องจากขนาดของผลค่อนข้างใหญ่ …สีเหลืองทองอ่อน ๆ สดใส ดมครั้งแรกหอมคล้าย ๆ ดอกมะลิกรุ่น ๆ แอปริคอต เกรฟฟรุต เลมอน กูสเบอร์รี สไปซีนิด ๆ เฮิร์บเขียว ๆ แอซสิดสดชื่นมาก ๆ จบปานกลางด้วยดอกไม้ ผลไม้ และสไปซีกรุ่น ๆ ควรแช่ประมาณ 8-9 องศาเซลเซียส……17/20 คะแนน
เอสเปฮรองซ์ “คูเว โฮรเซ” ไอจีพี โก๊ต เดอ กาสกอญ 2019 (Espérance “Cuvée Rosée” IGP Cote de Gascogne 2019) : โฮรเซที่ดื่มง่าย ๆ แต่อร่อยเจ้าหนึ่งในตลาดบ้านเรา ทำจากกาแบร์เนต์ ฟรองซ์ (Cabernet Franc) และกาแบร์เนต์ โซวีญยอง (Cabernet-Sauvignon) ในอัตรา 50-50%…..สีออกไปทางแซลมอน หอมกลิ่นกลีบกุหลาบแห้ง ๆ ผลไม้ เช่น เรดเบอร์รี ราสพ์เบอร์รี เรดเชอร์รี และสตรอว์เบอร์รี สไปซีเฮิร์บ ฟางแห้งหอมกรุ่น แอซสิดสดชื่น แทนนินกรุ่น ๆ จบปานกลางด้วยผลไม้ สไปซี แช่เย็นประมาณ 8-9 องศาเซลเซียสดื่มแล้วเพลิดเพลิน แนะนำให้ซื้อเตรียมไว้หน้าร้อนที่จะถึงนี้เลย….17/20 คะแนน
เอสเปฮรองซ์ “คูเว ฮรูจ” ไอจีพี โก๊ต เดอ กาสกอญ 2018 (Espérance “Cuvée Rouge ” IGP Cote de Gascogne 2018) : ไวน์แดงที่ทำจากองุ่นตานนาต์(Tannat) 80% และแมร์โลต์ (Merlot) 20 % เป็นไวน์แดงที่สมควรชิม เพราะทำจากองุ่นตานนาต์ซึ่งหาชิมยากในบ้านเรา เป็นองุ่นประจำถิ่นของภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้(Sud-Ouest) ของฝรั่งเศส โดยเฉพาะ Madiran AOC ทำได้ดีมาก ปัจจุบันตานนาต์เป็นองุ่นแดงประจำชาติของอุรกวัย….สีแดงสดใส หอมกลิ่นผลไม้ เช่น แบล็คเคอร์แรนท์ แบล็คเบอร์รี พลัม เชอร์รี เมล็ดกาแฟคั่ว สไปซี จันทน์เทศ วานิลลา คาราเมล แอซสิดสดชื่น แทนนินนุ่ม จบยาวด้วยผลไม้ สไปซี และวานิลลา….17.5/20 คะแนน
เมื่อมาถึงถิ่นของ “อาร์มายัก” แล้ว ไม่เข้าไปในบ้านของเขาถือว่ายังไม่ถึงอย่างแท้จริง แต่เราจะไม่ได้ชิมอาร์มายักของ “โดเมน เดสเปฮรองซ์” (Domaine d’Espérance) ซึ่งผมเคยนำเสนอไปเมื่อปีก่อน ในวันที่แคลร์ เดอ มงเตสคิว (Claire de Montesquiou) เจ้าของเดินทางมาแนะนำอาร์มายักของเธอเมืองไทย แต่จะชิมของอีกเจ้าหนึ่งซึ่งเพิ่งจะเดินทางมาถึงเมืองไทยขวดยังอุ่น ๆ ถือเป็นไฮจ์ไลท์ของครั้งนี้
“ลาแบรโดลีฟ”(Laberdolive) คืออาร์มายักตัวที่ว่า ซึ่งก็ไมธรรมดาเช่นกัน เพราะทำอาร์มายักมากว่า 100 ปี ในเขต Bas Armagnac เช่นกัน ณ วันนี้อยู่ภายใต้การดำเนินการของทายาทรุ่นที่ 6 นำโดย “ปิแอร์ ลาแบรโดลีฟ” (Pierre Laberdolive) ที่สำคัญทำแบบคราฟท์ อาร์มายัก คือกระบวนการต่าง ๆ ทำด้วยมือ กลั่นด้วยหม้อกลั่นต่อเนื่องแบบโบราณที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง บรรจุขวดจากถังบ่มโดยตรง ไม่มีการเสริมเติมแต่งใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสี,น้ำ ฯลฯ ขณะที่ถังบ่มก็เป็นถังที่มาจากป่าของครอบครัว ขณะที่ Pierre Laberdolive นั้นก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นมือกลั่นระดับซือแป๋เรียกอาจารย์ อาร์มายักที่ออกจากมือของเขาถูกขนานนามว่าเป็น “The Gold of Armagnac”
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่บุคคลระดับซูปเปอร์วีไอพีของโลกจะต้องแวะมาเยี่ยมเยียนโรงกลั่น Laberdolive เช่น นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต และอดีตนายกรัฐมนตรีของรัสเซีย (1958-1964) เคยไปเยี่ยมโรงกลั่น Laberdolive แห่งนี้และกลับมาพร้อมกับ Laberdolive 1 ขวด ขณะที่ ฌาร์ค ชิฮราค (Jacques Chirac) อดีตประธานาธิบดีของฝรั่งเศส หิ้ว Laberdolive 1972 ไปดื่มฉลองเมื่อครั้งเดินทางไปเยือนอย่างเป็นทางการในระดับประมุขของรัฐ (State Visit) กับผู้นำของประเทศจีน เป็นต้น
หลังจากนั้นอาร์มายัก Laberdolive ก็ปรากฏอยู่ในภัตตาคารชั้นยอดในยุโรป ใครไม่มีถือว่าเชยแหลก หนึ่งในจำนวนนั้นคือลา ตูร์ ดาร์ฌอง (La Tour d’Argent) ร้านเก่าแก่ในกรุงปารีส (ก่อตั้งปี 1582 – ปัจจุบัน ) ที่มีเมนูดังคือเป็ดอัด ซึ่งเดวิด ริดจ์เวย์ (David Ridgway) Chef-sommelier บอกว่า “Considered for a long time to be the benchmark of Armagnac..”…น้ำลายสอแล้ว ไปชิมกันเลยดีกว่า
ลาแบรโดลีฟ แตรร์ บูค บาส์ ซามายัก 12 อองส์ดาจ (Laberdolive Terre-Bouc Bas Armagnac 12 ans d’age) : เป็นอาร์มายัก 12 ปีที่ไม่ธรรมดา สีอำพันสดใส ฟรุตตี้ดีมาก หอมกลิ่นลูกเกด จูนิเปอร์ แอปเปิ้ล แพร์ กล้วยหอมสุก เปลือกส้ม วานิลลา ควันไฟจากโอคกรุ่น ๆ น้ำผึ้ง กล่องซิการ์ จบค่อนข้างยาวด้วยลูกเกด ไม้ซีดาร์ และวานิลลา เป็นอาร์มายัก 12 ปีที่คุ้มค่าเกินราคา….18.5/20 คะแนน
ทั้งหมดนั้นเป็นข้อมูลเพื่อการศึกษาหาความรู้ มิได้มีเจตนาแม้แต่น้อยที่ชักชวนให้ดื่ม แต่ถ้าจะดื่ม “ต้องดื่มด้วยความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและสังคม”..
ไวน์และอาร์มายักดังกล่าวนำเข้าโดยบริษัท Exquisite Elixir Co.,Ltd. สอบถามได้ที่โทร. 098 909 2116

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...