“บรูเนลโล”ไวน์ชุมชน แห่งตำบลมอนตาลชิโน

Biondi Santi ตระกูลบุกเบิกไวน์บรูเนลโล

montalcino

หนึ่งในไร่องุ่นในมอนตาลชิโน

องุ่นซานโจเวเซ กรอสโซ

ไวน์บรูเนลโล ดิ มอนตาลชิโน ได้รับ GI ในไทย

ราชาแห่งซานโจเวเซ

ถังบ่มไวน์บรูเนลโล

ตำบลมอนตาลชิโน

ตำบลมอนตาลชิโน

ตราประจำตำบล“ไวน์ บรูเนลโล ดิ มอนตาลชิโน ถือกำเนิดในแคว้นทัสกานี หรือทอสกานา ที่จังหวัดซีเอนา ตำบลมอนตาชิโน ไวน์บรูเนลโล ดิ มอนตาลชิโน ถูกจัดคุณภาพอยู่ในระดับ DOC (Denominazione di Origine Controllata) ในปี ค.ศ.1966 และเลื่อนระดับชั้นคุณภาพให้ใช้ระดับ DOCG (Denominazione di Origine Controllata e Garantita) ในปี ค.ศ.1980
คำนิยาม
บรูเนลโล ดิ มอนตาลชิโน (Brunello di Montalcino) หมายถึงไวน์แดงที่ผลิตจากผลองุ่นพันธุ์ซานโจเวเซ (Sangiovese) ที่ได้จากไร่องุ่นที่ปลูกในเขตพื้นที่ตำบลมอนตาลชิโน จังหวัดซิเอนา แคว้นทัสกานี ประเทศอิตาลี และผ่านกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนรวมทั้งการจำหน่ายเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ได้คุณภาพตามหลักประเพณีที่ถือ ปฏิบัติสืบต่อกันมา
ลักษณะของสินค้า
ไวน์แดง สีแดงทับทิมเข้มค่อนไปทางโกเมน กลิ่นจำเพาะและเข้มข้น มีรสชาติของแทนนิน (กรดจากเปลือกไม้) เล็กน้อย เข้มข้น กลมกลืนและคงทน ระดับแอลกอฮอล์ ไม่ต่ำกว่า 12.5 %
การปลูกและเก็บเกี่ยว
(1) พันธุ์องุ่นที่ใช้ คือ พันธุ์ซานโจเวเซ ซึ่งในตำบลมอนตาลชิโนเรียกว่า บรูเนลโล เพียงชนิดเดียวเท่านั้น
(2) ต้องปลูกในไร่องุ่นที่อยู่ในเขตตำบลมอนตาลชิโน จังหวัดซิเอนา
(3) สภาวะการปลูกในไร่องุ่นต้องมีความเหมาะสมที่จะให้ผลผลิตองุ่นและไวน์ที่ทำจากผลผลิตมีคุณลักษณะเฉพาะตามกฎเกี่ยวกับการผลิต เช่น พื้นดินเหมาะสมอยู่ในตำแหน่งเนินเขา สูงไม่เกิน 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีแสงแดด เพียงพอต่อการเติบโตขององุ่น ความหนาแน่นในการปลูก และปริมาณสูงสุดของผลองุ่นต่อพื้นที่ 1 เฮกตาร์ เป็นตามที่กำหนด
(4) ห้ามทำการบ่มองุ่นให้สุกโดยเด็ดขาด
การพิสูจน์แหล่งกำเนิด
(1) ไวน์บรูเนลโล ดิ มอนตาลชิโน ต้องผลิตและบรรจุหีบห่อในพื้นที่ตำบลมอนตาลชิโน จังหวัดซิเอนา
(2) ผลองุ่นซานโจเวเซที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไวน์บรูเนลโล ดิ มอนตาลชิโน จะต้องมาจากที่พื้นที่การผลิตที่ได้รับอนุญาตในเขตตำบลมอนตาลชิโน”…
********
ทั้งหมดนั้นคือส่วนหนึ่งของบัญชีแนบท้าย ทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่คอนซอร์ซิโอ เดล วีโน บรูเนลโล ดิ มอนตาลชิโน (Consorzio de Vino Brunello di Montalcino) ที่อยู่กอสตา เดล มูนิซิปิโอ 1,530245 มอนตาลชิโน ซิเอนา ประเทศอิตาลี ได้ยื่นขอจดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย ตามคำขอเลขที่ 4920002 ทะเบียนเลขที่ สช 50200016 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2549 วันที่ประกาศโฆษณาการแก้ไขทะเบียน 13 มกราคม 255
นั่นหมายความว่า “ไวน์บรูเนลโล ดิ มอนตาลชิโนได้รับการคุ้มครองทางทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากจะต้องผลิตตามกรรมวิธีที่ระบุไว้แล้ว ยังห้ามมิให้ผู้ใดลอกเลียนแบบการผลิตอีกด้วย”…
ไวน์ “บรูเนลโล ดิ มอนตาลชิโน” (Brunello di Montalcino) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่าไวน์ “บรูเนลโล” (Brunello) นั้นเป็นมากกว่าน้ำองุ่นที่ถูกนำมาหมักเป็นไวน์ แต่หมายถึงจิตวิญญาณ ธรรมเนียม สายเลือด และตำนานของชาวมอนตาลชิเนเซ (Montalcinese) แห่งตำบลมอนตาลชิอาโน (Comune di Montalcino) ที่สั่งสมกันมากว่า 100 ปี
“มอนตาลชิโน” เป็นชื่อตำบลหรือคอมมูเนของแคว้นทัสคานี (Tuscany) อยู่บนเนินเขาทางทิศใต้ของเมืองซิเอนา (Siena) และห่างจากเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) เมืองหลวงของทัสกานีและบ้านเกิด อ.ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ประมาณ 120 กิโลเมตร จากฟลอเรนซ์ จะไปมอนตาลชิโนต้องผ่านซิเอนา โดยมอนตาลชิโนมีพื้นที่ประมาณ 243 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 5,272 คน
ก่อนจะมาเป็นไวน์ “บรูเนลโล” นั้น ในช่วงศตวรรษที่ 17-18 ชาวมอนตาลชิเนเซและชุมชนใกล้เคียง นิยมดื่มไวน์วิโน ฟริซซานเต (Vino Frizzante) ซึ่งเป็นไวน์แดงมีฟองเล็กน้อย
กระทั่งปี 1870 แฟร์รุชโช บิออนดิ ซานติ (Ferruccio Biondi Santi) ได้นำเอาองุ่นซานโจเวเซ (Sangiovese) ซึ่งเป็นองุ่นพื้นเมืองของแคว้นทัสกานี มาตัดต่อกิ่งเพื่อให้ทนโรค แล้วตั้งชื่อว่า “ซานโจเวเซ กรอสโซ” (Sangiovese Grosso) นำมาปลูกในไร่อิล เกรปโป (Il Greppo) แต่เกษตรกรในพื้นที่เรียกว่า ”บรูเนลโล” (Brunello) เมื่อทำไวน์ออกมาแล้วจึงเรียกว่า “Brunello di Montalcino” หรือไวน์ “บรูเนลโล แห่งมอนตาลชิโน”
ปี 1988 ฟรานเชสโก คอสซิกา (Francesco Cossiga) ประธานาธิบดีคนที่ 8 ของอิตาลี ได้จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ “100 ปี บรูเนลโล” อย่างยิ่งใหญ่
หลังจากนั้นไวน์ ”บรูเนลโล” ก็ผ่านพัฒนาการด้านต่าง ๆ มาเรื่อย ๆ และมีวิธีผลิต 2 แบบคือแบบดั้งเดิม (Traditionally Styled) มีการบ่มไวน์ในถังไม้ขนาดใหญ่หรือบ๊อตติ (Botti) เป็นถังสลาโวเนียน โอ๊ค (Slavonian Oak) หรือถังไม้เชสนัท (Chestnut) อีกกลุ่มหนึ่งใช้วิธีผลิตแบบสมัยใหม่ (Modern Interpretations) ที่มีการบ่มไวน์ในถังบาร์ริก (Barrique)ไวน์กลุ่มนี้ตอบสนองผู้บริโภคในต่างประเทศ
ปัจจุบันมีผู้ผลิตบรูเนลโลกว่า 200 ราย ผลผลิตไวน์กว่า 7 ล้านขวด อย่างไรก็ตามเกษตรกรส่วนใหญ่มีพื้นที่ประมาณ 10-20 เฮกตาร์ ทำไวน์โดยใช้แรงงานคน และเชื่อมั่นในมันสมองและสองมือของพวกเขา ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่หลายราย เป็นนายทุนนอกพื้นที่เข้ามาทำไวน์ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ ๆ แน่นอนว่ารสชาติของไวน์ต่างกัน
นอกจากไวน์ “บรูเนลโล” แล้วมอนตาลชิโน (Brunello di Montalcino) ยังผลิตไวน์เกรดดีโอซี (DOC) อีก 3 ตัวคือ รอสโซ ดิ มอนตาลชิโน (Rosso di Montalcino),ซานตันติโม (Sant’Antimo) และมอสกาเดลโล ดิ มอนตาลชิโน (Moscadello di Montalcino)
“ไวน์บรูเนลโล” นับเป็นไวน์ที่ทำให้ตำบลเล็ก ๆ อย่าง “มอนตาลชิโน” เป็นแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่ในโลกของเมรัยอมตะ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ”บรูเนลโล ดิ มอนตาลชิโน” นั้นเป็น “ราชาแห่งซานโจเวเซ” (The King of Sangiovese)

*******

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...