“บลัวส์”
หนึ่งเสี้ยวประวัติศาสตร์ไทย
วันที่ 22 – 23 กรกฎาคม พ.ศ.2229 ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งต้องบันทึกไว้ถึงการเจริญสัมพันธไมตรีของ 2 ประเทศ คือกรุงสยามรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับ ฝรั่งเศสที่ปกครองโดย พระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 สมัญญาว่าหลุยส์ พระอาทิตย์ (Le Roi de Soleil)
คณะราชทูตสยามที่มีออกพระวิสุทธิสุนทร (ปาน) เป็นอัครราชทูต เดินทางโดยทางเรือใช้เวลา 7 เดือน เพื่อไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส เมื่อกลับมาออกพระวิสุทธิสุนทร (ปาน) ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดีแทนพี่ชายคือเจ้าพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก) และเราคุ้นกับชื่อของท่านคือเจ้าพระยาโกษาปาน นั่นเอง
คณะทูตเหยียบแผ่นดินฝรั่งเศสที่เมืองแบรสต์ แคว้นบริตานี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2229 แล้วเดินทางเรื่อยลงมาทางใต้เพื่อไปยังปารีส ช่วงหนึ่งได้ลัดเลาะตามเมืองต่าง ๆ ริมฝั่งน้ำลัวร์ และมาพักที่เมืองบลัวร์ ใน 2 วันดังกล่าว
เมือง “บลัวส์” (Blois) ที่คนฝรั่งเศสออกเสียงกระเดียดไปทาง “บล๊วกส์” เป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่สมัยโกล (Gaul) เข้ามาอยู่แถบนี้ อยู่ห่างจากปารีส 180 กิโลเมตร เป็นเมืองหลวงของเขตลัวร์ เอต์ แชร์ (Loir-et-Cher) ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลัวร์ (Loire) ระหว่างเมืองออร์เลอองส์ (Orléans) กับเมืองตูร์ส (Tours)
ท่านที่เคยอ่านเรื่องมหาปราสาท “ชอมบอรด์” (Chambord) ที่ผมเขียนไปเมื่อไม่นานนี้คงจำได้ ว่าเจ้าพระยาโกษาปาน เคยพักที่ชอมบอร์ดด้วย แต่ก่อนที่ท่านจะไปพักที่นั่นได้แวะพักที่เมืองบลัวร์ 2 คืนดังกล่าว โดยเดินทางมาจากเมืองตูร์ แล้วแวะเมืองบลัวส์ซึ่งเป็นเมืองที่บรรดาลูกหลวงเดินทางมาศึกษาหาความรู้ หลังจากนั้นจึงเดินทางไปพักต่อ ณ ปราสาทชอมบอร์ดที่อยู่ห่างจากเมืองบลัวส์ประมาณ 15 กิโลเมตร
เมืองบลัวส์มีชาโต เดอ บลัวส์ (Château de Blois หรือ Château Royal de Blois) หรือ “ปราสาทแห่งเมืองบลัวส์” เป็นเสน่ห์สำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว และผู้ที่หลงใหลเสน่ห์ของศิลปะแห่งชาโตลุ่มน้ำลัวร์ ดังนั้นทริปนี้จึงขอโฟกัสที่ปราสาทบลัวร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 29 กลุ่มปราสาทงดงามแห่งลุ่มน้ำลัวร์ และเป็น 1 ในชาโตที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส
ปราสาทเมืองบลัวร์ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบลัวร์ ใช้เวลาในการสร้างถึง 4 ศตวรรษ ประกอบด้วยปราสาท 4 หลังในสไตล์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เชื่อมโยงกันด้วยศิลปะแบบกอธิกส์ เรอเนส์ซองส์ อิตาเลียน และเฟรนช์คลาสสิก เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมศิลปะในช่วงเวลาดังกล่าวได้อย่างลงตัว โดยส่วนที่มีชื่อเสียงที่สุดคือบันไดวน และลวดลายศิลปะด้านหน้าอาคาร เอกสารหรือแผ่นพับเชิญชวนท่องเที่ยวก็ใช้ตรงนี้พิมพ์หน้าปก
ปราสาทเมืองบลัวร์ กำเนิดเมื่อดยุค หลุยส์แห่งออร์เลอองส์ (Louis, duc d’Orléans) พระญาติพระเจ้าชาร์ลที่ 6 กษัตริย์พระองค์ที่ 4 แห่งพระราชวงศ์วาลัวส์ ได้ซื้อปราสาทเก่าของเมืองนี้ไว้เป็นสมบัติ ในปี 1391 ต่อมาทายาทชาร์ลส์แห่งออร์เลอองส์ได้ตกเป็นเชลยของอังกฤษถึง 25 ปี จากสงครามอังกฤษ – ฝรั่งเศสที่อาแซงกูร์ โอรสของชาร์ลส์แห่งออร์เลอองส์ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 ทรงสร้างปราสาทใหม่ที่เมืองบลัวส์ โดยใช้วิธีเสริมต่อกับปราสาทเก่า และตกแต่งให้สวยงาม สลักพระรูปพระองค์กำลังทรงม้าที่เหนือประตูทางเข้า เป็นต้น
หลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 สวรรคต ฟรองซัวส์ที่ 1 (François l) ขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ประทับอยู่ที่นี่พักหนึ่ง ก่อนจะไปสร้างปราสาทชอมบอร์ด ต่อมาแพ้สงครามต่อสเปน ถูกกักเป็นเชลย 1 ปี หลังจากเสด็จกลับมาก็ไม่สนพระทัยปราสาทเมืองบลัวส์ โดยไปประทับที่ออมบัวส์(Château d’Amboise) และซอมบอรด์ทั้งที่ยังไม่เสร็จ
อองรีที่ 3 (Henry III) ย้ายเมืองหลวงจากปารีสมาที่บลัวร์ ในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มนิกายคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ ก่อนหน้านั้นสมัยอองรีที่ 2 พยายามไกล่เกลี่ยแต่ไม่สำเร็จ ส่วนหนึ่งเพราะเล่ห์เพทุบาย ของคัธรีนแห่งเมดิชิ (Catherine de’ Medici) พระชายาชาวฟลอเรนซ์,อิตาลีที่วางแผนสังหารหมู่กลุ่มนิกายโปรแตสแตนต์ในคืนของวันนักบุญเซนต์ บาโธโลมิวปี พ.ศ. 2115 จนกลายเป็นตำนานเลือด
เรื่องราวมาตรกรรมพี่น้องตระกูลกีส (Guise) และร้อยเล่ห์ของคัธรีนแห่งเมดิชิ (Catherine de Medici ) พระมารดาของกษัตริย์ฝรั่งเศส 3 พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์วาลัวส์ (ถ้ารวมพระราชบุตรเขยด้วยก็เป็น 4 พระองค์) เป็นการสิ้นสุดราชตระกูลที่ 3 ที่ปกครองฝรั่งเศส คือราชวงศ์วาลัวส์ (Valois)
อองรีที่ 3 เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์วาลัวส์ ซึ่งถูกสังหารโดยบาทหลวงฌากส์ เกลมองต์ ต่อมาอองรีแห่งนาวารร์ หัวหน้าฝ่ายโปรเตสแตนต์ได้สืบราชสมบัติเป็นพระเจ้าอองรีที่ 4 เป็นต้นราชวงศ์บูร์บอง (Bourbon) และเปลี่ยนไปเข้านิกายคาทอลิกเพื่อเอาใจชาวฝรั่งเศส พร้อมกับให้ปารีสเป็นเมืองหลวงของฝรั่งเศสตั้งแต่นั้น โดยกล่าวประโยคที่มีชื่อเสียงว่า “Paris is worth a mass”
รัชทายาทของพระเจ้าอองรีที่ 4 ที่คนไทยรู้จักกันดีคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่เจ้าพระยาโกษาปาน นำคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีตามที่กล่าวในตอนต้น และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นี่เองที่พยายามชักชวนให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเปลี่ยนศาสนาไปนับถือคาทอลิก
ในห้องหนึ่งของปราสาทเมืองบลัวร์ ยังมีเตียงบรรทมของอองรีที่ 3 มีม่านห้อยประดับล้อมรอบเตียง เพื่อกั้นให้เป็นส่วนตัวและช่วยเพิ่มความอบอุ่น ขณะที่เตียงสั้นมากจนคนทั่วไปคิดว่าพระองค์มีพระวรกายเตี้ย ความจริงก็คือพระองค์มีพระประสงค์จะบรรทมในท่าครึ่งนั่งครึ่งนอน หลังเอนหนุนหมอนหลาย ๆ ใบ ตามความเชื่อถือโชคลางว่าการนอนราบคือท่านอนของคนตาย
จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญมาตรกรรมดยุคแห่งกีส (Duc de Guise) ดังกล่าวทำให้จิตรกรหลายคนใช้จินตนาการวาดภาพจำลองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นไว้ ส่วนหนึ่งถูกนำมาแขวนไว้ ณ ปราสาทแห่งนี้ เช่นในห้องบรรทมของพระเจ้าอองรีที่ 3 มีภาพดยุคแห่งกีส นอนตายอยู่ในห้องบรรทม วาดโดยปอล เดลาโรซ เป็นต้น
มาถึงเมืองบลัวร์แล้วต้องกินอาหารพื้นเมืองของเขา ที่แนะนำเป็นพิเศษคือพวกกุ้ง หอย ปู ปลา จากแม่น้ำลัวร์ ซึ่งมีให้เลือกตามร้านเล็กร้านน้อยไปจนถึงภัตตาคารตามโรงแรม และที่ขาดไม่ได้คือต้องกินกับไวน์ขาวชื่อดังของแคว้นลัวร์คือ ซองแซร์ (Sancerre) และปุยญี – ฟูเม (Pouilly-Fumé) ที่ทำจากองุ่นโซวีญยอง บลัง (Sauvignon Blanc) กลับมาเมืองไทยท่านที่ไม่ชอบไวน์ขาวต้องเปลี่ยนใจ ส่วนท่านที่ชอบไวน์ขาวอยู่แล้วยิ่งรักมากขึ้น แต่ถ้าชอบไวน์แดงก็ไม่ผิดหวังเพราะไวน์แดงของลัวร์ส่วนใหญ่ทำจากกาแบร์เนต์ ฟรัง (Cabernet Franc) และปิโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) ที่ดื่มง่าย ๆ หลายยี่ห้อเข้ากับซีฟู้ดได้ดีด้วย
หนึ่งในร้านอาหารที่ผมชอบอยู่ในโรงแรมเลอ เมดิซิส์ (Le Medicis) เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว เล็ก ๆ แต่น่ารัก อยู่ห่างจากปราสาทบลัวร์ประมาณ 1 กิโลเมตร ทำอาหารได้อร่อยมาก โดยเฉพาะอาหารประเภทปลาพื้นเมืองจากแม่น้ำลัวร์ เช่น Muge de Loire ส่วนอีกจานเป็นเนื้อลูกวัวชื่อ Confit de Veau faom osso-buco เป็นต้น
จริง ๆ แล้วร้านที่ผมอยากไปมาก หลังจากไปครั้งแรกเมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อนหน้านี้คือร้าน L’Orangerie du Chateau อยู่ตรงกันข้ามกับปราสาทบลัวร์นั่นเอง เป็นร้าน 1 ดาวมิเชอลิน ปรากฏว่าตรงกับวันพุธเขาหยุด ตัวร้านสวยมากสร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เป็นอาหารฝรั่งเศสตอนเหนือ (Haute Cuisine) ท่านที่ไปเมืองบรัวส์ควรแวะร้านนี้
ปัจจุบันปราสาทเมืองบลัวส์อยู่ในการดูแลของรัฐบาลท้องถิ่นเมืองบลัวร์ ตอนที่ผมไปนั้นเสียค่าเข้า 7 ยูโร การเดินทางสนามบินที่ใกล้ที่สุดคือปารีสแล้วไปโดยทางรถยนต์ประมาณ 2 ชั่วโมง หรือโดยรถไฟ Austerlitz ถ้าจะไปโดยรถด่วนเตเจเว (TGV) ต้องไปลงที่เมืองตูส์ แล้วต่อรถอีกประมาณ 40 นาที