“แหลมกู๊ดโฮป” อดีตหลอนคณะทูตไทย

หลอดที่เคยให้แสงสว่างประภาคาร

Cape Agulhas จุดใต้สุดของทวีปแอฟริกา

Cape Peninsular

Honeybush

Rooibos1

Three Peaks Challenge-Panorama

เจ้าถิ่น

ซากเรือที่ Cape Agulhas

นกกระจอกเทศริมทาง

ประภาคารบน Cape Point

แผนที่ Cape of Good Hope

เพนกลินและคนดูที่ Boulders

มือปราบบาบูน

เมนูเด็ดร้าน Black Marine

ร้านขายของที่ระลึกหน้า Boulders

สถานีรถรางขึ้นประภาคาร “…วาสโก ดา กามา แล่นเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป ปลายทวีปแอฟริกาได้สำเร็จเป็นคนแรก….”
หน้าหนึ่งของตำราภูมิศาสตร์ที่เคยเรียนมาในครั้งอดีตซึ่งคนที่อายุเกินเลข 4 น่าจะเคยผ่านมาแล้ว และเมื่อเปิดแผนที่ดูย่อมคิดว่าเจ้าติ่งแหลม ๆ ปลายสุดของพื้นทวีปคือ “แหลมกู๊ดโฮป” (Cape of Good Hope)
จริง ๆ แล้วอาณาบริเวณดังกล่าวเรียกว่า Cape Point และไม่ใช่จุดต่ำสุดของแหลม เพราะแหลมที่อยู่ปลายสุดของทวีปแอฟริกาดังกล่าวชื่อ แหลมอะกะลัส (Cape Agulhas) เป็นแหลมหินที่เป็นจุดแบ่งอย่างเป็นทางการระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรอินเดียของทวีปแอฟริกา อยู่ห่างจากแหลมกู๊ดโฮปไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 150 กิโลเมตร และเป็นจุดใต้สุดของทวีปแอฟริกา
Cape of Good Hope เป็นแหลมที่ยื่นออกไปทางด้านมหาสมุทรแอตแลนติก เป็นแหลมที่สำคัญที่สุดแหลมหนึ่งในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ และมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับกะลาสีมาเป็นเวลานาน จนได้รับสมญาที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “the Cape” โดย Cape Point และ Cape of Good Hope ตั้งอยู่ในส่วนที่เรียกว่า Cape Peninsula ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Table Mountain National Park มีความยาวประมาณ 52 กิโลเมตร ใต้สุดคือ Cape Point และ Cape of Good Hope ดังกล่าว เหนือสุดคือภูเขาโต๊ะ หรือ Table Mountain โดยอยู่ทางใต้ของเมืองเคปทาวน์ (Cape Town) ประมาณ 60 กิโลเมตร
Cape of Good Hope ในเขตสงวน Cape of Good Hope Nature Reserve ปลายสุดของแหลม Cape Agulhas ซึ่งมีประภาคาร มองเห็นรอยตะเข็บที่มหาสมุทรอินเดียกับแอตแลนติกมาพบกันได้ บนผิวน้ำอากาศบริเวณนี้จะแปรปรวนในทะเลมีหมอกจัด เพราะกระแสน้ำที่มีอุณหภูมิไม่เท่ากันมาปะทะกัน ก่อให้เกิดภาพหลอนมิติอันลึกลับและเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับฟลายอิ้งดัตซ์แมน ( Flying Dutchman) ยากต่อการเดินเรือในสมัยโบราณ เรือที่พยายามจะอ้อมผ่านแหลมกู๊ดโฮปแต่ทำไม่สำเร็จ สูญหายไปเป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้ว มิติหลอนดังกล่าวก็ยังหลอกหลอนมาจนทุกวันนี้
ที่สำคัญคนไทยก็เคยเจอพิษสงของ Cape of Good Hope มาแล้ว โดยในปี 2227 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงส่งคณะทูตไทยไปโปรตุเกส ประกอบด้วย ออกพระวิสูตรสิน (Opra Visuta Sinea) เป็นราชทูต ออกหลวงสำเร็จไมตรี (Loang Samrett Maitrij) เป็นอุปทูต และออกขุนชำนาญเป็นตรีทูต คณะทูตชุดนี้ไปไม่ถึงโปรตุเกส เพราะเรือไปแตกใกล้แหลมกู๊ดโฮป ต้องผจญวิบากกรรมแสนสาหัส และส่วนใหญ่ต้องเสียชีวิตไปกับความหิวโหยในป่า
เหตุการณ์ครั้งนั้นบันทึกไว้โดยบาทหลวงตาชาร์ด ในระหว่างการเดินทางไปฝรั่งเศส พร้อมด้วยขุนนางไทยที่ทำหน้าที่เป็นคณะทูต โดยออกขุนชำนาญหนึ่งในผู้รอดชีวิต ได้เล่าถึงการผจญภัยจนแทบเอาชีวิตไม่รอดให้บาทหลวงตาชาร์ด และบาทหลวงอ้างว่าได้บันทึกคำให้การแบบคำต่อคำไว้ในหนังสือ “จดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่ 2 ของบาทหลวงตาชาร์ด” ตีพิมพ์ในฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.2232 หนังสืออุโฆษสมัยนำมาแปลเป็นภาษาไทย พิมพ์แจกนักเรียนในปี พ.ศ. 2461 ต่อมากรมศิลปากรนำมาพิมพ์เป็นเล่มอีกครั้ง โดยให้สันต์ ท.โกมลบุตร เป็นผู้แปล
ออกขุนชำนาญเล่ามูลเหตุของการเดินทางครั้งนี้ว่า เมื่อพระเจ้าโปรตุเกสได้ทรงส่งราชทูตมาเพื่อเจริญพระราชไมตรีกับกรุงสยาม สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงตั้งคณะทูตเพื่อตอบสนองพระราชไมตรี คณะทูตานุทูตประกอบด้วยราชทูต อุปทูต ตรีทูต ขุนนาง และผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ออกเดินทางจากสยามราวสิ้นเดือนมีนาคม 2227 โดยสำเภาหลวงมีกัปตันเป็นชาวโปรตุเกส ใช้เวลาเดินทาง 5 เดือนถึงเมืองกัว (Goa) ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส อยู่ไม่ห่างจากสยามเท่าไรนัก แต่ต้องเสียเวลามากเพราะกัปตันและต้นหนเรือไม่ชำนาญ ทำให้ไปไม่ทันลงเรือของกองทัพเรือโปรตุเกส ซึ่งเป็นเรือใหญ่สำหรับเดินทางในทะเลลึก คณะทูตจึงต้องรอเรือเที่ยวใหม่อยู่ที่เมืองกัวถึง 11 เดือน จนกระทั่งได้ลงเรือมรณะซึ่งเป็นเรือรบของพระเจ้ากรุงโปรตุเกส ติดปืนใหญ่ 30 กระบอก มีลูกเรือถึง 150 คน นอกจากนั้นก็เป็นคณะทูตจากสยาม นักบวชนิกายต่างๆ คนผิวขาวที่เกิดในอาณานิคม ชาวอินเดียและชาวโปรตุเกส
“…เรากางใบออกจากอ่าวจอดเรือที่เมืองกัวเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๒๒๙ และเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ราวตอนเที่ยงคืนเราก็ไปอับปางลงที่แหลมแดส์ เอกียส์…” ….. แหลมแดส์ เอกียส์ (des Aiguilles หรือ Cape Agulhas) เป็นแหลมที่อยู่ทางปลายสุดของทวีปแอฟริกา มีชุมชนชาวฮอลันดามาตั้งหมู่บ้าน และท่าเรือตั้งแต่ปี 2194 จาก Cape Agulhas ไปแหลมกู๊ดโฮปจะต้องอ้อมเกาะขึ้นเหนือไป ดังนั้นเรือที่มาจากทางตะวันออกจะต้องผ่าน Cape Agulhas นี้ก่อนที่จะถึงแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งจุดแวะพักสำคัญของเรือที่จะเดินทางไปทวีปยุโรป หรือเอเชีย……
นั่นเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทยและเชื่อว่าไม่ค่อยมีคนรู้ จริง ๆ มียาวกว่านี้ ผมคัดลอกเอามาเฉพาะบางตอน ในช่วงที่เกี่ยวข้องกับ Cape Agulhas และ Cape of Good Hope
การไปเยือน Cape of Good Hope ครั้งนี้ผมเดินทางลงมาจากเมืองเคปทาวน์แล้วขึ้นไปชมวิวบนภูเขาโต๊ะ (Table Mountain) ประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นแวะอ่าว Hout Bay อยู่ริมถนนสาย Chapman’s Peak Drive ของ Cape Peninsula และอยู่ฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก เป็นอ่าวที่ปลาวาฬชอบเข้ามาหาอาหารซึ่งอุดมสมบูรณ์ในช่วงอบอุ่นของหน้าหนาว แต่วันนั้นไม่เจอแม้แต่ตัวเดียว
ผิดหวังจากปลาวาฬก็เลยตัดมาทางริมฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ที่เมือง Simon Town ทักทายนกเพนกวินที่หาด Boulders คราวนี้ไม่ผิดหวังมีนกเพนกวินเต็มชายหาด เป็นเพนกวินแอฟริกา (African Penguin) ตัวเล็กน่ารัก และสีดำ-ขาว ไม่มีสีเหลืองแซมเหมือนเพนกวินขั้วโลก มีการทำสะพานไม้ยาว ๆ ล้อมรั้วโปร่งเตี้ยๆ ไว้ให้คนดูความเป็นอยู่ของเพนกวินที่อยู่ข้างทางอย่างใกล้ชิด African penguin เป็นสัตว์คุ้มครองที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หาดูได้เฉพาะบริเวณน่านน้ำตะวันตกเฉียงใต้ของแอฟริกาใต้ ด้านนอก Boulders มีร้านขายของที่ระลึกเยอะแยะไปหมด ส่วนใหญ่เป็นของพื้นเมือง
มื้อเที่ยงถูกเตีรยมไว้ที่ร้านซีฟู้ดชื่อดัง Black Marine นั่งได้ประมาณครึ่งชั่วโมงก็มีเสียงลูกค้าหลายโต๊ะด้านหนึ่งของร้านส่งเสียงร้องอย่างตกใจ เพราะลิงบาบูนตัวโตกระโดดขึ้นไปบนโต๊ะพร้อมหยิบอาหารของลูกค้าหลายโต๊ะ มีผู้ชายคนหนึ่งถือกล่องบางอย่างคลุมด้วยผ้าสีดำวิ่งเข้าไปหาบาบูน ตอนแรกคิดว่าเป็นช่างภาพทีวี.จะวิ่งไปถ่ายบาบูน พอบาบูนเห็นก็รีบกระโดดหนีไปตามโต๊ะต่าง ๆ ชายคนนั้นซึ่งมารู้ตอนหลังว่าเป็นเจ้าของร้าน ก็เปิดผ้าคลุมสีดำออกมาปรากฏว่าเป็นปืนใช้ยิงบาบูน ตอนหลังเขาบอกว่าเป็นปืนลมยิงไล่หรือแค่เจ็บ ๆ ไม่ถึงตาย เพราะผิดกฏหมาย
ถนน Cape Peninsular เลียบเลาะชายฝั่งทะเล ตัดผ่าน Cape Peninsula National Park ตรงไปยัง Cape Point สองข้างถนนเป็นทุ่งกว้างสลับกับเนินเตี้ย ๆ เต็มไปด้วยพุ่มไม้และดอกไม้ป่านานาชนิด ซึ่งเรียกรวมกันว่า Frynbos มีหลายพันชนิด และส่วนใหญ่มีเฉพาะที่นี่ และเป็นแหล่งที่มีพืชเศรษฐกิจอย่าง Rooibos และ Honeybush ที่ถูกเก็บเกี่ยวไปทำชา ในบ้านเราก็มีชาพวกนี้ขาย
ถนนจะแยกออกเป็นสองทาง สายหนึ่งขึ้นเนินไปสิ้นสุดที่สถานีรถราง ที่จะพานักท่องเที่ยวขึ้นไปชมวิวบนยอดเนินระยะทาง 585 เมตร ส่วนอีกสายหนึ่งพาลงไปเลียบริมฝั่งทะเล ตรงไปที่ปลายแหลมกู๊ดโฮป ก่อนเข้าสถานีรถรางมีรูปหล่อลิงบาบูน ร้านขายของที่ระลึก ห้องน้ำ และร้านอาหาร ถ้าอยากออกกำลังกายหรือไม่อยากเสียค่ารถราง จะเดินขึ้นตามบันไดก็ได้เพื่อดูทิวทัศน์ไปด้วย แต่ถ้ามีเวลาไม่มากขอแนะนำให้ขึ้นรถราง แล้วขากลับค่อยเดินลง ชมนก ชมไม้ และทะเลสีคราม โชคดีอาจเจอนกกระจอกเทศ โชคไม่ดีอาจเจอลิงบาบูน
ด้านบนเนินเขามีพิพิธภัณฑ์เรือจมขนาดจิ๋ว ร้านขายของที่ระลึกส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเดินเรือในอดีต ก่อนจะเดินขึ้นไปถึงจุดชมวิวข้างประภาคาร พร้อมป้ายบอกระยะทางว่า ณ ที่ตรงนี้ห่างจากเมืองสำคัญ ๆ ของโลกกี่ไมล์ นอกจากจะมองเห็นรอยตะเข็บที่ 2 มหาสมุทรมาเจอกันแล้ว ยังมองเห็นชายหาด และแหลม 3-4 แหลม บางแหลมมีบ้านหลังเล็ก ๆ บนหน้าผา ด้านหนึ่งเป็นแหลม Cape Point อีกด้านหนึ่งเป็นแหลม Cape Maclear ซึ่งแหลมนี้เองจะบดบังแหลมกู๊ดโฮปไว้ จนคนส่วนใหญ่คิดว่าแหลมใดแหลมหนึ่งเป็นแหลมกู๊ดโฮป
จากการที่สมัยโบราณมีเรือมาอับปางมากมายในบริเวณแหลมแห่งนี้ จึงมีการสร้างประภาคารที่เห็นเป็นหลังคาแดง ๆ ขึ้นมา ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 209.5 เมตร แต่ต่อมาพบว่าประภาคารอยู่สูงมากเกินไป เมื่อมีหมอกลงจัด ๆ เรือก็ยังไม่สามารถมองเห็นอยู่ดี จึงมีการสร้างประภาคารใหม่ที่อยู่ต่ำลงไปอีกเล็กน้อย ดวงไฟของประภาคารแห่งใหม่ถูกจุดขึ้น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 1919 ในเวลาที่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ผู้จุดไฟคือลูกสาววัย 3 ขวบของวิศวกร
Bartolomeu Dias นักเดินเรือชาวโปรตุเกส เป็นชาวยุโรปคนแรกที่มาถึง Cape of Good Hope ประมาณปี 1488 เพื่อบุกเบิกเดินเรือเพื่อค้าขายกับตะวันออกไกล แล้วพบว่าเป็นเส้นทางที่คลื่นลมรุนแรงมาก เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือจึงเรียกว่า Cabo das Tormentas หรือ “แหลมแห่งพายุบ้าคลั่ง” (Cape of Storm) ก่อนที่ John II แห่งโปรตุเกสจะเปลี่ยนชื่อเป็น Cabo da Boa Esperanca หรือ Cape of Good Hope ขณะที่ภาษาแอฟริกันเรียกว่า Die Kaap van Goeie Hoop
ที่ปลายแหลมมีป้าย Cape of Good Hope พร้อมตัวเลขบอกพิกัดให้แย่งกันถ่ายรูป นี่คือบริเวณที่เรียกว่า Cape of Good Hope ของจริง ถ้าไปกับทัวร์ที่เวลาเร่งรัดมาก ๆ มักจะพาไปเพียงจุดชมวิวด้านบน แล้วเหมารวมบอกว่าเป็นแหลม Cape of Good Hope ทั้งที่จริงแล้วแหลมกู๊ดโฮปต้องลงไปข้างล่างที่ชายทะเลตรงนี้
การเดินทางจากเมือง Cape Town ไปยัง Cape Peninsula เพื่อสัมผัสกับ Cape of Good Hope นั้นค่อนข้างลำบาก ถ้าไปคนเดียวหรือน้อยคนราคาจะแพง ทางที่ดีคือซื้อทัวร์หรือเหมารถไปเป็นหมู่คณะ ซึ่งมีบริการมากมาย สามารถสอบถามได้จากโรงแรมที่พัก.

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...