“บักกิงแฮม พาเลซ จิน” จินแห่งพระราชวังอังกฤษ

buckingham-palace-gin-image

Hawthorn Berries

Lemon

Mulberry Leaves

Verbena

การกลั่นจินยุคแรก ๆ

จินแห่งพระราชวังบักกิงแฮม

ด้านหน้าบักกิงแฮม

ทรงเสวยจินวันละ 1 แก้วทุกวัน

31 Aircraft mark The Queen’s 90th Birthday with flypast

ภาพ Gin Lane

มุมหนึ่งของสวนในวัง

4

Buckingham Palace Ginเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พระราชวังบักกิงแฮม (Buckingham Palace) แห่งอังกฤษ ได้เปิดตัว “บักกิงแฮม พาเลซ จิน” (Buckingham Palace Gin) ต่อสาธารณชน สร้างความฮือฮาให้กับคนรักจินทั่วโลกพอสมควร เป็นจินสไตล์ “ลอนดอน ดราย จิน” (London Dry Gin) ที่ผลิตจากวัตถุดิบ 12 ชนิด เช่น Lemon, Verbena,Hawthorn Berries และ Mulberry Leaves ที่เก็บด้วยมือจากสวนพฤกษ์ศาสตร์แห่งพระราชวังที่มีพื้นที่กว่า 100 ไร่ แคแลคเตอร์หลัก ๆ คือมีกลิ่นหอมหลัก ๆ คือ ซีททรัส และเฮิร์บ บรรจุภัณฑ์เป็นขวดแก้ว ลายดอกไม้สีฟ้าสะอาดตา ขนาดบรรจุ 70 เซนติลิตร แอลกอฮอล์ 42%
Buckingham Palace Gin ไม่มีการส่งออก ขายเฉพาะในสหราชอาณาจักรเท่านั้น และไม่ขายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เริ่มขายวันแรกเมื่อวันที่ 23 ก.ค.63 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกที่เปิดพระราชวังรับนักท่องเที่ยวนั่นเอง ในราคาขวดละ 40 ปอนด์สเตอร์ลิง หรือประมาณ 1,600 บาท มีจำหน่ายที่ Royal Collection Trust Shops และสั่งทางออนไลน์ได้
รายได้จากการจำหน่าย Buckingham Palace Gin จะถูกนำไปสมทบเข้ากองทุน Royal Collection Trust ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ทำหน้าที่การดูแลและอนุรักษ์ Royal Collection เพื่อช่วยเหลือทำนุบำรุงพระราชวัง และบริเวณจัดนิทรรศการด้านใน ซึ่งที่ผ่านมาถูกพิษของ COVID-19 ทำให้ราชวงศ์อังกฤษต้องหารายได้มาทดแทน จากการที่ต้องปิดพระราชวังและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ หลายแห่งซึ่งนับเป็นรายได้หลักของราชวงศ์ ซึ่งคาดกันว่าทางพระราชวังสูญเสียรายได้ไปกว่า 1,200 ล้านบาท โดยทางพระราชวังบักกิงแฮมได้กลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา พร้อมกับมาตรารักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด
สาเหตุที่ทางวังเลือกผลิตจินออกขาย เพราะจินเป็นเครื่องดื่มสุดโปรดของควีนอลิซาเบธที่ 2 รวมไปถึงควีนมัม ซึ่งว่ากันว่าพระองค์ต้องพกติดตัวไว้เสมอ มีหลักฐานยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นกระดาษที่พระองค์ทรงเขียนด้วยลายพระหัตถ์สั่งให้เจ้าหน้าที่เตรียมค็อกเทลทรงโปรดไว้ให้ ต่อมากระดาษใบนั้นได้ถูกประมูลไปด้วยราคาสูงถึง 600,000 กว่าบาท พระองค์จะทรงเสวยจิน 1 แก้วทุกวันก่อนพระกระยาหารกลางวัน โดยค็อกเทลสูตรของพระองค์ คือ เทจินลงในแก้ว เติมน้ำแข็ง 2 ก้อน พร้อมด้วยเลม่อนฝานบางๆ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สมาชิกราชวงศ์อังกฤษผลิตเครื่องดื่มประเภทนี้ เพราะก่อนหน้านั้นเจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ ยังได้เคยเดินหน้าผลิตเครื่องดื่มออร์แกนิก ที่ไร่คอร์นวอลล์ของพระองค์เอง ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังเคยเรียนรู้วิธีการกลั่นซิงเกิล มอลต์ วิสกี้ ในพระราชวังบัลมอรัล ในประเทศสก็อตแลนด์ ในช่วงที่พระองค์เสด็จไปพักร้อน เป็นต้น
สำหรับ “ลอนดอน ดราย จิน” (London Dry Gin) นั้นผู้ที่อยู่นอกวงการเครื่องดื่มส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นจิน (Gin) ที่ผลิตในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเท่านั้น จริง ๆ ก็ถูกส่วนหนึ่ง เพราะเป็นจินสไตล์อังกฤษโดยเฉพาะ มีต้นกำเนิดในกรุงลอนดอน การผลิตมีการเติมพืชพันธุ์ต่าง ๆ ในขณะที่กลั่นครั้งที่ 2-3 นิยมในอังกฤษและชาติที่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ รวมทั้งสหรัฐและสเปน
ดังนั้นที่อื่น ๆ ก็สามารถทำ London Dry Gin ได้ ขอให้ผลิตตามแบบหรือสไตล์ London Dry Gin เท่านั้น โดยลักษณะเด่นอยู่ที่ความหลากหลายของรสหวานและหอมกรุ่น มีข้อกำหนดในการผลิตหลายอย่าง เช่น ในกระบวนการสุดท้ายห้ามเติมความหวานเกิน 0.1 กรัม/ลิตร,ห้ามเติมหรือตกแต่งด้วยสีใด ๆ และห้ามเติมส่วนผสมใด ๆ นอกจากน้ำ เป็นต้น ขณะที่ข้อกำหนดของสหภาพยุโรปหรืออียู (EU) กำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ของLondon Dry Gin ไว้ที่ 37.5% ABV เป็นต้น
จุดกำเนิดของ London Dry Gin เริ่มในช่วงทศวรรษ 1720 ทั้งการผลิต และการขายจินในอังกฤษเจริญรุ่งเรืองมาก บ้านเรือนกว่าครึ่งของกรุงลอนดอนถูกใช้เพื่อการผลิตและขายจิน ศตวรรษที่ 18 เริ่มใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มีการกลั่นด้วยหม้อทองแดง (Pot stills) เหมือนการกลั่นวิสกี้ และบรั่นดี เป็นครั้งแรก ก่อนจะค้นพบการกลั่นแบบต่อเนื่อง (Column Still หรือ Continuous still, Patent still และ Coffey still) ในปี 1832 ที่สำคัญเป็นการจุดประกายให้การผลิตจินสไตล์ “ลอนดอน ดราย” (London dry) ถูกพัฒนาขึ้นมาในปลายศตวรรษที่ 19 จนเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน
คนอังกฤษนั้นบ้าจินกันมายาวนานมากโดยเฉพาะในกรุงลอนดอน ย้อนกลับไปในช่วงปี 1720 ทั้งการผลิต และการขายจินในอังกฤษเจริญรุ่งเรืองมาก บ้านเรือนกว่าครึ่งของกรุงลอนดอนถูกปรับเปลี่ยนใช้เพื่อการผลิตและขายจิน ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมที่รัฐบาลอังกฤษวิตกอย่างยิ่ง ขณะที่วิลเลียม โฮการ์ธ (William Hogarth) นักเขียนการ์ตูนชื่อดังได้วาดภาพล้อเลียนชื่อ “จิน เลน” (Gin Lane) เป็นถนนสายหนึ่งที่มีทั้งคนขายจินและคนดื่มเมามายในลักษณะต่าง ๆ กัน พร้อมบทกวีหลายบท
ขณะที่รัฐบาลอังกฤษมองเห็นปัญหาที่จะตามมาจึงเริ่มเข้ามาควบคุม ด้วยการ การออกกฎหมาย Gin Act 1736 เพื่อเก็บภาษีจินให้แพงขึ้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงออกกฎหมาย Gin Act 1751 ตามมาบังคับให้ผู้ผลิตขายจินให้กับผู้ค้ารายย่อยที่มีใบอนุญาตเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้จินเถื่อนและกิจกรรมที่ต่อเนื่องกันลดจำนวนลงไปเลย คนลอนดอนยังดื่มจินกันอย่างบ้าคลั่ง
ในช่วงศตวรรษที่ 18 การผลิตจินในอังกฤษเริ่มใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการกลั่นด้วยหม้อทองแดง (Pot stills) เหมือนการกลั่นวิสกี้ และบรั่นดี เป็นครั้งแรก ก่อนจะค้นพบการกลั่นแบบต่อเนื่อง (Column Still หรือ Continuous till,Patent Still และ Coffey Still) ในปี 1832 เป็นการจุดประกายให้การผลิตจินในสไตล์ “ลอนดอน ดราย จิน” (London Dry Gin) ถูกพัฒนาขึ้นมาในปลายศตวรรษที่ 19 จนเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน
ปัจจุบันในอังกฤษมีการตั้งสมาคมจินและวอดก้า (Gin and Vodka Association of Great Britain หรือ GVA) ขึ้นมาเพื่อโปรโมทจินของอังกฤษ ซึ่งทุกวันนี้ชาวเมืองผู้ดีดื่มจินกันปีละกว่า 20 ล้านลิตร จากที่เคยเป็นเครื่องดื่มราคาถูกของชนชั้นกรรมากรเมื่อ 50 ปีก่อน
ส่วนในประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นอังกฤษบางประเทศ ผลิตจินแบบขมนิด ๆ โดยเติมควินิน (Quinine) ซึ่งเป็นส่วนผสมของยาป้องกันมาเลเรียลงไปด้วย ซึ่งควินินนี้เป็นหนึ่งในส่วนผสมของน้ำโทนิก (Tonic Water) เคยใช้ในอินเดียและแอฟริกา ถ้าไปอินเดียอาจจะได้ยินคนอินเดียเรียกว่าอินเดียน โทนิก (Indian tonic water) เป็นเหตุผลหรือที่มาว่าทำไม Gin กับ Tonic จึงเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย แม้ว่าปัจจุบันควินินจะไม่ได้ใช้ต้านมาเลเรียมากเหมือนแต่ก่อนแล้วก็ตาม
อย่างที่กล่าวในตอนต้น “บักกิงแฮม พาเลซ จิน” (Buckingham Palace Gin) จำหน่ายเฉพาะในสหราชอาณาจักร แถมการเดินทางไปอังกฤษในตอนนี้ยากมาก ในบ้านเราจึงได้แต่มอง..!!

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...