ประโยชน์ของไวน์

ไวน์มีประโยชน์ต่อร่างกาย หากดื่มพอประมาณ โดยพื้นฐานทั่วไปก็คือผู้ชายวันละ 2 แก้ว ผู้หญิงวันละ 1 แก้ว ที่ผ่านมามีงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันประโยชน์ของไวน์ในด้านต่าง ๆ
วารสาร American Journal of Agricultural and food Chemistry ได้ตีพิมพ์รายงานของ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปาเวีย ประเทศอิตาลี ออกมาเปิดเผยถึงผลของการดื่มไวน์ขาวหรือไวน์แดงวันละ 1 แก้ว เป็นประจำว่ามีส่วนช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิดฟันผุ โรคเกี่ยวกับเหงือก
ศ.กาเบรียลลา กาซซานี ผู้ริเริ่มการวิจัยเรื่องดังกล่าว ระบุว่าขณะที่สรรพคุณของไวน์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวกรีกโบราณ ซึ่งมักจะใช้ไวน์ในการรักษาบาดแผล แต่ก็มีผู้ทำการศึกษาอย่างจริงจังถึงคุณประโยชน์ของไวน์ไว้น้อยมาก นอกจากช่วยทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดฟันผุแล้ว ส่วนผสมของไวน์ยังช่วยยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียชื่อ S.pyogenes ที่อาศัยอยู่ในช่องทางเดินหายใจซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาการเจ็บคอและเป็นไข้ได้ด้วย
ขณะที่นักวิจัยจาประเทศสเปนแนะว่าการดื่มไวน์แดงอาจช่วยชะลอความแก่ หลังพบสารเมลาโทนินในผิวองุ่น รวมถึงอาหารอีกหลายชนิด เช่น หอมหัวใหญ่ ข้าว และเชอรี่ สามารถปกป้องเซลล์จากการถูกทำลายตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งควรจะเริ่มกินตั้งแต่อายุย่างเข้า 30 ปี
นอกจากนั้นนักวิจัยชุดดังกล่าวยังพบประโยชน์ของไวน์แดงต่อสุขภาพอีกอย่างหนึ่ง คือช่วยป้องกันหวัดได้ โดยระบุว่า ส่วนประกอบที่มีอยู่ในไวน์แดง อาจมีคุณสมบัติช่วยป้องกันหวัด ในขณะที่คุณสมบัตินี้ ไม่มีในเบียร์ และน้ำอื่น ๆ ผลการศึกษาดังกล่าวนี้ ได้มาจากการศึกษาอาสาสมัคร 4,000 คน เป็นเวลา 1 ปี โดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย 5 แห่งพบว่า ผู้ที่ดื่มไวน์แดงมากกว่าวันละ 2 แก้ว เป็นหวัดน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ดื่มไวน์เลยถึงร้อยละ 44 และการดื่มไวน์แดงเพียงวัน 1 แก้วก็สามารถป้องกันหวัดได้แล้ว
ก่อนหน้านั้นศูนย์โรคหวัดแห่งมหาวิทยาลัย คาร์ดีฟ เคยมีรายงานว่า คุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระ หรือสารแอนตี้ออกซิแดนท์ อาจทำให้ไวน์แดงสามารถป้องกันหวัดได้ นอกจากนั้นปัจจัยด้านการดำรงชีวิต เช่น การจิบไวน์แดงที่บ้าน แทนที่จะเป็นตามผับที่มีผู้คนมากมาย ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยป้องกันหวัดได้
ส่วนสมาคมโรคหัวใจอังกฤษระบุว่า การดื่มในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้นที่จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่หากดื่มมากเกินไป ก็จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ จากการศึกษาพบว่าการดื่มไวน์วันละ 1-2 แก้วให้ผลในการป้องกันโรคหัวใจวาย ในผู้ชายที่อายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน แต่การดื่มในปริมาณมาก ๆ กลับเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือด
นายมิเชล เดอ ลอร์เจอริล และคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยโจเซฟ ฟูริเย ในประเทศฝรั่งเศส พบว่าชายวัยกลางคนชาวฝรั่งเศสที่เป็นโรคหัวใจและนิยมดื่มไวน์วันละประมาณ 2 แก้ว ร้อยละ 50 มีพัฒนาการของการก้าวไปสู่โรคหัวใจ ขั้นที่สองน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่มไวน์เลย
นอกจากนั้นคณะวิจัยชุดดังกล่าว ยังได้ศึกษาชายอายุระหว่าง 40-30 ปีจำนวน 353 ราย ที่เพิ่งป่วยด้วยโรคหัวใจ และพบว่าอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดขึ้นจะมีอัตราน้อยลงในกลุ่มผู้ป่วยที่ดื่มไวน์ โดยกลุ่มชายที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย จะมีอาการแทรกซ้อนมากถึง 36 อาการ ส่วนชายที่ดื่มน้อยกว่า 2 แก้วต่อวันมี 34 อาการ กลุ่มชายที่ดื่มราว 2 แก้วต่อวันมี 18 อาการ และกลุ่มชายที่ดื่มโดยเฉลี่ย 4-5 แก้วต่อวันมีอาการแทรกซ้อน 16 อาการ
เป็นที่ทราบกันดีว่าในไวน์แดง มีแทนนินหรือความฝาด ที่มีสารบางชนิด ซึ่งนอกจากจะป้องกันการเกิดโรคหัวใจแล้ว ยังช่วยลดปริมาณคอเลส เตอรอลในเส้นเลือด ซึ่งคอเลสเตอรอลนี้เมื่อมีอยู่ในเส้นเลือดมาก ๆ จะทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงหัวใจไม่สะดวก โดยเฉพาะคนที่อ้วนมาก ๆ
แฟร้งค์ โจนส์ (Frank Jones) แนะนำไว้ในหนังสือ “The Save Your Health Wine Guide” ในบทที่ชื่อ “เลือกไวน์อะไรดี” โดยเตือนให้ระลึกอยู่เสมอว่า “ไวน์ไม่ใช่ยา หากท่านไม่ชอบดื่มไวน์ ก็ไม่ควรบังคับตัวเองดื่ม เพียงเพื่อเห็นว่ามันดีต่อสุขภาพ” เพราะในที่สุดแล้วไวน์เป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อความสุขเป็นสำคัญ เพียงแต่โชคดีมากกว่าที่เผอิญมันเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยยืดยาวของคนเราเป็นผลพลอยได้ที่ทรงคุณค่ายิ่ง
บทความดังกล่าวระบุว่า สรรพคุณของไวน์แดงมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เมื่อดื่มในปริมาณพอดีอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยไวน์ก็เป็นเครื่องดื่มแทนน้ำที่มีการฆ่าเชื้อ (Anticeptic) มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ขณะที่แอลกอฮอล์ในไวน์ระดับ 8 – 9 ดีกรี เป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าสดชื่น อารมณ์สุนทรี มีความเพลิดเพลิน คนสูงอายุที่เป็นโรค ไม่ค่อยชอบบริโภคหรือเป็นโรคเบื่ออาหาร ไวน์จะเป็นตัวช่วยย่อยอาหารที่ดี และช่วยบำบัดความรุนแรงของโรคเบาหวาน (Diabetes) โรคมะเร็ง (Cancer) โลหิตจาง (Anaemia) โรคหัวใจ (Heart Trouble) และช่วยบำบัดโรคความดันโลหิตต่ำได้ดี
สมาคมแพทย์อเมริกันรายงานผลการวิจัยเมื่อประมาณปี 2001 -2002 เกี่ยวกับอัตราเสี่ยงของโรคหัวใจวายหรือโรคหัวใจล้มเหลว ว่าไวน์แดงมีส่วนทำให้ความเหนียวข้นของไขมันของ “คอเลสเตอรอลตัวเลวร้าย” หรือ Lp (a) ที่มีอยู่ในเกร็ดเลือดลดระดับลง เกร็ดเลือดจะใสไม่เหนียว ทำให้ไม่จับตัวอุดตันตามผนังภายในของหลอดเลือด กระแสเลือดจะวิ่งลื่นไหลไปได้อย่างคล่องตัว ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานเบาลงไม่หักโหม
การดื่มไวน์แดงในปริมาณที่พอเหมาะประมาณ 1 – 3 แก้วอย่างสม่ำเสมอทุกวันเหมือนชาวฝรั่งเศสปฏิบัติกันเป็นปกตินิสัย ทำให้ชาวฝรั่งเศสมีอัตราเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และโรคหัวใจล้มเหลวลดลงถึง 50 % แม้ชาวฝรั่งเศสจะบริโภคอาหารหลายชนิดมีไขมันมากบ่อย ๆ เช่นเนื้อ หนัง เครื่องใน นมเนย และแป้งต่าง ๆ เป็นปริมาณมากตลอดเวลาก็ตาม คอไวน์ชาวฝรั่งเศสมีอัตราการเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจวาย หรือ Angina ต่ำมากเมื่อเทียบกับชนชาติอื่น ๆ ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ส่วนไวน์ขาวนอกจากจะเป็นเครื่องดื่มที่สร้างความสดชื่นให้กับร่างกายแล้ว ยังทำให้อาหารทะเลมีรสชาติถูกปากอร่อยลิ้น ที่สำคัญมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหารและสามารถกำจัดพิษจากอาหารทะเลที่เป็นอันตรายต่อระบบย่อยอาหารได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่สำคัญในระยะหลังปี 2005 เป็นต้นมา มีความพยายามในการทำให้ไวน์ขาวมีแทนนินเพิ่มขึ้นบ้าง
ขณะที่งานวิจัยของมูลนิธิโรคหัวใจ จอร์แดน ของสหรัฐฯ พบว่า “ไวน์ขาวมีสรรพคุณเหนือกว่าไวน์แดงหลายประการ” โดยระบุว่าเหล้าองุ่นขาวช่วยป้องกันเลือดจับตัวเป็นก้อนได้ถึง 20 % ขณะที่ไวน์แดงเพียง 10 % และ ไวน์ขาวยังช่วยล้างพิษของบรรดาตัวอนุมูลอิสระได้สูงถึง 34 % ขณะที่ไวน์แดงสามารถช่วยได้เพียงครึ่งเดียว แต่การจะได้ประโยชน์จากไวน์ขาวอย่างแท้จริง ต้องดื่มวันละไม่เกิน 2 แก้ว
ส่วนไวน์แดงมีสาร 2 ชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายคือเรสเวอราทรอล (Resveratrol) หรือทรานส์เรสเวอราทรอล (Transresveratrol) และแทนนิน (Tannin) ซึ่งมีอยู่ในเปลือกเม็ดและก้านองุ่น สามารถบรรเทาและบำบัดความเสื่อมโทรมของหลอดเลือดได้ดี รวมทั้งยับยั้งและชะลอ การสร้างสารที่ทำให้เกร็ดเลือดเหนียวตัว และจับตัวกันให้ช้าและน้อยลง ขณะเดียวกันก็ช่วยไม่ให้ออกซิเจนในร่างกายของคนเราเสีย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดแข็งตัว
สาร 2 ตัวดังกล่าวมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับฤทธิ์และสรรพคุณของยาแอสไพริน (Aspirin) ที่มีต่อเกร็ดเลือดซึ่งทำให้หายเหนียว สารนี้มีมากในผักสด และผลไม้รสฝาดขม เช่น ฝรั่ง แอปเปิล พุทรา มะม่วงดิบ ชา มะระ องุ่น และชะอม ฯลฯ และแน่นอนใน “ไวน์แดง”
สอดคล้องกับงานวิจัยของหลายหน่วยงาน ที่ระบุว่าไวน์มีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหัวใจและโรคอื่น ๆ มากที่สุด คือไวน์ที่มีระดับ Resveratrol สูง และไวน์แดงจะมีมากกว่าไวน์ขาว เนื่องจากไวน์ขาว ใช้เฉพาะน้ำมาหมัก ขณะที่ไวน์แดงมีทั้ง เปลือก เมล็ด กิ่ง ก้าน
ไวน์ที่ผลิตโดยไม่มีการกรอง (Unfilter) หรือกรองน้อยที่สุด จะมี Resveratrol สูงกว่าไวน์ที่กรองจนใส ที่เหลือเชื่อก็คือไวน์ราคาแพง ๆ แต่กลับพบว่ามี Resveratrol ต่ำ เพราะไวน์เหล่านี้ถูกหมักในถังโอ๊ก กระบวนการผลิตไวน์ชั้นดี มักจะเป็นการลดปริมาณ Resveratrol โดยไม่รู้ตัว
กรณีพันธุ์องุ่นพบว่า ปิโนต์ นัวร์,ปิโนทาจ และกาแบร์เนต์ โซวีญยอง จากแหล่งปลูกที่มีแสงแดดน้อยและอากาศเย็น เช่น สวิตเซอร์แลนด์ และ 3 แคว้นของฝรั่งเศสคือบูร์กอญหรือเบอร์กันดี ลัวร์ และอัลซาส จะมี Resveratrol สูงกว่าในออสเตรเลีย แคลิฟอร์เนีย อิตาลี และสเปน
อย่างไรก็ตามการกินองุ่นแทนการดื่มไวน์ ไม่เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เพราะองุ่นที่ปลูกเพื่อบริโภคปรกติมักปลูกในที่มีแดดมากเกินไปทำให้ Resveratrol มีปริมาณน้อยหรือแทบไม่มีเลย แม้จะมีบ้าง แต่ต้องกินองุ่นจำนวนมาก จึงจะได้ประโยชน์เท่ากับการดื่มไวน์ 1 แก้ว ที่สำคัญองุ่นดังกล่าวมีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 20 % เป็นการเพิ่มแคลอรีให้ร่างกาย
สถาบันการแพทย์ Erasmus Medical Center ประเทศเนเธอร์แลนด์ เผยแพร่งานวิจัยภายใต้หัวข้อ Alcohol Consumption and the Risk of Dementia : the Rotterdam Study ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2545 โดย Dr.Monique Breteler เป็นหัวหน้าทีมวิจัย พบว่า การดื่มไวน์จะช่วยป้องกันโรคขี้หลงขี้ลืมหรืออัลไซเมอร์ (Alzheimer) และพาร์กินสัน (Parkinson) ได้ หลังจากที่มีผลการวิจัยเผยแพร่มาตลอดว่า ไวน์ช่วยป้องกันโรคหัวใจและ ลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด
ทีมงานวิจัยได้ศึกษาคอไวน์ 7,983 คน ซึ่งดื่มไวน์เป็นประจำวันละ 1 – 3 แก้ว ระหว่างปี 1990 – 1999 พบว่าบุคคลดังกล่าวไม่เป็นโรค อัลไซเมอร์ และโรค พาร์กินสันแต่อย่างใด ก่อนหน้านั้นวันที่ 15 พ.ค.1997 นักวิจัยฝรั่งเศสก็เคยพบว่าการดื่มไวน์วันละ 1 – 3 แก้ว สามารถป้องกันโรค อัลไซเมอร์ได้เช่นกัน
ปี 2006 ดร.กุยลิโอ มาเรีย พาสเนตตี นักวิจัยจากวิทยาลัยการแพทย์เมาท์ ซิไน ในนิวยอร์ก จับหนูตัวผู้ตัวเมียมาดื่มไวน์ทุกวัน โดยตัวเมียให้ดื่มวันละ 1 แก้ว ส่วนตัวผู้ให้ดื่มวันละ 2 แก้ว ซึ่งเป็นปริมาณบริโภคที่เหมาะสมตามที่กระทรวงเกษตรสหรัฐแนะนำ
สำหรับแอลกอฮอล์ที่นักวิจัยให้หนูดื่มนั้น เป็นไวน์ที่ทำจากองุ่นแดง โดยผสมน้ำให้ดื่มเป็นเวลา 7 เดือน ส่วนหนูอีกกลุ่มที่เป็นกลุ่มควบคุมให้ดื่มเฉพาะน้ำเปล่า หนูทั้งหมดนี้ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มีภาวะสมองเสื่อมที่เป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ จากนั้นได้ทดสอบความทรงจำ โดยจับลงไปอยู่ในกล่องเขาวงกต ปรากฏว่าหนูที่ดื่มไวน์สามารถเรียนรู้และหาทางออกจากเขาวงกตได้เร็วกว่าหนูกลุ่มที่ดื่มน้ำเปล่า
ดร.กุยลิโอ ย้ำว่าว่าการดื่มไวน์ในปริมาณที่เหมาะสมอาจช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับหัวใจ และในกรณีของผู้สูงอายุที่ไม่ได้เป็นโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ตับอักเสบ สุราเรื้อรัง หรือปัจจัยอื่นๆ หากหันมาดื่มไวน์แดงอย่างพอเหมาะก็จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงได้
อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2006 มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยดุ๊คในเมืองเดอร์แฮม มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา โดยจอห์น ซี. แบร์ฟูต หัวหน้าทีมวิจัย ชี้ว่า สาเหตุที่นักดื่มไวน์มีสุขภาพดีส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นเพราะตัวไวน์เอง แต่เป็นเพราะคนเหล่านี้รู้จักเลือกกินของดีมีประโยชน์ และมักไม่สูบบุหรี่
ผลการศึกษาตีพิมพ์ ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition เมื่อปี 2006 พบว่า นักดื่มไวน์มักมีแบบแผนการใช้ชีวิตที่เป็นผลดีต่อสุขภาพเป็นทุนเดิม อยู่แล้ว การศึกษาครั้งนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างชาย – หญิงในสหรัฐฯ กว่า 4,400 คน พบว่าคนที่ดื่มไวน์มักกินอาหารที่เป็นผลดีต่อสุขภาพ และไม่ค่อยสูบบุหรี่ เหมือนพวกที่ดื่มเหล้าเบียร์ หรือพวกที่ดื่มไม่เลือก
นอกจากนั้นยังพบด้วยว่าโดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการออกกำลังกายและกินผักมากกว่าคนที่ไม่ดื่ม จอห์น ซี. แบร์ฟูต ระบุว่าเหตุที่งานวิจัย บางชิ้นพบว่าคนที่ไม่ดื่มมีอัตราการป่วย หนักและเสียชีวิตสูงกว่าคนที่ดื่มนั้น อาจเป็นเพราะการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ ที่แตกต่างกัน
สิ่งที่พบอีกอย่างหนึ่งคือ คนที่ดื่มไวน์กับคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น มีพฤติกรรมการกินและการสูบบุหรี่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ผลการศึกษานี้ ได้จากการศึกษากรณีตัวอย่างศิษย์เก่าในวัยกลางคนของมหาวิทยาลัย นอร์ทแคโรไลนากับคู่สมรส ซึ่งมีการศึกษาขั้นสูงและรายได้ใกล้เคียงกัน พบว่าเมื่อเทียบกับคนที่ดื่ม เครื่องดื่มชนิดอื่นแล้ว คนที่ดื่มไวน์กินอาหาร ที่มีเส้นใยมากกว่า กินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเทอรอลน้อยกว่า และดื่ม แอลกอฮอล์น้อยกว่า คนที่ดื่มไวน์ทั้งชายและหญิงยังมีการสูบบุหรี่น้อยกว่าคนที่ ดื่มอย่างอื่นด้วย
นักวิจัยสถาบันวิลเลียม ฮาร์วีย์ ของมหาวิทยาลัยควีน แมรี แห่งลอนดอน ได้แนะนำคอไวน์ทั้งหลายว่า หากอยากดื่มไวน์ที่มีสรรพคุณทำให้อายุยืน ควรจะดื่มเหล้าไวน์แดงจากแคว้นซาร์ดิเนียและตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เพราะผลองุ่นที่ปลูกในแถบนี้ อุดมด้วยสารเคมีที่เรียกว่า “โปรไซยานิดินส์” ซึ่งมีหลักฐานเป็นเอกสารว่ามีสรรพคุณบำรุงหัวใจ มากกว่าองุ่นที่ปลูกตามดินแดนส่วนอื่นของโลก
หนังสือ Guide to Wine Therapy แนะนำว่า ถ้าท่านกลัวจะเป็นโรคอะไร จะต้องเลือกดื่มไวน์จากเขตไหนของฝรั่งเศส จึงจะสามารถป้องกันโรคดังกล่าวได้ มีถึง 26 โรคด้วยกัน เป็นการเน้นประโยชน์ของ “ไวน์ฝรั่งเศส” โดยเฉพาะ ดังนี้
1. โรคภูมิแพ้ (Allergies) แนะนำให้ดื่มไวน์แดงราคาย่อมเยาจากแคว้นลังเกอด็อก-รูสซีญอง (Languedoc-Roussillon) เป็นประจำ โดยเฉพาะจากเขตกอร์ บิเอร์ (Corbieres) มิแนร์ฟัวส์ (Minervois) และโก๊ต ดู วังตูซ์ (Cotes du Ventoux)
2. โรคเบื่ออาหาร (Anorexia Nervosa) แนะนำให้ดื่มไวน์แดง-ขาว จากตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสโดยเฉพาะเขตกาออร์ (Cahors) ฌูฮรังกอง (Jurancon) กายญาก (Gaillac) และชังปาญ หรือแชมเปญ ดราย (Brut)
3. โรคติดเชื้อ (Baeterial Infections) แนะนำไวน์แดงจากอำเภอโบโฌเลส์ (Beaujolais) แคว้นบูร์กอญ หรือ ลิสตราก (Listrac) เมด็อก (Medoc) และแซงต์-เตสเตฟ (St-Estephe) ของเมืองบอร์โดซ์ (Bordeaux)
4. อาหารไม่ย่อย (Digestive ailments) แนะนำให้ดื่มชังปาญประเภทไม่หวาน (Dry White) ก่อนหรือหลังอาหาร
5. มีปัญหากับโรคหัวใจ (Cardiac Problems) แนะนำให้ดื่มชังปาญแบบไม่หวาน หรือไวน์ขาวปุยญี-ฟูเซ (Pouilly-Fuisse) จากแคว้นบูร์กอญ
6. ร่างกายขาดสารอาหาร (Mineral Deficiencies) ขอแนะนำไวน์สดจากโบโฌเลส์ (Beaujolais) หรือไวน์โก๊ต ดู โฮรน (Cote du Rhone) โดยเฉพาะชาโตเนอฟ ดู ป๊าป (Chateauneuf du Pape)
7. กระเพาะอาหารมีปัญหา (Gastric Probleams) แนะนำไวน์ขาวหวานจากบาร์ซัก (Barsac) เขตโซแตรนส์ (Sauternes) และมองบาซิญาค (Monbazillac) หรือไวน์หวานจากประเทศไหนก็ได้
8. โรคลำไส้หรือท้องผูก (Intestinal Problems or Constipation) แนะนำไวน์ขาวหวานทุกประเทศ โดยเฉพาะจากอังฌู (Anjou) และโวฟเรย์ (Vouvray) ของแคว้นลัวร์,โก๊ต เดอ แบร์เฌอรัก มูเอลเลอซ์ (Cotes de Bergerac Moelleux) และไวน์หวานจากเขตเกญาก (Gaillac) หรือโรเซ่จากบังดอล (Bandol) แคว้นโปรวองซ์ (Provence) ก็พอได้
9. ปวดท้องโดยไร้สาเหตุ (Stomach Pains) แนะนำไวน์หวานจากบาร์ซาก (Barsac) หรือโซแตรนส์ (Sauternes)
10. เป็นโรคกระดูก (Joint Diseases) ถ้าแค่ข้ออักเสบ (Aethritismild) แนะนำไวน์ขาว โรเซ่ แดง จากบังดอล (Bandol) และกาสซีส์ (Cassis) ของแคว้นโปรวองซ์ (Provence) แต่ถ้าปวดข้อระยะเริ่มต้น (Osteoarthritis Onset) ต้องไวน์แดงจากเมด็อก (Medoc) หรือโรเซ่ทาเวล (Tavel) และลีฮราก (Lirac) ของแคว้นโก๊ต ดู โฮรน และถ้าถึงขั้นปวดข้อเรื้อรัง (Osteoarthitis Chronic) ต้องไวน์แดงจากกอร์บิเอร์ (Corbieres) และโก๊ต ดู วองตูซ์ (Cotes du Ventoux) และมิแนร์ฟัวส์ (Minervois) แคว้นลังเกอด็อก หรือไวน์แดงจากบังดอล (Bandol)
11.ไขข้ออักเสบเรื้อรัง (Rheumatoid Arthiritis) แนะนำชังปาญ บลังส์ เดอ บลัง (Blancs de Blanc) ที่ทำจากชาร์ดองเนย์ (Chardonnay) ล้วน หรือไวน์ขาวจากเขต Crepy จากจังหวัดซาฟัว (Savoie) รวมทั้งไวน์ขาวแคว้นอัลซาส (Alsace) จากองุ่นซิลวาเนอร์ (Sylvaner) และไวน์แดงเกรด VdP ของการ์ด (Gard) แคว้นลังเกอด็อก (Languedoc)
12. โรคท้องร่วง (Diarrohoea) แนะนำไวน์แดงระดับเอโอซี บอร์กโดซ์ (AOC Bordeaux) หรือเอโอซี เมด็อก (AOC Medoc)
13.ปัญหาเกี่ยวกับโรคไต (Kidney Problems) แนะนำไวน์ขาวจากAOC Crepy และ AOC Ripaille จังหวัดซาฟัว
14. ระบบขับถ่ายปัสสาวะมีปัญหา (Urination) ควรดื่มไวน์ขาวดราย (Dry White Wine) โดยเฉพาะมุสกาเดต์ (Muscadet) ปุยญี-ฟูเม (Pouilly-Fume) และซองแชร์ (Sancerre) ของแคว้นลัวร์ รวมทั้งชาบลีส์ (Chablis) ของแคว้นบูร์กอญ
15. มีกรดมาก (Acidosis) หรือ มีกรดยูริกมาก (Uricaemia) แนะนำให้ดื่มไวน์ปุยญี-ฟูเม (Pouilly-Fume) และซองแซร์ (Sancerre) แคว้นลัวร์
16. ไขมันหน้าท้องมาก (Cellulite) ควรดื่มไวน์มุสคาเดต์ (Muscadet) และไวน์ขาวจากเขต AOC Gros Plant ของแคว้นลัวร์
17. เพิ่งฟื้นไข้ (Convalescence) แนะนำให้ดื่มชังปาญ เพื่อเรียกพลกำลัง แล้วดื่มไวน์แดงจากโก๊ต เดอ นุยส์ (Cote de Nuits) ชินอง (Chinon) และเอโอซี บลองเกต์ เดอ ลิมูซ์ (AOC Blanquette de Limoux)
18. แพ้ยา (Detoxification) แนะนำให้ดื่มชังปาญเป็นประจำ
19. เบาหวาน (Diabetes) จริง ๆ แล้วไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ แนะนำไวน์แดงบอร์กโดซ์ และเกญาค (Gaillac) หรือไวน์ขาวอัลซาส (Alsace) ที่ผลิตมาจากองุ่นซิลวาเนอร์และรีสลิ่ง
20. โรคเกาต์ (Gout) แนะนำไวน์ AOC Crepy และ AOC Seyssel จากจังหวัดซาฟัว
21. โรคอ้วน (Obesity) แนะนำไวน์แดงโบโฌเลส์ วิลลาจ (Beaujolais-Village) บอร์กโดซ์ เอโอซี (AOC Bordeaux) และเกญาค (Gaillac) หรือไวน์ขาวอัลซาสที่ทำจากรีสลิ่งและซิลวาเนอร์
22. โลหิตจาง (Anaemia) แนะนำไวน์แดงจากตำบลปอเมอโฮรล (Pomerol) เมืองบอร์กโดซ์ ที่มีธาตุเหล็กผสมอยู่
23. ความดันโลหิตสูง (Hypertension) จริงๆ แล้วโรคความดันโลหิตสูงห้ามดื่มแอลกอฮอล์ แต่ถ้าได้ชังปาญขาวประเภทบรุท (Brut) หรือไวน์ขาวจากอัลซาสก็จะดี
24. หลอดเลือดแข็งตัว (Arteriosclerosis) แนะนำไวน์แดง เอโอซี เมด็อก และแซง- เตมิยอง (St-Emilion)
25. หัวใจวาย (Heart Attack or Myocardial in Farction) แนะนำไวน์แดงบูร์กอญ ที่ทำจากองุ่นปิโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) ซึ่งมีสาร Resveratrol ที่สารบางอย่างช่วยป้องกันโรคหัวใจวายได้ดีที่สุด
26. ติดเชื้อไวรัส (Viral Infections) แนะนำไวน์แดงของเมืองบอร์กโดซ์ (Bordeaux) เขตใดก็ได้
Benefit15

Benefit1

Benefit3

Benefit4

Benefit5

Benefit6

Benefit7

Benefit8

Benefit9

Benefit10

Benefit11

Benefit12

Benefit13

Benefit14

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...