“มิยาจิมา” เกาะเทพเจ้า หอย และสาเก

มิยาจิมา (Miyajima) หรือเกาะแห่งศาลเจ้า (Shrine Island) ชาวญี่ปุ่นให้ความเคารพนับถือ และเชื่อกันว่าเป็นเกาะศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ครั้งอดีต แม้ปัจจุบันความเชื่อนี้ก็มิได้เสื่อมคลายลงไปแม้แต่น้อย บนเกาะแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยศาลเจ้าและวัดหลายแห่ง แต่ที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดีคือศาลเจ้า อิตสึคุชิมา (Itsukushima Shrine) เรียกสั้น ๆ ว่า ศาลเจ้ามิยาจิมา

มิยาจิมาเป็นชื่อเมืองตั้งอยู่บนเกาะ อิตสึคุชิมา (Itsukushima) ชื่อเดียวกับชื่อศาลเจ้า แต่คนทั่วไปติดปากกับคำว่ามิยาจิมา เกาะนี้อยู่ในทะเลเซโตะ (Saeto) มีพื้นที่ 30.39 ตารางกิโลเมตร ประชากร 2,018 คน มียอดเขาสูงที่สุดชื่อ มิเซน (Mizen) สูง 350 เมตรจากระดับน้ำทะเล ใครจะขึ้นไปข้างบนก็มีเคเบิลคาร์บริการ

สมัยโบราณมิยาจิมาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในฐานะที่สิงสถิตของเทพเจ้า หรือ เกาะเทพเจ้า  ซึ่งมีศาลเจ้าอิตสึคุชิมะของลัทธชินโต สร้างในปี  พ.ศ.1136 เพื่อเป็นการบูชาธิดาแห่งท้องทะเล 3 องค์ ที่เป็นธิดาของอะมะเตราสุเทวี คอยปกป้องคุ้มครองชาวบ้านจากภัยพิบัติจากท้องทะเล  หนึ่งในความเชื่อสำคัญที่เชื่อกันว่าจะทำให้เกาะนี้บริสุทธิ์ก็คือ ห้ามมีการคลอดลูกบนเกาะ ถ้ามีคนเจ็บไข้ได้ป่วยก็ให้รีบย้ายออกไปโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนตายบนเกาะ

ศาลเจ้ามิยาจิมะ  หรือเรียกอีกชื่อว่า อิสึคุชิม่า(Itsukushima Shrine) ศาลเจ้าเก่าแก่ที่สร้างครั้งแรกในศตวรรษที่ 6 สมัยพระจักรพรรดิสุอิโกะ และอีกครั้งในสมัยของข้าหลวง ไทราโน คิโยโมริ มีการสร้างขยายเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้สวยงามและใหญ่โตขึ้น ภายในประดิษฐานเทพเจ้าในศาสนาชินโต ศาลเจ้านี้มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนที่ไหนคือโครงสร้างประกอบด้วย ศาลเจ้าหลักและ ศาลเจ้ารอง มีทั้งที่ยกพื้นสูงและต่ำ เชื่อมต่อกันด้วยทางเดินยาวไปจนถึงทะเล เวลาที่น้ำขึ้นก็จะเหมือนกับศาลเจ้าที่ลอยอยู่กลางทะเลด้านหน้าวัดถ้าท่านมองออกไปจะพบประตูโทเรอิกลางน้ำ

การเดินทางไปมิยาจิมา  ถ้าอยู่ฮิโรชิมาจะสะดวกที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปด้วยรถไฟฟ้าเจอาร์สายซันโย (Sanyo) ขึ้นที่สถานีฮิโรชิมา ไปลงที่สถานีมิยาจิมากูชิ (Miyajimaguchi) แล้วเดินลอดใต้ถนนไปขึ้นฝั่งตรงกันข้าม เพื่อไปยังอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นท่าเรือมิยาจิมากูชิ  มีเรือเฟอร์รี่ข้ามฟากไปยังเกาะมิยาจิมา 2 เจ้า ถ้าใช้บัตรเจอาร์ พาส (Japan Rail Pass) ต้องลงเรือเจอาร์ ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 10 นาที  ที่สำคัญควรกะเวลาให้ถึงเกาะไม่เกิน 10 โมงเช้า ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำขึ้นเต็มที่ จะได้เห็น เสาโอ – โทริอิ (O-Torii)  สีส้มแกมแดงลอยเด่นอยู่เหนือน้ำทะเล งดงามยิ่งนัก ประตูโทเรอิสูง 16 เมตร กว้าง 22.3 เมตร  ตั้งอยู่บนเสาหินกว้าง 10 เมตร

ขึ้นเรือเสร็จก็มีเอกสารแจกตรงซุ้มการท่องเที่ยว ควรหยิบติดมือไปด้วยเป็นคู่มือ เดินตามทางไปเลี้ยวซ้ายเล็กน้อยจะมีร้านอาหารญี่ปุ่นเจ้าอร่อย ทำหอยนางรมอบในกระดาษฟอยล์เนื้อหวานจ๋อย เลี้ยวขวาเลียบทะเลจะมีสวนหินเล็ก ๆ ให้นั่งเล่น  พร้อมกับมีแขกมาต้อนรับนั่นคือฝูงกวางน้อยใหญ่ ซึ่งจะมีคำเตือนว่าระวังอย่าถือกระดาษในมือ เพราะจะถูกกวางแย่งไปกิน บางคนเสียบตั๋วเรือขากลับหรือเอกสารสำคัญไว้ที่กระเป๋ากางเกงหรือกระเป๋าสะพาย ถูกกวางคาบไปกินซะ…

ผ่านสวนออกมาก็เดินเลียบชายทะเล มุ่งหน้าสู่ศาลเจ้าอิตสึคุชิมา จากท่าเรือจะมีโคมหินเรียงรายอยู่ 108 เสาพอดี เมื่อผ่านประตูเสาหินขนาดใหญ่เข้ามาด้านใน จะเห็นหมู่อาคารของศาลเจ้าอยู่ทางขวามือ ช่วงที่ผมไปถึงน้ำขึ้นเต็มที่พอดี มีแสงแดดอ่อน ๆ ตกกระทบพื้นน้ำ ยิ่งดูเหมือนศาลเจ้าล่องลอยอยู่กลางสายน้ำ

เดินอีกไม่ถึงอึดใจก็ถึงทางเข้าซึ่งต้องเสียค่าผ่านประตู 300 เยน จ่ายเงินเสร็จจะมีบ่อน้ำใช้กระบวยตักมาล้างมือตามธรรมเนียม ทางเดินเข้าเป็นไม้ขนาดใหญ่ ตัวศาลเจ้ามีหลายหลังเชื่อมต่อกัน ด้านล่างรองรับด้วยเสาตอม่อหลายร้อยต้น ทั้งหมดนี้ถูกคำนวณไว้ด้วยภูมิปัญญาของคนญี่ปุ่นสมัยโบราณว่า ศาลเจ้าจะไม่มีวันถูกน้ำท่วมอย่างเด็ดขาด

ศาลเจ้า อิตสึคุชิมา นี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวปี ค.ศ.593 หรือ พ.ศ.1136 ผ่านการซ่อมแซมมาหลายครั้ง ๆ ใหญ่ล่าสุดคือ ค.ศ.1571 (พ.ศ.2114) ตามตำนานเล่าว่า ไทอิระ โนะ คิโยโมริ (Taira – no – kiyomori)  เจ้าผู้ครองเกาะยุคนั้นสั่งให้สร้างขึ้น ออกแบบให้มีอาคารยื่นลงไปในทะเล โดยมีตอม่อรองรับ เวลาน้ำขึ้นเต็มที่จะดูเหมือนศาลเจ้าอยู่บนพื้นน้ำ ที่สำคัญต่อให้บูรณะซ่อมแซมกี่ครั้ง พื้นศาลเจ้าก็ยังเท่าเดิม ไม่มีการยกให้สูงขึ้น คนญี่ปุ่นจึงเรียกว่า “ศาลเจ้าลอยน้ำ”

พ.ศ.2539 UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนให้ศาลเจ้านี้เป็นมรดกโลกพร้อมกับอะตอมมิค บอมบ์ เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 06.30 – 18.00 น. ส่วนของห้องพระสูตรเปิดให้ชมเวลา 08.30 – 17.00 น. และถ้าเข้าชมห้องพระสูตรต้องจ่ายเพิ่มอีก 300 เยน

ซุ้มประตู โอ – โทริอิ ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางน้ำนี้เป็นต้นใหม่ที่สร้างในปี พ.ศ.2417 อยู่ห่างจากศาลเจ้าประมาณ 200 เมตร เป็นการบอกให้รู้ว่าพื้นที่อาคารบริเวณนี้เป็นบริเวณของศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบทิวทัศน์รอบ ๆ ศาลเจ้านี้มาก และยกย่องให้เป็น 1 ใน 3 ทิวทัศน์ที่งดงามที่สุดของญี่ปุ่น

 ถนนมาชิยะ (Machiya) ซึ่งทอดยาวจากท่าเรือมิยาจิมา ไปถึงด้านหลังของศาลเจ้า เป็นถนนสายชอปปิ้ง สองข้างทางเรียงรายไปด้วยร้านรวงนานาชนิด ทั้งของกิน ของใช้ ของที่ระลึก ร้านอาหาร ฯลฯ  นักนิยมความอร่อยกระซิบข้างหูว่าถ้ามาเกาะมิยาจิมาแล้วไม่ได้กิน หอย กับสาเก ถือว่ายังมาไม่ถึงอย่างแท้จริง และไม่ต้องไปไกล เพราะร้านขายหอยเรียงรายอยู่สองข้างถนนมาชิยะ นำเสนอเมนูเด็ดจากหอยนานาชนิด โดยเฉพาะหอยที่ไม่มีโอกาสใช้คำว่านางสาวนั่นคือ หอยนางรม มีเยอะมาก  หอยนางรมของที่นี่ได้ชื่อว่าคุณภาพและความอร่อยระดับโลก เนื่องจากรัฐบาลอนุรักษ์น้ำอย่างเข้มงวด

หอยนางรมและหอยอื่น ๆ ตามร้านอาหารเหล่านี้ ปรุงเป็นจานเด็ดได้หลายอย่าง ขณะที่ร้านเล็ก ๆ จะโชว์การย่างบนเตาเล็ก ๆ หน้าร้าน ส่งกลิ่นเข้ามารบราฆ่าฟันกับน้ำย่อยจนสุดจะห้ามใจ สนนราคามีให้เลือกหลายแบบส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของหอย ถ้าเป็นร้านอาหารหรู ๆ หน่อย และมีหอยนางรมขาย เขาจะนำเปลือกหอยมากองหรือใส่ภาชนะตั้งไว้หน้าร้านให้รู้ว่าขายหอยนะจ๊ะ  ขณะที่บางร้านมีหอยสด ๆ ใส่กล่องอย่างดี 5 ตัว 10 ตัว 6 ตัว และ 12 ตัว ที่ขาดไม่ได้คือการสยบคอเลสเตอรอลด้วยสาเกหอมกรุ่น

มีอยู่ร้านหนึ่งคุณลุงเจ้าของร้านค่อย ๆ ย่างหอยนางรมตัวโตอย่างใจเย็น ผมอุดหนุนนางรมแกเพราะท่าทางใจดี และนั่งกินข้าง ๆ เตานั่นแหละ คุยกันรู้เรื่องบ้างไม่รู้บ้างเพราะลุงไม่ได้ภาษาอังกฤษ ผมไม่กระดิกญี่ปุ่น แต่เมื่อแกไปรินสาเกมาให้ผมฟรี 1 จอก ตามด้วยจอกที่ 2- 3-4-5 ทุกอย่างก็ลงตัว สามารถคุยกันสนุกสนาน โอ๊ยฉี่  ๆๆๆๆๆ หอยนางรมเนื้อหวานนุ่ม หอมกรุ่น ลงไปสงบนิ่งในท้องผมครึ่งโหลพอดี จนป่านนี้กลับมาถึงเมืองไทยยังไม่รู้เลยว่าคุณลุงคุยอะไรกับผม

มีร้านสาเก 3-4 ร้าน อยู่บนถนนสายนี้สามารถขอชิมได้  ร้านใหญ่ที่สุดที่ผมเข้าไปขอชิมไปกว่า 20 จอก 20 ยี่ห้อ คนขายยังยิ้มแย้มแจ่มใส ถ้าเป็นบ้านเราคงค้อนหลายตลบ มีทั้งสาเกแบบใหม่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย และสาเกพื้นบ้านที่ผลิตแบบดั้งเดิม บางอย่างใส่สมุนไพร บางอย่างใส่ผลไม้ ภาชนะบรรจุมีทั้งขวดทันสมัยและดินเผาแบบโบราณ สาเกดี ๆ ราคาแพงมาก ที่สำคัญก็คือเขาขาย “ภูมิปัญญา” ขณะที่บ้านเรามีของดี แต่ ”ไม่มีปัญญา” เอามาขาย…!!!

Taste12 Taste13 Taste14 Taste15 Tasted16 Tasted17 Taste1 Taste2 Taste3 Taste4 Taste5 Taste6 Taste7 Taste8 Taste9 Taste10 Taste11ก่อนกลับอย่าลืมขอพรจากเทพเจ้าบนเกาะ…

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...