“วอดก้า” วัฒนธรรมร่วมสายเลือดรัสเซีย-ยูเครน

….13

Stolichnaya เตรียมเปลี่ยนชื่อ

เครื่องกลั่นวอดก้าแบบชาวบ้าน

พิพิธภัณฑ์วอดก้า ในโปแลนด์

วอดก้า ค็อกเทล

วอดก้า บาร์

วอดก้า พรีเมียม

วอดก้ากับคาเวียร์

วอดก้าทำจากมันฝรั่ง

วอดก้านานาชาติ

หนึ่งในแบรนด์ใหญ่

แหล่งผลิตวอดก้า

2

4จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ลุกลามมาลงในขวดเหล้าอีกรายหนึ่ง แถมเป็นรายใหญ่เมื่อ ”สโตลิ กรุ๊ป” (Stoli Group) เจ้าของวอดก้าชื่อดัง ”สโตลิคนายา” (Stolichnaya) เตรียมจะเปลี่ยนชื่อวอดก้าเป็น “สโตลิ วอดก้า” (Stoli Vodka)
“สโตลิคนายา” (Stolichnaya) นั้นไม่ธรรมดา เป็นยักษ์ใหญ่วอดก้าระดับหัวแถวของโลก มีต้นกำเนิดในโกดังหมายเลข 1 สำหรับเก็บไวน์ของมอสโกว์ ที่เปิดในปี 1901 โดยการได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ ให้ผลิตวอดก้าคุณภาพสูง
ปี 1953 Stolichnaya ถูกแนะนำตัวในงานการค้าระดับนานาชาติที่กรุงเบอร์ลิน และได้เหรียญทองกลับมา ก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ขวดที่ใช้บรรจุเพื่อการส่งออกถูกผลิตในยูเครน
ปี 1972 บริษัท เป๊ปซี่-โคลา (Pepsi-Cola Company) ทำข้อตกลงกับรัฐบาลสหภาพโซเวียต ขอเป็นผู้ส่งออก Stolichnaya ไปยังตลาดตะวันตก ทำให้ Pepsi-Cola เป็นบริษัทอเมริกันเจ้าแรกที่ได้รับอนุญาตให้ผลิต ทำการตลาด และขายได้ และในช่วงล่มสลายของสหภาพโซเวียตนั้น ก็มีความพยายามจะผ่องถ่ายบริษัท VO Sojuzplodoimport (ต่อมาเป็น VVO Sojuzplodoimport) รัฐวิสาหกิจที่ผลิต Stolichnaya ไปยังเอกชน
ปี 1997 VVO Sojuzplodoimport ก็ตกเป็นของกลุ่มธุรกิจสปิริตของเอกชนชื่อ SPI Group ที่จดทะเบียนในลุกเซมเบิร์ก เจ้าของคือยูริ เชฟเลอร์ (Yuri Shefler) มหาเศรษฐีชาวรัสเซียซึ่งซื้อมาในราคา 285,000 ดอลลาร์สหรัฐ และครองความยิ่งใหญ่แห่งวอดก้า รัสเซียมาตราบเท่าทุกวันนี้ โดย SPI Group กรุ๊ปนั้นขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 380 แบรนด์ใน 160 ประเทศทั่วโลก
นอกจากรัสเซียและยูเคนแล้ว ในอาณาบริเวณนั้นมีความผูกพันกับวอดก้าเป็น “วัฒนธรรมวอดก้า” ที่ยังเกี่ยวโยงมาจนถึงปัจจุบัน รูปแบบต่าง ๆ อาจจะเปลี่ยนไปบ้างตามยุคสมัย
วอดก้า มีความผูกพันลึกซึ้งกับชีวิตและจิตใจของทั้งคนรัสเซียและประเทศรัสเซีย จนถูกขึ้นทะเบียนเป็นเหล้าประจำชาติในศตวรรษที่ 16
โจเซฟ สตาลิน อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1920 ถึง 1953 เคยกล่าวไว้ว่า “วอดก้านำมาซึ่งรายได้หลักของประเทศ การเลิกผลิตเหล้าวอดก้าเท่ากับการสูญเสียรายได้มหาศาล”
สมัยที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต คนรัสเซียต้องเข้าแถวรอคิวซื้อวอดก้ากลางอากาศหนาวเหน็บ เมื่อซื้อมาแล้วก็แบ่งกันดื่ม ทุกคนจะมีแก้วประจำตัว วอดก้าคนละเป๊กตามด้วยขนมปังดำแบบรัสเซีย และเกลือนิดหน่อย แค่นั้นก็เป็นความสุขของคนรัสเซียยุคนั้น ขณะที่วอดก้ากับคาเวียร์เป็นเมนูของบรรดาสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น
ตามผับในรัสเซียถ้ามีการดีดนิ้วชี้เบา ๆ ที่ก้านคอด้านข้าง แสดงว่าเขาชวนดื่มเหล้า ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจาก “วอดก้า”
วัฒนธรรมรัสเซียไม่เคยถือว่าความเมาหรือคนเมา เป็นพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์หรือน่ารังเกียจแต่อย่างใด อย่างน้อยวอดก้าก็ทำให้ร่างกายของพวกเขาไม่แข็งตาย ยามที่ต้องเผชิญกับอุณหภูมิลดต่ำลงไปจนสิ่งมีชีวิตแทบจะทนไม่ได้
โปแลนด์ ชาติที่รองรับผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครนอย่างเลี่ยงไม่ได้ ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวอดก้าอย่างยาวนาน ทั้งโปแลนด์และรัสเซีย ต่างคุยว่าตัวเองเป็นเจ้าตำรับวอดก้า
บางตำนานเล่าว่าวอดก้าถือกำเนิดในโปแลนด์เมื่อศตวรรษที่ 9 แล้วแพร่หลายไปในประเทศแถบยุโรปตะวันออก และรุ่งโรจน์มีชื่อเสียงที่รัสเซียในศตวรรษที่ 14 เมื่อฑูตแห่งสหราชอาณาจักรเดินทางสู่ไปมอสโก มีการต้อนรับด้วยวอดก้า จากนั้นวอดก้าก็ได้ยกในฐานะเป็นเครื่องดื่มประจำชาติชาติรัสเซีย
ขณะที่คำว่า Vodka มีชื่อเดิมว่า “กอร์ซัลคา” (Gorzalka) ถูกเปลี่ยนเป็น “โอโควิตา” (Okowita) ซึ่งเรียกกันมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ต่อมาจึงเปลี่ยนมาเป็น “Vodka” ซึ่งนำมาจากคำเดิมในภาษาโปแลนด์คือ “โวดา” (Woda) แปลว่า “น้ำน้อย” หมายถึงเป็นเหล้าที่มีน้ำเล็กน้อย ขณะที่แอลกอฮอล์สูง
วอดก้า ไม่ได้มีกฎบังคับว่าจะต้องผลิตจากวัตถุดิบอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจึงเห็นวอดก้าที่ผลิตจากหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย และหลากหลายธัญพืช เช่น ข้าวไรย์ ข้าวสาลี ข้าวโพด องุ่น มันฝรั่ง กากน้ำตาล เมื่อเอาวัตถุดิบเหล่านั้นมาเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์แล้วจึงนำไปกลั่น และไม่ได้จำกัดว่าจะต้องกลั่นกี่ครั้ง
วอดก้าที่ทำจากข้าวสาลี (Wheat) และข้าวไรย์ (Rye) ถือเป็นวอดก้าระดับสุพีเรีย (Superior) ส่วนคุณภาพรอง ๆ ลงไปจะทำจาก มันฝรั่ง (Potato) ข้าวโพด (Corn) และกากน้ำตาล (Mollasses)
วอดก้าที่ผ่านกระบวนการกลั่นหลายครั้ง จะมีแอลกอฮอล์สูงกว่าและความบริสุทธิ์กว่า ยิ่งกลั่นมากก็จะยิ่งได้วอดก้าที่ “ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส” มากขึ้น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของวอดก้า แต่วอดก้าบางตัวที่ราคาถูกและผ่านกระบวนการกลั่นน้อยครั้ง อาจจะยังคงมีรสชาติ และกลิ่นหลงเหลืออยู่ก็ได้
สุดท้ายจะกลั่นกี่ครั้งก็ตาม สิ่งที่ได้ตอนนี้ยังดื่มไม่ได้ เพราะแอลกอฮอล์สูงมาก ต้องตัดด้วย “น้ำ” ให้อยู่ในระดับที่ต้องการ ดังนั้นน้ำจึงถือเป็นหัวใจของส่วนผสมของวอดก้า โดยวอดก้าคุณภาพพรีเมียมหรือแพง ๆ จะให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำและชูเป็นจุดขาย
“วอดก้า” เป็นนิวทรัล สปิริต (Neutral Spirit) คือ สุราที่มีความเป็นกลาง กล่าวคือ “ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี ไม่มีรส” จึงมีการใช้เป็นส่วนผสมหลักของค็อกเทลหลายชนิด เพราะนอกจากจะเป็นการชูกลิ่นและรสชาติแล้ว ยังไม่ทำร้ายส่วนผสมอื่น ๆ ด้วย
กรรมวิธีการผลิตเหล้าวอดก้า มีขั้นตอนคล้ายการผลิตวิสกี้ ส่วนที่แตกต่างคือ วอดก้าไม่มีการบ่มในถังไม้โอค (Maturing) และในการผลิตเหล้าวอดก้าจะมีขั้นตอนพิเศษกว่าเหล้าชนิดอื่นๆ คือมีการกรองผ่านถ่านไม้หรือชาโคล (Charcoal) เป็นต้น
รัสเซีย ยูเครน รวมทั้งชาติใกล้เคียงอีกหลายชาติ ล้วนอยู่ใน “วัฒนธรรมสายเลือด แห่งวอดก้า” ด้วยกันทั้งสิ้น หวังว่าสงครามจะสงบโดยเร็ว !!

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...