แทสมาเนีย : เสน่ห์ที่เหนือกว่าคำว่าท่องเที่ยว

P1030567salamanca-market-hobart

a

b

c

d

P1030463

P1030494

P1030515

P1030523

P1030525

P1030532

P1030542

P1030545

P1030558

P1030562

P1030565

P1030567

P1030570

P1030571

P1030582

P1030583

P1030591

Sala“แทสเมเนีย” (Tasmania) เป็นรัฐเล็กที่สุดในจำนวนทั้ง 6 รัฐของออสเตรเลีย อยู่ห่างจากฝั่งไปทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ราว 240 กม. เดิมเชื่อกันว่าเคยเชื่อมติดกับแผ่นดินใหญ่ก่อนที่จะแยกมาเป็นเกาะหลังสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง มีพื้นที่ 68,322 ตร.กม. ระยะทางจากเหนือสุดไปยังใต้สุดยาว 364 กม. และจากตะวันออกไปตะวันตกยาว 306 กม. มีเมืองหลวงชื่อโฮบาร์ต (Hobart)
แทสเมเนียมีประชากร 500,000 คน เจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมคือเผ่าอะบอริจิน ถูกชาวยุโรปค้นพบเป็นครั้งแรกในวันที่ 24 พฤศจิกายน 1642 โดยอาเบล แทสมัน (Abel Tasman) นักสำรวจชาวดัตช์ แล้วตั้งชื่อว่าฟาน ไดเมนส์ แลนด์ (Van Diemen’s Land) เป็นเกียรติแด่ผู้สำเร็จราชการแห่งดัตช์อินดีส์ ปี 1877 กัปตันเจมส์ คุก (James Cook) ได้มาสำรวจเกาะนี้ในภายหลัง ปี 1806 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นแทสเมเนียเป็นเกียรติแก่ Abel Tasman ผู้ค้นพบคนแรก
ปี 1832 อังกฤษได้ปกครองดินแดนแถบนี้ จึงส่งนักโทษเข้ามาพัฒนาเมือง ทำงานเกษตรกรรม สร้างสาธารณูปโภค ถนนหนทาง สะพาน ทางรถไฟ อาคาร บ้านเรือน คฤหาส์น ตามเมืองต่าง ๆ บนเกาะ อาคารและสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์เหล่านี้หลายแห่งก็ยังอยู่ รวมทั้งชื่อสถานที่ต่าง ๆ เป็นชื่อเดียวกับที่อังกฤษ
เกาะแทสเมเนียถูกโอบอ้อมด้วยมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ทะเลแทสเมเนียและช่องแคบบาสส์ (Bass Strait) ได้รับการยกย่องว่าเป็น “สถานที่ที่อากาศสะอาดที่สุดในโลก” เพราะจากตัวเกาะลงใต้ไปอีกราว 2,000 กม. จนถึงทวีปแอนตาร์กติกาไม่มีแผ่นดินใดขวางกั้นเลย บางคนเรียกว่า “สวิสเซอร์แลนด์ของออสเตรเลีย” เพราะอากาศเย็นตลอดปี และภูมิประเทศสวยงาม
แทสเมเนียเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็น Natural State ของออสเตรเลีย เพราะธรรมชาติยังคงความบริสุทธิ์ ประกอบกับพื้นที่ 37 % เป็นอุทยานแห่งชาติและพื้นที่มรดกโลก สัตว์หายากที่พบได้ที่นี่เพียงแห่งเดียว ได้แก่ แทสเมเนียน เดวิล (Tasmanian Devil)
คนออสเตรเลียยุคเก่าก่อนเรียกแทสเมเนียว่า “เกาะแอปเปิ้ล” (Apple Island) เพราะปลูกแอปเปิ้ลเยอะ และรูปทรงของเกาะก็คล้ายผลแอปเปิ้ล ส่วนคนรุ่นใหม่เรียกว่า “เกาะฮอลิเดย์” เนื่องจากชาวออสเตรเลียชอบมาท่องเที่ยวพักผ่อนกันมาก แต่ปัจจุบันแทสมาเนียเป็นมากกว่านั้น เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างให้สัมผัสโดยเฉพาะด้านอาหารการกิน เช่น ไวน์ ชีส แซลมอน เนื้อแกะ ฯลฯ ทุกอย่างล้วนคุณภาพยอดเยี่ยมไม่แพ้ที่ใดในโลก
เรื่องราวของแทสมาเนียที่คนไทยส่วนใหญ่ได้รับรู้ มักจะเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แทบจะไม่มีเรื่องราวอย่างอื่นเลย โดยเฉพาะอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแทสมาเนีย ทำเงินเข้าแทสมาเนียไม่แพ้การท่องเที่ยว ที่สำคัญลู่ทางทำกินบนเกาะแอปเปิ้ลยังมีอีกเยอะ ประจวบเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจเละเป็นโจ๊กโดนเอ็ม 79 แบบนี้ จึงขอผสมผสานการทำมาหากินกับการท่องเที่ยวด้วยกันเสียเลย เรียกว่าไปแล้วไม่เสียเที่ยว ไปช่วงนี้ยิ่งกำไรหลายเท่า เพราะดอลลาร์ออสเตรเลียพอ ๆ กับสิงคโปร์
ผมไปแทสมาเนียคราวนี้บินจากเมลเบิร์น ลงที่เมืองลอนเซสตัน (Launceston) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะ ใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษ ๆ เพื่อดูฟาร์มเลี้ยงแกะ โรงงานชีสและแซลมอนตามเส้นทางดังกล่าว แทสมาเนียมีสนามบินอยู่ 2 แห่งคือลอนเซสตันกับโฮบาร์ต แล้วแต่ว่าใครจะสะดวก ลอนเชสตันเป็นเมืองใหญ่รองจากโฮบาร์ต อยู่ห่างกันประมาณ 200 กิโลเมตร
จากลอนเชสเตอร์มุ่งหน้าลงใต้ไปโฮบาร์ตใช้เส้นทางบาสส์ ไฮเวย์ (Bass Highway) ผ่านหมู่บ้านและตำบลหลายแห่ง บ้านเรือนตามชนบทสองข้างทาง ส่วนใหญ่หลังเล็ก ๆ เตี้ย ๆ และสีสันฉูดฉาด คุณลุงคนขับรถบอกว่าสร้างสูง ๆ ไม่ได้เพราะลมแรง อากาศแปรปรวน เกิดพายุบ่อย มีพิพิธภัณฑ์ขนแกะที่เมืองรอสส์ (Ross) ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ระหว่างทาง เสียดายที่ไปถึงมีเวลาแค่ 15 นาทียังดูอะไรไม่ได้เขาก็ปิดแล้ว
ฟาร์มแกะออโรร่า กูร์เมต์ โปรดัก (Aurora Gourmet Produce) เป็นของครอบครัวโดเฮอร์ตี(Doherty) ก่อตั้งในปี 2006 นี่เอง แต่โด่งดังในฐานะผู้มีความเชี่ยวชาญด้านแกะ ภายใต้ยี่ห้อ Aurora Lamb และ Cressy Farm Lamb ส่งไปขายทั้งในออสเตรเลีย รัสเซีย แคนาดา สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และเอเชีย ในเมืองไทยมีขายในโรงแรมและร้านอาหารยุโรปบางแห่ง
ครอบครัวโดเฮอร์ตีที่ประกอบด้วยลูกชายและพ่อแม่ที่น่ารักมาก เหมือนผู้ใหญ่ใจดี นำแกะมาให้พ่อครัวไปย่างมาให้กิน พร้อมจานเด็ดอีก 2-3 อย่าง เช่น สลัดฟักทอง กินแกะออสเตรเลียมาก็เยอะ เพิ่งเจอของเจ้านี้แหละปิ๊งที่สุด เมื่อก่อนเคยชอบแกะเบอร์กันดีของฝรั่งเศส และแกะแถว ๆ คาสติลโย เดอ ลีออง ทางเหนือของสเปน ตอนนี้ต้องเพิ่มแกะออโรร่าเข้าไปด้วย ที่สำคัญกินกับไวน์แดงปิโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) ของแทสมาเนีย อร่อยจนลืมไปว่าเป็นมื้อกลางวัน ไวน์หมดไปหลายขวด
จากฟาร์มแกะตามไฮจ์เวย์สายเดิมเพื่อมุ่งหน้าไปโรงผลิตชีส แต่เจอร้าน Christmas Hills Raspberry Farm ในเมือง Elizabeth Town ก็เลยขอแวะ เป็นการกินของหวานพอดี เพราะที่ฟาร์มแกะเขาไม่ได้เลี้ยงของหวาน เป็นฟาร์มราสพ์เบอร์รี่ขนาดใหญ่และมีร้านอาหารบริการด้วย เมนูทั้งคาวและหวานล้วนมีส่วนผสมของราสพ์เบอร์รี่ ลูกค้ามีทั้งเด็กตัวเล็ก ๆ ไปจนถึงคนสูงอายุ ร้านนี้มีราสพ์เบอร์รี่ประมาณ 8 พันธุ์ขายในช่วงกลางเดือนธันวาคมจนถึงกลาง ๆ เดือนพฤษภาคม
ความหอมหวานของราสพ์เบอร์รี่ยังไม่ทันจืดจาง ก็มาถึง แอชโกรฟ ฟาร์ม ชีส (Ashgrove Farm Cheese) ซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกันนั่นเอง ดำเนินงานโดยครอบครัว Bennett ตอนแรกทำเฉพาะนม ปี 1993 จึงได้ตั้งโรงทำชีสไปพร้อมกันด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับนม ปัจจุบันมีวัวนมกว่า 900 ตัว ผลิตชีสและนมยี่ห้อ Ashgrove Cheese และ Fonterra
Ashgrove Farm Cheese เป็นโรงงานชีสแห่งเดียวในออสเตรเลีย ที่ทำชีสสไตล์ชนบทของอังกฤษ เช่น Lancashire, Cheshire, Double Gloucester, Red Leicester และ Cheddar ด้วยการส่งชีส เมกเกอร์ ไปเรียนรู้ที่อังกฤษถึง 2 ปี นอกจากนั้นชีสของที่นี่ยังผลิตด้วยมือ ตามสูตรและกรรมวิธีแบบดั้งเดิม ด้วยนมที่ที่รีดจากฟาร์มของตนเองเท่านั้น
ปิดท้ายที่ แทสซัล แฟคทอรี (Tassal Factory) โรงงานผลิตแซลมอนที่ใหญ่และทันสมัยมาก อยู่ที่ถนน Glen Rd.,Huonville ก่อตั้งในปี 1986 ปัจจุบันแทสมาเนียผลิตแซลมอนปีละ 17,000 ตัน โดย 70 % มาจากโรงงานแห่งนี้ ที่สำคัญเป็น 1 ใน 3 ของโรงงานผลิตแซลมอนที่ยังหลงเหลืออยู่และใหญ่ที่สุด จากจำนวน 11 โรงงานที่ก่อตั้งในช่วงทศวรรษ 1980
จากโรงงานแซลมอนก็เข้าสู่เมืองหลวงโฮบาร์ต แต่ก็ยังไม่พ้นแซลมอนเพราะโรงงานนี้เขามีร้านขายแซลมอนและร้านอาหารชื่อ Smolt อยู่ด้านหลังตลาดซาลามังกา ที่โด่งดัง ชื่อร้าน Smolt แปลว่าปลาตัวเล็ก ๆ ถ้าออกเสียงเร็ว ๆ ก็จะคล้ายกับแซลมอน มีแซลมอนขายหลากหลายรูปแบบ ทั้งแซลมอนสดปรุงแล้วพร้อมกิน แซลมอนรมควัน รวมทั้งที่บรรจุใส่แพคอีกนานาชนิด มีของไทย ๆ วางขายอยู่ด้วยนั่นคือซอสพริก และครกหิน เห็นทั้งสองอย่างยิ่งคิดถึงเมืองไทย ปัจจุบันมีคนไทยอยู่ในแทสมาเนียประมาณ 500 คน
ขณะที่เมนูของร้านอาหารซึ่งอยู่ติดกัน เสิร์ฟเมนูซีฟู้ดเป็นส่วนใหญ่ มีให้เลือกเยอะใหญ่กว่าทาปาสของสเปนก็มี ผมสั่งของกินเล่นหน้าตาคล้าย ๆ กุ้งชุบแป้งทอดของบ้านเรา ตามด้วยสลัดที่โป๊ะด้วยไข่ลวก อีกจานเป็นแซลมอนรมควันโรยด้วยวาซาบิและเครื่องเทศอีก 2-3 อย่าง อร่อยมากเมื่อกินกับไวน์ขาวของแทสมาเนีย แทสเมเนียปลูกวาซาบิได้ดีไม่แพ้ของญี่ปุ่น
ผลิตภัณฑ์ด้านอาหารของแทสมาเนียที่กล่าวมานั้น เขามีหน่วยงานตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ คือ The Australian Food Safety Centre (AFSC) ดังนั้นจึงมั่นใจได้ในเรื่องคุณภาพ เป็นหน่วยงานอิสระ รัฐบาลไม่ได้ให้เงินอุดหนุน สินค้าที่มีตรา AFSA รับรองแสดงว่าเป็นของคุณภาพ ส่วนกินแล้วจะ “อย…อาหย่อย” เหมือนในบ้านเราหรือไม่ต้องไปลองดูครับ
โฮบาร์ต (Hobart) เป็นเมืองหลวงของรัฐ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ ประชากร 202,000 คน เป็นเมืองหลวงที่เก่าแก่อันดับ 2 ของออสเตรเลีย (รองจากซิดนีย์) ที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมสมัยโบราณ อาคาร บ้านเรือน ทางประวัติศาสตร์สมัยศตวรรษที่ 19 กับสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่อย่างลงตัว ตัวเมืองตั้งอยู่ริมสองฝั่งของปากแม่น้ำเดอร์เวนต์ มีเทือกเขาเวลลิงตัน เป็นฉากหลัง
ขณะเดียวกันโฮบาร์ตยังเป็นเมืองท่าสำคัญมาตั้งแต่ในอดีตจนปัจจุบัน จากการที่มีท่าเรือน้ำลึก และทุกวันนี้ริมน้ำได้เพิ่มบาทบาทอีกหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีสันและชีวิตชีวาให้กับโฮบาร์ต ร้านอาหาร บาร์ และสถานที่สำคัญหลายแห่ง
หนึ่งในสีสันที่สำคัญของโฮบาร์ตคือตลาดซาลามังกา ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับอาคารรัฐสภา ด้านหนึ่งติดกับถนนเดวีย์ และสวนสาธารณะเซนต์ เดวิด อีกด้านหนึ่งติดกับท่าเรือ มีอาคารหินทรายรูปแบบจอร์เจียนตั้งเรียงรายอยู่ริมถนนย่าน Suvillian Cove ด้านหนึ่งเดินตรงเข้าไปจะเจอร้าน Smolt ดังกล่าว อาคารนี้เคยเป็นโกดังเก็บของ (Werehouse) ของท่าเรือเมืองโฮบาร์ต ตั้งแต่ปี 1830
อาคารโกดังเก่าแก่ย่านซาลามังกาเพลซ ประกอบด้วยอาคารโกดัง 7 หลัง และกระท่อมโบราณ 1 หลัง เดิมย่านนี้เรียกว่า The Cottage Green ส่วนชื่อ Salamanca ตั้งเพื่อเป็นเกียรติต่อเหตุการณ์ที่ดยุกแห่งเวลลิงตันมีชัยต่อประเทศฝรั่งเศสในสงครามซาลามังกา (Battle of Salamanca) เมื่อปี 1812 โดยซาลามังกาเป็นชื่อเมืองทางตะวันตกของสเปน
ปัจจุบันถูกดัดแปลงเป็นศูนย์กลางศิลปะซาลามังกา (Salamanca Arts Centre) แหล่งรวมงานศิลปะแขนงต่าง ๆ และร้านค้างานศิลป์รวมถึงสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย หลังบ่าย ๆ ไปจนถึงดึกดื่นย่านนี้จะเป็นสวรรค์ของการกิน ดื่ม ท่องเที่ยว เพราะมีร้านอาหารและบาร์ รูปแบบต่าง ๆ อยู่หลายสิบแห่ง
ส่วนกลางวันทุกวันเสาร์ เวลา 09.00 – 15.00 น. จะมีการปิดถนนทำเป็นตลาดนัด นักท่องเที่ยวและชาวพื้นเมืองจะมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ซื้อ ขาย กิน ดื่ม ฟังเพลง เล่นดนตรี แสดงงานศิลป์ ฯลฯ ส่วนนักช้อปรับรองเดินกันขาขวิด เพราะมีร้านค้าประมาณ 200 – 300 ร้าน ขายของนานาชนิด เช่น อาหารการกิน พืชผักผลไม้ ดอกไม้ ต้นไม้ งานศิลปะแขนงต่าง ๆ หนังสือทั้งเก่าและใหม่ ตุ๊กตา ของเล่น เสื้อผ้า รองเท้า สบู่ น้ำมันหอม แชมพู เทียนหอม โลชั่น ผลไม้แปรรูป หลายๆ อย่างเป็นโฮมเมด
ที่สำคัญสินค้าบางอย่าง เช่น งานไม้แกะสลักเป็นรูปร่างต่าง ๆ ส่งมาจากจตุจักรของเรานี่เอง มีนักธุรกิจทั้งคนไทย เวียดนาม สิงคโปร์ และญี่ปุ่นนำเข้าไป ในตลาดซาลามังกาก็มีแม่ค้าคนไทยด้วย คนไทยส่วนใหญ่อยู่ที่แทสมาเนียจะเป็นนักเรียน เพราะค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพถูกกว่ารัฐอื่น ใครอยากจะไปเรียนออสเตรเลียขอแนะนำที่นี่เลย อากาศก็ดี ธุรกิจร้านอาหารไทยก็น่าสนใจเพราะส่วนใหญ่มีแต่อาหารจีนผสมเวียดนาม…แทสมาเนีย ยังเปิดกว้างสำหรับนักธุรกิจไทย !!.

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...