ไปขุดทองที่..บัลลารัต

เฮลิคอปเตอร์บินชม 12 สาวกของพระเจ้า 12 สาวกของพระเจ้า Fish & Chip ขนาดยักษ์ Great ocean road Sir.Henry Bolte ไกด์แต่งตัวย้อนยุค ขุดทองไม่ได้ก็ซื้อพวกนี้แทน จุดเริ่มต้น Great Ocean Road ทองก้อนใหญ่ในพิพิธภัณฑ์ ทองที่ปะปนอยู่ในหิน ทางเข้าเหมือง นักเรียนและครูย้อนยุค บริเวณร่อนทอง บ้านพักคนงานเหมือง มุมผักผ่อนของคนงาน รถบริการขนส่ง รถไปรษณีย์ รถม้าบริการท่องเที่ยว ร้านขายของชำ ร้านขายเนื้อ ร้านถ่ายรูป โรงแรม ศาลเจ้าในหมู่บ้านเหมืองทอง สปาร์คกลิ้งรสเยี่ยม …ทอง ทอง ทอง…ไปขุดทองกันมั๊ย !!!!….ถ้ามีใครชวนแบบนี้เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยต้องหูผึ่ง เพราะปัจจุบันราคาทองคำแพงมหาศาลเหลือเกิน ถึงขนาดหลายคนอยากจะเปลี่ยนภาษิตโบราณ …เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร….เป็น…ได้ทองเท่าหัว ไม่มีผัวไม่เป็นไร….

อย่าเสียเวลาเลย…ไปขุดทองกันดีกว่า….แต่ต้องไปถึงออสเตรเลียนะครับ

จากเมลเบิร์นผมใช้เส้นทางสู่เมืองจีลอง (Geelong) ซึ่งเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมของรัฐวิคตอเรีย ทางใต้ของเมลเบิร์น 75 กิโลเมตร เลาะเลียบชายฝั่งทะเลด้านใต้ที่ทอร์คีย์ (Torquay) แถวนี้เป็นชายฝั่งที่เคยมีเรือมาอับปางมากที่สุด เนื่องจากมีกระแสลมแรงหินโสโครกมาก และความเว้า ๆ แหว่ง ๆ ของหน้าผา แวะชม Twist Lighthouse ประภาคารสีขาวสูง 34 เมตร ริมหน้าผาใกล้เมืองโลร์น (Lorne) สร้างตั้งแต่ปี 1891 เคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายหนังเรื่อง “Round the Twist” ห่างฝั่งออกไปเล็กน้อยมี Eagle Rock ถูกน้ำกัดเซาะมาหลายร้อยปีตั้งตระหง่านอยู่กลางน้ำ

ประมาณครึ่งชั่วโมงก็ย่างก้าวเข้าสู่ประตู  เกรท โอเชี่ยน โรด (Great Ocean Road) รถนักท่องเที่ยวทุกคันจะจอดให้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก อาหมวย อาตี๋ อาแป๊ะ อาซิ้ม ฯลฯ เยอะแยะเอะอะมะเทิ่ง จากตรงนี้ผมต้องใช้ระยะทางประมาณ 170 ก.ม.เพื่อไปยังอะพอลโลเบย์ (Apollo Bay) ถ้าเป็นเส้นทางธรรมดาคงไม่เท่าไร แต่นี่ต้องขึ้นเขา ลงห้วย โค้งซ้ายขวาแบบหักศอก ฯลฯ ทำให้บางคนที่ร่วมทางต้องคายของเก่า ดังนั้นถ้าไม่มั่นใจว่าทนทานต่อแรงเหวี่ยงของรถได้ ขอแนะนำให้กินยาแก้เมารถตั้งแต่ประตู Great Ocean Road นี้เลย

สำหรับคนที่ไม่เมารถหรือไม่หลับ ขอบอกว่า “Great Ocean Roadเป็นหนึ่งในเส้นทางสายโรแมนติกเลียบชายฝั่งมหาสมุทรของออสเตรเลีย แม้จะได้สัมผัสเพียงระยะ 100 กว่ากิโลเมตรก็ตาม (จากระยะทางรวมทั้งหมดกว่า 300 กิโลเมตร) นักนิยมความงามบอกว่านี่เป็นธรรมชาติริมมหาสมุทรแปซิฟิคตอนใต้ที่สวยงามที่สุดในโลก……..

Great Ocean Road  จุดประกายแนวคิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และเสร็จสิ้นโดยแรงกายแรงใจของทหารที่กลับมาจากการรบในสงครามช่วง ปี 1919 และ 1932 เริ่มก่อสร้างวันแรก 19 กันยายน 1919 ทหารเหล่านี้จะได้ค่าจ้าง 10 ชิลลิง 6 เพนซ์ต่อการทำงานวันละ 8 ชั่วโมงวันเสาร์ทำงานครึ่งวัน ส่วนแรกที่เปิดอย่างเป็นทางการคือด้านตะวันออกที่มุ่งสู่เมือง Lorne ในวันที่ 18 มีนาคม 1922 จากนั้นก็ทยอยเปิดส่วนที่เหลือ บางส่วนพังทลายลงมาต้องมีการซ่อมแซม กระทั่งเดือนพฤศจิกายน เส้นทางจาก Lorne มายัง Apollo Bay เสร็จสิ้น นั่นเท่ากับเส้นทาง Great Ocean Road สมบูรณ์แบบ และปี 2011 ก็ถูกบรรจุอยู่ใน Australian National Heritage

….ปี 2004 มีการเปิดเส้นทาง Great Ocean Walk ความยาว 104 กิโลเมตร เคียงคู่กับ Great Ocean Road เริ่มจาก  Apollo Bay ไปยัง “12 สาวกของพระเจ้า  (12 Apostles) Apollo Bay เป็นเมืองยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่สวยงามอีกเมืองหนึ่ง และมีน้ำทะเลสีน้ำเงินตัดกับป่าอันเขียวขจีทำให้เมืองนี้มีเสน่ห์สวยงาม นอกจากนี้ระหว่างทางผ่านชมโคอาลาที่อยู่ตามต้นยูคาลิปตัสตามธรรมชาติ

Twelve Apostles อยู่ใน Port Campbell National Park ว่ากันว่าเป็นจุดหมายที่ผู้คนอยากไปเห็นสักครั้งหนึ่งในชีวิต ลักษณะเป็นแท่งหินปูนสีน้ำตาลแดงก้อนมหึมาอายุราวกว่า 20 ล้านปี ที่ถูกน้ำทะเลและกระแสลมกัดกร่อนเป็นรูปร่างต่างๆ เรียงรายกระจายอยู่ริมชายฝั่ง 12 ก้อน จึงตั้งชื่อตาม 12 นักบุญศักดิ์สิทธิ์ศาสนาคริสต์ หลายคนจินตนาการว่าเป็นแกรนด์ แคนยอนแห่งท้องทะเล เป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่สร้างสรรค์มาให้มนุษย์ได้ชมกัน ถูกคลื่นลมซัดแรงหินบางก้อนเริ่มหายไปปัจจุบันเหลือราว 8 – 9 ก้อน สามารถดูทิวทัศน์มุมสูงได้ด้วยการขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ในราคาคนละ 2,800 บาท ต่อ 7 นาที)

        จาก Twelve Apostles มุ่งหน้าไปเมืองที่เคยได้ชื่อว่าร่ำรวยที่สุดในยุคศตวรรษที่ 18 และเป็นจุดหมายปลายทางของผมนั่นคือ บัลลารัต (Ballarat) อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมลเบิร์นประมาณ 110 กม. ตัวเมือง Ballarat ไม่มีอะไรให้ตื่นเต้น จุดสนใจไปอยู่ที่ โซเวอร์เรนจ์ ฮิลล์ (Sovereign Hill) ซึ่งห่างจากตัวเมืองไม่กี่นาที เป็นหมู่บ้านเหมืองแร่ทองคำซึ่งทำให้บัลลารัตเป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยที่สุด ในยุคตื่นทองคือช่วงปี 1851-1869 รัฐวิคทอเรียเป็นแหล่งที่มีการขุดพบทองมากกว่าใคร และที่บัลลารัตถือเป็นแหล่งขุดทองหมายเลขหนึ่ง ดึงดูดนักเสี่ยงโชคจากทั่วโลกมารวมกัน มีทั้งชายหนุ่มหลายพันคนและหญิงสาวจำนวนหนึ่งที่รักการผจญภัยจากดินแดนอาณานิคมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีนักเสี่ยงโชคจากจีนอีกหลายลำเรือ ผู้ให้ความบันเทิง เจ้าของร้านเหล้า คนขายเหล้าเถื่อน โสเภณี และนักต้มตุ๋นจากทั่วโลกพากันมุ่งหน้ามาสมทบ ทำให้รัฐวิคทอเรียขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประชากรที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ และกลายเป็นรัฐที่มีความมั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

Sovereign Hill ในปัจจุบัน เป็นสถานที่จำลองยุคตื่นทองขนาด 60 เอเคอร์ หรือประมาณ 150 ไร่ ได้รับการยกย่องว่าเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง (Outdoor Museum) ที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของออสเตรเลีย เปิดบริการอย่างเป็นทางการครั้งแรกวันที่ 29 พฤศจิกายน 1970 (พ.ศ.2513) หรือ 119 ปีหลังจากที่ James Dunlop และ James Reagan ขุดพบทองครั้งแรกที่นี่เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 1851 (พ.ศ.2394) ทองก้อนใหญ่ที่สุดที่พบในปี 1858 ชื่อ Welcome Nugget น้ำหนัก 69 กิโลกรัม เป็นก้อนใหญ่เป็นอันดับสองที่ถูกพบในโลก เป็นทองคำบริสุทธิ์ 99 % ราคาขณะนั้น 10,000 ปอนด์

บริเวณสถานที่ขายตั๋วมีของที่ระลึกเกี่ยวกับทองขายมากมาย มีเจ้าหน้าที่ชาย-หญิงกลุ่มหนึ่งแต่งตัวแบบย้อนยุคคอยต้อนรับ และเดินฉุยฉายเป็นสีสัน แม้แต่ไกด์ของเราก็ยังแต่งตัวแบบย้อนยุค หลังจากซื้อตั๋วแล้วไกด์จะพาเดินผ่านหมู่บ้านเพื่อไปยังทางลงสู่เหมืองทองชั้นใต้ดิน  ซึ่ง 2 ข้างทางเต็มไปด้วยร้านรวงต่าง ๆ ในบรรยากาศและการตกแต่งในยุคนั้น มีธนาคาร ไปรษณีย์ ร้านแลกเงิน ร้านตัดเสื้อผ้า-รองเท้า ร้านอาหาร บาร์ โรงแรมเล็ก ๆ โรงละคร โรงโบว์ลิ่ง ห้องสมุด ร้านถ่ายรูป ร้านขายขนมปัง ฯลฯ ใครจะนั่งรถม้าทัวร์รอบ ๆ หมู่บ้านก็ย่อมได้ ช่วงกลางคืนจะมีการแสดงแสง สี เสียง บอกเล่าเหตุการณ์ในช่วงนั้น จนถึงช่วงยูเรกา (Eureka Stockade) ที่มีการต่อสู้เพื่อแย่งชิงผลประโยชน์เกี่ยวกับทองกัน

ที่ Sovereign Hill จะมีสัญญากับโรงเรียนในตัวเมืองบาลารัต ด้วยการจัดให้นำนักเรียนมาเรียนหนังสือและทำกิจกรรมกันที่นี่เป็นกลุ่ม ๆ คล้าย ๆ กับให้เด็กๆ มาเรียนนอกสถานที่กันบางวิชา ที่น่ารักมากก็คือนักเรียนต้องแต่งตัวแบบย้อนยุค ครูผู้สอนก็ต้องแต่งตัวแบบย้อนยุคเช่นเดียวกัน มีการเรียนการสอนจริงในห้องเรียน กินข้าวมื้อกลางวันในโรงอาหาร และกิจกรรมต่าง ๆ เมืองไทยน่าจะมีกิจกรรมแบบนี้บ้าง เด็กยุคใหม่จะได้รู้รากเหง้าของวัฒนธรรมการศึกษาในสมัยก่อน ๆ บ้าง ไม่ใช่บ้าแจกแทบเล็ต กินหัวคิวกันอย่างสนุกสนาน

เหมืองทองใต้ดินเรียกว่า Sovereign QMC Gold Mine มีรถรางนั่งลงไปครั้งละประมาณ 20 กว่าคน ทางลงมืดมากที่สำคัญเขาจะห้ามใช้แฟลชเวลาถ่ายรูปเพื่อต้องการให้สายตาปรับกับความมืด ไม่เช่นนั้นสายตาอาจจะเสีย แต่พอลงไปด้านล่างสุดก็จะมีไฟฟ้า ไกด์ก็จะพาเดินไปตามเส้นทางเล็ก ๆ ที่คดเคี้ยวไปมา คนงานใช้เส้นทางพวกนี้ในการขุดหาทอง เช่นแหล่งที่เจอทอง สถานที่ขนทองขึ้นข้างบน วิธีการเจาะหาทอง สถานที่พักผ่อนกินข้าวกินน้ำของคนขุดทอง มุมหนึ่งมีการแสดงแสง สี เสียง ของชาวจีนกลุ่มแรกที่เข้ามาขุดทองที่นี่ เป็นต้น

ผู้ที่มีปัญหาทางระบบการหายใจ หรือแพ้อากาศ อาจจะต้องระวังหรือไม่ควรลงไป เพราะอากาศข้างล่างชื้นและมีกลิ่นคล้าย ๆ ฝุ่นดินและหิน ใช้เวลาอยู่เหมืองทองใต้ดินประมาณ 30 นาที ก็ขึ้นมาข้างบนเพื่อสัมผัสกับไฮไลท์ของที่นี่คือจุดที่ให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองร่อนทอง โดยการใช้พลั่วตักทรายและในลำธารที่ไหลเอื่อย ๆ ลงบนภาชนะร่อนทองคล้ายกระทะแบน ๆ แล้วค่อย ๆ แกว่งและร่อนกระทะเบาๆ เพื่อให้ก้อนหินและทรายออกไป โดยอาศัยหลักการที่ว่าทองคำที่มีน้ำหนักมากกว่าจะนอนก้นอยู่ในกระทะ แล้วคอยสังเกตความแวววาวของทองที่ก้นกระทะ บางคนได้เป็นชิ้นเล็กๆ เท่าหนวดกุ้งก็เก็บใส่ขวดมาเป็นที่ระทึก….กลัวหาย

ด้านหนึ่งเป็นหมู่บ้านของคนงานขุดทองในยุคนั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีน จำลองไว้ได้สมจริงสมจังมาก มีเตนท์ทำเป็นบ้านพักหลังเล็ก ๆ นอนได้หลังละ 1-2 คน ภายในมีข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของคนขุดทอง ซึ่งมีของที่จำเป็นไม่กี่อย่าง นอกนั้นก็มี ร้านขายของชำ คอกหมู แปลงผัก ร้านขายเนื้อสัตว์ รวมทั้งศาลเจ้า รถม้าขนส่งสินค้าต่าง ๆ รถม้าไปรษณีย์ เป็นต้น ซึ่งแค่เห็นสภาพก็รู้แล้วว่ายากลำบากขนาดไหน

………ย้อนไปในช่วงก่อตั้งเมืองเมลเบิร์นได้ประมาณ 5 ปี เมลเบิร์นแยกตัวออกจากอาณานิคมนิว เซาธ์เวลส์ กลายมาเป็นอาณานิคมใหม่ชื่ออาณานิคมวิคตอเรีย ในปี 1851 มีประชากรประมาณ 29,000 คน หลังจากนั้นไม่นานก็มีการค้นพบทองคำครั้งแรกที่เมืองคลูน และพบอีกหลายแห่ง เช่น อันเดอร์สัน ครีก,บันนินยอง และเมาท์ อเล็กซานเดอร์ เป็นต้น ทองคำที่พบมีลักษณะเป็นกรวดทราย ซึ่งฝังตัวรวมอยู่กับก้อนหินและเนินเขา การคัดแยกต้องใช้วิธีร่อนทองเพื่อกรองทรายออก ต่อมามีการค้นพบกรวดทรายทองคำที่บัลลารัต และเบนดิโก ทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่อีกกว่า 50,000 คน

เมื่อกรวดทรายทองคำเริ่มร่อยหรอ จึงเริ่มมีการขุดลงไปใต้ดิน ทำเป็นเหมืองทอง และมีการค้นพบทองคำเป็นก้อนใหญ่ๆ การต้องลงไปใต้ดินแล้วนอกจากจะเสี่ยงอันตราย ยังถูกเจ้าถิ่นกดขี่รีดไถค่าสัมปทานที่สูงลิ่ว ทำให้เกิดความตึงเครียดไปในหลาย ๆ เมือง เช่น บัลลารัต,เบนดิโก และบีชเวิร์ธ กระทั่งนำไปสู่ตำนาน ยูเรกา สต๊อกเคด (Eureka Stockade) คือความพยายามของผู้ว่าการจากอังกฤษ เพื่อบังคับใช้กฎระเบียบ ซึ่งได้แก่การพิจารณาออกใบอนุญาตขุดทองรายเดือน และการใช้กำลังทหารกดขี่ข่มเหง ได้นำไปสู่การต่อสู้นองเลือดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ค่ายยูเรกาในปี 1854 หลังจากยุคตื่นทองเงียบสงบคงมีแต่เมืองบัลลารัต และเบนดิโก เท่านั้น ที่ยังคงความเจริญเติบโตไว้ ในขณะที่เมืองอื่นๆ ที่อยู่อาณาบริเวณรายรอบ ล้วนแล้วแต่มีขนาดเล็กลง บางเมืองก็เป็นเมืองร้างหลังจากที่ทองคำถูกขุดออกไปจนหมดสิ้น…..

จาก Sovereign Hill เดินมาฝั่งตรงกันข้ามของลานจอดรถ จะมีพิพิธภัณฑ์ทองคำ หรือ Gold Museum ด้านหน้าพิธภัณฑ์มีรูปหล่อ เซอร์ เฮนรี โบลที (Sir.Henry Bolte) อดีตผู้ว่าการรัฐวิกตอเรีย ที่เป็นชาวเมืองบัลลารัตคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ ส่วนภายในแสดงประวัติความเป็นมาของการค้นพบทองคำ มีก้อนทองคำจำลองขนาดเท่าของจริงที่ขุดพบในเหมือง

…ได้ทองเท่าหัว ไม่มีผัวไม่เป็นไร…….ฉันไม่ได้ทั้ง 2 อย่าง..จะทำยังไง ?..

เสียงพึมพำจากท้ายรถ..

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...