“เบียร์” จุดเริ่มแห่งอารยะธรรมการต้มกรอง

“เบียร์” คือจุดเริ่มแห่งอารยะธรรม ของ “อารยะธรรมเริ่มต้นจากการต้มกรอง”

วิลเลียม ฟอล์คเนอร์ (William Faulkner : 25 กันยายน1897 – 6 กรกฎาคม 1962) นักเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นคนสำคัญชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1949 กล่าวไว่เช่นนั้น เบีบร์เบลเยี่ยมที่กำลังมาแรง เบียร์จีน เบียร์ชื่อดังของญี่ปุ่น เบียร์ดังของเบลเยี่ยม เบียร์ดังจากฮอลแลนด์ เบียร์ดำจากศรีลังกา เบียร์ตุรกี เบียร์ออสเตรเลีย เบียร์ฮอลแลนด์ 22 Ale อังกฤษ hop Porter จากอังกฤษ Stout ชื่อดังของไอริช กระบวนการทำเบียร์ เบอร์สหรัฐ

..การต้มกรอง…ดังกล่าว เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก “เบียร์” (Beer)…

เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ากี่ปี ส่วนใหญ่คาดกันว่าอยู่ในราว 6,000 –  7,000 ปี ขณะที่นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าการต้มเบียร์เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์รู้จักขัดเกลาเครื่องมือหิน ประมาณในยุค Neolithic เนื่องจากยุคนนั้นมนุษย์รู้จักเก็บเกี่ยวธัญญาหารไว้บริโภคในระยะยาว รู้จักทำครัว รู้วิธีต้มข้าวเปลือกแล้วปล่อยให้หมักในน้ำ จึงค้นพบกรรมวิธีผลิตเครื่องดื่มที่แก้กระหาย เก็บไว้ได้นาน และรสชาติอร่อย เรียกว่า”ชิคารุ” หรือ “ขนมปังเหลว” ซึ่งชาวสุเมเรีย แห่งลุ่มน้ำไทกริส-ยูเฟรติส บอกว่าเป็นเครื่องดื่มจากสรวงสวรรค์

ในยุคกลางการต้มเบียร์มักทำกันตามวัดหรือโบสถ์ในท้องถิ่น ที่สำคัญศาสตร์และศิลป์ของการปรุงเบียร์ถือเป็นความลับสุดยอด ไม่มีการถ่ายทอดให้กับใครง่าย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนนอกตระกูล สมัยก่อนในแคว้นบาวาเรีย แหล่งผลิตไวน์ที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี ใครจะหัดต้มเบียร์ต้องผ่านการฝึกงานก่อนอย่างน้อย ๆ 3 ปี

ประเทศไทยเริ่มมีการผลิตเบียร์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ได้ยื่นเรื่องขอจัดตั้งบริษัทผลิตเบียร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2473 หลังจากเดินทางไปศึกษาเรื่องเบียร์ที่เวียดนาม และเยอรมนี ส่วนตัวโรงงานถูกสร้างขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2476 ในย่านบางกระบือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้ชื่อบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด และผลิตเบียร์ออกจำหน่ายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2477 ภายใต้ยี่ห้อ ตราหมี ตราสิงห์แดง ตราสิงห์ขาว ตราแหม่ม ตราพระปรางค์ทอง ตราว่าวปักเป้า ตรากุญแจ ตรารถไฟ และที่ยังคงอยู่จนปัจจุบันคือ ตราสิงห์

ในปี พ.ศ. 2504 โรงเบียร์แห่งที่สองจึงเกิดขึ้นคือ บริษัทบางกอกเบียร์ ผลิตเบียร์ตราหนุมาน ตราแผนที่ และตรากระทิง แต่ไม่ได้รับความนิยมจากผู้ดื่มจึงได้เลิกกิจการไป กระทั่งปี พ.ศ. 2509 จึงเปลี่ยนเจ้าของพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ผลิตเบียร์อมฤตเป็นหลัก ในปีพ.ศ. 2521 ได้ซื้อลิขสิทธิ์เบียร์คลอสเตอร์ มาผลิต

หลังจากนั้นรัฐบาลก็ไม่ได้อนุญาตให้มีการตั้งโรงงานอีก เพราะเห็นว่าเบียร์เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และตั้งกำแพงภาษีเพื่อให้ความคุ้มครองกับผู้ผลิตในประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ภาครัฐมีนโยบายเปิดเสรีทางการค้า โดยการเปลี่ยนเงื่อนไขของผู้ผลิตเบียร์ จากที่กำหนดให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องเป็นมีสัญชาติไทย เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ทำให้ปัจจุบันมีกลุ่มบริษัทผู้ผลิตเบียร์ในประเทศไทยประมาณ 6-7 กลุ่ม ผลิตเบียร์ออกมาหลากหลายยี่ห้อ ทั้งตลาดล่าง ตลาดกลาง และตลาดบน

อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2014 เป็นต้นมา ตลาดเบียร์ระดับบนกลับพุ่งเป้าไปที่เบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะผู้บริโภคเริ่มรับข่าวสารรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังทรัพย์ ที่สำคัญผู้หญิงรุ่นใหม่ดื่มเบียร์กันมากขึ้น สาเหตุหลัก ๆ คือรสชาติดี แอลกอฮอล์ไม่สูง สามารถดื่มกับอาหารได้ดี และดูดีกว่าดื่มโลคัล แบรนด์ เป็นต้น

เบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ จากเดิมที่มีเพียงเยอรมันเป็นหลัก ซึ่งครองตลาดมาเป็นสิบ ๆ ปี ปัจจุบันมีให้เลือกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบียร์เบลเยี่ยม กำลังเป็นคู่แข่งสำคัญของเยอรมัน เห็นกันชัด ๆ คือฮูการ์เดนส์ (Hoegaarden) ไปร้านไหนจะต้องพบเห็น

ที่เหลือก็แบ่งตลาดกันในหลายประเทศที่มีชื่อในการผลิตเบียร์อยู่แล้ว เช่น ฮอลแลนด์ อังกฤษ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ สาธารณรัฐเชก สเปน สหรัฐ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย แม้แต่บางชาติที่ไม่เคยมีในตลาดบ้านเรา เช่น รัสเซีย ตุรกี จีน ไต้หวัน ศรีลังกา รวมทั้งชาติเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง ลาว พม่า เขมร เป็นต้น

จากการวิจัยของมหาวิทยาลัย Emory กล่าวว่าผู้หญิงและผู้ชายสูงอายุ 2,200 คน ที่ดื่มเบียร์วันละ 1.5 แก้วต่อวัน จะมีการเสี่ยงต่อโรคหัวใจล้มเหลวลดลง 50 %ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ในบอสตัน พบว่าเบียร์ยังดีต่อสมอง โดยผู้ที่ดื่มเบียร์ตั้งแต่หนึ่งถึง 6 แก้วต่อสัปดาห์ จนถึงผู้ที่ดื่ม 7-14 แก้วต่อสัปดาห์ จะเกิดอาการชักได้น้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่มเลย แต่ถ้าผู้ที่ดื่มเกินกว่านี้ก็จะมีอาการชักได้มากที่สุด เพราะเบียร์ช่วยลดขนาดเม็ดเลือดและไม่ทำให้เลือดไปครั่งที่สมองได้ นอกจากนี้เบียร์ยังช่วยในการลดความเครียด ลดความกังวล และความประหม่าได้ รวมทั้งยังทำให้อารมณ์ดี แถมยังมีสารอาหารอย่าง โปรตีน วิตามิน B ฟอสฟอรัส แมคเนเซียม เซเลเนียม และธาตุเหล็ก

อย่างไรก็ตามโทษของเบียร์ก็มี ในฐานะที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดผลเสียทุกชนิด โดยเฉพาะกับตับ ซึ่งต้องทำงานหนักเป็นพิเศษเวลาที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป ตับเป็นอวัยวะที่ช่วยขับพิษออกจากร่างกาย แต่ถ้าตับเสียหาย ร่างกายก็จะเต็มไปด้วยพิษ

…ดื่มเบียร์แล้วอ้วน….

นักวิจัยจากอังกฤษและสาธารณรัฐเชกเกิดนึกสงสัยในเรื่องนี้ จึงได้ทำการสำรวจชาวเชกเกือบ 2,000 คน ในฐานะนักดื่มเบียร์ตัวยง พบว่า การมีพุงกับการดื่มเบียร์ปริมาณมาก ๆ ไม่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นการบอกว่าคนเราจะอ้วนเพราะดื่มเบียร์จึงเป็นการไม่ถูกต้อง

ทางด้าน ดร.มาร์ติน โบบัค แห่ง University College London และคณะวิจัยจาก Institute of Clinical and Experimental Medicine ในกรุงปราก ได้ให้หญิง 1,098 คน และชาย 891 คน ที่มีอายุระหว่าง 25 ถึง 64 ปี ทำแบบสอบถาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา โดยไม่มีการกล่าวถึงเครื่องดื่มอื่น พบว่าชายชาวเช็กดื่มเบียร์โดยเฉลี่ย 3.1 ลิตรต่อสัปดาห์ ผู้หญิง 0.3 ลิตรต่อสัปดาห์ ในจำนวนนี้มีชาย 3 คนที่ดื่มอย่างหนักราว 14 ลิตรต่อสัปดาห์ และหญิง 5 คนดื่มถึง 7 ลิตรต่อสัปดาห์ โดยก่อนและหลังการดื่มเบียร์ คณะวิจัยจะให้แพทย์วัดขนาดของเอว และสะโพก ชั่งน้ำหนัก และบันทึกดัชนีมวลรวมของอาสาสมัครไว้ตรวจสอบด้วย พบว่า การมีพุงไม่เกี่ยวข้องกับการดื่มเบียร์เลย การกล่าวอ้างว่าคนอ้วนหรือมีพุงเพราะการดื่มเบียร์มากเกินไปจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ขณะที่ ไนเจล เดนบี จากสมาคมโภชนาการแห่งอังกฤษกล่าวว่า ผู้ที่ได้รู้ข่าวนี้ก็ไม่ควรวิ่งแจ้นเข้าผับเข้าบาร์หรือไปหาลานเบียร์เพื่อซดเบียร์ให้หายอยาก เพราะไม่ว่าจะรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มชนิดใดก็ตามที่ผสมแอลกอฮอล์ก็สามารถอ้วนได้หากรับประทานมากเกินไป และ หากต้องการดื่มจริง ๆ ก็ควรดื่มแต่พอดี

เบียร์ เป็นเมรัยหลาย ๆ รูปแบบที่ผ่านกระบวนการหมัก ผลิตภัณฑ์พวกธัญพืชองค์ประกอบหลักในการหมักเบียร์คือ น้ำ ข้าวมอลต์(คือเมล็ดข้าวอบแห้งหรือคั่ว ของเมล็ดธัญพืชที่แตกหน่อแล้ว โดยปกติใช้เมล็ดข้าวบาร์เลย์) ฮอปส์ และ ยีสต์ และยังมีส่วนผสมอื่นๆ เช่นผลเชอร์รี่ ราสเบอร์รี่ และเมล็ดธัญพืชอื่น เช่น เมล็ดข้าวสาลี (Wheat) เรียกว่า แอดจังท์ (Adjunct) หรือ ส่วนผสมข้างเคียง

น้ำ : เนื่องจากน้ำนั้นเป็นองค์ประกอบหลักของเบียร์ คุณสมบัติของน้ำที่ใช้จึงมีผลต่อรสชาติของเบียร์

มอลต์ : เมล็ดข้าวมอลต์ จากข้าวบาเลย์นั้นเป็นชนิดที่นิยมใช้มากที่สุด เนื่องมาจากมีปริมาณ เอนไซม์อะไมเลส (amylase enzyme) สูง ซึ่งทำให้กระบวนการแตกตัวของแป้งเป็นน้ำตาลนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากข้าวมอลต์จากข้าวบาเลย์แล้ว เมล็ดธัญพืชอื่นๆ เช่น ข้าวสาลี (wheat) ข้าวเจ้า (rice) ข้าวโพด (maize) ข้าวโอ๊ต (oat) และ ข้าวไรย์ (rye) ทั้งแบบที่ทำเป็นข้าวมอลต์ และ เมล็ดปกติ ก็ยังใช้เป็นส่วนผสมอีกด้วย

ฮอปส์ : ส่วนผสมซึ่งให้รสขมในเบียร์ เพื่อสมดุลรสหวานจากมอลต์ นอกจากนั้นยังมีผลเป็นยาปฏิชีวนะ ต่อต้านจุลินทรีย์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ยีสต์ ส่งผลต่อการหมัก

ยีสต์ : ใช้ในกระบวนการหมักเพื่อย่อยสลายน้ำตาล ที่สกัดจากเมล็ดธัญพืช ให้เป็นแอลกอฮอล์ และ คาร์บอนไดออกไซด์ โดยปกติแล้วระดับแอลกอฮอล์ในเบียร์จะอยู่ที่ 4-6 % แต่อาจจะต่ำถึง 2 % หรือสูงถึง 14 % ยีสต์ที่ใช้แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ ยีสต์หมักลอยผิว ยีสต์หมักนอนก้น ยีสต์ธรรมชาติ

เบียร์อาจแบ่งตามชนิดของยีสต์ที่ใช้และวิธีการหมักได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

เบียร์บอตทอมยีสต์ (bottom-fermented beer) หมายถึง เบียร์ที่ได้จากการหมักด้วยยีสต์ที่เรียกว่า bottom yeast ยีสต์ชนิดนี้หลังการหมักจะตกตะกอนอยู่ก้นถังหมัก โดยกระบวนการหมักจะเกิดที่ก้นถังหมักที่อุณหภุมิต่ำ (10-15 องศาเซลเซียส) การหมักเกิดอย่างช้าๆ เปลี่ยนน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หลังการหมักจะต้องเก็บไว้ในถังไม้ที่อุณหภูมิต่ำหลายสัปดาห์ เพื่อให้เกิดการหมักอย่างสมบูรณ์ เบียร์ที่ได้จะมีสีทองสดใส มีรสอ่อนถึงปานกลาง และมีก๊าซมาก มีหลายชนิด ที่ได้รับความนิยม เช่น ลาเกอร์เบียร์ (lager beer) พิลเซ่นเบียร์ (Pilsen beer) เบียร์ดำ,ดาร์คเบียร์(dark beer) และบ็อคเบียร์ (Bock beer) ซึ่ง เป็นเบียร์ที่มีสีคล้ำ เข้มข้น รสหวานเล็กน้อยและมีกลิ่นรสมาก เริ่มผลิตครั้งแรกในเยอรมนี เป็นต้น

Lager beer เป็นเบียร์ที่ได้รับความนิยมและผลิตมากที่สุดในโลก มีลักษณะและรสชาติเฉพาะคือ มีรสอ่อนๆ หวานน้อย สีเหลืองอำพัน ดื่มแล้วสดชื่น แอลกอฮอล์ประมาณ 3.2-4.5 % นิยมเสิร์ฟที่อุณหภูมิ 4-7 องศาเซลเซียส ที่ได้รับความนิยม เช่น สิงห์ คาร์ลสเบิร์ก (Carlsberg) ไฮเนเก้น (Heineken) ฟิลส์เนอร์ (Pilsner / Pilsener) บัดไวเซอร์ (Budweiser) คูร์ (Coors)

เบียร์ทอปยีสต์ (top-fermented beer) หมายถึง เบียร์ที่ได้จากการหมักด้วยยีสต์ที่เรียกว่า top yeast สามารถเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่อุณหภูมิประมาณ 15-21 องศาเซลเซียส การหมักจะเกิดขึ้นบริเวณด้านบนของถัง ที่ได้รับความนิยม เช่น เอล (ale) พอร์ทเทอร์ (Porter),เบียร์ขาว ไวท์เบียร์ ไวซ์เบียร์ (White beer),อัลท์เบียร์ (Alt beer),เคิลช์ (Kölsch) และสเตาท์ (Stout) เป็นต้น

พระเอกของประเภทนี้คือ Ale เป็นเบียร์ที่มีสีเข้ม กลิ่นรสเข้มข้น รสขมกว่าลาเกอร์เบียร์ ได้จากการหมักข้าวมอลต์ ดอกฮอปส์ น้ำ และอาจมีการเติมข้าวโพดหรือข้าวเจ้า และน้ำตาล แล้วหมักที่อุณหภูมิ 20-21 องศาเซลเซียส ด้วยทอปยีสต์ มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่าเบียร์ชนิดอื่น คือประมาณ 4.5-6.5 % นิยมเสิร์ฟที่อุณหภูมิ 3-7 องศาเซลเซียส

ส่วน พอร์ตเตอร์ (Porter) เป็นเบียร์ที่รู้จักกันมานานก่อนเบียร์ชนิดอื่น สีดำคล้ายเอล แต่รสหวานกว่า ใช้ดอกฮอปส์น้อยกว่าแต่มีฟองมากกว่า นิยมเสิร์ฟที่อุณหภูมิ 12 องศาเซลเซียส

สเตาต์ (Stout) เป็นเบียร์ที่ได้จากการหมักข้าวบาร์เลย์ที่อบจนเกือบไหม้ร่วมกับมอลต์ ทำให้มีกลิ่นรสของมอลต์มาก รสหวานและมีสีเข้มกว่าพอร์ตเตอร์คือมีสีเข้มจนเกือบดำ บ้านเราจึงมักนิยมเรียกว่า เบียร์ดำ มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ นิยมเสิร์ฟที่อุณหภูมิ 12 องศาเซลเซียส และมักนิยมนำไปผสมเป็นเครื่องดื่มผสมประเภทค็อกเทล (cocktail) เบียร์ชนิดนี้ที่นิยม ได้แก่ กินเนสส์สเตาต์ (Guiness Stout)

เรื่องของเบียร์ยังมีอีกมากมาย นี่เป็นเศษเสี้ยวเล็กๆ เท่านั้น อ่านเพื่อเป็นความรู้ ที่สำคัญ..“อารยะธรรมเริ่มต้นจากการต้มกรอง“…หลังจากนั้นขึ้นอยู่ที่ตัวของท่านเอง !!!

 

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...