ไปเปอร์ ไฮด์ซีค : “Champagne worthy of Queen”

ชอมปาญ (Champagne) ที่ตามสำเนียงอังกฤษเรียกว่า “แชมเปญ” เป็นสปาร์คกลิ้ง ไวน์ (Sparkling wine) ที่มีการผลิตได้ในหลาย ๆ ชาติ แต่จะมีสปาร์คกลิ้งไวน์ที่ผลิตในแคว้นชอมปาญของฝรั่งเศสเท่านั้นที่สามารถใช้คำว่า “Champagne” ได้ นอกนั้นแม้ว่าจะผลิตได้ดีเลอเลิศประเสริฐศรีดื่มแล้วเหาะเหินเดินอากาศได้ ก็ไม่อาจใช้คำนี้ได้เพราะเป็นคำที่ฝรั่งเศสจดลิขสิทธิ์ไว้แล้ว ต้องใช้คำว่า “สปาร์คกลิ้งไวน์” (Sparkling wine) หรือคำอื่น เช่น “เมธเธิด ชอมเปนัวร์” (Methode Champenois) หรือ “ชอมเปญ เมธเธิด” (Champagne Methode) เท่านั้น สองคำหลังนี้มีความหมายถึง “กระบวนการผลิตเช่นเดียวกับแชมเปญ”
“ชอมปาญ” (Champagne) มาจากภาษาละตินว่า “กัมปาเนีย” (Campania) แปลว่าทุ่ง หรือดินแดนแห่งหินปูน เนื่องจากพื้นที่แคว้นชอมเปญปลูกอะไรไม่ได้ ประกอบกับแคว้นนี้เป็นสมรภูมิสงครามแทบทุกครั้งเพราะอยู่ใกล้ปารีส มีเพียงองุ่นเท่านั้นที่สามารถหลั่งรากฝังลึกให้ผลดี ที่สำคัญทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้อย่างภาคภูมิใจ
แคว้นชอมเปญ อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปารีส จากปารีสนั่งรถไฟความเร็วสูงเตเจเว (TGV) ประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที ปัจจุบันมีผู้ผลิตชอมเปญรายใหญ่ ๆ (Champagne House) ประมาณ 100 กว่าราย ไม่รวมผู้ที่ปลูกองุ่นและผลิตขนาดเล็กอีกนับพันราย โดยศูนย์กลางอยู่ที่เมืองฮรีมส์ (Riems) และเออแปร์เนย์ (Epernay)
ชอมเปญทำจากองุ่นแดง 2 พันธุ์คือปิโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) และปิโน เมอนิเยร์ (Pinot Meunier) ปัจจุบันผู้ผลิตหลายรายตัด Pinot Meunier ออกไป และองุ่นเขียว 1 พันธุ์คือชาร์โดห์เนย์ (Chardonnay) ถ้าทำจากองุ่นแดงล้วน ๆเรียกว่า “บลัง เดอ นัวร์ส” (Blanc de Noirs) ส่วนที่ทำจากองุ่นเขียวล้วน ๆ เรียกว่า “บลัง เดอ บลังส์” (Blanc de Blancs)
อย่างไรก็ตามสำหรับคนไทยกลุ่มหนึ่งและอาจจะเป็นกลุ่มใหญ่ด้วยซ้ำไป เป็นพวกสน็อบ (Snob) มักจะดื่มชอมปาญยี่ห้อดัง ๆ ทั้งที่ผู้ผลิตรายเล็ก ๆ สามารถผลิตชอมปาญได้คุณภาพยอดเยี่ยมไม่แพ้รายใหญ่ ที่สำคัญหลายแห่งคุณภาพดีกว่าด้วยซ้ำไป
“ไปเปอร์ ไฮด์ซีค” (Piper – Heidsieck) คือหนึ่งในผู้ผลิตชอมปาญคุณภาพยอดเยี่ยม ที่สำคัญคือได้รับการยอมรับในหมู่พระราชวงศ์และชนชั้นสูงรวมทั้งนักวิจารณ์ไวน์จากทั่วโลก สำหรับเมืองไทยที่ผ่านมาถูกนำเข้ามาเป็นบางรุ่น กระทั่งปัจุบันบริษัท ไวน์ ไดเร็ค (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนอย่างเป็นทางการนำเข้ามาทุกรุ่นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
เรื่องราวของ Piper – Heidsieck เริ่มต้นขึ้นในปี 1785 จากความรักและความหลงใหลในชอมเปญของครอบครัว ไฮด์ซีค นำโดย ฟลอเรนซ์ หลุยส์ ไฮด์ซีค (Florens-Louis Heidsieck) ได้นำชอมเปญถวายแด่พระนางมารี อังตัวเนตต์ (Marie Antoinette) ราชินีแห่งฝรั่งเศส ด้วยรสชาติที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ทำให้พระนางโปรดปรานมาก หลังจากนั้นจึงกลายเป็นที่เลื่องลือจนแพร่หลายในหมู่นักดื่มชั้นสูงทั่วยุโรป และได้รับความนิยมไปทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “Champagne worthy of Queen”
ในเวลาต่อมาจึงกลายเป็นที่ชื่นชอบของคนดังและนักแสดงในวงการฮอลลีวูด โดยเฉพาะเจ้าแม่วงการฮอลลีวูด มาริลีน มอนโร (Marilyn Monroe) ถึงกับกล่าวว่า “I start each day with a glass of Piper-Heidsieck” และยังปรากฏในภาพยนตร์ระดับรางวัลออสการ์อีกมากมาย เช่น My Fair Lady, Sons of the desert, Little Man Tate ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเครื่องดื่มทางการในงานพรมแดง (Red Carpet) สำคัญที่สุดในโลกอย่างงานประกาศรางวัลออสการ์ (Oscar) และงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ถ้านับถึงวันนี้ก็เป็นปีที่ 25
จึงไม่น่าแปลกใจที่แชมเปญระดับ Worthy of Queen & Red Carpet จะมีความผูกพันกับวงการแฟชั่น ซึ่งไปเปอร์ ไฮด์ซีค เป็นแชมเปญที่อยู่คู่วงการแฟชั่นมาอย่างยาวนาน โดยที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับแบรนด์อัญมณีดังระดับโลกอย่าง Van Cleef & Arpels ในการออกแบบขวด Rare Limited Edition ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการออกแบบขวด Piper-Heidsieck Rare Millesime ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังจับมือกับแบรนด์ดีไซเนอร์แถวหน้าของวงการแฟชั่นอีกมากมายในการร่วมกันออกแบบขวด เช่น Jean Paul Gaultier,Christian Louboutin,Viktor & Rolf และ Arthus-Bertrand ทำให้ ไปเปอร์ ไฮด์ซีค กลายเป็นชอมปาญที่รู้จักกันในวงการแฟชั่นอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน
นอกจากประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นและยาวนานแล้ว ไปเปอร์ ไฮด์ซีค ยังได้รับรางวัลมากมายที่การันตีชอมปาญแถวหน้าของโลก โดยเฉพาะ Piper-Heidsieck Rare Millesime 2002 ที่ได้เป็นอันดับ 1 จากชอมปาญทั้งหมด 1,000 ตัว ที่ได้ทำ Blind Tasting ในการประกวด CHAMPAGNE of The DECADE The best Champagnes from 2000′s (2000-2009) และรางวัลจากการประกวดอื่นๆ กว่า 20 รางวัล
นอกจากนั้นยังมี “ชาร์ลส์ ไฮด์ซีค” (Charles Heidsieck) ชอมปาญเฮาส์ที่ได้รับรางวัลการันตีคุณภาพและความสำเร็จมากมาย ด้วยจุดเด่นที่ทุกขวดผ่านการเก็บบ่มใน “กราแยรส์” (Crayères) ซึ่งเป็นเซลลาร์ถ้ำหินชอล์กเก่าแก่อายุกว่า 2,000 ปี ความลึกลงไปใต้ดินประมาณ 30 เมตร และอุณหภูมิประมาณ 10 องศาเซนเซียส ทำให้ชอมปาญมีกลิ่นและรสชาติที่ซับซ้อนเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งกราแยรส์นี้ ชาร์ลส์ ไฮด์ซีค ซื้อมาในปี 1867 ที่สำคัญเป็นเซลลาร์แห่งเดียวที่ได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลก จากยูเนสโก (UNESCO world heritage)
เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมได้ชิม Piper-Heidhieck และ Charles Heidsieck หลาย ๆ รุ่น ซึ่งผลการชิมมีดังนี้
ไปเปอร์-ไฮด์ซีค คูเว บรุต เอ็นวี (Piper-Heidhieck Cuvee Brut NV) : เป็นหนึ่งในชอมปาญ ไม่มีวินเทจ (Non Vintage = NV) ที่คลาสสิคตัวหนึ่ง ทำจากปิโนต์ นัวร์ และชาร์โดห์เนย์ จากพื้นที่ระดับคุณภาพในแคว้นชอมปาญ เป็นชอมมเปญสไตล์มิเดียม บอดี้ และหอมอบอวล สีเหลืองทองคล้าย ๆ เปลือกเลมอน ฟองละเอียดอ่อน หอมกลิ่นยีสต์ ฮาเซลนัท แกลบ ขนมปังกรอบ แอปเปิ้ลเขียว ซีทรัส แพร์ แกรฟฟรุตควันไฟ และเฮิร์บสด ๆ จบด้วยความสดชื่นของผลไม้และเฮิร์บ
ไปเปอร์-ไฮด์ซีค โรเซ โซวาจ บรุต เอ็นวี (Piper-Heidhieck Rose Sauvage Brut NV) : คำว่า Sauvage แปลว่า ”ป่า” รุ่นนี้ทำจากปิโนต์ นัวร์กับปิโนต์ เมอนิเยร์ จากพื้นที่กรองด์ เอต์ เปติต์ มองตาญ เดอ ฮรีมส์ สีออกไปทางแดงมากกวว่าโรเซ หอมกลิ่นผลไม้ที่หลากหลาย เช่น แบล็คเชอร์รี แบล็คเบอร์รี สตรอว์เบอร์รี และแบล็คเคอร์แรนท์ ส้มแมนดาริน และซีททรัส สไปซีกรุ่น ๆ หญ้าฝรั่น ใบชา ชะเอมเทศ เป็นชอมปาญสไตล์ที่ดื่มง่ายๆ ดื่มแล้วสดชื่น มีชีวิตชีวา และอบอวลด้วยผลไม้ เป็นชอมปาญที่เหมาะกับดื่มกับอาหารมาก
ชาร์ลส์ ไฮซีค โรเซ รีเสิร์ฟ เอ็นวี (Charles Heidsieck Rose Reserve NV) : โรเซ รีเสิร์ฟที่พาวเวอร์ฟูล สีออกส้ม ๆ อันเกิดจากการบ่มถึง 36 เดือน ในเซลลาร์ที่อายุกว่า 200 ปี มีส่วนผสมของไวน์รีเสิร์ฟ 20 % ที่ทำจากทั้งองุ่นแดงและเขียว ดมครั้งแรกหอมกลิ่นดอกกุหลาบแห้ง สตรอว์เบอร์รีสุกฉ่ำจนคล้าย ๆ กับแยม ผสานกับพีชกรุ่น ๆ ราสพ์เบอร์รี แบล็คเบอร์รี ขนมปังขิง อบเชย ครีมนม มีมิเนอรัลค่อนข้างเยอะกว่าทุกตัว
ชาร์ลส์ ไฮซีค บรุต รีเสิร์ฟ เอ็นวี (Charles Heidsieck Reserve NV) : หนึ่งในสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของ Charles Heidsieck ซึ่งเบลนด์ในรูปแบบ 60 : 40 : 10 โดย 60 คือตัวเลขของจำนวนองุ่นที่คัดเลือกเบด้วยมือจาก 60 กรูส์ (Crus)ในแคว้นชอมปาญ ส่วน 40 หมายถึง หมายถึงรีเสิร์ฟไวน์ที่นำมาเป็นส่วนผสม แบ่งเป็น ชาร์โดห์เนย์ และปิโนต์ นัวร์ อย่างละ 40 % และ 10 หมายถึงรีเสิร์ฟไวน์ 10% คัดเลือกมาจากพื้นที่กรูส์ที่ยอดเยี่ยมและวินเทจที่ยิ่งใหญ่ ผ่านการบ่มในถังสแตนเลสประมาณ 5-15 ปี ไม่ธรรมดาจริง ๆ หลังจากนั้นบ่มอีก 6 ปีก่อนนำออกมาให้คนรักชอมปาญได้ลิ้มรส …สีทองอร่าม ดมครั้งแรกได้กลิ่นควันไฟกรุ่น ๆ พร้อมยีสต์ ขนมปังปิ้ง มะม่วงสุก แอปริคอต พลัม เชอร์รีสุก ๆ อัลมอนด์ ถั่วพิสตาชิโอ จบด้วยความสดชื่นและวานิลลากรุ่น ๆ
ชาร์ลส์ ไฮซีค บรุต มิลเลซีม 2005 (Charles Heidsieck Brut Millesime 2005) : เป็นรุ่นที่วินเทจยอดเยี่ยมของเขา เป็นชอมปาญสไตล์ Balance & Complex ทำจาก ปิโนต์ นัวร์ และชาร์โดห์เนย์ ในอัตรา 60-40 % ตามลำดับ ทั้งหมดมาจากไร่ในพื้นที่ 7 กรูส์ …สีทองสดใส ดมครั้งแรกได้กลิ่นเชอร์รี แอปริคอต สตรอว์เบอร์รี เรดเบอร์รี ผลไม้ตากแห้ง ดอกไม้ ฮาเซลนัท ยีสต์ บอดี้ค่อนข้างครีมมี ดื่มแล้วสดชื่น
ขอปิดท้ายด้วยรุ่นที่อยากแนะนำให้คนรักชอมปาญควรหาโอกาสลิ้มลองสักครั้งในชีวิต ไปเปอร์-ไฮด์ซีค แรร์ มีเลซีม 2002 (Piper-Heidsieck Cuvee 2002) : เป็นรุ่นพิเศษและหรูหราอลังการณ์และได้รับรางวัลมากมาย เฉพาะขวดลวดลายสีทองก็น่าสะสมอย่างยิ่ง เป็นแนวคิดการออกแบบขวดร่วมกับ Van Cleef & Arpels แบรนด์อัญมณีชื่อดังระดับโลก ทำจากชาร์โดห์เนย์ จากไร่มองตาญ เดอ ฮรีมส์ 70% ที่เหลือเป็นปิโนต์ นัวร์ จากเขตเดียวกัน บ่มไว้ถึง 7 ปี สีเหลืองทองสดใสงดงามเหมือนฉลากกขsางขวด ดมครั้งแรกได้กลิ่นหอมกรุ่น ๆ ของมะม่วงสุก กีวี ผลไม้แช่อิ่ม มะเดื่อ สุก ๆ สับปะรด ตามด้วยฮาเซลนัท อัลมอนด์ ไอโอดีนกรุ่น ๆ ใบชารมควัน ผงโกโก พริกไทยขาว ขณะอยู่ในปากมีมะนาว มินต์ ขิงเชื่อม และผิวส้ม มินต์ ขิง และมะนาว เป็นชอมปาญสไตล์หนักแน่น โครงสร้างสมดุล และซุกซ่อนความอ่อนโยน ละเมียดละไมไว้ในตัว
นั่นคือส่วนหนึ่งของ Piper-Heidhieck และ Charles Heidsieck เลิกดื่มแบบสน็อบ (Snob) แล้วมาพิสูจน์ว่า “Champagne Worthy of Queen” นั้นเป็นอย่าง ?
Piper-Heidsieck Rare Millesime 2002

Piper-Heidsieck Rose Sauvage

สีของ Rose Reserve

สีของ Rose Sauvage

Charles Heidsieck  2002

Charles Heidsieck  Brut Reserve

Charles Heidsieck  Rose Reserve

Charles Heidsieck  ผู้ก่อตั้ง

CH- Vinoth?que-creditPolBaril-HDrvb

Crayères

Piper-Heidsieck Brut NV

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...