“บริวสกี” เบียร์ดินเนอร์ : “Get it in the Can”

“บริวสกี” (Brewski) เป็นคราฟต์ เบียร์ บาร์ ที่สูงที่สุดในเมืองกรุง จากการที่ตั้งอยู่บนชั้น 30 ของโรงแรมเรดิสัน บลู กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในสถานที่ดื่มคราฟต์ เบียร์ที่กำลังได้รับความสนใจของคนรักเบียร์ นอกจากสามารถชื่นชมกับทิวทัศน์ของเมืองกรุงในยามค่ำคืนได้อย่างงดงามแล้ว ยังขายเบียร์ในราคาสุทธิ (Net) อีกด้วย
“บริวสกี” มีคราฟต์เบียร์สดจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 12 หัวหรือแทบ (Tab) บางตัวจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพื่อให้คนรักเบียร์ได้ลิ้มรสเบียร์ที่หลากหลายไม่ซ้ำกัน โดยจะเขียนไว้บนกระดานด้านหลังเคาน์เตอร์ว่ามีเบียร์อะไรบ้าง และราคาเท่าไร มีให้เลือก 3 ขนาดคือ 100 มิลลิลิตร (100 Ml) / ครึ่งไพน์ (Half Pint : 284 มิลลิตร) และไพน์ (Pint : 568 มิลลิลิตร) ถ้าอยากชิมหลาย ๆ ตัวก็สั่งแบบเซ็ตเลือกได้ 4 ตัวในแก้วขนาด 100 ml. รวมทั้ง Pint of the day ราคาพิเศษประจำวัน เป็นต้น ส่วนคราฟต์ เบียร์ แบบขวดมีให้เลือกกว่า 50 ฉลาก ซึ่งผู้บริหารตั้งเป้าไว้ว่าจะมีถึง 100 ฉลาก ขณะที่อาหารเป็นแบบง่าย ๆ สบาย ๆ สามารถกินกับเบียร์ได้หลากหลาย
อีกอย่างหนึ่งที่บริวสกีเปิดมิติใหม่คือการจับคู่เบียร์กับอาหารอย่างเป็นจริงเป็นจังเป็นประจำทุกเดือน ล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ไดเจัดงาน “Beer Dinner…Get it in the Can” จับคู่อาหารกับคราฟต์ เบียร์ที่เน้นเบียร์บรรจุกระป๋องเป็นหลัก เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าเบียร์กระป๋องไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายคนคิด ถ้าเก็บรักษาอย่างถูกต้อง ลองดูว่าเบียร์และอาหารที่จับคู่กันในวันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
ตัวแรก “สโตน โก ทู เซสชัน ไอพีเอ” (Stone go to Session IPA) ซึ่งเป็นเบียร์สไตล์ที่เรียกว่า “อินเดีย เพล เอล” หรือ “ไอพีเอ” (India Pale Ale = IPA ) ซึ่งเป็นเบียร์ที่เน้นฮอปส์ (Hops) ค่อนข้างสูงถึงสูงกว่า Pale Ale ธรรมดา ภาษาเบียร์เรียกว่า Hops Forward โดยใช้ฮอปส์ออสเตรเลียและแอลกอฮอล์ 4.8% จับคู่กับ Alaskan King Crab with Ponzu and Caviar เนื้อปูอลาสกาบรรจุในกระป๋องพร้อมซอสปอนสึ (ซอสที่มีรสชาติเปรี้ยวกลมกล่อม รสเปรี้ยวได้มาจากส่วนผสมของน้ำมะนาว และความหวานจากส่วนผสมของแอปเปิ้ล) และคาเวียร์ ถ้าดื่มเปล่า ๆ ฮอปส์จะเหนือกว่าอาหารพอสมควร แต่เมื่อเจออาหารปรากฏว่าฮอปส์ซอฟท์ลง กลายเป็นความกลมกล่อม ค่อนข้างลงตัว…!!!
ตัวที่ 2 “เอพพิค อิสเคพ ทู โคโลราโด ไอพีเอ” (Epic Escape to Colorado IPA) เป็นเบียร์สไตล์อเมริกัน ไอพีเอ (American IPA) แอลกอฮอล์ 6.2 % แม้จะมีฮอปส์นำหน้า แต่ชดเชยด้วยฟรุตตี้ที่หอมกรุ่น โดยเฉพาะแอปริคอต และซีททรัส ใบไม้เขียว ๆ ที่สำคัญเป็นไอพีเอแต่เวลาดื่มแล้วไม่เหมือนไอพีเอ จับคู่กับ Boquerones style marinated white anchovy with pickled capsicums radish ปลาไวท์ แอนโชวี (White Anchovies) เสิร์ฟมาในกระป๋องเหมือนปลากระป๋อง พร้อมพริกและหัวผักกาดดอง ฯลฯ ฮอปส์ทำให้ความเค็มของปลาแอนโชวีที่ปรกติจะเค็ม ๆ ซอฟต์ลง ขณะเดียวกันผักที่เสิร์ฟมาพร้อมกันช่วยเสริมรสชาติให้ลงตัว
ตัวที่ 3 “สโตน ริพเพอร์ เพล เอล” (Stone Ripper Pale Ale) เบียร์สไตล์เพล เอล (เอล : เบียร์สีเข้มเพราะถูกหมักในอุณหภูมิสูงรสชาติแรงกว่าลาเกอร์) ใช้ฮอปส์จาก 2 ชาติผสานกันคือซานติเอโก (สหรัฐ) และออสเตรเลีย ดูสีคล้าย ๆ ไอพีเอ แอลกอฮอล์ 5.7% บอดี้ปานกลาง มีกลิ่นควันไฟ หอมกลิ่นผิวส้มและผลไม้สุกโดยเฉพาะมะม่วงสุกค่อนข้างชัดเจนช่วยทำให้ฮอปส์ซึ่งฉ่ำ ๆ อยู่แล้วให้กลมกล่อมยิ่งขึ้น จับคู่กับ Hickory smoked Kurobuta pork ribs with chili and mango ซี่โครงหมูคุโรบูตะย่างด้วยฟืนที่ทำจากไม้ฮิกคอรีซึ่งเป็นไม้ตระกูลวอลนัท เสิร์ฟด้วยการวางมาบนกระป๋องเครื่องดื่มผ่าซีกและใส่ถ่านไม้ฮิกคอรีเพื่อให้ซี่โครงหมูร้อนตลอดเวลา แก้เลี่ยนด้วยอาจาดผลไม้ คู่นี้เข้ากันได้ดีมาก จนต้องขอเพิ่ม !!!
ตัวที่ 4 เป็นเมนคอร์ส “โรก เดด กาย เอล” (Rogue Dead Guy Ale) เบียร์สไตล์ Mailbock / Helles Bock ซึ่งเป็นบ็อกเบียร์ (Bock) ที่มีชื่อเสียงของเยอรมัน สีเหลืองทอง มีฮอปส์มากกว่า Bock ธรรมดา แต่มีคุณสมบัติอย่างอื่นเหมือนเดิม ยังมีกลิ่นของมอลต์ (Malty) และความหวาน ตัวนี้แอลกอฮอล์ 6.8% สีเหลืองทองเข้มคล้ายน้ำผึ้งเก่า ๆ และมีความหอมอบอวลมาก เช่น น้ำผึ้ง น้ำตาลอ้อย คาราเมล ดอกไม้ เฮิร์บสดเขียว ๆ และควันไฟ เป็นหนึ่งในเบียร์ที่มีความสมดุล (Balance) จับคู่กับ Australian Lamb,Chanterelles,Artichoke and Ale Gravy ซี่โครงแกะออสเตรเลียย่างแบบมิเดียมแรร์ เสิร์ฟพร้อมเห็ดชานแตเรลล์ และน้ำเกรวีที่ทำจากเบียร์ เอล คู่นี้ก็เข้ากันได้อย่างแนบเนียน ลองเอาเบียร์ 3 ตัวแรกมาจับคู่ด้วย ไม่สามารถสยบซี่โครงแกะอยู่
ตัวที่ 5 ปิดท้ายด้วยของหวานก่อนกลับบ้าน “เฟาเดอร์ส รือเบาส์ ราสพ์เบอร์รี” (Founders Rübæus Raspberry) เป็นเบียร์สไตล์ Fruit Beer ผลผลิตของบริษัท Founders Brewing Company แห่งรัฐมิชิแกน ทางภาคกลางของสหรัฐ ผลิตครั้งแรกในปี 2005 จากนั้นหยุดไป 2-3 ปี ก่อนจะมาผลิตอีกครั้ง ใช้ข้าวสาลีเป็นเบส (Wheat based) ขณะหมักก็เติมราสพ์เบอร์รีสดลงไปด้วยหลายครั้งเพื่อให้ได้ราสพ์เบอร์รีจริง ๆ ไม่ได้ตกแต่งกลิ่น แอลกอฮอล์ 5.7% สีแดงแกมชมพูคล้ายลูกเบอร์รี ดูตอนแรกคิดว่าจะหวานเลี่ยน ๆ แต่ผิดคาดเพราะกลิ่นหอมราสพ์เบอร์รี ซิททรัส หอมหวานคล้าย ๆ ขนมตาร์ต มีเลมอนมาตัดทำให้ไม่เลี่ยน เป็นเบียร์ที่เหมาะกับของหวาน จับคู่กับ Black Forest Gateau Ish เค้กแบล็ค ฟอเรสต์ ที่ตกแต่งด้วยราสพ์เบอร์รี ไอศกรีม ฯลฯ อย่างอื่นดีมาก ยกเว้นส่วนที่เป็นชอกโกแลตขม ๆ กลบแคแลกเตอร์ของเบียร์พอสมควร
“เบียร์กับอาหาร” ไม่ต่างอะไรกับ “ไวน์กับอาหาร” ในแง่ของการก้าวข้ามวัฒนธรรมของคนไทย เพราะที่ผ่านมาเรากินอาหารเป็น “กับแกล้ม” ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่ถ้าใส่ใจทำจนเป็นความเคยชิน จะพบเสน่ห์ที่ล้นเหลือ !!!
สีสันของ Stone go to Session IPA

Alaskan King Crab

Australian Lamb

Black Forest Gateau Ish

Boquerones style marinated white anchovy

Brewski

Epic Escape to Colorado IPA

Founders Rübæus Raspberry

IMG_3859

Stone go to Session IPA

Stone Ripper Pale Ale

tab

เชฟกำลังอธิบายอาหาร

มุมหนึ่งของ Brewski - Copy

สีสันของ Epic Escape to Colorado IPA

สีสันของ Rogue Dead Guy Ale

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...