‘คราฟท์เบียร์’ ไทยบนเส้นทางกฎเหล็กและเบียร์ใหญ่

C-170205011018-1

เมื่อ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เจ้าของ คราฟต์เบียร์ สัญชาติไทยยี่ห้อ “Taopiphob” ถูกเจ้าหน้าที่จับเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องราวของ คราฟท์เบียร์ (Craft Beer) ก็กลายเป็นประเด็นร้อนในสื่อแทบทุกแขนง แม้แต่นายกรัฐมนตรียังถูกถาม ซึ่งท่านก็ห่วงเรื่องคุณภาพและความสะอาด ขณะที่รองนายกฯ คนหนึ่งตอบสื่อว่า “ผมไม่ดื่มเบียร์ว่ะ”
ไม่เพียงแต่นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เท่านั้นที่ถูกจับ คนที่ทำคราฟท์เบียร์ ในบ้านเราล้วนเคยถูกจับกันมาแทบทั้งสิ้น เพราะ คราฟท์เบียร์ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในเมืองไทย !!!! หลังจากนั้น 2-3 วัน ก็มีการเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมาย SME ช่วยผู้ผลิตเบียร์รายย่อย โดยกลุ่มคนที่ชื่นชอบคราฟต์เบียร์ ได้รวมตัวกันจัดตั้งแคมเปญรณรงค์เรื่อง “อยากให้คราฟท์เบียร์ไทยถูกกฎหมาย” ผ่านเว็บไซต์ change.org โดยมีเป้าหมายรวบรวมรายชื่อคนที่สนับสนุน 1 หมื่นรายชื่อ ขณะนี้มีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 8,000 คน
คำถามคือ..ชาวบ้านผลิตเบียร์ได้หรือไม่?
ในอดีตที่ผ่านมาการผลิตเบียร์ที่ถูกตามกฎหมายสามารถทำได้ตาม “พระราชบัญญัติ สุรา พ.ศ. 2493” เพียง 2 กรณีเท่านั้นคือ
1. โรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ (Macrobrewery) กำหนดให้มีทุน จดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท กำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตร/ปี คือผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งมีการจ่ายผลประโยชน์ให้กับรัฐมูลค่าสูง
2. ไมโครบรูเออร์รี (Microbrewery) หรือ “บรูผับ” (Brewpub) เป็นโรงงาน ผลิตเบียร์อยู่ภายในร้าน ขายเฉพาะในร้าน ห้ามบรรจุขวดขาย ทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า10 ล้านบาท และกำลังการผลิตขั้นต่ำ 1 แสนลิตร/ปี แต่ไม่เกินหนึ่งล้านลิตร/ปี แห่งแรกคือโพลาเนอร์ สุขุมวิท 24 ตามมาด้วยฮอฟบล็อยเฮาส์, ฮาร์ทมันส์ดอร์ฟเฟอร์, ลอนดอนเนอร์, บรูเฮาส์, เยอรมันตะวันแดง, Hua Hin Brewing Phuket Beer และ Est.33 เป็นต้น
หลังจากนั้นก็มี “ประกาศกระทรวงการคลัง” เรื่อง “วิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ.2543” ส่วนที่ 2 ว่าด้วยเรื่องการทำและขายส่งสุราแช่ชนิดเบียร์และชนิดสุราผลไม้ ซึ่งในข้อ 7.1 ตอนหนึ่งระบุว่า “ผู้ขออนุญาตต้องเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายไทยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และมีทุนจดทะเบียน ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท มีเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทในกรณีที่เป็นโรงงานเบียร์ขนาดใหญ่ จะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตร ต่อปี หรือถ้าผู้ใดจะทำโรงงานขนาดเล็ก ก็ต้องเป็นโรงงานเบียร์ขนาดเล็กประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) จะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี”
อย่างไรก็ตาม ประกาศดังกล่าวถูก ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนไปเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 เนื่องจากเห็นว่าการจะออกข้อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตผลิตสุราจะต้องออกเป็นกฎกระทรวง การออกเป็นประกาศกระทรวงจึงเป็นการกระทำโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการออกกฎ ขณะที่กฎหมายฉบับใหม่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
จะเห็นว่าการอนุญาตให้ผลิตเบียร์ทั้งกม.เดิมและแก้ไข่ใหม่ ไม่มีอะไรเลยที่ เอื้อประโยชน์ต่อผู้ผลิตรายย่อยประเภท “โฮมบรู” (Homebrew) แม้แต่น้อย ดังนั้นคราฟท์เบียร์ ถ้าทำในแผ่นดินไทยยังไงก็”ผิดกฎหมาย”…สุดท้ายก็วนกลับไปที่เดิมคือ อยากทำมั้ย ? จดทะเบียนเลย 10 ล้าน แต่คนทำคราฟท์เบียร์ คงไม่เห็นด้วย เพราะไม่ได้ใช้จิตวิญญาณของตัวเองอย่างที่ต้องการ
คำถามต่อมา คราฟท์เบียร์ เป็นแบบสุราชุมชนได้หรือไม่ ?
สุราชุมชนเป็นธุรกิจชุมชน ใช้วัตถุดิบในไทย เป็น OTOP แต่คราฟท์เบียร์ไม่ใช่ เพราะวัตถุดิบทุกอย่างต้องนำเข้าจาก ต่างประเทศ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้กฎหมายเรื่องคราฟท์เบียร์ผ่านยาก เมื่อประกอบกับภาพรวมการจะแก้กฎหมายของไทย จะต้องมีเหตุให้ตัวกฎหมายถูกนำมาพิจารณาแล้ว การจะทำให้คราฟท์เบียร์ เป็นแบบสุราชุมชนจึงเป็นเพียงความหวังลม ๆ แล้ง ๆ
คราฟท์เบียร์ (Craft Beer) คืออะไร ?
ในประเทศ “โลกเก่า” (Old World) มีการทำคราฟท์เบียร์ (Craft Beer) มาเป็นพัน ๆ ปีแล้ว แต่ยังไม่มีการบัญญัติศัพท์คำว่า”Craft Beer” จุดกำเนิดอยู่ในยุโรป เช่น เบลเยียม เยอรมนี อังกฤษ สาธารณรัฐเชก ฯลฯแต่ละประเทศมีโรงทำเบียร์รายย่อยเป็นพันๆ โรง มีทั้งทำเองในบ้าน (Home Brew) ในผับ(Brewpub) รวมทั้งในวัดโดยนักบวช เบียร์หลายยี่ห้อมีชื่อของพระเป็นยี่ห้อ กลุ่มโลกเก่ามีเบลเยียมเป็นแกนนำและได้รับการยกย่องว่ามีนวัตกรรมที่หลากหลายและหวือหวาที่สุด ไม่มีกฎตายตัวว่าต้องใช้วัตถุดิบแค่ 4 ชนิดคือ น้ำ มอลต์ ฮอพส์ และยีสต์ เหมือนประเทศอื่น ๆ ผู้ผลิตจึงสามารถใส่วัตถุดิบที่หลากหลาย จึงไม่แปลกใจที่มีเบียร์ใส่ช็อกโกแลต กาแฟ ผลไม้ต่าง ๆ ฯลฯ ขณะที่สหรัฐอเมริกาถือเป็นหัวหอกของคราฟท์เบียร์ ซีก “โลกใหม่” (New World) หลังจากปี 1978 รัฐบาลผ่านกฎหมายรับรองการผลิตเบียร์เพื่อบริโภคในชุมชนเล็ก ๆ การผลิตเบียร์ท้องถิ่นทั่วประเทศจึงเบ่งบานหลังจากทำกินเฉพาะในครัวเรือน ในปี 1978 นั้นมีโรงผลิตเบียร์แค่ 42 แห่งและสหรัฐนี่เองคือผู้กำหนดนิยมของคำว่า “คราฟท์เบียร์” โดย Brewers Association จากการที่สหรัฐมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีความหลากหลายทางธรรมชาติของแต่ละพื้นที่ ทำให้ปัจจุบันในสหรัฐมีผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ ทั้งโรงเบียร์และส่วนตัว มีผู้อยู่แวดวงทำคราฟท์เบียร์กว่า 100,000 ราย ผลผลิตประมาณ 15.6 ล้านบาร์เรลต่อปี จากสถิติในปี2016 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ยอดขายเพิ่มปีละประมาณ 13 %
Brewers Association ของสหรัฐให้คำจำกัดความของ คราฟท์เบียร์ (Craft Beer) ไว้ 3 ข้อหลัก ๆ คือ 1.ต้องเป็นโรงเบียร์ที่เป็นอิสระจากผู้ผลิตรายใหญ่ 2.ผลผลิตไม่เกิน 6 ล้านบาร์เรลต่อปีและ 3.ใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติทั้งหมด เช่น มอลต์ บาร์เลย์ ห้ามใส่วัตถุดิบสังเคราะห์กลิ่นหรือรสเพื่อลดต้นทุน แต่ถ้าจะใส่ต้องใส่เพื่อให้รสชาติดีขึ้นเท่านั้น
ในประเทศไทยคราฟท์เบียร์ เริ่มรู้จักกันเมื่อประมาณ 5 -6 ปีที่แล้ว จากคราฟท์ เบียร์เป็นขวดที่ถูกสั่งเข้ามาขาย หลังจากนั้นจึงมีการต้มเบียร์ดื่มและแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มคนรักเบียร์ ที่ถือว่าจุดประกายคือ Chit Beer ที่เกาะเกร็ด ซึ่งเปิดตัว ในปี 2512 หลังจากนั้น 2 – 3 ปีที่ผ่านมาคราฟท์เบียร์ไทยจึงเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น แม้ความหมายของคราฟท์เบียร์ยังไม่เป็น ที่รู้กันมากนักก็ตาม
ในเพจ Beercyclopedia สารานุกรมของคนชอบเบียร์ ระบุชัดเจนว่า หากจะเรียกตัวเองเป็นคราฟท์เบียร์ ต้องมี องค์ประกอบ 3 อย่างคือ 1.ผลิตใน จำนวนน้อย และมีโรงงานขนาดเล็ก (Small) ซึ่งผู้ผลิตสามารถควบคุมและใส่ใจใน ขั้นตอนการผลิตได้ทั้งระบบ 2. เป็นอิสระ (Independent) ผู้ก่อตั้งจะต้องถือหุ้น เกินกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจ 3. การไม่ลืมวัฒนธรรมและวิธีการดั้งเดิม (Traditional) ของความเป็นเบียร์ที่ต้องใช้ส่วนผสมจริง คือ มอลต์ ฮอปส์ ยีสต์ และน้ำ ไม่ใช่ใส่ส่วนผสมอื่นแทนส่วนผสมหลักเพื่อลดต้นทุน
ปี 2559 มีการประเมินว่ามูลค่าทางการตลาดของคราฟท์เบียร์ไทย อยู่ที่ประมาณ 35 ล้านบาท จากทั้งหมดประมาณ 60 ยี่ห้อ ทั้งชนิดที่ถูกและผิดกฎหมายในจำนวนนี้ 8 ยี่ห้อผู้ผลิตได้หันไปผลิตในต่างประเทศแล้ว ก่อนที่จะนำเข้ามาโดยเสียภาษีให้กับกรมสรรพสามิต ซึ่งมีการประเมินเช่นกันว่าในปี 2560 นี้จะมีมูลค่ารวมจะสูงถึง 200 ล้านบาท อย่างที่กล่าวในตอนแรก คราฟท์เบียร์ เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ทางออกของคราฟท์เบียร์ไทย จึงมี 2 ทาง ๆ แรกจดทะเบียนตาม กฎหมายดังกล่าวข้างต้น อีกทางหนึ่งไป ผลิตในต่างประเทศแล้วส่งเข้ามาขายในเมืองไทย และส่วนใหญ่เลือกอย่างหลังนี้ปัจจุบันมี 8 รายไปผลิตในต่างประเทศคือ ออสเตรเลีย (ซิดนีย์-เมลเบิร์น), กัมพูชา (สุวรรณเขต-เกาะกง), เวียดนาม (โฮจิมินห์ซิตี้), ไต้หวัน(ไทเป) และญี่ปุ่น (ชิซุโอกะ)โดยชาละวัน (Chalawan) เป็นคราฟต์เบียร์ถูกกฎหมายเจ้าแรกของ เมืองไทย ผลิตโดยโรงเบียร์ Full Moon Brewworks ขณะเดียวกันมีการประเมินว่าการไปร่วมกับโรงงานในต่างประเทศนี้ มีเงินรั่วไหลออกนอกประเทศปีละกว่า 50 ล้านบาท
เรื่องดังกล่าว ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัยอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นักวิชาการด้านการผลิตเครื่องดื่ม มีดีกรี แนะนำว่า “ผู้ประกอบการคราฟท์เบียร์ที่ไปผลิตในต่างประเทศ ควรเข้าไปเจรจากับ ผู้บริหารกรมสรรพสามิต โดยเสนอให้เพิ่มโรงเบียร์อีกระดับหนึ่งซึ่งเล็กกว่า Brew Pub และสามารถบรรจุขวดขายได้ด้วย แม้ไม่รู้ว่าทางกรมสรรพสามิตจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ เพราะการแก้ไขกฎหมายอาจเพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องไปควบคุมคุณภาพการผลิตหรือตรวจตราเรื่องต่าง ๆ เพื่อแลกกับค่าภาษีที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย”
เรื่องราวบนเส้นทาง คราฟท์เบียร์ไทย ยังขรุขระอีกยาวไกล ส่วนตัวผมมองว่า กฎหมาย สำคัญที่สุด ซึ่งการแก้ข้อกฎหมายแทบจะไม่มีวันเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกฎหมายไปแตะสัมปทานของ เบียร์ใหญ่…!!

C-170205011018-1 C-170205011018-2-695x1024 C-170205011018-3-695x1024

head-bottom3

ผู้เขียน: ธวัชชัย เทพพิทักษ์

ที่มา: คอลัมน์ t drink / หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ 5 กุมภาพันธ์ 2560

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...