ในอดีตคนอิตาลีผลิตไวน์จากองุ่นพันธุ์พื้นเมืองเป็นหลัก ที่ดัง ๆ เช่น ซานโจเวเซ (Sangiovese) องุ่นประจำแคว้นตัสกานี (Tuscany) และบรูเนลโล (Brunello) องุ่นเครือญาติของซานโจเวเซ และเนบบิโอโล (Nebbiolo) องุ่นคู่บารมีของแคว้นเพียดมอนต์ (Piedmont) เป็นต้น ถ้าจะใช้พันธุ์ต่างชาติผสมก็เพียงกระพีก
ต่อมามีผู้ผลิตรุ่นใหม่ ๆ ที่นำองุ่นจากฝรั่งเศสมาปลูกและผลิตเป็นไวน์มากขึ้น ตอนแรกถูกประณามว่าแหกคอกหรือ “ขบถ” แต่เมื่อทำไวน์แล้วคุณภาพยอดเยี่ยม ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ขึ้นชั้นเทียบเท่าไวน์ชั้นนำของโลก คำว่าแหกคอกก็กลายเป็นคิดนอกกรอบ พร้อมกับมีผู้ผลิตไวน์สไตล์นี้มากมาย เป็นที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อ “ซูเปอร์ ตัสกัน” (Super Tuscan)
หัวกระทิ 3 ตัวของไวน์คิดนอกกรอบย่อมต้องมีชื่อของ ซาสซิกายา (Sassicaia) บริษัท เตนูตา ซาน กุยโด (Tenuta San Guido) และออร์เนลลายา (Ornellaia) ของบริษัท เตนูตา เดลล์ ออร์เนลลายา (Tenuta Dell’Ornellaia) และซอนดรายา (Sondraia) ของบริษัท ป๊อกโจ อัล เตโซเล (Poggio al Tesore) ซึ่งล้วนเป็นไวน์สไตล์บอร์กโดซ์ ใช้กาแบร์เนต์ โซวีญยองเป็นหลักพร้อมกับบ่มโอคฝรั่งเศส
Tenuta San Guido เป็นผู้ผลิตไวน์อยู่ใน DOC Bolgheri แคว้นตอสกานา หรือตัสคานี (Toscana) ที่สำคัญเป็นที่รู้กันว่าเป็นกระบี่มือหนึ่งในการผลิตไวน์ “ซูเปอร์ ตัสกัน” (Super Tuscan) โดยไวน์ซาสซิกายา (Sassicaia) ได้รับการยกย่องว่าเป็นไวน์อิตาลีสไตล์บอร์กโดซ์ที่สุดยอดของโลก ปัจจุบัน Tenuta San Guido เป็นสมาชิกของ Primum Familiae Vini (PFV) ครอบครัวผู้ผลิตไวน์ที่เก่าแก่ ซึ่งมีสมาชิก 11 ครอบครัว
ในช่วงปี 1910 มาร์ควิส มาริโอ อินซิซา เดลลา รอกเคตตา (Marquis Mario Incisa della Rocchetta) กำลังศึกษาอยู่ที่เมืองปิซา (Pisa) ความไฝ่ฝันของเขาคิอต้องการผลิตไวน์แดง Fine Wine สไตส์บอร์กโดซ์ในอิตาลีแผ่นดินแม่ ต่อมาจึงก่อตั้ง บริษัท Tenuta San Guido ขึ้นที่ตำบลโบลเกริ (Bolgheri) เมืองลิวอร์โน (Livorno) แคว้นทัสคานี ชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน หักร้างถางพงทอดลองปลูกองุ่นหลายพันธุ์เพื่อสานฝันให้เป็นจริง ก่อนจะมาลงตัวที่กาแบร์เนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon) พร้อมคำกล่าว “The bouquet I was looking for”
อย่างไรก็ตามสาเหตุสำคัญที่ทำให้กาแบร์เนต์ โซวีญยองของเขาได้ผลดีน่าจะมาจากไร่องุ่นซาน กุยโด มีดินที่เป็นกรวด เป็นหินคล้าย ๆ กับดินของอำเภอกราฟ (Graves) ในเมืองบอร์กโดซ์ ประเทศฝรั่งเศสที่ปลูกกาแบร์เนต์
โซวีญยองได้ดี และเป็นที่มาของชื่อไวน์ “Sassicaia” ซึ่งภาษาพื้นเมืองของชาวตัสกัน (Tuscan) แปลว่า “Stony Ground” …..มีบางคนแปลว่า “ข้ามาจากหิน”
ต้นองุ่นชุดแรกที่เริ่มปลูกในปี 1940 ผลผลิตซาสซิกายาไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร เพราะคนอิตาเลียนยุคนั้นไม่คุ้นกับไวน์รสชาติหนักแน่นจากองุ่นกาแบร์เนต์ โซวิญยอง นอกจากนั้นการบ่มที่ยาวนานทำให้คนอิตาเลียนร้องเพลงรอไม่ไหว ตรงกันข้ามมาร์ควิส มาริโอ กลับกระดิกเท้าร้องเพลงรอ แถมยังเดินหน้าผลิตไวน์ต่อไปด้วยความเชื่อมั่น และนำไวน์มาดื่มในครอบครัวและกลุ่มเพื่อนฝูง
ความอดทนเริ่มต้นด้วยความขื่นขม แต่ได้ดอกผลที่หอมหวาน….กลายเป็นเรื่องจริง Sassicaia 1968 ซึ่งเป็นวินเทจแรกที่วางตลาดอย่างจริงจัง ได้รับความนิยมอย่างมาก หลังจากรอมาถึง 20 ปี
Sassicaia ผลิตจากองุ่นบอร์กโดซ์ล้วน ๆ คือกาแบร์เนต์ โซวีญยอง ประมาณ 85 % และกาแบร์เนต์ ฟรอง 15 % ซึ่งมีไวน์อิตาลีไม่มากนักที่ใช้พันธุ์องุ่นฝรั่งเศสทั้งหมด ที่สำคัญกระจอกข่าวสายไวน์กระซิบว่ากาแบร์เนต์ โซวีญยองนั้นมาจากไร่ ชาโต ลาฟิท ร็อธส์ชิลด์ 1 ใน 5 ไวน์ทหารเสือของบอร์กโดซ์ เสียด้วย นอกจากยังบ่มในถังไม้โอ๊คขนาด 225 ลิตร ถึง 24 เดือน ก่อนบรรจุขวด แล้วปล่อยให้นอนผึ่งพุงอยู่ในเซลลาร์อีก 1 ปี จึงค่อยทะยอยออกมาล้วงเงินจากกระเป๋าเงินของคอไวน์ทั่วโลก
Sassicaia นับเป็นไวน์ “Super Tuscan” รุ่นแรก ๆ ที่เป็นแม่แบบให้ผู้ผลิตหลายรายในปัจจุบันนำมาใช้ และต่างก็ประสบผลสำเร็จ แต่ที่เหนือชั้นก็คือ Sassicaia เป็นไวน์ที่ใช้ชื่อเฉพาะโดยไม่ได้ตั้งชื่อตามเขตผลิต (ไวน์ของอิตาลีโดยทั่วไปจะใช้ชื่อไวน์ตามเขตที่ปลูกองุ่นหรือตั้งชื่อตามชื่อพันธุ์องุ่น ทำให้ไวน์มีชื่อเหมือนกันนับร้อย ๆ ตัวต่างกันที่ผู้ผลิต) และนับเป็นไวน์ที่ใช้ชื่อเฉพาะ (Single Estate) ตัวแรกของอิตาลีที่ได้รับเกรด DOC (Denominazione di Origin Controllata ) นั่นคือ DOC Bolgheri เนื่องจากโดยทั่วไปเกรดไวน์อิตาลีจะให้ตามพื้นที่ที่ปลูกองุ่น เช่น หากเขตใดได้ DOC ผู้ที่ปลูกองุ่นทำไวน์ในเขตนั้นจะได้ DOC ทั้งหมด
ปี 1978 นิตยสารดีแคนเตอร์ (Decanter) จัดประกวดชิมไวน์ “great clarets” ที่ทำจากกาแบร์เนต์ โซวีญยองเป็นหลักรวม 33 ตัวจาก 11 ประเทศทั่วโลก และกรรมการล้วนระดับซือแป๋เรียกอาจารย์ เช่น Hugh Johnson, Serena Sutcliffe และ Clive Coates ปรากฏว่า Sassicaia 1972 ได้ตำแหน่ง The Best Cabernet Sauvignon และหนังสือ Hugh Johnson’s Pocket Wine Book ตีพิมพ์ปี 1982 ยังยกย่องให้เป็น “Italy’s Best Wine” ขณะที่โรเบิร์ต ปาร์กเกอร์ ให้วินเทจ 1985 เต็ม 100 คะแนน
หลังจากชื่นชมกับความสำเร็จ Marquis Mario Incisa Della Rocchetta ก็ตายตาหลับ เขาเสียชีวิตในปี 1983 ปัจจุบัน Marquis Nicolo Incisa della Rochetta ลูกชายดูแลธุรกิจของตระกูล ด้วยพื้นที่ปลูกองุ่นใน Bolgheri 75 เฮกตาร์ (190 เอเคอร์) ซึ่งปลูก Cabernet Sauvignon 85% และ Cabernet Franc 15% ผลผลิตปีละประมาณ 180,000 ขวด
Tenuta Dell’Ornellaia กำเนิดในปี1981 เมื่อมาร์เคเซ โลโดวิโก อันตินอริ (Marchese Lodovico Antinori) เริ่มปลูกองุ่น Cabernet Sauvignon, Merlot, Cabernet Franc และ Petit Verdot ในพื้นที่ 97 เฮกตาร์ เพื่อทำไวน์สไตล์บอร์กโดซ์เพราะเห็นว่าดินและภูมิอากาศไกล้เคียงกับบอร์กโดซ์มาก ผลิตไวน์วินเทจแรก 1985 ขณะที่วินเทจยอดเยี่ยมที่ควรมีไว้ครอบครองคือ 1990, 1995, 1997, 1999, 2000, 2001, 2004 และ 2006
โรเบิร์ต มอนดาวี (Robert Mondavi) เจ้าพ่อไวน์แห่งนาปา แวลลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย มาถือหุ้นใหญ่ในปี 1999 ก่อนจะเป็นเจ้าของเต็มตัวในปี 2002 ต่อมาขายหุ้น 50% ให้ Marchesi de Frescobaldi เจ้าของไวน์ที่เก่าแก่ที่สุดเจ้าหนึ่งในอิตาลี และปี 2005 Frescobaldi ก็ได้เป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับได้ “มือปืนรับจ้าง” มิเชล โรลลองด์ (Michel Rolland) มาเป็นที่ปรึกษาด้านการผลิตไวน์ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกองุ่น 76 เฮกตาร์ ใน 2 พื้นที่ Ornellaia และ Bellaria นอกจากนั้นยังมีพื้นที่อีก 7 เฮกตาร์ ปลูกแมร์โลต์ ผลิตไวน์ชื่อดัง Masseto จากแมร์โลต์ล้วน
ส่วนSondraia ของบริษัท Poggio al Tesore เป็นไวน์ที่มาแรงมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เจ้าของก็คือ Allegrini ผู้ผลิตไวน์อมาโรเน (Amarone) ชื่อดังใน Valpolicella จับมือกับ Leonardo LoCascioประธานและซีอีโอของ Winebow ผู้นำเข้าไฟน์ไวน์จากอิตาลี ระดับแนวหน้าในอเมริกา ในปี 2004 มีพื้นที่ปลูกองุ่น 70 เฮกตาร์ใน Bolgheri และไร่องุ่นแปลงแรกที่ซื้อก็อยู่ติดกับ Ornellaia นั่นเอง Sondraia ได้เหรียญทองในงาน International Wine Challenge 2009 เป็นต้น
ผู้เขียน: ธวัชชัย เทพพิทักษ์
ที่มา: http://www.sereechai.com