“โรมาเน กงติ 1945” ไวน์แดงแพงที่สุดในโลก

ลา ตาช ไวน์ตัวรองจากโรมาเน กงติ

ไวน์ในเครือ DRC

1

Aubert de Villaine ผู้ทำให้โรมาเน กงติยิ่งใหญ่

Aubert de Villaine

การคัดเลือกผลองุ่น

ใช้ม้าลากไถพรวนดิน

ประตูทางเข้า Romonee Conti

แผนที่ไร่ที่ Romanee Conti และไวน์ในเครือ

ไร่ที่ใช้ทำ Romonee Conti “โรมาเน กงติ” (Romanée Conti) ยังครองความเป็นหนึ่งของสุดยอดไวน์แดงราคาแพงของโลก ล่าสุดวินเทจ 1945 ทำสถิติเป็นไวน์แดงแพงที่สุดของโลกขึ้นมาใหม่ ในการประมูลที่สถาบันประมูลโซธ์บีส์ (Sotheby’s) กรุงนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยขวดแรกทำราคาได้ 558,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขวดที่ 2 ทำราคาได้ 496,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ก่อนหน้านั้นสถิติเดิมของการประมูลที่นี่เป็นของชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ 1945 (Château Mouton Rothschild 1945) ขนาด 6 ลิตร (Jeroboam) ที่ถูกประมูลไปเมื่อเดือน ก.พ. 2007
เซอร์ อล็กซ์ เฟอร์กูสัน (Sir Alex Ferguson) อดีต ผจก.ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (Manchester United) ซึ่งเป็นนักสะสมไวน์ตัวยง มีไวน์สะสมกว่าพันขวด เคยนำไวน์ประมาณ 5,000 ขวดมาประมูลขายเพื่อนำเงินเข้าการกุศล 3 รายการติด หนึ่งในจำนวนนั้นคือโรมาเน กงติ วินเทจ 2002 ราคา 24,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปี 2014 โรมาเน กงติ วินเทจ 1997 ของเขาถูกประมูลที่ลอนดอนในราคา 94,815 ปอนด์ เป็นต้น
สำหรับ Romanée Conti วินเทจ 1945 ผลิตเพียง 600 ขวดเท่านั้น และ 2 ขวดที่นำมาประมูลนี้ เป็นไวน์สะสมส่วนตัวของโฮรแบรต์ ดรูน (Robert Drouhin) อดีตประธานบอร์ดบริหารของของเมซง โฌเซฟ ดรูน (Maison Joseph Drouhin) พ่อค้าไวน์ชื่อดังแห่งแคว้นเบอร์กันดี ในช่วงปี 1957-2003
Romanée Conti ผลิตโดยบริษัท โดเมน เดอ ลา โรมาเน กงติ หรือดีอาร์ซี (Domaine de la Romanee-Conti = DRC) ซึ่งมีไวน์ที่สุดแห่งที่สุดในโลกอยู่ 2 ตัวๆ คือ Romanee-Conti และลา ตาช (La Tache) เจ้าของบริษัทไวน์สะท้านภพตัวนี้ที่คุณควรทำความรู้จักคือ นายอูแบรต์ เดอ วิลแลง (Aubert de Villaine) และมาดาม Lalou Bize-Leroy (ผู้เป็นเจ้าของ Domain Leroy) มีไร่องุ่นแค่ 74 เอเคอร์โดยมีไร่ของ Romanee-Conti เพียง 4.32 เอเคอร์ และไร่ La Tache อีก 14.4 เอเคอร์ที่เหลือเป็นตัวอื่นอีกไม่กี่ตัว เกินกว่านั้นเป็นองุ่นที่ซื้อจากชาวไร่อื่นๆ
นอกจากจะมีคุณภาพน้ำเนื้อดีเยี่ยมอยู่ในตัว อันเกิดจากธรรมชาติให้มาแล้ว โดเมน เดอ ลา โรมาเน กงติ ยังใช้ระบบการตลาดเข้ามาผสมผสานด้วยในรูปแบบที่เรียกว่า “ผูกหางหมา” คือมีสินค้าโดดเด่นเพียงตัวเดียว อยากได้ก็ต้องซื้อสินค้าตัวอื่นในเครือพ่วงไปด้วย แน่นอนพระเอกคือ Romanee Conti ไวน์ 1 ลัง 12 ขวดจะได้ Romanee Conti ขวดเดียว รองลงมาเป็น La Tache 2 ขวด ที่เหลือเฉลี่ยกันไปในเครือรวม 7 ตัวคือ Richebourgs,Romanee St.Vivants,Grands Echezeaux และ Echezeaux เป็นต้น นอกจากนั้นยังจำกัดโควตาการซื้อด้วย ซึ่งเมืองไทยไม่มีโควต้า
อย่างไรก็ตาม มูลค่าราคาแพงของโรมาเน กงติ ก็ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ หรือแตร์ฮรัวร์ (Terroir) ของไร่ตัวเองด้วย ทั้งที่มีพื้นที่ปลูกองุ่นเพียง 4 เอเคอร์ (1 เอเคอร์ = 2.5 ไร่) น้อยจนแทบไม่มีใครอยากจะเชื่อ ขณะเดียวกันการดูแลต้นองุ่นปีโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) ของเขามีความละเอียดอ่อนมาก ตั้งแต่เรื่องดินที่ต้องใช้ม้าเทียมแอกค่อยๆ ไถพรวนดิน เพื่อให้ดินไม่แน่นและระบายอากาศได้ดี ฯลฯ
โดเมน เดอ ลา โรมาเน กงติ มักจะเป็นผู้เก็บเกี่ยวองุ่นล่าช้ากว่าใครในแคว้นเบอร์กันดี ต้นองุ่นทุกต้นจะถูกแต่งกิ่งเหลือเพียงกิ่งเดียว แม้โควตาการผลิตจะถูก หน่วยงานที่ควบคุมการผลิตไวน์ของฝรั่งเศส (INAO) อนุญาตให้ผลิตได้ถึง 45 เฮกโตลิตร/เฮกตาร์ แต่พวกเขาผลิตจริงๆ เพียง 20 เฮกโตลิตร/เฮกตาร์ เพื่อให้น้ำองุ่นที่คุณภาพสูง รวมทั้งบ่มในถังโอคใหม่ 100% เป็นเวลากว่า 18 เดือนจึงจะบรรจุขวดขาย ยอดผลิตของยอดไวน์แต่ละยี่ห้อมีน้อยมาก เช่น Romaee-Conti บรรจุได้ตกปีละ 6,500 ขวด ส่วน La Tache บรรจุได้ตกปีละ 13,000-26,000 ขวด Richebourg ซึ่งมีไร่องุ่น 8.61 เอเคอร์ บรรจุได้ปีละ 13,000-14,500 ขวด ส่วนไวน์ขาว Montrachet มีไร่องุ่น 1.65 เอเคอร์ บรรจุได้ปีละ 2,700 ขวด
แต่ตัวที่กำหนดราคาคือ วินเทจ (Vintage) หรือปีที่เก็บเกี่ยว และสูตรลับการปรุงแต่ง ให้ไวน์มีรสชาติที่ยอดเยี่ยม พลังล้ำเลิศเหนือใคร แม้บางปีพระเจ้าจะไม่เอื้ออำนวยในเรื่องแดดลมและฝน แต่ทุกคนก็ยังพากันแปลกใจว่าโรมาเน กงติมีเวทมนตร์วิเศษอันใด จึงสามารถเนรมิตให้ไวน์มีรสชาติที่เหนือฟ้าใต้บาดาล ราคานอกจากจะไม่ตกแล้ว ยังขึ้นทุกปี
นอกจากนั้น โรมาเน กงติ ยังได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน “14 แผ่นดินทองในการปลูกองุ่นทำไวน์” ที่สถาบันภูมิทัศน์และสถาปัตยกรรมไร่องุ่นระหว่างประเทศ (Institut International des Paysages et Architectures Viticoles) ในกรุงปารีส ได้สำรวจพื้นที่ปลูกองุ่นผลิตไวน์ได้อย่างยอดเยี่ยม คำว่า “แผ่นดินทอง” นี้ทางสมาคมให้คำจำกัดความว่า เป็นแผ่นดินที่รวมปัจจัยทุกอย่างที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับพันธุ์องุ่นที่ถูกเลือกไปปลูก จนต้นองุ่นสามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่ และกลายมาเป็นไวน์ชั้นเยี่ยม ที่เรียกว่า แตร์รัวร์ หรือ แตร์ฮัวร์ (Terrior) นั่นเอง
แตร์รัวร์ หมายถึงเขตพิเศษเฉพาะของแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน เป็นสิ่งที่ฝรั่งเศสใช้อวดอ้างถึงความเหนือชั้นกว่าไวน์ชาติใด ๆ ในโลกนี้ จริง ๆ แล้ว Terrior ไม่ได้มีเฉพาะในไวน์เท่านั้น แต่ยังใช้กับกาแฟ และชาด้วย เพราะพืชทั้งสองอย่างนี้คุณภาพจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศเช่นเดียวกับองุ่น ดังนั้นรสชาติของชา กาแฟ และไวน์จะสะท้อนเอกลักษณ์ของถิ่นที่ปลูกนั้นออกมาด้วย
Terrior ต้องประกอบด้วยหลัก ๆ คือ อากาศ ชนิดของดิน และภูมิประเทศ ซึ่งหมายถึงธรรมชาติของภูเขา หุบเขา และน้ำ ที่สำคัญคือ ไมโครไคลแมท (Microclimate) หรือรูปแบบของฝน ลม ความชื้น การเปลี่ยนแปลงของอุณหะภูมิ เป็นต้น ซึ่งสำคัญต่อการปลูกองุ่น เช่น มีไร่องุ่น 2 แห่งติดกัน การดูแลไร่องุ่นเหมือนกัน และขั้นตอนการผลิตเหมือนกันทุกประการ แต่เมื่อเก็บเกี่ยวองุ่นไปทำไวน์ซึ่งทำพร้อม ๆ กัน ปรากฏว่าผลผลิตของไร่หนึ่งเข้มข้น ความล้ำลึก ซับซ้อน โครงสร้างเยี่ยม ขณะที่อีกไร่หนึ่งรสชาติเข้มข้นปานกลาง ขาดความล้ำลึก ฯลฯ เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาให้ มนุษย์ไม่สามารถไปแก้ไขได้
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ยากจะมีใครเสมอเหมือน โรมาเน กงติ (Romanee Conti) อันเป็นที่มาของ….ไวน์แดงราคาแพงที่สุดในโลก..!!!

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...