“บริเดา”ดื่มด่ำประวัติศาสตร์โปรตุเกส

“โปรตุเกส” เป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขาย เผยแพร่ศาสนา ช่วยราชการและเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2054 ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โดยอัลฟองชู เด อัลบูเกร์กี (Alfonso de Albuquerque) อุปราชโปรตุเกสประจำภาคอินเดียตะวันออก ได้ส่งฑูตคนแรก คือ ดูอาร์ต แฟร์แนนดีส (Duarte Fernandes) เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา เพื่อศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม ประเพณี รวมทั้งสำรวจด้านการค้ากับกรุงศรีอยุธยา
พ.ศ. 2087 (ค.ศ.1544) อันตูเนียว เด ไปวา (Antonio de Paiva) ชาวโปรตุเกส ได้เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชาธิราช และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าและสนทนาเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนากับพระองค์ จนเลื่อมใส และพระองค์ทรงประกอบพิธีแบพไทซ์ (Baptise) ได้รับพระราชทินนามเป็นภาษาโปรตุเกสว่า “ดอม โซอาว” (Dom Joao) ทรงพระราชทานที่ดินให้เป็นที่อยู่อาศัย และสร้างโบสถ์เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาขึ้นที่บริเวณหมู่บ้านโปรตุเกส ที่สำคัญกงสุลตะวันตกชาติแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาตั้งในกรุงเทพฯตั้งแต่รัชกาลที่ 2 คือโปรตุเกสนี่เอง
สำหรับคอไวน์ทั่วโลกถ้าพูดถึงไวน์โปรตุเกสจะนึกถึง 2 อย่าง ๆ แรกพอร์ต (Port) ฟอติไฟด์ไวน์ชื่อดัง อีกอย่างคือไวน์โรเซยี่ห้อหนึ่งที่เคยขายดิบขายดีในเมืองไทยในยุค 60-70 คนอายุเลข 5 นำหน้าขึ้นไปจะรู้กันดี ปัจจุบันก็มีขายอยู่ นอกจากนั้นถ้าไม่หิ้วกันเข้ามาเองก็แทบจะไม่มีอย่างอื่น สาเหตุเพราะไม่มีผู้นำเข้า สาเหตุใหญ่ไปกว่านั้นคือนำเข้ามาแล้วไม่มีคนซื้อ เพราะคนไทยยุคนั้นยึดติดอยู่กับไวน์ฝรั่งเศส
จริงๆ แล้วโปรตุเกสไม่ธรรมดา เพราะเป็นชาติที่มีเขตควบคุมคุณภาพไวน์เก่าแก่ที่สุดในโลกคือโดโร แวลลีย์ (Douro Valley) มีเขตผลิตไวน์ 2 เขตที่ได้รับการประกาศจากยูนิเซฟ UNESCO ให้เป็นมรดกโลกคือโดโร แวลลีย์ (Douro Valley) และปิกู ไอส์แลนด์ (Pico Island) ขณะที่อีกหลายชาติผลิตไวน์มาเป็นพัน ๆ ปี แต่ไม่ได้รับเกียรติเช่นนี้
โปรตุเกสเคยเป็นชาติล่าอาณานิคมในช่วงศตวรรษที่ 15 – 17 เดินเรือชักธงสลัดท่องไปทั่วหัวเห็ดเจ็ดย่านน้ำ และเป็นประเทศตะวันตกชาติแรกที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาดังกล่าว ไทยได้รับอิทธิพลจาก
โปรตุเกสหลายอย่าง โดยเฉพาะอาหารการกิน ประเภทของหวาน สมัยก่อนคนไทยทำของหวานใช้เพียงแป้ง มะพร้าว และน้ำตาล กระทั่งท้าวทองกีบม้า หรือ มารีอา กียูมาร์ เด ปีญา (Maria Guyomar de Pinha) หรือ มารี กีมาร์ (Marie Guimar) ภรรยาเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน / Constantine Phaulkon) ชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นสมุหนายกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สอนให้คนไทยใช้ไข่ทำขนมหวานด้วย จนกลายเป็นฝอยทอง ทองหยิบ และทองหยอด
สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ นี่เองที่ชาวตะวันตกนำไวน์เข้ามาเป็นครั้งแรก แน่นอนต้องมีไวน์โปรตุเกส มีการค้นพบไหดินเผา ต่อมามีการนำคราบที่เกาะอยู่ภายในไปตรวจดีเอ็นเอพบว่าเป็นไวน์ขาว
เป็นเวลานับสิบ ๆ ที่ไวน์โปรตุเกสแทบไม่มีกิจกรรมเลยเมื่อเทียบกับไวน์ชาติอื่น ๆ รวมทั้งไวน์สเปนที่เป็นเพื่อนบ้านกัน ซึ่งมีกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น กระทั่งก่อนที่ COVID-19 จะเข้ามาระบาดในเมืองไทยไม่กี่วัน ผมไปงานแสดงสินค้าการกุศลแห่งหนึ่ง และได้ชิมไวน์โปรตุเกสซึ่ง บริษัท Rojratchai Cellar จำกัด ผู้ใจกล้าบ้าบิ่นนำเข้าและนำมาให้ชิมในงาน มีทั้งไวน์ขาว แดง และโรเซ มี 3 ยี่ห้อที่น่าสนใจดังนี้
ยี่ห้อ “บริเดา” (Bridao) ถือเป็นไฮไลท์ เป็นผลผลิตของกลุ่มบริษัท “อาเดกา โคออเปอเรติวา ดู การ์ตาโซ” (Adega Cooperativa do Cartaxo) ก่อตั้งในปี 1954 โดยหุ้นส่วน 22 คน ปัจจุบันผลิตไวน์หลายรุ่นจากองุ่นที่ปลูกบนพื้นที่ 700 เฮกตาร์ ผลผลิตไวน์ปีละประมาณ 7 ล้านลิตร ในจำนวนนี้ 70% เป็นไวน์แดง ส่งไปขายทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่เพิ่งเข้ามาเป็นครั้งแรก
บริเดา กลาสสิค ดีโอ เตโซ วีโย บรานโก โปรตุเกส 2018 (Bridão Classic DO Tejo Vinho Branco Portugal 2018) ไวน์ขาวรุ่นคลาสสิค ผลผลิตของบริษัท อาเดกา ดู การ์ตาซู (Adega do Cartaxo) จากเขตควบคุม เตโซ (DOC Tejo) ซึ่งอยู่ตอนกลาง ๆ ประเทศโปรตุุเกส ทำจากองุ่นเขียว 2 พันธุ์คือ เฟอร์เนา ปีส (Fernão Pires) และอารินตู (Arinto)…สีเหลืองทองอ่อน ๆ สดใส หอมกลิ่นผลไม้ เช่น แฟชั่นฟรุต ซีททรัส และกูสเบอร์รี สไปซีเฮิร์บเขียว ๆ ตะไคร้อ่อน ๆ ไอโอดีน แอซสิดปานกลาง จบด้วยผลไม้และเฮิร์บสด ๆ …16.5 /20 คะแนน
บริเดา กลาสสิค ดีโอ เตโซ วีโย ตินโต โปรตุเกส 2017 (Bridão Classic DO Tejo Vinho Tinto Portugal 2017) ไวน์แดง (Vinho Tinto) รุ่นคลาสสิค ผลผลิตของบริษัทเดียวกับไวน์ขาว ทำจากองุ่นแดงผสมผสานทั้งพื้นเมืองและสายพันธุ์คลาสสิครวม 5 พันธุ์ โดย 3 พันธุ์แรกเป็นองุ่นพื้นเมืองคือ ตูริกา นาซินาล (Touriga Nacional) กาสต์เลา (Castelão) และตินตา โรริซ (Tinta Roriz) ส่วนอีก 2 เป็นสายเลือดฝรั่งเศสคือ อาริกานเต บูเชต์ (Alicante Bouschet) และซีราห์ (Syrah)…. สีแดงออกทับทิม ฟรุตตี้มีผลไม้ เช่น เรดเบอร์รี เชอร์รี พลัม และราสพ์เบอร์รี กลิ่นไม้ซีดาร์กรุ่น ๆ คาดว่าจะบ่มในถังโอคประมาณ 3-4 เดือน ครีมมีนิด ๆ วานิลลา ฟางข้าว สไปซีเฮิร์บ เปปเปอร์ อบเชย แทนนินปานกลาง แอซสิดสดชื่นดี จบปานกลางด้วยผลและโอคหอมหวาน เป็นไวน์แดงที่ดื่มง่าย ๆ สบาย ๆ ดื่มกับอาหารหลายอย่าง….16.5/20 คะแนน
บริเดา โกเลตา เซเลคโซนาดา ดีโอ เตโซ อาลิกานเต บูสเชต์ โปรตุเกส 2016 (Bridão Colheita Seleccionada DO Tejo Alicante Bouschet Portugal 2016) คำว่า “Colheita Seleccionada” หมายถึงการคัดเลือกในการเก็บเกี่ยวองุ่น ทำจากองุ่นอาลิกานเต บูสเชต์ (Alicante Bouschet) 100% บ่ม 6 เดือนในถังโอคจาก 3 ประเทศคือฝรั่งเศส โปรตุเกส และอเมริกัน เวลาดมและดื่มจะได้กลิ่นและอรรถรสของ 2 ทวีป
สีแดงเข้มสดใส ดมครั้งแรกได้กลิ่นผลไม้สุกอบอวลและหอมหวานคล้าย ๆ แยมผลไม้ เช่น เชอร์รี แบล็คเบอร์รี เรดเคอร์แรนท์ และบลูเบอร์รี โดดเด่นด้วยกลิ่นวานิลลา ตามด้วยชอกโกแลต กาแฟคั่ว ใบยาสูบ โอคหอมกรุ่น สไปซีเฮิร์บแห้ง ๆ ยี่หร่า เอิร์ธตี้ แทนนินนุ่มเนียม แอซสิดกำลังพอดี จบยาวด้วยผลไม้ วานิลลา และสไปซีกรุ่น ๆ กำลังสุกพร้อมดื่ม ถ้าเก็บดี ๆ สามารถอยู่ได้อีก 4-5 ปี…18/20 คะแนน
พูดถึงองุ่น “อาลิกานเต บูสเชต์” (Alicante Bouschet) สักนิด เพราะถ้าชิมไวน์โปรตุเกสต่อ ๆ ไป ท่านจะได้ยินชื่อองุ่นพันธุ์นี้บ่อยครั้ง เป็นองุ่นแดงที่กำเนิดในตอนใต้ของฝรั่งเศส แถว ๆ แคว้นลังเกรอะด็อก รูสซิลยง (Languedoc Roussillon) เมื่อปี 1866 โดยนายอองฮรี บูสเชต์ (Henri Bouschet) ด้วยการครอสสายพันธุ์ระหว่างองุ่นแดง 2 สายพันธุ์คือเปติต์ บูสเชต์ (Petit Bouschet) กับเกรอะนาช (Grenache) โดยองุ่น Petit Bouschet นั้นพ่อของเขาก็คือหลุยส์ บูสเชต์ (Louis Bouschet) ก็เป็นผู้คิดขึ้นมา ณ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ด้วยการใช้องุ่นอาฮรามง นัวร์ (Aramon Noir) กับเตียนตูฮรีเย ดู แชร์ (Teinturier du Cher)
ปัจจุบันโปรตุเกสปลูก Alicante Bouschet ถึง 62% โดยเฉพาะแคว้นอาเลนเตโซ (Alentejo) ตอนกลางของประเทศทำได้ดีและมีชื่อเสียงที่สุด ขณะที่ฝรั่งเศสปลูกเพียง 2% ซึ่งก็อยู่แถว ๆ แคว้นลังเกรอะด็อกฯ ถิ่นกำเนิดของเขานั่นเอง และเมื่อข้ามไปยังประเทศสเปน Alicante Bouschet เกษตรกรจะเรียกว่าการ์นาชา ตินโตเรรา (Garnacha Tintorera)
บริเดา ไพรเวท คอลเลคชั่น ดีโอ เตโซ วีนโย บรานโก โปรตุเกส 2017 (Bridão Private Collection DO Tejo Vinho Branco Portugal 2017) : ไวน์ขาวโปรตุเกสที่ชิมแล้วถึงกับอึ้ง ทำจากองุ่นเขียว 4 พันธุ์เป็นองุ่นพื้นเมือง 2 คือ อารินโต (Arinto) และแวร์เดโล (Verdelho) ส่วนอีก 2 เป็นองุ่นสายพันธุ์คลาสสิคคือโซวีญยง บลัง (Sauvignon Blanc) และชาร์โดเนย์ (Chardonnay) เป็นการผสมผสานที่ลงตัวอย่างยิ่งยวด ไม่ธรรมดาจากการที่ได้รับรางวัลมามากมายทั้งในและต่างประเทศ ขวดที่ชิมนี้ก็มี 3 เหรียญทองจาก 3 ประเทศ
สีเหลืองทองสดใส ดมครั้งแรกได้กลิ่นหอมคล้าย ๆ ดอกไม้ลอยมาเตะจมูก ขณะที่ผลไม้ก็หลากหลาย เช่น ซีททรัส แอปเปิ้ลเขียว กูสเบอร์รี เมลอน ไลม์ แพชเชินฟรุต มิเนอรัล ผักสด เฮิร์บสดเขียว ๆ น้ำผึ้ง ไอโอดีน ที่แปลกคือมีกลิ่นน้ำมันก๊าดกรุ่น ๆ แอซสิดกำลังสดชื่น จบยาวด้วยผลไม้ เฮิร์บ และมิเนอรัล….18.5/20 คะแนน
บริเดา ไพรเวท คอลเลคชั่น ดีโอ เตโซ วีนโย ตินโต โปรตุเกส 2017 (Bridão Private Collection DO Tejo Vinho Tinto Portugal 2017) : ไวน์แดงที่เบลนด์จากองุ่น 2 ชาติคือ ตอริกา นาซีนาล (Touriga Nacional) องุ่นแดงของเจ้าถิ่นที่มีแคแลกเตอร์คล้ายกาแบร์เนต์ โซวีญยงและการ์แบร์เนต์ ฟรัง 50% อีก 50% เป็นอาลิกานเต บูสเชต์ (Alicante Bouschet) องุ่นแดงที่กำเนิดในฝรั่งเศส แต่มาโด่งดังในโปรตุเกสโดยเฉพาะเขตอาเลนเตโซ (Alentejo) กลาง ๆ ของประเทศ
สีแดงเข้มสดใส หอมผลไม้สุกคล้ายแยมผลไม้ ซึ่งฟรุตตี้หลัก ๆ คือ บลูเบอร์รี แบล็คเคอร์แรนท์ พลัม แบล็คเบอร์รี และราสพ์เบอร์รี ดอกไวโอเลต มินต์ โกโก ชอกโกแลต ใบยาสูบ สโมคกี้โอค ซีดาร์ แอซสิดปานกลาง แทนนินแน่นแต่เริ่มนุ่ม จบยาวด้วยผลไม้ สไปซีเฮิร์บ ยังไม่เปิดตัวเต็มที่นัก แต่ก็สามารถดื่มในขณะนี้ได้ ใครมีเก็บอยู่ในเซลลาร์อีก 2-3 ปีจะได้อรรถรสมากว่านี้….18/20 คะแนน
ยี่ห้อที่ 2 วีนาส เด เปโกส เพนนินซูลา เด เซตุบาล ซีราห์ 2019 (Vinhas de Pegões Península de Setúbal Syrah 2019) : นาน ๆ จะได้ลิ้มรสซีราห์จากโปรตุเกส โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเขต Península de Setúbal ทางใต้ของโปรตุเกส ซึ่งเมื่อก่อนผมเคยชิมไวน์หวาน Moscatel de Setúbal ของเขตนี้ดีมาก ตัวนี้ทำจากซีราห์ 100% หมักในถังสแตนเลสแล้วบ่มในถังโอค แต่เวลาชิมต้องทำความเข้าใจว่านี่เป็นซีราห์ที่ปลูกในดินที่มีส่วนผสมของทรายค่อนข้างเยอะ จะต่างจากซีราห์ที่ปลูกในไร่ที่มีส่วนผสมของหินมากเหมือนในแคว้นโฮรนของฝรั่งเศส แม้อากาศจะเป็นเมดิเตอร์เรเนียนคล้ายกันก็ตาม
สีแดงเข้มขอบม่วงสดใสตามวินเทจใหม่เอี่ยม ฟรุตตี้หลัก ๆ คือแบล็คเบอร์รี มัลเบอร์รี พลัม แบล็คเคอร์แรนท์ และพุทราจีน ดอกไม้ ขมนิด ๆ คล้ายเมล็ดกาแฟคั่ว ชอกโกแลต ใบยาสูบ วานิลลา สไปซีเฮิร์บ เปปเปอร์ กานพลู อบเชย มิเดียมบอดี้ แทนนินและแอซสิดปานกลาง จบด้วยผลไม้ วานิลลา ยังไม่เปิดตัวเต็มที่นัก แต่ก็สามารถดื่มได้ในตอนนี้ ที่สำคัญเหมาะกับอาหารไทยมาก…17/20 คะแนน
2 ตัวสุดท้ายถือเป็นไวน์สำหรับมือใหม่หรือผู้ที่ไม่อยากดื่มแอลกอฮอล์สูง ๆ ยี่ห้อ “เพล็กซุส” (Plexus) ผลิตในเขตเตโซ (DO Tejo) ซึ่งอยู่ตอนกลางของประเทศ รูปลักษณ์ภายนอกทั้งขวดและจุกคอร์กปิดขวดเป็นสปาร์คกลิ้ง ไวน์ (Sparkling Wine) แต่ในฉลากไม่ได้ระบุว่าเป็น Sparkling Wine แต่สีขาวระบุไว้ 4 ภาษา โปรตุเกส อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี (Branco,White,Blanc,Weibwein) ซึ่งล้วนมีความหมายว่าไวน์ขาว ขณะที่โรเซก็ระบุในฉลากเป็น Rosé เท่านั้น เดาว่าน่าจะเป็นลูกเล่นของเขาที่ทำไวน์เพื่อดื่มง่าย ๆ สบาย ๆ ดื่มได้ในทุกโอกาส และดื่มกับอาหารได้หลากหลาย ฯลฯ
เพล็กซุส วีนโย รีเจิน เตโซ บรานโก (Plexus Vinho Regional Tejo Branco) เป็นไวน์สไตล์ดื่มง่าย ๆ สบาย ๆ ของชาวโปรตุเกส สปาร์คกลิ้งเล็กน้อย ทำจากองุ่นพื้นเมือง 3 พันธุ์คือ เฟอร์เนา ปีส (Fernão Pires) ตาเลีย (Tália) และโบล เด อาลิกานเต (Boal de Alicante) แอลกอฮอล์ 9.5% สีเหลืองอ่อนสดใส ฟองนิด ๆ หอมกลิ่นผลไม้ เช่น ซีททรัส เมลอน ดอกไม้ และแอสซิดค่อนข้างต่ำแต่ก็บาลานซ์ดี เหมาะกับมือใหม่ ที่สำคัญควรแช่ให้เย็นเฉียบประมาณ 5-6 องศาเซนเซียส
เพล็กซุส วีนโย รีเจิน เตโซ โรเซ (Plexus Vinho Regional Tejo Rosé) ออกสปาร์คกลิ้ง นิด ๆ เช่นกัน เป็นโรเซสไตล์ดื่มง่าย ๆ สบาย ๆ ของชาวโปรตุเกส ดื่มเพื่อความสนุกสนานและดื่มกับอาหารได้หลากหลาย ทำจากองุ่นแดงพื้นเมืองของโปรตุเกส 2 พันธุ์คือกาสเตลเลา (Castelão) และตินตา โรริซ (Tinta Roriz) แอลกอฮอล์ 9.5% สีออกไปทางกลีบกุหลาบสดใส หอมกลิ่นผลไม้ เช่น ราสพ์เบอร์รี เชอร์รี สตรอว์เบอร์รี เหมาะกับมือใหม่ และควรแช่ให้เย็นเฉียบเช่นเดียวสีขาว
โปรตุเกสนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้มีดีเฉพาะ ฟอร์ติไฟด์ ไวน์ (Fortified Wine) อย่างพอร์ต (Port) และมาเดียรา (Madeira) เท่านั้น แต่ไวน์ขาว ไวน์แดง และโรเซ ของพวกเขาคุณภาพก็ไม่เป็นสองรองใครในโลกนี้ อยู่ที่ว่าท่าน…หลุดจากสิ่งยึดติดหรือยัง..!!
หมายเหตุ : ไวน์ทั้งหมดนี้นำเข้าโดยบริษัท Rojratchai Cellar โทร.02 5517544 107055292_621530321902811_6058358353423157871_n

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...