“เครมองต์” พรายฟองน้องแชมเปญ

Crémant d’Alsace“สปาร์คกลิ้งไวน์” (Sparkling Wine) ที่จะเรียกว่า “แชมเปญ” หรือ “ชอมปาญ” (Champagne) ได้ ต้องผลิตในแคว้นแชมเปญ (Champagne) ของฝรั่งเศส เท่านั้น ที่เหลือแม้จะผลิตแบบแชมเปญ และคุณภาพยิ่งกว่าน้ำอมฤติจากสรวงสวรรค์ก็มิอาจจะเรียกแชมเปญได้ ต้องเรียกอย่างอื่นหรือใช้คำอื่น
ชื่อ “แชมเปญ” (Champagne) ถูกคุ้มครองโดยกฎหมายกรุงมาดริด 1891 (Treaty of Madrid 1891) เกี่ยวกับการผลิตสปาร์คกลิ้งไวน์ในเขตผลิตที่กำหนด (Appellation d’Origine Contrôlée = AOC) กฎหมายนี้ได้รับการยืนยันอีกครั้งโดย Treaty of Versailles หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้การยอมรับ
“กฎหมายดังกล่าวระบุว่า “Champagne ต้องผลิตในแคว้นแชมเปญ (Champagne Region) เท่านั้น จึงจะใช้คำว่า Champagne ระบุในฉลากได้ นอกเหนือจากนั้นไม่สามารถใช้ได้”
เมื่อใช้ “Champagne” ไม่ได้ก็ต้องใช้คำอื่นแทน เช่น “เมธ็อด ชอมเปอนัวส์” (Méthode Champenoise) หรือ “ชอมปาญ เมทธัด” (Champagne Method) และ “เมทธัด เตรดิชันเนลล์” (Method Traditionnelle) ทุกคำล้วนมีความหมายเดียวกันคือ “ผลิตด้วยกรรมวิธี หรือกระบวนการเดียวกับแชมเปญ” นั่นคือต้องหมัก 2 ครั้งในขวด (Bottle Fermentation)
อย่างไรก็ตามมีสปาร์คกลิ้งไวน์ของฝรั่งเศสอีกอย่างหนึ่งคุณภาพไม่แพ้แชมเปญ เพราะทำแบบแชมเปญทุกประการ บางยี่ห้อทำได้ดีกว่าแชมเปญ ที่สำคัญราคาย่อมเยากว่า นั่นคือ “เครมองต์” (Crémant) โดยมีแหล่งผลิตที่สำคัญ ๆ 4 แห่งคือ
1.เครมองต์ ดัลซาส (Crémant d’Alsace) : ผลิตในแคว้นอัลซาส (Alsace) ทางอีสานของฝรั่งเศส ผลิตมาตั้งแต่ปี 1900 ได้ AOC (Appellation d’Origine Contrôlée) ในปี 1976 เป็นแหล่งใหญ่ที่สุดของเครมองต์ เพราะ 50% ของเครมองต์ทั้งหมดในฝรั่งเศสผลิตที่อัลซาส คือปีละประมาณ 32 ล้านขวด
ลักษณะของ เครมองต์ ดัลซาส จะมีกลิ่น ผลไม้เปลือกแดง แอปริคอต และอัลมอนด์ ควรเสิร์ฟในอุณหะภูมิ 7- 8 องศาเซนเซียส ไม่สามารถเก็บได้นานเหมือนแชมเปญ ถ้าจะให้ดีประมาณ 4-5 ปีเท่านั้น
ถ้าเป็นเครมองต์ ดัลซาสขาวจะทำจากองุ่นปิโนต์ บลอง (Pinot Blanc) เป็นหลัก นอกนั้นสามารถเบลนด์จากปิโนต์ กรีส์ (Pinot Gris),รีสลิ่ง (Riesling) หรือชาร์โดเนย์ (Chardonnay) แต่ถ้าเป็นเครมองต์ โรเซ ต้องทำจาก ปิโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) 100% ซึ่งค่อนข้างหายาก
2.เครมองต์ เดอ บูร์กอญ (Crémant de Bourgogne) : เครมองต์แห่งแคว้นบูร์กอญ (Bourgogne) หรือเบอร์กันดี (Burgundy)
มีฐานะเป็น AOC และต้องผลิตในยอนน์ (Yonne) โก๊ต ดอร์ (Cote d’Or) ซาโอน เอต์ ลัวร์ (Saone et Loire) และโฮรน (Rhone) พื้นที่คาบเกี่ยวกับ อ.โบโฌเลส์ (Beaujolais) แคว้นเบอร์กันดี จึงมีองุ่นกาเมย์ (Gamay) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
โดยถ้าเป็นสีขาวทำจากองุ่นชาร์โดเนย์ (Chardonnay) กับปีโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) แต่ก็สามารถใช้องุ่นอื่นเบลนด์ได้ เช่น กาเมย์ (Gamay) ปีโนต์ บลอง (Pinot Blanc) ปีโนต์ กรีส์ (Pinot Gris) อาลีโกเต (Aligoté) และเมลง เดอ บูร์กอญ (Melon de Bourgogne) ถ้าเป็นโรเซจะทำจากปีโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) อาจจะมีกาเมย์ (Gamay) บ้าง
3.เครมองต์ เดอ ลีมูซ์ (Crémant de Limoux) เครมองต์ที่ผลิตในหมู่บ้านประมาณ 40 แห่งรอบ ๆ เมืองลีมูซ์ เชิงเขาพีเรนีส แคว้นลังเกรอะด็อก (Languedoc) ทางใต้ของฝรั่งเศส เป็น AOC เมื่อปี 1990 กำหนดว่าเครมองต์สีขาวต้องทำจากองุ่นเขียวชาร์โดเนย์ (Chardonnay) 40-70 % เชอแนง บลอง (Chenin Blanc) 20-40% และมูซัค หรือบลังเกตต์ (Mauzac/Blanquette) 10-20% และองุ่นแดงปีโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) 0-10% ส่วนโรเซทำจากปีโนต์ นัวร์ล้วน เป็นต้น Crémant de Limoux ได้ชื่อว่าเป็นเครมองต์ โมเดิร์น สไตล์ กว่าเครมองต์ในเขตอื่น ๆ
4.เครมองต์ เดอ ลัวร์ (Crémant de Loire) : เครมองต์จากแคว้นลัวร์ (Loire Valley) ดินแดนแห่งปราสาทที่งดงามริมฝั่งแม่น้ำลัวร์ เป็นเครมองต์ เดอ ลัวร์ เอโอซี (Crémant de Loire AOC) ที่ได้มาตั้งแต่ปี 1975 ผลิตจาก 3 เมืองคืออังฌู ( Anjou) โซมูร์ (Saumur) และตูแรน (Touraine)
โดยเครมองต์สีขาวทำจากองุ่นเขียวพันธุ์หลักคือเชอแนง บลอง (Chenin Blanc) ส่วนโรเซทำจากองุ่นแดงกาแบร์เนต์ ฟรอง (Cabernet Franc) เป็นหลัก อาจจะมีปีโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) เติมแต่งบ้าง
ส่วนที่เหลือสามารถนำมาเบลนด์ได้ เช่นชาร์โดเนย์ (Chardonnay) กาแบร์เนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon) อาร์บัวส์ (Arbois) ปีโน โดนีส์ (Pineau d’Aunis) กรอลโล (Grolleau) และกรอลโล กรีส์ (Grolleau Gris เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีเครมองต์จากเขตอื่น ๆ ประปราย เช่น
”เครมองต์ เดอ บอร์กโดซ์” (Crémant de Bordeaux) : เครมองต์แห่งเมืองบอร์กโดซ์ ซึ่งเป็นทั้ง AOC และ AOP ผลิตเครมองต์ขาว 85% โรเซ 15% โดยเครมองต์ขาวทำจากองุ่นหลัก ๆ คือ เซมิลยอง (Sémillon) โซวีญยอง บลอง (Sauvignon Blanc) มุสกาเดลล์ (Muscadelle) กาแบร์เนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon) และกาแบร์เนต์ ฟรอง (Cabernet Franc) อาจจะมีแมร์โลต์ (Merlot) บ้างโดยเฉพาะโรเซ นอกนั้นก็มีการ์เมแนร์ (Carmenère) มาลเบค (Malbec) และเปติต์ แวร์กโดต์ (Petit Verdot) เป็นต้น
“เครมองต์ ดู ฌือรา” (Crémant du Jura) : เครมองต์ จากทางตะวันออกของฝรั่งเศส พรมแดนฝรั่งเศสกับสวิตเซอร์แลนด์ เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 1800 ก่อนจะเป็น AOC ในปี 1995 เดิมเรียกว่าแวง มูสโซซ์ (Vin Mousseux)
…มีข้อกำหนดว่า Crémant du Jura สีขาวต้องทำจากชาร์โดเนย์ (Chardonnay) อย่างน้อย 50% ที่เหลือตามด้วยซาวาแญง (Savagnin) ส่วนโรเซทำจากองุ่นแดงพื้นเมืองคือปูลซาร์ด (Poulsard) และปีโนต์ นัวร์ (Pinot Noir)
“เครมองต์ เดอ ซาวัว” (Crémant de Savoie) : เป็นเครมองต์ที่ผลิตใน 2 พื้นที่ที่เป็น AOC คือซาวัว (Savoie) และโอต์-ซาวัว (Haute-Savoie) ผลิตกันมาหลายร้อยปี แต่ขวดแรกภายใต้ชื่อ Crémant de Savoie ผลิตในปี 2014 และวางตลาดในปี 2015 ภายใต้ข้อกำหนดคือต้องทำจากองุ่นพื้นเมืองจากแกร (Jacquère) 40% และชาร์โดเนย์ (Chardonnay) 40% ที่เหลือสามารถเบลนด์จากชาสเซลาส (Chasselas) และอลิโกเต (Aligoté)
“เครมองต์” นับเป็นทางเลือกของคนที่ชอบแชมเปญ แต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ไม่สามารถก้าวถึงแชมปเญได้ !!

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...