เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566 มีข้อมูลเผยแพร่ออกมาว่า “วิสกี้” (Whisky) กลายเป็น “สินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่โตมากที่สุดในรอบ 10 ปี” เติบโตถึง 373 % ขณะที่ไวน์โตขึ้น 162%
เรื่องนี้ไม่แปลกใจเลยเพราะในการประมูลวิสกี้โดยสถาบันดัง ๆ ทั่วโลกมีคนให้ความสนใจมาก และมักจะได้ราคาสูง ๆ ที่สำคัญมีการประมูลหลากหลายรูปแบบ
เมื่อ 6-7 ปีที่แล้วผมรู้จักกับผู้ใหญ่คนหนึ่งที่มีบริษัทนำเข้าไวน์มาขายในเมืองไทย โดยเฉพาะไวน์แพง ๆ จากประเทศต่าง ๆ ที่ผู้นำเข้ารายอื่นไม่ค่อยมี หลังจากนั้นไม่กี่ปีเจอกันอีกทีปรากฏว่าบริษัทนี้มีวิสกี้แพง ๆ และรุ่นที่หายากเป็นจำนวนมาก เขาให้เหตุผลว่าวิสกี้ซื้อง่ายขายคล่อง ที่สำคัญการเก็บรักษาและการขนส่งง่ายกว่าไวน์เยอะ เรียกว่าความเสี่ยงน้อยกว่าไวน์เยอะเลย
“วิสกี้” (Whisky) เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คนไทยบริโภคกันมากที่สุด แน่นอนเบอร์ 1 คือ “สก็อต วิสกี้” (Scotch Whisky) ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ซิงเกิ้ล มอลต์ (Single Malt) เบลนเดด มอลต์ (Blended Malt) โดยในตลาดโลกทั้งการประมูลและการสะสม ส่วนใหญ่ซิงเกิ้ล มอลต์ จะทำราคาได้ดีกว่าเบลนเดด มอลต์
ขณะที่ตลาด “สก็อต วิสกี้” (Scotch Whisky) เติบโตและครองตลาดในเมือไทย แต่ “ไอริช วิสกี้” (Irish Whiskey) ชาติเพื่อนบ้านกลับไม่เติบโตในตลาดเมืองไทยเท่าที่ควร แม้จะมีคุณภาพดีพร้อมประวัติความเป็นมาไม่แพ้กันแม้แต่น้อยก็ตาม เมื่อ 10 ปีที่แล้วมีอยู่ 1-2 แบรนด์ กระทั่งวันนี้ก็มีไม่ถึง 10 แบรนด์ เมื่อเทียบกับสก็อต วิสกี้ที่มีกว่า 100 แบรนด์หมุนเวียนกันอยู่ในตลาด
อีกชาติหนึ่งที่มาแรงและน่าจะแรงมากที่สุดในเอเชียทั้งการผลิตและการขายคือญี่ปุ่น โดยเฉพาะตลาดเมืองไทยวิสกี้ ญี่ปุ่น รุ่นกลาง ๆ เมื่อ 5-6 ปีที่แล้วราคาเลข 4 ตัวทุกวนี้เลข 5 ตัว ขณะที่รุ่นพิเศษแพง ๆ ราคาเดิมเลข 5 ตัวขยับไปเป็น 5 ตัวปลาย ๆ ใกล้ 6 ตัว บางรุ่นขึ้นไปถึง 6 ตัว ที่สำคัญมีเงินยังหาซื้อไม่ได้ !
จุดกำเนิดแห่งความดังของวิสกี้ ญี่ปุ่น เริ่มหลังจากที่วิสกี้ “โยอิชิ” (Yoichi) ได้รับรางวัล Best of the Best ประจำปี 2001 จากนิตยสาร Whisky Magazine ขณะเดียวกันก็มีซิงเกิ้ล มอลต์ ของญี่ปุ่นอีกหลายยี่ห้อ หลายรุ่น ที่ได้รับคะแนนสูง ๆ จากการชิมทดสอบของผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ บางรุ่นได้คะแนนมากกว่าซิงเกิ้ล มอลต์ ของสก็อตแลนด์
อุตสาหกรรมวิสกี้ของญี่ปุ่นเริ่มมาตั้งแต่ประมาณทศวรรษที่ 1870 แต่ที่ถือว่าเป็นการจุดประกายอย่างจริงจังก็คือ การก่อตั้งโรงกลั่น “ยามาซากิ” (Yamazaki Distillery) นายมาซาทากะ ทาเกะสึรุ (Masataka Taketsuru) เมื่อปี 1924 ถือเป็นโรงกลั่นวิสกี้แห่งแรกของญี่ปุ่น ต่อมาเขาได้ตั้งบริษัทโรงกลั่นนิกกะ (Nikka Distillery) ในปี 1934 ตามด้วยโรงกลั่นโยอิชิ (Yoichi) ก่อนจะผนวกเป็น “นิกกะ โยอิชิ” (Nikka Yoichi)
มาซาทากะ ทาเกะสึรุ ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งวิสกี้ของญี่ปุ่น” เป็นคนที่วงการเหล้ากลั่นของญี่ปุ่นภูมิใจ เดินทางไปเรียนเคมีที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ในสก็อตแลนด์ และทำงานในโรงกลั่นวิสกี้ไปด้วย กระทั่งได้เมียเป็นสาวสก็อตชื่อเจสซี โรเบอร์ตา “ริตา” โคเวน (Jessie Roberta “Rita” Cowan) และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในโรงกลั่น Hazelburn หลายปี ก่อนจะกลับบ้านเกิดเขาได้ทำงานกับโรงกลั่นและตั้งโรงกลั่นของตัวเองดังกล่าว
ฝากฝั่งอเมริกาก็มี “อเมริกัน วิสกี้” (American Whiskey) ซึ่งก่อกำเนิดครั้งแรกราวปี 1791 เริ่มจากรัฐเวอร์จิเนีย (Verginia) แต่มาเติบโตที่รัฐเพนซิลวาเนีย (Pensilvania) ซึ่งอยู่ตะวันออกเกือบสุดแผ่นดินสหรัฐและมีทางออกทะเล จึงเป็นรัฐที่มีคนสก็อตและไอริชอพยพลงเรือมาอยู่มากที่สุด เป็นที่รู้กันว่าทั้ง 2 ชาตินี้เต็มไปด้วยกูรูทางด้านการกลั่นเหล้า
ในแผ่นดินอเมริกามี 2 คำที่พบบ่อยและมีความต่างกันคือ “เบอร์เบิน” (Bourbon) กับ “เทนเนสซี่ วิสกี้” (Tennessee Whiskey) ต่างกันด้วยกระบวนการดผลิตที่รัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายกำหนดไว้ ที่แน่ ๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก ไม่แพ้สก็อตวิสกี้คุณภาพเยี่ยม ๆ คือ “เทนเนสซี่ วิสกี้”
เมื่อกลาง ๆ ปี 2022 สถาบันประมูลโซธ์บีส์ (Sotheby’s) ขายอเมริกัน วิสกี้ 1 ชุดจำนวน 5 ขวด โดยการประมูลในราคา 187,245 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นแรร์วิสกี้ที่โรงานปิดไปแล้ว จากปี 1976-1982 ประกอบด้วย Old Quaker Indiana Corn Whiskey 21 Year Old (65% ABV) 1976 / Stitzel-Weller Kentucky Straight Bourbon 17 Year Old (53.5% ABV) 1980 / Taylor-Williams Kentucky Straight Bourbon 17 Year Old (56% ABV) 1980 / George T Stagg Kentucky Straight Rye Whiskey 16 Year Old (57% ABV) 1981/ Buffalo Springs Kentucky Rye Mash Whiskey 15 Year Old (62.5% ABV) 1982 ทั้งหมดบรรจุขวด 700ml.
ที่แคนาดามี “แคนาเดี้ยน วิสกี้” (Canadian Whisky) ซึ่งเริ่มผลิตตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โดยผู้ชาวสก๊อตแลนด์ กลั่นวิสกี้จากข้าวไรย์ (Rye) ซึ่งปลูกมากที่สุดในแคนาดา รสชาติต่างจากสก๊อต วิสกี้ ซึ่งใช้ข้าวบาร์เลย์เป็นวัตถุดิบสำคัญ ต่อมาจึงมีการปลูกข้าวบาร์เลย์ เพื่อผลิตแคนาเดี้ยน วิสกี้ บางเจ้าก็ผสมกันทั้ง 2 อย่าง
จากข้อมูลของ Canadian Distillers Association โรงกลั่นแห่งแรกตั้งขึ้นในปี 1769 เมื่อทศวรรษที่ 1840 จำนวนเพิ่มขึ้นถึง 200 แห่ง แคนาดาเคยห้ามผลิตเหล้าในช่วงปี 1916 – 1917 โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกจำกัดให้ใช้เฉพาะกองทัพ การแพทย์ วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมบางประเภท แต่ขณะที่อเมริกามีปัญหาเรื่องเหล้าเถื่อนในปี 1933 นั้น แคนาเดี้ยน วิสกี้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งทั้งในแคนาดาและสหรัฐอเมริกา
วิสกี้ในแง่ของ “สินทรัพย์เพื่อการลงทุน” ดังกล่าวนับวันจะเพิ่มมูลค่ามากขึ้น มิได้มีเจตนาชักชวนให้ดื่ม แต่ถ้าจะดื่มต้องดื่มด้วยความรับผิดชอบต่อตัวเอง ครอบครัว และสังคม !